แลไปข้างหน้ากับ
ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.104
ประเด็น
: การปราบปรามประชาชนที่เหี้ยมโหด...ไม่เปลี่ยนแปลง!
[ใช้ความรุนแรงในระดับสูงสุด]
[ใช้ทั้งกฎหมาย – อาวุธ และวัฒนธรรมองค์กรแบบเดิม]
สวัสดีค่ะ
วันนี้ดิฉันก็มาคุยในรายการแลไปข้างหน้านี่นะคะ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่
18 พฤศจิกายน 2565 ดิฉันอยากจะพูดในประเด็นที่ว่า
การปราบปรามประชาชนที่เหี้ยมโหด...ไม่เปลี่ยนแปลง! ฟังชื่อเหมือนเรื่องสงครามโลกครั้งที่
1 เลยนะคะ “แนวรบที่ไม่เปลี่ยนแปลง” สังคมไทยดิฉันดูว่าก็คล้ายกันก็เหมือนแนวรบที่ไม่เปลี่ยนแปลง
แนวรบของกลุ่มเผด็จการจารีตนิยมที่กระทำต่อประชาชน ซึ่งใช้ความรุนแรงในระดับสูงสุด!
ความรุนแรงในระดับสูงสุด
หมายถึง ใช้อุปกรณ์อาวุธในระดับสูงสุดในแต่ละเหตุการณ์เท่าที่จะทำได้
โดยไม่ได้นำพาว่าจะมีผลความเสียหายขนาดไหน อีกอันหนึ่งก็คือใช้กฎหมาย
นั่นก็คือใช้ทั้งกฎหมายและอาวุธ แต่ดิฉันอยากจะเพิ่มประการที่สามก็คือใช้วัฒนธรรม
“นาย-บ่าว” วัฒนธรรมแบบนาย-บ่าวแบบในระบบศักดินา ก็คือนายสั่งมาข้าต้องทำ
ต้องทำให้ได้ด้วยไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ไม่ได้มีความผิดชอบชั่วดี ในวินาทีนั้นกฎหมายก็อาจจะยังไม่ได้คิดด้วยซ้ำ
เพราะว่าไม่ว่าจะทำอะไรนายก็ดูแลได้ และมันก็เป็นเช่นนั้นตลอดเวลา
พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยเราจะเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
ตั้งแต่ 14ตุลา16, 6ตุลา19, พฤษภา35, เมษา-พฤษภา52 โดยเฉพาะ 53
แล้วก็เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในปี
63-64-65 คือที่เพิ่งเกิดในวันที่ 18 พฤศจิกายน 65 มิใยว่าในการกระทำในปี 63, 64
มีการฟ้องร้องศาลแพ่ง แล้วก็มีคำสั่งศาลประมาณว่าให้ทำด้วยความระมัดระวังอะไรก็ตาม
แต่สิ่งทีเกิดขึ้นก็คือยังไม่เปลี่ยนแปลง
มันก็เหมือนกับสถานการณ์แบบสงครามที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ก็คือผู้ใช้อำนาจก็ยังเป็นแบบเดิม
ผู้ถูกกระทำก็คือประชาชนที่ต่อต้านการใช้อำนาจรัฐแบบเผด็จการจารีตนิยมก็ยังเป็นฝักฝ่ายที่ถูกกระทำไม่เปลี่ยนแปลงและวิธีการที่กระทำก็ไม่เปลี่ยนแปลงด้วย
นี่เป็นสิ่งที่น่าอนาถที่เกิดขึ้น
"พายุ ดาวดิน" ถูกยิงได้รับบาดเจ็บที่ตาขวา
ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
