ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อยื่นหนังสือ
ผบ.ตร ทวงความคืบหน้ากรณี สื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากการสลายชุมนุมราษฎรหยุดเอเปค 2022 ด้านโฆษก
ตร. ตัวแทนรับหนังสือ เผย สตช. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้แล้ว
พร้อมให้ความกระจ่างแก่ประชาชน
วันนี้
(21 ธ.ค. 65) เวลา 10.00 น.
กลุ่มตัวแทน 5 องค์กรวิชาชีพสื่อ
ประกอบด้วยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ,
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นำโดย นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึง
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้เร่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง
กรณีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022
ที่ถนนดินสอ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 65 ที่ผ่านมา โดยมี พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เป็นตัวแทนมารับหนังสือ
สำหรับในหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เรื่องขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงกรณีสื่อมวลชนบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
มีรายละเอียดดังนี้ ด้วยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎรหยุด APEC” ได้พยายามเดินขบวนไปยังสถานที่จัดการประชุม APEC ซึ่งต่อมาเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงสื่อมวลชนภาคสนามจำนวนหนึ่ง
ตามที่ปรากฏในรายงานข่าวจำนวนมากแล้วนั้น
หลังจากเหตุดังกล่าว
ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ ได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นภาพ คลิปวิดิโอ และคำบอกเล่าของสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บ ได้ความว่า
มีผู้สื่อข่าวและช่างภาพอย่างน้อย 4 คน
ได้รับบาดเจ็บจากกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประกอบด้วย:
ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว
The
Matter ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบองและโล่กระแทกจนล้มลงกับพื้น
ขณะกำลังรายงานการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม
ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มเดิมเตะซ้ำๆเข้าที่ศีรษะ
และมีการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ช่างภาพจากสำนักข่าว
Top News ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โล่และกระบองฟาด
ขณะกำลังเก็บภาพจังหวะกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม
โดยที่ช่างภาพคนดังกล่าวกำลังยืนอยู่บนฟุตบาท ส่งผลให้ฟกช้ำเล็กน้อยและแว่นสายตาเสียหาย
ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไท
ถูกเจ้าหน้าที่ใช้โล่ทิ่มเข้าใส่
ขณะรายงานสถานการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม
โดยที่ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวยืนอยู่บนฟุตบาธเช่นกัน
ส่งผลให้ผู้สื่อข่าวบาดเจ็บที่มือ
ช่างภาพจากสำนักข่าว
Reuters ถูกเศษแก้วจากขวดแก้วกระเด็นเข้าที่ใบหน้าขณะกำลังบันทึกภาพแนวตำรวจใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
จนได้รับบาดเจ็บบริเวณลูกตา
ซึ่งวัตถุดังกล่าวลอยมาจากทิศทางของกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างชัดเจน
สื่อมวลชนที่บาดเจ็บในทั้ง
4 กรณี ได้ทำหน้าที่รายงานเหตุการณ์ตามข้อเท็จจริง
แสดงสัญลักษณ์สื่อมวลชนชัดเจน และไม่ได้กีดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นอกจากนี้
ผู้บาดเจ็บยังระบุว่าไม่ได้รับแจ้งให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและสื่อมวลชนคอยระวังหรือหลบหลีก
เมื่อเจ้าหน้าที่จะดำเนินการผลักดัน หรือตอบโต้ผู้ชุมนุม
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทยในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพ
ขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการดังต่อไปนี้
ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงว่า
เหตุดังกล่าวเกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักยุทธวิธีการควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่
และชี้แจงผลการสอบสวนให้สาธารณชนได้รับทราบโดยไม่ชักช้า
เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ดังกล่าว
กำชับให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม
ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดตามหลักยุทธวิธีการควบคุมฝูงชนที่เหมาะสม
เพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชน
ไม่ว่าจะเป็นการจัดพื้นที่ปลอดภัยให้แก่สื่อมวลชน
การประกาศเตือนอย่างชัดเจนก่อนใช้มาตรการควบคุมฝูงชน
การละเว้นพฤติกรรมรุนแรงหรือคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน เป็นต้น
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ
ขอแสดงความนับถือ
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ,
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย,
สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
ด้านนายธีรนัย
เปิดเผยว่า วันนี้มายื่นหนังสือเพื่อทวงถามความคืบหน้า และขอให้มีการตรวจสอบ
กรณีมีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ จากการสลายการชุมนุมที่ถนนดินสอ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 65
ที่ผ่านมา ตอนนี้ก็ผ่านมา 1 เดือนแล้ว
ซึ่งเราอยากได้คำตอบว่าขณะนี้มีความคืบหน้า มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปถึงไหน
และมีการสรุปบทเรียน หรือเยียวยาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บแล้วหรือไม่
และอยากให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว
ตามระบบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นายธีรนัย
กล่าวถึงกรณีที่มีสื่ออิสระได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม โดยระบุว่า
สิทธิในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
เพราะสื่อย่อมมีสิทธิ ประชาชนก็มีสิทธิ รวมทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อพลเมือง
และสื่ออิสระ ทุกคนมีสิทธิทั้งหมด แต่หากมีการทำร้าย หรือลิดรอนสิทธิ
ก็จะต้องมีการตรวจสอบ หรือดำเนินการกับผู้ที่ลิดรอนสิทธิดังกล่าว ให้เป็นไปตามกระบวนการตรวจสอบ
ซึ่งเป็นจุดยืนที่สมาคมนักข่าวย้ำมาโดยตลอด และได้ย้ำกับทางตำรวจเสมอมา
ขณะที่ทางด้านของ
พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสํานักงานตํารวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) ได้มารับหนังสือ
และกล่าวในเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้แล้วซึ่งจะนำข้อมูลมาประกอบและสรุปโดยเร็วเพื่อที่จะแจ้งกลับไปยังผู้ที่ยื่นหนังสือและให้ความกระจ่างแก่ประชาชนด้วย
ถ้าหากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้สื่อมวลชนและประชาชนทราบต่อไป
ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้นิ่งเฉย
เพราะได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว
คาดว่าน่าจะใกล้สรุปผลการปฏิบัติได้แล้ว
ส่วนการเยียวยาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการทำงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาลซึ่งก็ได้มีการสอบถาม
สอบปากคำไว้เกือบครบทุกคนแล้ว แต่หากว่ามีใครที่จะมาให้ปากคำเพิ่มเติมทางเจ้าหน้าที่ก็ยินดี
นอกจากนี้
ทางผบ.ตร. ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน
เพื่อวางกรอบการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับสื่อมวลชนในช่วงที่มีการชุมนุม
ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมในลักษณะใด เพื่อที่ว่าถ้าหากมีการกระทบกระทั่งในภายภาคหน้า
จะได้มีการซักซ้อมแนวทางการทำงานร่วมกัน
และจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์การบาดเจ็บอย่างที่ผ่านมาอีก
ทั้งนี้คาดว่าภายในต้นปีหน้าจะมีการพูดคุยกันอย่างจริงจังถึงภาพรวมในแนวทางการทำงาน
และจะมีการเชิญสมาคมสื่อทุกสมาคมที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยด้วย
อย่างไรก็ตามพล.ต.ต.อาชยน ย้ำว่าเข้าใจการทำงานของผู้สื่อข่าวว่าจะต้องมีการเก็บภาพเหตุการณ์
เพื่อสะท้อนให้ประชาขนได้รับรู้ จึงต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่เสี่ยง
แต่ก็ต้องหาแนวทางที่มีความเหมาะสมและปลอดภัย ซึ่งคงต้องมาคุยกันในเร็ว ๆ นี้
#UDDnews
#ยูดีดีนิวส์