วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

11 องค์กรนิสิตนักศึกษา เคลื่อนไหวสนับสนุนข้อเรียกร้อง “ตะวัน-แบม” ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

 


11 องค์กรนิสิตนักศึกษา เคลื่อนไหวสนับสนุนข้อเรียกร้อง “ตะวัน-แบม” ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา


วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ที่หน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก 11 องค์กรผู้แทนนิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบันการศึกษา ได้รวมตัวกันมายื่นหนังสือเปิดผนึกถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ในกรณีการถอนประกันตัวเองและอดอาหารเพื่อประท้วงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ของเหล่าผู้ต้องขังคดีทางการเมือง


นายภูเบญญ์ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษา กล่าวว่า ข้อเรียกร้องที่ผู้แทนนักศึกษาทาง 11 องค์กรและ 7-8 มหาวิทยาลัยมายื่นในวันนี้คือเป็นการสนับสนุนในข้อเรียกร้องของคน ตะวันและแบม เนื่องจาก นักศึกษาเห็นว่าปัจจุบันมีผู้ต้องขังทางการเมืองเป็นจำนวนมากและหลายคนยังไม่มีคำตัดสินแต่ว่ามีการสั่งคุมขังในเรือนจำเหมือนกับเป็นผู้ต้องหาจริงๆ  ซึ่งตรงนี้ก็ผิดกับหลัก Presumption of innocent  หรือการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ วันนี้จึงมายื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อด้วยกัน


ข้อแรก คือความเป็นกลางของศาลนอกเหนือไปจากความเป็นกลาง จากองค์กรทางการเมือง และภาครัฐแล้วก็ยังเป็นกลางปราศจากอำนาจอื่น ๆ ที่อยู่เหนือกว่า หรืออำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง


ข้อเรียกร้องต่อมาคือปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมืองที่ยังไม่มีการตัดสินคดีจนถึงที่สุด ส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆคือขอให้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม กับผู้ต้องขังคดีการเมืองโดยเฉพาะคดี 112 และ 116 ที่ปัจจุบันนี้ยังเป็นปัญหาอยู่


ขณะเดียวกัน ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษา ยังฝากถึง แบมและตะวัน ว่าพวกเราที่อยู่ข้างนอกก็จะสู้ต่อไปเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง  โดยจะพยายามผลักดันในประเด็นปล่อยผู้ต้องขังทางการเมืองโดยเฉพาะมาตรา 112 และ 116 ปัจจุบันก็มี 20 ถึง 30 คนที่ยังไม่มีการตัดสินคดีถึงที่สุดแต่ยังถูกจองจำในเรือนจำและหลายคนที่คดีถึงแม้จะถึงที่สุดแล้วแต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่


อย่างไรก็ตาม  ภายหลังจากยื่นหนังสือ แล้ว กลุ่มเครือข่ายนักศึกษา ร่วมกันทำกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” บริเวณหน้าป้ายศาลอาญาเป็นเวลา 112 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง 12 นาที เพื่อผลักดันข้อเรียกร้องนี้และเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ ด้วย


เปิดจดหมายเปิดผนึก 11 องค์กรนิสิตนักศึกษาถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา


เรื่อง กรณีการถอนประกันตัวเองและอดอาหารเพื่อประท้วงความอยุติธรรมของผู้ต้องขังคดีทางการเมือง


ปัจจุบันมีเยาวชน นิสิตนักศึกษา และประชาชน ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนมาก อันเกิดจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือเสรีภาพในการชุมนุมตามวิถีประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีความผิดที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากฎหมายแห่งรัฐกลับถูกเผด็จการทางการเมืองใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งผู้มีความเห็นต่างทุกรูปแบบ เพื่อต่อต้านอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอย่างเห็นได้ชัด อาทิ การตั้งข้อหาผู้ทำโพลสำรวจความคิดเห็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือแม้แต่การจับกุมประชาชนผู้โพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจ” ในสื่อสังคมออนไลน์


สถานการณ์การเมืองดังกล่าว ทำให้ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม อรวรรณ ภู่พงษ์ ออกมาแถลงการณ์เพื่อประท้วงความอยุติธรรมของศาลและเสริมกระดูกสันหลังให้พรรคการเมืองทั้งหมด 3 ประการ โดยมีใจความดังต่อไปนี้


1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อันคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอันดับแรก

2. ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและการชุมนุม

3. พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116


เหตุการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การร้องขอถอนประกันตนเอง ในวันที่ 16 มกราคม 2566 เพื่อประท้วงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นและทวงคืนสิทธิการประกันตัวผู้ต้องขังจากการแสดงออกทางการเมือง ในคดีมาตรา 112 และเพื่อการยกระดับข้อเรียกร้อง ตะวันและแบม จึงทำการอดน้ำและอาหาร กระทั่งสุขภาพทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็วตามลำดับและอาจมีความเสี่ยงถึงแก่ชีวิตได้


สืบเนื่องจากเหตุการณ์เหล่านี้ เหล่าองค์กรผู้แทนนิสิตนักศึกษาจึงมิอาจนิ่งนอนใจอยู่ได้ และขอตั้งข้อสังเกตทางกฎหมายบางประการอันเกี่ยวกับการใช้ดุลยพินิจไม่ปล่อยตัวชั่วคราว และเหตุการณ์ถอนประกันจากกรณีดังกล่าว โดยใช้หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ซึ่งเป็นหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ปรากฎอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรคสอง ความว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” ซึ่งเจตนารมณ์แห่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยภาระการพิสูจน์ว่าเป็นผู้กระทำผิดย่อมตกอยู่กับฝ่ายผู้กล่าวหา และจะไม่มีใครถูกตัดสินว่ามีความผิดจนกว่าจะมีการพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยอันสมเหตุสมผล รวมไปถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา จะต้องได้รับการปฏิบัติตามหลักดังกล่าว


จนบัดนี้ ได้มีข้อพิสูจน์มากเพียงพอแล้วกับกรณีการยกฟ้องคดีทางการเมืองไปจำนวนมาก จากการพิสูจน์ทราบว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด ถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้วกระบวนการยุติธรรมไทยจะปล่อยปละละเลยให้มีการนำการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนนำมาสู่การออกคำสั่งให้ต้องโทษอยู่ร่ำไปได้เช่นไร


จนบัดนี้แล้ว กระบวนการยุติธรรมไทยยังกล้าเอ่ยวาทะกรรม “ความเป็นกลางและเป็นอิสระ” เพื่อแสดงความชอบธรรมขององค์กรอยู่ต่อได้เช่นไร


เหล่าองค์กรผู้แทนนิสิตนักศึกษา จึงไม่ขอนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ดังกล่าว และขอเรียกร้อง 4 ประการ ถึงกระบวนการยุติธรรมสืบเนื่องจากอุดมการณ์ของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตะลานนท์ และ แบม อรวรรณ ภู่พงษ์ ดังต่อไปนี้


1. วาทกรรม “ความเป็นกลางและเป็นอิสระ” ขององค์กรตุลาการและกระบวนการยุติธรรม นอกจากจะเป็นอิสระต่อนักการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ท่านจะต้องเป็นอิสระต่ออุดมการณ์ที่ท่านสังกัด รวมถึงเป็นอิสระต่ออำนาจทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อผดุงความยุติธรรมอย่างแท้จริงเอาไว้


2. ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองและปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมืองทั้งหมดทันที โดยไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น รวมถึงมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ


3. ในกรณีฟ้องร้อง ออกคำสั่ง หรือจับกุม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีทางการเมือง ให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ มิจำกัดสิทธิใด ๆ และให้สิทธิในการประกันตัว ทั้งนี้ในกระบวนการยุติธรรมหากมีเหตุในการถอนประกัน ศาลสามารถยกคำร้องการถอนประกันนั้นได้ เนื่องจากคำร้องนั้นเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน


4. ขอให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เนื่องจากมนุษย์ทุกคนมีคุณสมบัติ จิตใจ และสิทธิเฉพาะตัวที่พึงสงวนไว้มิให้บุคคลอื่นละเมิดได้ หากสิทธิที่ตนมีมิได้ละเมิดสิทธิผู้อื่น ดังนั้นการใช้อำนาจของกระบวนการยุติธรรมต้องคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล จากการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ


สุดท้ายนี้ พวกเราในนามของผู้แทนของเหล่านิสิตนักศึกษา ขอให้ท่านพึงระลึกไว้เสมอว่าอำนาจสูงสุดแห่งรัฐคืออำนาจของปวงชนชาวไทย จงระลึกไว้เสมอว่าประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หาใช่อภิชนาธิปไตยที่พวกท่านกำลังหลงระเริง


ด้วยความศรัทธาในอำนาจของประชาชน


เครือข่ายองค์กรผู้แทนนิสิตนักศึกษา 11 องค์กร


องค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษสตรศาสตร์ บางเขน

สภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร

สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

องค์การบริหาร องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

สภานักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ตะวันแบม