อย่างในกรณีของเหตุการณ์ที่มีการเกิดขึ้นแล้วก็มีผู้สูญเสียก็คือเสียดวงตาคือคุณพายุ
แล้วก็มีผู้บาดเจ็บอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วก็ผู้ถูกจับ 25 คน
นอกจากประชาชนก็มีผู้สื่อข่าว ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าวของ “The MATTER” แล้วก็ของ “รอยเตอร์” แล้วก็ผู้สื่อข่าวพลเมืองของ “The Isaan
Record เพราะฉะนั้นไม่แต่เพียงย่ามใจในการปราบปรามประชาชน
แต่ยังยกระดับก็คือจัดการกับผู้สื่อข่าวด้วย
ซึ่งในอดีตการจะเกิดปัญหากับผู้สื่อข่าวมีน้อย แต่มันก็ถามว่าเคยเกิดขึ้นไหม? ก็มี
ยกตัวอย่างเช่น อย่างในกรณีปี 2553
ดังนั้น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันที่ 18 พฤศจิกายน ในปี 2565 ที่ถนนดินสอ
ทำให้ดิฉันรำลึกไปถึง 10 เมษายน ถนนดินสอเหมือนกัน แต่คนละฟากถนนราชดำเนิน ในปี
2553 ซึ่งครั้งนั้นก็ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นที่ถูกยิงกระสุนจริงเสียชีวิต
ครั้งนี้ยังไม่ปรากฏการใช้กระสุนจริง แต่มีการใช้กระสุนยาง
ซึ่งทำให้เกิดบาดเจ็บเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ว่าในกรณีปี 2553 นั้นใช้กระสุนจริง!
ดิฉันยังจะไม่เท้าความถึงรายละเอียด
เอาเป็นข้อมูลนะคะ ในข้อมูลจากเพจ “ยูดีดีนิวส์ – UDD news”
ที่พูดถึงการฟ้องร้องโดย “ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน”
คือเอาว่าไม่ต้องเท้าความไปไกล เอาว่าในช่วงปี 63-64
เอาเฉพาะกรณีปัญหาการใช้กระสุนยาง ก็มีการรวบรวมเอาไว้ว่า
“มีผู้ชุมนุมจากปี
2563 ที่ผ่านมา หน่วยคฝ.
ก็ใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมาย
หากพิจารณาจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง นับแต่การชุมนุมในช่วงปี 2563
ถึงปัจจุบัน (ไม่ต้องถอยหลังไปถึง 10 ปี) มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางเท่าที่มีข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน,
iLaw และ Mob Data Thailand
จำนวนมากกว่า 65 ราย และเป็นการเล็งยิงกระสุนยางไปบริเวณศีรษะมากถึง 25 ราย
โดยพบกรณีเด็กอายุ 13 ปี มีแผลที่กลางหน้าผาก
และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกระสุนยางอย่างน้อย 5 ราย อยู่ในอาการอัมพาต 1
ราย นอกจากนี้ยังมีเยาวชนที่บาดเจ็บจากกระสุนยาง โดยมีอย่างน้อย 5
รายที่ถูกกระสุนยางยิงช่วงศีรษะ และมีผู้ที่สูญเสียการมองเห็น (คือตาบอด)
