วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

‘พิจารณ์’ ชี้รายจุด เรือหลวงสุโขทัยล่มเพราะขาดความพร้อมใช้งาน ถาม ‘ประยุทธ์’ นี่เรือรบหรือขนมเค้ก จ้องจะกินกันให้ได้ทุกส่วน

 


พิจารณ์’ ชี้รายจุด เรือหลวงสุโขทัยล่มเพราะขาดความพร้อมใช้งาน ถาม ‘ประยุทธ์’ นี่เรือรบหรือขนมเค้ก จ้องจะกินกันให้ได้ทุกส่วน

 

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ที่รัฐสภา พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง โดยตั้งคำถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นความบกพร่องโดยสุจริต หรือเป็นความจงใจบกพร่องจากการทุจริตทีละน้อย จนแม้แต่ผู้กระทำผิดเองก็คาดไม่ถึงว่าจะนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมหาศาล

 

พิจารณ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมพูดถึงสาเหตุของเหตุการณ์นี้ 3 ข้อ ได้แก่ สาเหตุที่หนึ่ง คือความผิดพลาดของมนุษย์ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นความผิดพลาดของคนบนเรือ หรือของผู้ปฏิบัติงานบนชายฝั่ง เพราะในวันนั้น ภารกิจของเรือหลวงสุโขทัยคือเดินทางออกจากฐานทัพเรือสัตหีบไปร่วมพิธีเทิดพระเกียรติกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ที่บริเวณหาดทรายรี จ.ชุมพร แต่เมื่อไปถึง ด้วยคลื่นลมแรง ทำให้ไม่สามารถทอดสมอบริเวณนั้นได้ จึงจำเป็นต้องเข้าเทียบท่า ซึ่งเมื่อดูจากแผนที่ ท่าเรือที่ใกล้ที่สุดคือท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ คำถามคือเหตุใดเรือหลวงสุโขทัยจึงไม่เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือดังกล่าว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องชี้แจงว่าใครเป็นคนสั่งให้เรือหลวงสุโขทัยฝ่าคลื่นลมมุ่งหน้ากลับไปสัตหีบ จนนำมาสู่การล่มอับปาง

 

สาเหตุที่สอง คือสภาพอากาศ กองทัพเรือพยายามชี้แจงว่าวันเกิดเหตุมีคลื่นลมรุนแรงมากกว่าปกติ เมื่อไปดูรายงานการพยากรณ์อากาศของกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ มีความคลาดเคลื่อนจากการพยากรณ์อากาศของทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา และของบริษัทเดินเรือเอกชนเป็นอย่างมาก เพราะกองทัพเรือบอกว่าวันนั้นคลื่นจะสูงประมาณ 2.5 เมตร ในขณะที่การพยากรณ์ของเอกชนระบุว่าคลื่นจะสูงถึง 6 เมตร อย่างไรก็ตาม จากโครงสร้างเรือถูกแบ่งเป็นห้องๆ ทุกห้องจะมีประตูผนึกน้ำ หมายความว่า หากถูกข้าศึกโจมตี แล้วมีน้ำรั่วเข้ามาทางใด ก็สามารถปิดประตูผนึกน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมห้องอื่นๆ ได้ ดังนั้น คลื่น 6 เมตร จึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เรือหลวงสุโขทัยล่ม เว้นเสียแต่ว่า เรือไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน เช่น ประตูผนึกน้ำใช้การไม่ได้ หรือซีลกันน้ำขอบประตูเสื่อมคุณภาพ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อดีตข้าราชการทหารเรือหลายคนยืนยันกับตนว่า เรือหลวงสุโขทัยถือเป็นเรือระดับคอร์เวต สามารถทนคลื่นสูงถึง 6 เมตรได้ หากเรืออยู่ในสภาพพร้อมรบ

 

จึงนำมาสู่สาเหตุที่สาม คือความพร้อมในการใช้งานของตัวเรือ ในคณะกรรมาธิการการทหาร เชิญกองทัพเรือมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรือหลวงสุโขทัยรวม 4 ครั้ง ขอเอกสารไปหลายรายการ แต่ได้มาแค่ 2 รายการ จนถึงวันนี้เกือบ 2 เดือนหลังเหตุการณ์ กองทัพเรือยังอ้างว่าต้องใช้เวลารวบรวมเอกสาร อย่างไรก็ตาม เอกสารที่ตนมีวันนี้ คือเอกสารการซ่อมเรือหลวงสุโขทัย ด้วยงบประมาณกว่า 60 ล้านบาท ในช่วงพฤษภาคม 2561 - มกราคม 2564 น่าสงสัยว่าในเมื่อ ทร. มีเอกสารแบบนี้ ทำไมไม่ยอมส่งให้ กมธ.การทหาร

 

