ศาลเลื่อนอ่านอุทธรณ์คดี
กปปส.ชุมนุมไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เหตุยังทำคำพิพากษาไม่แล้วเสร็จ
วันที่
21 มีนาคม 2566 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี กปปส.หมายเลขดำ
อ.247/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกแกนนำและแนวร่วม กปปส. รวม 39 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, ก่อการร้าย,
ยุยงให้หยุดงานฯ, กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ
ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่,
ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ, บุกรุกในเวลากลางคืนฯ
และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งฯ โดยนายสุเทพกับพวกจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
ขอต่อสู้คดี และได้รับการประกันตัวทุกคน
คดีนี้
อัยการโจทก์ระบุฟ้องพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2556
– 1 พ.ค. 2557 ต่อเนื่องกัน นายสุเทพ จำเลยที่
1 ได้จัดตั้งคณะบุคคล ชื่อ
“คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
หรือกลุ่ม กปปส. มีนายสุเทพเป็นเลขาธิการ
ปลุกระดมให้ประชาชนทั่วประเทศกระด้างกระเดื่องร่วมชุมนุมขับไล่
ก่อความไม่สงบเพื่อขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น)
ให้ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป
เพื่อมิให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ
ให้ข้าราชการระดับสูงรายงานตัวกับกลุ่ม กปปส.
จากนั้น
กปปส.จะแต่งตั้งคณะบุคคลเข้าบริหารประเทศเป็นรัฐบาลประชาชน เป็นรัฏฐาธิปัตย์
ซึ่งจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและ ครม. โดยจะนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลเอง
รวมทั้งจัดตั้งกองกำลังส่วนหนึ่งพร้อมอาวุธเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานสำคัญต่างๆ
หลายแห่ง เช่น ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล
สำนักงานเขตหลักสี่ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง)
เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้ รวมทั้งการปิดกั้น
ขัดขวางเส้นทางคมนาคมขนส่ง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
นอกจากนี้
ช่วงระหว่างวันที่ 13
ม.ค. – 2 มี.ค. 2557 พวกจำเลยได้บังอาจปิดกรุงเทพมหานครด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพฯ
รวม 7 จุด ปิดกั้นเส้นทางการจราจร จัดตั้งกองกำลังรักษาพื้นที่
วางเครื่องกีดขวาง ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง
การกระทำของพวกจำเลยล้วนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ
เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน
.
อย่างไรก็ตาม
ศาลได้เลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปก่อน ระบุว่า ศาลอุทธรณ์มีหนังสือขอยกเลิกวันนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ล่วงหน้าเนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังทำคำพิพากษาไม่แล้วเสร็จ
สำหรับคดีนี้
ศาลชั้นต้น สั่งจำคุก นายสุเทพ เป็นเวลา 5 ปี และจำคุกจำเลยอื่นอีก 26
คน ตั้งแต่ 4 เดือน - 9 ปี
24 เดือน ซึ่งจำเลยที่ถูกจำคุกบางรายศาลให้รอการลงโทษไว้
เนื่องจากบางคนเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมเท่านั้น พร้อมกันนี้
ศาลชั้นต้นสั่งยกฟ้องจำเลย รวม 12 คน
ที่มา
: INN
NEWS