จากการใช้กระสุนยางจากการปฏิบัติหน้าที่ของ คฝ. จำนวน 3 ราย
ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาแต่ไม่สูญเสียการมองเห็นมากกว่า 5 ราย”
คำถามก็คือว่า
ไม่เปลี่ยนแปลง! เคยทำ 2563, 2564 เขาฟ้องร้อง ไม่สนใจ! คำถามก็คือว่าเมื่อมีการฟ้องร้องและมีการร้องเรียนต่อตุลาการและผู้บังคับบัญชาในปัญหาการใช้ความรุนแรง
แต่ปรากฏว่ามันก็ยังมีพฤติกรรมเหมือนเดิม มีแต่การบอกว่าให้ประชาชนระมัดระวังและทำตามกฎหมาย
แต่ในฝั่งของตำรวจไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีใครถูกฟ้องร้อง ไม่มีใครถูกลงโทษ
อันนี้จาก 2563 มานะ! ไม่ต้องพูดว่าจากปี 2553
จากปี
2553 มาจนปัจจุบัน 2565 ผ่านมา 12 ปี
ไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อการกระทำในการสลายการชุมนุม ทำให้คนบาดเจ็บล้มตาย ตัวเลขตายซึ่งบางส่วนก็ตายในเวลานั้นทันทีและมาตายทีหลังประมาณ
100 ราย แต่ที่รวบรวมไว้ประมาณ 99 ราย และก็มีบาดเจ็บนับพัน
ถามว่ามีใครต้องรับผิดชอบ? นักการเมืองก็ถูกอุ้มโดย ป.ป.ช. นายทหารผู้ใหญ่ 3ป
นี่เต็ม ๆ เลย ไปไม่ถึงค่ะ และถามว่ากระทั่งนายทหารชั้นผู้น้อยก็ยังถูก “ยกฟ้อง”
อันนั้นในกรณีนั้นเป็นกรณีทหาร ยิ่งง่าย! การกระทำของทหาร ขึ้นศาลทหาร
“ยกฟ้อง” หมด ดังนั้น เรากำลังพิจารณาว่าจะมีข้อเรียกร้องว่า “ทหาร”
ถ้ากระทำต่อพลเรือนต้องขึ้นศาลพลเรือน
แต่ในกรณีนี้เป็น
“ตำรวจ” คำถามว่าได้มีความพยายามจะฟ้องร้อง และนี่ก็คงจะต้องมีการฟ้องร้องอีก
ขึ้นศาลพลเรือนนะคะ แต่ “ทหาร” ถ้ากระทำต่อพลเรือน ก็ควรขึ้นศาลพลเรือนเหมือนกัน
ดังเหตุการณ์ในกรณี 6ตุลา19 ดิฉันอยู่ในเหตุการณ์นั้นและจำได้ว่าในการขึ้นศาล
เมื่อมีการสืบ มีการตอบคำถาม มีการซักของทนาย พอมันจะใกล้ให้ความจริงปรากฏมากขึ้น
มันมีการเปิดเผยต่าง ๆ มากขึ้น สุดท้ายนิรโทษสองฝ่าย นั่นเป็นกรณีที่ “ตำรวจ”
ขึ้นศาลพลเรือน ดังนั้นการนิรโทษสองฝ่ายใน 2516, ใน 2519 มันก็ทำให้ดูเงียบ ๆ
กันไป แน่นอนผู้ถูกกระทำที่ติดคุกก็อาจจะรับกรรมน้อยลง
ยกตัวอย่างเช่นแกนนำก็ติดคุกไปก่อนแล้วประมาณ 2 ปี แต่ว่าคดีความพองวดเข้า ๆ
ก็ได้รับการนิรโทษสองฝ่ายเมื่อ 6ตุลา เมื่อพฤษภา35 ก็เช่นกัน
และแม้กระทั่งตอนนี้จาก
2563 มาถึงบัดนี้ก็ไม่เห็นตำรวจจะต้องรับผิดชอบใด ๆ
เพราะฉะนั้นเรื่องนี้มันจึงตอบคำถามว่า ทำไมพฤติกรรมมันจึงเกิดซ้ำซาก ทำไมถึงได้