ตามรายงานนี้จะพบว่า เรือหลวงสุโขทัยแม้ซ่อมเสร็จแล้ว แต่ยังมีปัญหาหลายจุด ตั้งแต่จุดเล็ก ๆ ไปจนถึงจุดใหญ่ ๆ จนผมกล้าพูดเลยว่า นี่ไม่ใช่ความบกพร่องโดยสุจริต แต่เป็นความจงใจบกพร่อง เป็นการทุจริตในการซ่อมทำ แบ่งกันกินทีละส่วน คนละคำ จนผมชักไม่แน่ใจ ว่าตกลงนี่มันเรือรบ หรือ ขนมเค้ก กันแน่” พิจารณ์กล่าว

 

พิจารณ์ ระบุต่อว่า ปัญหาหลายจุดที่ว่านั้น เช่น สมอเรือ จากการทดสอบการใช้งานจริงหลังการซ่อม พบว่ามอเตอร์ฝั่งขวาขัดข้อง มีอาการหยุดการทำงานในบางจังหวะ มาตรวัดแรงดันต่าง ๆ ที่ใช้ในเรือก็ใช้การไม่ได้ เครื่องจักรหลายตัวมีค่าการสั่นสะเทือนที่ผิดปกติ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Power Generator) เสีย ใช้ได้ 3 เครื่องจาก 4 เครื่อง เป็นต้น

 

ทำไมซ่อมแล้วยังมีปัญหา ผู้มีหน้าที่ซ่อม ซ่อมกันอย่างไร คนมีหน้าที่ตรวจรับ ไปตรวจรับให้ผ่านได้อย่างไร และเวลามาของบประมาณจากสภาฯ เรื่องซ่อมบำรุงต่างๆ บอกว่า ต้องดำรงสภาพความพร้อมในการรบ แบบนี้เรียกว่าพร้อมในการรบหรือไม่ หรือคือความจงใจไม่ซ่อมให้สมบูรณ์ หรือจริงๆ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ก็รู้อยู่ว่าไม่ได้ต้องไปรบกับใคร เอาไว้แสดงวันเด็ก กับพาผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพออกไปประกอบพิธีลอยอังคารก็พอ สรุปแล้วคือซ่อม โดยไม่ได้สนใจภารกิจป้องกันประเทศเลยใช่ไหม” พิจารณ์กล่าว

 

พิจารณ์กล่าวว่า อีกปัญหาสำคัญ คือการซ่อมตัวเรือ ซึ่งมีทั้งส่วนที่อยู่ใต้แนวน้ำ ผิวน้ำ และเหนือน้ำ แม้ตัวถังเรือจะทำมาจากเหล็ก แต่ถูกใช้งานไปนาน ๆ โดยเฉพาะส่วนที่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ ก็จะถูกกร่อนจนบางไปเรื่อย ๆ และต้องมีการซ่อมบำรุงด้วยการตัดเชื่อมเหล็กตัวเรือใหม่ให้มีความหนาตามมาตรฐาน นับรวมแล้วได้ 13 จุด แต่บางจุดกลับไม่ได้ซ่อม รวมถึงจุดกราบขวาของเรือ เป็นผนังของห้องเครื่องยนต์ และ ห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเรือสุโขทัย และกราบซ้ายก็ไม่ได้ซ่อมดังนั้นหากมีการแตกร้าว ไม่ว่าจะกราบซ้ายหรือขวา น้ำทะเลจะไหลเข้าท่วมในห้องเครื่องยนต์ดีเซลและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จนนำมาสู่การอับปางลงของเรือสุโขทัยได้อย่างแน่นอน

 

นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบลึกลงไปว่าใครเป็นคนซ่อม พบว่าเป็นการจ้างซ่อมโดยเอกชนรายหนึ่ง ที่ไม่แน่ใจเลยว่ามีศักยภาพในการซ่อมทำหรือไม่ เนื่องจากมีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท และมีพนักงานประจำเพียง 20 คน แต่รู้กันทั้งกองทัพเรือ ว่าทำไมเอกชนรายนี้ถึงได้งานซ่อมตัวเรืออยู่เสมอ เป็นเพราะมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพลเรือโท ว. ชื่อเล่น ก. อดีตเจ้ากรมหรือไม่

 

อีกเรื่องคือการซ่อม Fin Stabilizer หรือครีบกันโคลง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้รักษาสมดุลของเรือเวลาเจอคลื่นลมแรง ตนได้ถาม ทร. ใน กมธ. ว่าตกลงแล้ว ในการซ่อมทำเรือสุโขทัย มีการถอดชิ้นส่วนนี้ออกไปหรือไม่ ทร. ตอบว่า ด้วยเรือมันเก่าแล้ว หาอะไหล่มาซ่อมไม่ได้ อีกทั้งการซ่อมทำครีบกันโคลงหากทำได้ไม่ดี กลับจะเป็นผลร้ายต่อสมดุลของเรือเสียมากกว่า จึงถอดทิ้งไปเลย เรืออาจจะโคลงมากขึ้นแต่ไม่เป็นไร พร้อมทั้งยืนยันว่า ครีบกันโครง จะมี หรือ ไม่มี ก็ไม่ได้มีผลทำให้เรือล่ม

 

