“สุภิญญา” ยื่นหนังสือถึง กสทช. ให้ใช้หลักอุดมคติและยืนข้างผู้บริโภคประชาชน
ในการพิจารณาควบรวม “ทรู-ดีเทค”
วันนี้
(10 ต.ค. 2565) เวลา 10.00 น.
ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง
กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ( กสทช. ) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์
ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ
ยื่นหนังสือถึงประธาน กสทช. เพื่อขอให้คณะกรรมการฯ
ใช้หลักอุดมคติและยืนหยัดข้างผู้บริโภคและประชาชน ในการพิจารณาควบรวม “ทรู-ดีแทค”
โดยมี พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธานฯ กสทช. และ ศ.พิรงรอง
รามสูตร เป็นผู้รับหนังสือ
นางสาวสุภิญญา กล่าวว่าในนามของสภาองค์กรเพื่อผู้บริโภค
ขอมายื่นหนังสือเนื่องจากว่าประเด็นที่ผู้บริโภคกำลังจับตา คือ วันที่ 12
ตุลาคมนี้ กสทช. จะมีการพิจารณาในประเด็นเรื่องการควบรวม “ทรู-ดีแทค”
ซึ่งเป็นดีลใหญ่ที่กระทบประโยชน์สาธารณะ และสภาฯ ก็มีการติดตามมาอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงได้แสดงจุดยืนมาเป็นระยะ และคิดว่าจังหวะนี้เป็นจังหวะที่ดีเพราะเมื่อวันที่
7 ตุลาคมที่ผ่านมาเพิ่งครบรอบวันสถาปณา กสทช. 11 ปี และวันพรุ่งนี้ (11 ต.ค. 65)
ก็จะครบรอบ 25 ปีของการมีมาตรา 40 ตามรัฐธรรมนูญ 40
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อเกิดองค์กรอิสระอย่าง กสทช. ที่ต้องมากำกับดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะ
โดยเน้นเรื่องการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม วันนี้เราจึงมายืนยันว่าอยากให้กรรมการ
กสทช. ทำหน้าที่บยหลักนิติธรรม ไม่ใช่นิติเพื่อทุน
รวมถึงยึดมั่นในผลประโยชน์ของประชาชนสูงสุดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 60 และสำคัญที่สุดคือตามแผนแม่บทของ
กสทช.
นอกจากนี้ยังนำแผนแม่บทของ กสทช.
มามอบให้ กสทช. ด้วย เพื่อเป็นการทบทวน เนื่องจากเท่าที่ติดตามมาไม่แน่ใจว่า กสทช.
ได้ใช้แผนแม่บทเป็นหลักในการพิจารณาผลกระทบจากการควบรวมหรือไม่
เพราะในแผนแม่บทฉบับที่ 2 เขียนชัดเจนเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม
เกรงว่าถ้า กสทช.
ไม่ได้อิงเรื่องนี้หากมีคดีไปศาลปกครองอาจมีปัญหาในเรื่องกระบวนการได้
เมื่อถามว่าใกล้วันชี้ชะตา 12 ต.ค. แล้วทางสภาฯ
มีจุดยืนต่อดีลควบรวมอย่างไร นางสาวสุภิญญา ตอบว่าทางสภาฯ ยังคงยืนยัน 2 เรื่องหลัก
คือ กสทช. มีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาดีลนี้ เพื่ออนุญาตหรือไม่อนุญาต
และเรื่องที่ 2 คือ เราไม่ควรอนุญาต
เพราะการควบรวมเป็นการลดทางเลือกของผู้บริโภคให้เหลือทางเลือกแค่ 2 ทางหลัก
จะส่งผลต่อการกำกับดูแลกลไกราคาในอนาคต และจะกระทผู้ใช้บริการดีแทค 19 ล้านราย
จะมีทางเลือกไหนในการใช้บริการ ซึ่งเป็นเรื่องของทางเลือกและเรื่องของราคา แต่ที่สุดคือส่งผลให้สภาพแวดล้อมในตลาดโทรคมนาคมการแข่งขันลดลง
ซึ่งเป็นแผนแม่บทของ กสทช. ขัดหลักเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญของการที่มี กสทช.
ขึ้นมาจัดสรรคลื่นความถี่ ในส่วนของระยะยาวส่งผลต่อผู้บริโภคแน่นอน
แต่ระยะสั้นคือผู้ใช้บริการดีแทคหรือทรู ขาดทางเลือก
เพราะจะเหลือทางเลือกแค่ไม่กี่ราย จึงคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กสทช.
ต้องยืนหยัดตามหลักนิติธรรมไม่ใช่หลักนิติทุน
ในการที่จะยืนหยัดการคัดค้านการควบรวม ซึ่งในมุมของผู้บริโภคแน่นอนว่าต้องเคารพการลงมติของ
กสทช. สุดท้ายอาจจะมีเสียงข้างมากและเสียงข้องน้อย ก็ว่าไปตามกระบวนการทางกฎหมาย
แต่ไม่ว่าจะตัดสินออกมาอย่างไรก็ต้องมีคนไปฟ้องศาลอยู่แล้ว
ถ้าภาคเอกชนไปฟ้ององค์กรผู้บริโภคก็พร้อมที่จะร่วมสนับสนุนและร่วมต่อสู้ด้วย
แต่ถ้าการตัดสินออกมากระทบกับผู้บริโภคองค์กรฯ ก็คงจะขึ้นศาลปกครองเช่นเดียวกัน
#UDDnews
#ยูดีดีนิวส์ #ควบรวมทรูดีแทค