“ย่ามใจ” กระทำต่อประชาชนโดยไม่เปลี่ยนแปลง และนอกจากกระทำต่อประชาชน อย่างคุณพายุ
ซึ่งในขณะนี้ก็คงเป็นที่แน่นอนว่าต้องเสียดวงตาไปข้างหนึ่ง
แต่ดังที่ดิฉันได้บอกมาแล้วว่า การใช้กระสุนยางเป็นการใช้แบบไม่รับผิดชอบเลย
ซึ่งขัดกับหลักการทางสากลในการใช้ปืนกระสุนยาง ซึ่งเขาจะยิงในส่วนข้างล่างเท่านั้น
เพราะว่ามันเสี่ยง และโดยเฉพาะไม่ให้ยิงในระยะใกล้
แล้วปรากฏว่าเมื่อเกิดคำถาม
ฝ่ายรัฐบาลมีการโวยวายว่านักข่าวที่เอาภาพมานั้นไปเอาภาพเก่ามา ซึ่งไม่จริง
ไม่ว่าภาพเก่าหรือภาพใหม่มันก็เหมือนกัน เพราะพวกคุณไม่เคยเปลี่ยนแปลง
คุณก็ประทับยิงตรง ๆ นั่นแหละ ไม่ได้สนใจว่ามันจะไปเข้าที่ไหน? ยิงถูกหัว ยิงถูกอก
ยิงถูกท้อง เข้าตา หรืออะไร ก็อย่างที่เขาพูดว่า “กูนี่แหละของจริง” ประมาณว่า
ขอโทษพูดภาษาพ่อขุนราม “พวกมึงน่ะของเล่น พวกกูนี่แหละของจริง”
มันก็คือประมาณอย่างนั้น พวกกูของจริงแล้วไม่เคยต้องมีการรับผิด ไม่ต้องถูกลงโทษใด
ๆ มันก็อาจจะเข้าใจได้ว่าถ้าลูกน้องถูกลงโทษ ต่อไปนายก็สั่งยาก..หรือเปล่า?
อันนี้นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายง่าย ๆ ว่าทำไมถึงทำซ้ำซาก
เพราะไม่เคยต้องรับผิด
นักข่าวพลเมืองของ Isaan Record ถูกควบคุมตัว |
แต่ว่าในส่วนทีเพิ่มเติมมาจากเดิมก็คือ
การที่ทำความผิดต่อนักข่าว ซึ่งในกรณีนี้อย่างของ Isaan Record เขาก็พูดถึงนักข่าวเขาเป็นนักข่าวอาสา
เขาใช้คำว่านักข่าวพลเมือง ก็คือคุณวรัญญู คงสถิตธรรม
ก็คือถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.)
เข้าทำร้ายนายวรัญญูและเพื่อนักข่าวอีกหลายสำนักข่าวจนได้รับบาดเจ็บ
แล้วก็ถูกจับด้วยนะ
ทวิตเตอร์ของ Chalinee Thirasupa นักข่าวรอยเตอร์ ผู้ได้รับบาดเจ็บ |
อีกคนหนึ่ง
“Chalinee
Thirasupa” ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ อันนี้ก็บาดเจ็บที่ตา
“ที่เห็นคือเลือดออกใต้เยื่อบุตา เส้นเลือดฝอยระหว่างเยื่อบุตาและตาขาวฉีกขาด
เพราะแรงกระแทกของขวดแก้วที่ขว้างจากแนวหลัง คฝ. หมอบอกให้ปล่อยมันซึมออกไปเอง
หยุดกิจกรรมที่กระแทกเพรากระตุ้นให้ไหลอีก” อันนี้เป็นวัสดุ “แก้ว”
"เปา" ถูกจ่อยิงที่ท้องหลังจากล้มลง |
จากเฟซบุ๊ก
Baramee
Chaiyarat “เปา” ถูกเตะเข้าหว่างขาล้มลง
แล้วถูกจ่อยิงที่ท้องหลังจากล้มลง คำถามคือ การยิงคนที่ล้มลงแล้ว
นี่คือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือ?