ในปีงบประมาณ 66 เรือหลวงสุโขทัยยังมีคิวรอซ่อมอีกตั้ง 19 รายการ รวมมูลค่า 16.25 ล้านบาท งานซ่อมที่ใหญ่ที่สุด คือการซ่อมเกียร์ฝั่งซ้าย 7.5 ล้านบาท ตนนึกไม่ออกเลยว่าทำไม เรือที่ต้องรอซ่อมเกียร์ และรายการต่างๆ รวมทั้งสิ้น 19 รายการ ทำไมถึงอนุญาตให้ออกไปปฏิบัติภารกิจได้ ทำไมถึงไม่จอดเทียบท่า หรืออยู่ในอู่

 

นอกจากนี้ อัตรากำลังพลของเรือหลวงสุโขทัยก็ยังว่างและขาดบรรจุเป็นจำนวนมาก โดยตำแหน่งที่สำคัญที่สุดที่ว่างไป ก็คือ ต้นกล หรือหัวหน้าวิศวกร ยืนยันว่าในวันที่เกิดเหตุเรือสุโขทัยล่ม บนเรือไม่มี ต้นกล ไปด้วย ต้นกลนี้มีทำหน้าที่ควบคุม ดูแล รักษา เครื่องยนต์และเครื่องจักรใหญ่ที่อยู่ใต้แนวน้ำทั้งหมด คือบุคคลากรที่มีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเครื่องจักรในยามฉุกเฉินมากที่สุด

 

พิจารณ์ตั้งคำถามว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะแบริ่งเพลาจักรรั่วซึม หรือแผ่นเหล็กใต้ท้องเรือที่ทนรับความเครียดสะสมในเนื้อเหล็กไม่ไหวแตกร้าว จึงทำให้น้ำทะเลไหลเข้าใต้ท้องเรืออย่างรวดเร็ว โดยไหลเข้าไปในส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำให้ระบบไฟฟ้าล้มเหลว เครื่องยนต์ดับลง เจ้าหน้าที่พยายามติดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมายเลข 4 ไม่สามารถใช้งานได้ เรือรบที่มีขนาดเกือบ 80 เมตร หนักเกือบ 1 พันตัน จึงเหลือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพียง 1 ตัว ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนต่อไปได้ ในท้ายที่สุด เรือหลวงสุโขทัยที่มีรูรั่ว ขาดต้นกล ขาดมาตรวัดที่ใช้งานได้จริง ขาดครีบกันโคลง และขาดกำลังเครื่องยนต์ที่จะไปต่อ จึงต้องจมลงสู่ก้นอ่าวไทย สังเวยชีวิตทหารเรือ 24 นาย สูญหายอีก 5 นาย

 

ทำไมถึงจ้องจะกินกันให้ได้ทุกส่วน การซ่อมบำรุงก็ไม่ได้มาตรฐาน อะไหล่ที่ควรจะเปลี่ยนก็ไม่เปลี่ยน ผู้รับเหมาที่จ้างมาซ่อม แทนที่จะเป็นบริษัทดี ๆ กลับเป็นบริษัทห้องแถวที่ไหนก็ไม่รู้ สรุปแล้วเป็นเรือรบ หรือเป็นขนมเค้กกันแน่ครับ ท่านปล่อยปละละเลย ให้มีการทุจริตในทุกกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ รวมถึงการซ่อมเรือรบของกองทัพ ปล่อยให้กำลังพล พี่น้องทหารเรือ ต้องทนใช้เรือรบที่ไม่ได้ถูกซ่อมบำรุงอย่างเหมาะสมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ทำศึกสงคราม จนเกิดโศกนาถกรรมครั้งนี้”

 

พิจารณ์ทิ้งท้ายว่า โปรดอย่ามองยุทโธปกรณ์เป็นเหมือนขนมเค้ก ที่ต้องแบ่งกันกิน ตั้งแต่การจัดซื้อ ไปจนถึงการจัดซ่อม เพราะทุกคำที่กัดกินอย่างเอร็ดอร่อยโดยคิดว่า “แค่คำเดียวไม่เป็นไรหรอก” พอกัดกันหลายคนเข้า มันก็ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงได้ อย่างกรณีเรือหลวงสุโขทัยนี่เอง และตนยืนยันว่า ไม่ว่าเราจะเพิ่มงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหมมากเท่าใดก็ตาม แต่ตราบใดที่เรายังอยู่ภายใต้รัฐบาลปรสิต ในระบอบ 3ป เราก็จะยังคงอยู่ในการทุจริต คอร์รัปชัน ระบบแบ่งกันกิน แต่แล้วก็ปกปิดความผิดกันไป เราจะไม่มีวัน มีกองทัพที่เข้มแข็ง ไม่มีกองทัพที่เคารพในหลักการประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน พี่น้องนายทหารน้ำดี ก็ยังคงจะต้องหมดความชอบธรรม ไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากพี่น้องประชาชน จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูปกองทัพ ซึ่งคือเรื่องเดียวกันกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคม

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ประชุมสภา #เรือรบสุโขทัย #กองทัพเรือ