ภาพเหตุการณ์ 18 พ.ย. 2565 |
ภาพเหตุการณ์ 1 ส.ค. 64 |
คุณปฏิภัทร
ที่ถ่ายภาพการยิงแล้วก็ถูกวิจารณ์ว่าไปเอาภาพเก่า เดี๋ยวเราก็จะเห็นได้ในคลิปก็คือทั้งภาพเก่าหรือใหม่มันก็ท่าเดียวกัน
“ประทับยิง” แล้วก็เห็นไฟวาบมาจากปากกระบอกปืน เพราะว่าภาพเมื่อ 1 สิงหาคม 2564
ก็เป็นภาพจ่อยิงที่ คฝ. ยิงไปที่ผู้ชุมนุม แล้วพอมา 2565 ก็จ่อยิงเหมือนกัน
แล้วทางตำรวจก็อ้างว่าไปเอาภาพเก่า ขอโทษ! มันก็จะมีอีก 2566, 2567, 2568
ก็เป็นภาพของการใช้อาวุธแล้วก็มีปืนเป็นประกายไฟออกมา
แสดงให้เห็นก็เป็นท่ายิงตรงหรือประทับบ่ายิง อันนี้เรียกว่าคุกคามนักข่าวด้วย
แล้วทางตำรวจเองก็มาโวยวายว่า นักข่าวมันเยอะ ทำไมนักข่าวมาอยู่ข้างหน้า
เขาก็ต้องการได้ภาพที่ดี แล้วทำไมบางคนก็อ้างว่าเป็นยูทูปเบอร์มาตั้งสำนักข่าวเอง!
อย่างไรก็ตาม
นักข่าวที่ถูกกระทำเหล่านี้เขามีปลอกแขนชัด เขามีเครื่องหมายชัด
นี่เป็นนักข่าวของสำนักข่าวดังทั้งนั้นเลย แม้เขาจะเป็นนักข่าวออนไลน์ก็ตาม
แต่สำนักข่าวออนไลน์ ขณะนี้มันเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น บางคนก็ทำเฟซบุ๊กไลฟ์
“ยูดีดีนิวส์” ก็ทำเฟซบุ๊กไลฟ์ตลอดเวลา ก็โชคดีที่ไม่ถูกกระทำ
แต่เราก็ต้องเป็นปากเสียงให้กับสำนักข่าวอื่นและผู้สื่อข่าวอิสระที่ถูกกระทำ
เขามีสิทธิ์ พวกคุณ “ตำรวจ, ทหาร” ต่างหากไม่มีสิทธิ์
รัฐไทยเป็นรัฐที่อยู่ในสหประชาชาติ ไปเซ็นรับรองอะไรทุกอย่างไว้แล้ว แต่ไม่ทำ! อย่างกระสุนยางคุณทำแบบนั้นมันไม่ได้
ตอนนี้ไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เขาก็ใช้พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะซึ่งไม่ต้องขออนุญาตนะคะ
แจ้งให้ทราบ เขาก็แจ้งว่าเขาอยู่ที่ตรงลานคนเมือง
แล้วจากลานคนเมืองเขาก็จะขยับออกมาเพื่อไปยื่นจดหมายให้กับทางเวทีเอเปค
เขาก็บอกชัด แล้วเขาก็เลือกเดินง่าย ๆ มาทางถนนดินสอ
อย่างที่ดิฉันได้บอกไปแล้วว่า
“เจ้าหน้าที่รัฐ” คนเหล่านี้ใช้เงื่อนไขความรุนแรงสูงสุด!
เพราะคุณต้องเปรียบเทียบนะว่าถนนดินสอมันแคบ ใคร ๆ ก็รู้ว่ามันแคบ
และมันเป็นการควบคุมที่ง่ายมาก
แล้วถ้าคุณเปรียบเทียบกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมก็ไม่มาก
นักข่าวก็อาจจะมากสักหน่อย แปลว่ามันเป็นสถานการณ์ที่ไม่คับขันใด ๆ
ไม่มีอะไรเสี่ยงภัยเลย ศูนย์ประชุมก็อยู่ไกลโน่น ตรงนี้อยู่ห่างมาก
แต่อาจจะมีกระแสว่าตอนเย็นอาจจะมีการใช้ถนนราชดำเนิน
ซึ่งที่จริงถ้าคุณให้เวลาและเกรงว่าอาจจะมีปัญหา ก็ให้เขาเดินไปเลย บอกเลยว่าผมให้คุณ
1 ชม. เดินให้พ้นถนนราชดำเนิน แล้วก็ไปว่ากันข้างหน้า ตามหลักเขามีสิทธิ์
เขาก็แจ้งล่วงหน้าแล้วว่าเขาจะไป
แต่ถ้าไปตรงไหนแล้วคุณคิดว่ามันจะไปคุกคามการประชุมหรือมีอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใด
คุณก็สามารถคุยกันได้ แต่เท่าที่ดิฉันดูในเฟซบุ๊กไลฟ์วันนั้น ดิฉันไม่เห็นผู้บังคับบัญชาที่เป็นนายตำรวจระดับสูงอยู่ตรงนั้นเลย
มันต้องเจรจาคุยกัน มันไม่ใช่ให้ลูกน้องที่ออกมาบอกว่า “กูนี่แหละของจริง”
แล้วนายอยู่ไหนล่ะ? เขากล้าพูดอย่างนั้นได้ตรงนั้น แปลว่าตรงนั้นไม่มีนายอยู่
แต่ว่าพวกกูของจริงทั้งนั้น ประมาณว่าอย่างนั้น
เมื่อเราคำนึงถึงกติกาสากลในการชุมนุมและการสลายชุมนุม
ประเทศไทยผิดหมดมาตั้งแต่ต้น ดิฉันไม่อยากจะย้อนไปว่าเราไปรับรองสนธิสัญญาที่ไหน ๆ
เมื่อไหร่ แต่เราไม่เคยสนใจ สนใจเวทีระหว่างประเทศก็คือให้ได้หน้าได้ตา
ถ้าเขามาก็นี่ไงเขายอมรับผม เขาถึงมาประเทศไทย
ดังนั้นพวกเอ็งอย่าได้หือหรืออะไรประมาณนั้น
แต่ไม่รู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดมันไม่ใช่คุยกันตามมารยาท
แต่มันเป็นการนับถือด้วยจริงใจ การนับถือด้วยจริงใจนั่นก็คือผู้นำชอบธรรม
มาอย่างชอบธรรมและปกครองอย่างชอบธรรม คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
คำนึงถึงหลักสิทธิเสรีภาพ กติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมการชุมนุมและการสลายการชุมนม
โดยปกติดังที่ดิฉันได้บอก
ในอดีตใช้อาวุธจริงด้วย เช่นใน 6ตุลา19 หรือในกรณีพฤษภา53 ซึ่งคุณทำไม่ได้
คุณจะยิงคนที่เขาไม่มีอาวุธ ต่อให้เขาเป็นคอมมิวนิสต์ก็ยิงไม่ได้ เขาไม่มีอาวุธ
เขามือเปล่า แต่ถามว่าทำไมถึงกล้ายิง ขนาดพวกกันเองเอามือตบหัวว่าเฮ้ยอย่ายิง
ยังยิงเปรี้ยง ๆ เลย ถามว่าเพราะอะไร เพราะในเชิงความคิดก็คือ กูนี่แหละของจริง!
ประมาณนั้น คือเป็นผู้ปกครองที่ถาวร เป็นนายที่ถาวร พูดง่าย ๆ
ว่าพวกมาประท้วงเนี่ย ถ้าแตกต่างจากนายไม่เชียร์นายก็คือเป็นไพร่ถาวร
มีหน้าที่ที่ว่าต้องปฏิบัติตามคำสั่งและจะทำอะไรก็ได้เหมือนกันทั้งสิ้น
ขอบคุณภาพกราฟฟิคจาก iLaw |
ในกรณีของหลักสากลในการชุมนุมและการสลายการชุมนุม
มาในตอนนี้เขาก็มีหลักเกณฑ์ ไม่ว่าจะใช้กระสุนยาง ใช้แก๊สน้ำตา ใช้น้ำ
แต่ถามว่าเคยสนใจไหม? ไม่เคยสนใจ เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุทั้งสิ้น
แล้วมาถึงในขั้นนี้ก็ยังพยายามจะโบ้ยว่ารูปภาพไม่ตรง เป็นรูปเก่าบ้าง
แล้วก็ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงบ้าง ดิฉันอยากจะเรียนว่า ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี
วิธีคิด แล้วก็..
ดิฉันไม่อยากใช้คำรุนแรงที่ว่าการกระทำเป็นนิสัยหรือสันดานของผู้ปกครองไม่เปลี่ยนแปลง
ประชาชนนั้นเปลี่ยน โลกก็เป็นพลวัตร ขนาดอากาศยังเปลี่ยนเลย
แต่ทำไมผู้ปกครองเผด็จการจารีตนิยมไทยไม่เปลี่ยน
คุณอยากจะให้เกิดภาพแบบ
10เมษา53 โอเคประชาชนยังไม่ชนะ แต่ 10เมษา ก็ถนนดินสอ ในปี 2553 คุณใช้ความรุนแรง
คุณยิงหัวประชาชนจากพลซุ่มยิง แล้วในที่สุดก็เกิดระเบิดในกลุ่มทหาร
อันนั้นมันเป็นผลที่ตามมาซึ่งยังไม่มีใครรู้
ยังไม่มีการสืบสวนสอบสวนที่ให้ความชัดเจน
แต่โยนไปว่าคนเสื้อแดงและผู้ชุมนุมในเวลานั้นมีอาวุธ มีชายชุดดำ และในที่สุดก็อ้างเป็นเหตุผลในการใช้กระสุนจริงยิง/ฆ่าประชาชน
ภาพเหตุการณ์วันที่ 18 พ.ย. 65 |
ตอนนี้กลุ่มที่เคลื่อนไหวในวันนี้เป็นกลุ่มเยาวชนและชาวนาชาวไร่
คุณไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าคนพวกนี้เป็นไพร่พลของพรรคการเมือง ของนายทุนคนใด
เขามาเพราเขาต้องการต่อสู้เรื่องทรัพยากร เรื่องผลประโยชน์อยู่กินของเขา
และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนเยาวชนก็เป็นการกระทำซึ่งมีความต่อเนื่องจาก 2563-2564
ในการที่จะผลักดันประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า
ให้มีการปฏิรูปในทุกปริมณฑลดังที่เราได้ทราบอยู่แล้ว
ดังนั้น
การกระทำความรุนแรง คุณทำความรุนแรงกับคนเสื้อแดงได้ แล้ว “ย่ามใจ” ใช่ไหม?
ตอนนี้คุณกำลังทำความรุนแรงกับประชาชนคนรุ่นใหม่
กับแกนนำคนรุ่นใหม่เหมือนที่เคยทำกับแกนนำคนเสื้อแดง แล้วคิดว่าไม่มีอะไร มีนะคะ
มันอยู่ในใจ แล้วมันก็ถ่ายทอดส่งต่อมา เพราะคนไทยอย่างไรก็รักประเทศ
เขาไม่ได้ต้องการทำร้ายประเทศด้วยการใช้ความรุนแรงด้วยการใช้อาวุธ ก็คือไม่ได้มีนิสัยสันดานเหมือนกับผู้นำที่มีอำนาจที่ปกครองที่กระทำต่อเขา
แต่ว่าความเคียดแค้นและความเจ็บแค้นที่ถูกกระทำ มันไม่ได้หายนะ
มันจะยกระดับทางปริมาณ และเมื่อไหร่มันเข้าสู่คุณภาพใหม่ คุณรับไม่ไหวนะคะ
เพราะว่าขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยน ประชาชนก็เปลี่ยน แต่ผู้นำแบบเก่ายังไม่เปลี่ยน
ดิฉันคิดว่าสถานการณ์ไม่เหมือนเดิมค่ะ
เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่เปลี่ยน สถานการณ์จะเปลี่ยนคุณค่ะ
#ธิดาถาวรเศรษฐ
#UDDnews
#ยูดีดีนิวส์ #รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน