วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2565

นพ.เหวง โตจิราการ : สาเหตุ “ลุงนวมทอง” ตัดสินใจพลีชีพ เสนอทางเลือกไม่ให้เกิดรัฐประหารอีก ต้องนำคณะที่ทำรัฐประหารซึ่งถือเป็นกบฏมาลงโทษตามมาตรา 113 ให้ได้

 


#16ปีนวมทองไพรวัลย์ : นพ.เหวง โตจิราการ

 

พี่น้องประชาชนผู้เคารพรักทุกท่าน ก่อนอื่นผมขออนุญาตที่จะเอ่ยนามลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ผมไม่ทราบว่าท่านอยู่ในภพภูมิไหนนะครับ แต่ผมเชื่อมั่นว่าท่านอยู่ในภพภูมิที่ดี และในวันนี้ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ผมคาดเดาว่าท่านคงยังไม่ได้ไปเกิดที่ไหน เพราะท่านบอกแล้วนะครับว่า “เกิดชาติไหนขออย่าได้พบการปฏิวัติอีกเลย” ตอนนี้ประเทศใต้อยู่ภายใต้การปกครองของคณะปฏิวัติหรือเรียกว่าคณะรัฐประหารอยู่ ดังนั้นผมเชื่อมั่นว่าจะด้วยวิถีญาณใด ๆ ก็แล้วแต่ ลุงนวมทองคงไม่ตัดสินใจที่จะมาเกิดอีกครั้งหนึ่งเพราะยังอยู่ภายใต้การยึดอำนาจรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง

 

วันนี้ผมขออนุญาตที่จะกราบเรียนพี่น้องประชาชนทุกท่านว่า ผมขอประจานทหารเผด็จการหรือรัฐประหารหรือทหารยึดอำนาจ อำนาจนิยม ประการแรก ลุงนวมทองเป็นผู้พิสูจน์แล้วว่าคำพูดของทหารนั้นเป็นคำพูดที่ไร้สาระ ไร้ค่า ไม่น่าเชื่อถือ เพราะว่าโฆษกทหารในสมัยนั้น ขออนุญาตเอ่ยนาม พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ เป็นคนพูดเองว่าไม่เชื่อว่าจะมีคนมีอุดมการณ์มากขนาดที่จะพลีชีพได้ คำพูดอันนี้แหละที่ทำให้ลุงนวมทองตัดสินใจในการที่จะพลีชีพต่อต้านการยึดอำนาจรัฐประหาร

 

ผมขออนุญาตทวนความอดีตเล็กน้อย อันที่จริงถ้าหากว่าท่านทั้งหลายที่เกิดทันหรือยังจำได้ในการยึดอำนาจครั้ง ๆ มีประชาชนจำนวนไม่น้อยแห่กันไปเอาดอกไม้ไปมอบให้ทหาร เอาดอกไม้ไปปักไว้ที่ปากกระบอกปืนของรถถัง แต่ปรากฏว่ามันเลยเถิดไปครับ เลยเถิดไปถึงขั้นเอาโคโยตี้ ขออนุญาตด้วยความเคารพ ผมเคารพวิชาชีพโคโยตี้นะครับ แต่การกระทำในครั้งนั้นมันไม่เหมาะสม ผมเชื่อว่าจะต้องมีพรรคพวกของพวกขวาจัดหรืออำนาจนิยมเป็นคนจัดขึ้น คือไปจัดโคโยตี้นุ่งน้อยห่มน้อยมาเต้นระบำติ๊ดชึ่งติ๊ดชึ่งหน้ารถถัง ซึ่งมันเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกองทัพ ฉับพลันทันใดในวันนั้นเองก็เลยมีการสั่งให้ทหารกลับกรมกองทั้งหมดเลย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าปล่อยให้ทหารยืนอยู่บนถนนรอบ ๆ พระบรมรูปทรงม้าหรือรอบ ๆ ราชดำเนินเพื่อให้ประชาชนเอาดอกไม้มามอบให้ แสดงความภาคภูมิใจเสียเหลือเกินที่ตัวเองยึดอำนาจสำเร็จ

 

นี่ไง! คือเหตุการณ์ที่ทำให้ลุงนวมทองรับไม่ได้ ลุงนวมทองก็เลยตั้งใจที่จะกระชากอารมณ์ความรู้สึกของประเทศ ของสื่อกลับมา ลุงก็เลยตัดสินใจที่จะขับแท็กซี่ไปชนรถถังเลยครับ จริง ๆ วันนั้นท่านตัดสินใจที่จะพลีชีพ แต่ท่านบอกของท่านเองนะครับว่าวงในการเลี้ยวมันผิด จริง ๆ ผมได้มีโอกาสคุยกับท่านตอนที่ท่านไปป่วยอยู่ที่รพ.วชิระ ก็คือหลังจากที่บาดเจ็บแล้วก็มีคนพาส่งรพ.วชิระ ในวันนั้นสื่อจำนวนหนึ่ง ประชาชนจำนวนหนึ่งยังรุมประณามลุงนวมทอง หาว่าเมายาบ้าบ้างล่ะ หาว่าขับรถแล้วไม่ได้สตางค์บ้างล่ะ วันนั้นไม่มีผู้โดยสาร แต่ความจริงไม่ใช่เลย ผม, หมอสันต์, ครูประทีปไปเยี่ยมลุงนวมทองเพราะมองเห็นแล้วว่าลุงนวมทองทำไปด้วยอุดมการณ์ ท่านบอกเองนะครับว่าพอดีเห็นทหารยืนเฝ้ารถถังอยู่ หากว่าขับพุ่งชนตรง ๆ มีโอกาสที่จะทำให้ทหารเสียชีวิตซึ่งมันไม่ถูกต้อง เพราะว่าพลทหารไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้อง ท่านก็เลยหักก็เลยทำให้ท่านไม่เสียชีวิต

 

พวกเราก็เลยขอร้องว่าคุณลุงครับ ชีวิตของคุณลุงมีค่ามากเกินกว่าที่จะมาแลกกับคณะรัฐประหารชุด คปค. หรือ คมช. สมัยโน้น คุณลุงก็รับฟังโดยดุษณีภาพและเปลี่ยนการตัดสินใจ ปรากฏว่าโฆษกกองทัพบกนี่แหละครับไปพูดเหยียดหยามน้ำใจ นี่ไง! ที่เสาสดมภ์มีเขียนไว้นะครับว่า น้ำใจคนไทยนั้น ฆ่าได้ แต่หยามไม่ได้ เพราะฉะนั้นท่านก็เลยตัดสินใจ และการตัดสินใจของท่านละเอียดลึกซึ้งนะครับ ท่านเดินไปดูงาน 14ตุลา แรกสุดท่านตัดสินใจที่จะแขวนคอกับอนุสาวรีย์ แต่ท่านคิดแล้วมันอาจจะเป็นการกระทำที่มันรุนแรงเกินไป บาดตาบาดใจของคนมากเกินไป ท่านก็เลยคิดใหม่ ในที่สุดท่านก็เลยมาแขวนคอที่นี่!

 

เพราะฉะนั้น การกระทำของคุณลุงนวมทองจึงเป็นการตบหน้าทหารเผด็จการอย่างแรงครับ ประจานทหารเผด็จการอย่างแรง ที่ทหารเผด็จการเคยปรามาสคนไทยไว้ว่า จะไม่มีใครมีอุดมการณ์มากพอที่จะพลีชีพเพื่ออุดมการณ์ได้ นี่ไง! ลุงนวมทอง และผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่สุดพร้อมที่จะต่อสู้กับเผด็จการ แต่ผมเห็นด้วยกับที่อาจารย์ธิดาได้พูดมาเมื่อสักครูนี้ เราศึกษาจิตใจที่สูงส่งของลุงนวมทอง แต่เยี่ยงอย่างและวิถีทางเดินผมขออนุญาตที่จะเสนอว่าเราเลือกหนทางอื่นดีกว่า ชีวิตเรามีค่ามากกว่าที่จะมาทำเช่นนี้นะครับ แต่ผมเคารพในวิถีทางของคุณลุง นี่คือเรื่องที่หนึ่งนะครับ

 

เรื่องที่สองผมขออนุญาตที่จะประจานทหารเผด็จการ ก็คือทหารเผด็จการเขาให้คำมั่นสัญญากับคุณบุญชู (ภรรยาลุงนวมทอง) และครอบครัวว่าจะอนุเคราะห์ให้ความช่วยเหลือจนสามารถที่จะยืนบนลำแข้งของตัวเองได้ เมื่อสักครู่นี้ผมก็ยังถาม ผมถามทุกปีครับว่าทหารเผด็จการเขาเคยมาช่วยเหลือครอบครัวบ้างหรือไม่? อย่างไร? ที่ผมมาพูดนี่ไม่ได้ต้องการมาทวงนะครับ แต่ต้องการมาประจานว่าคำพูดของทหารเผด็จการนั้นรับฟังไม่ได้ครับ เพราะฉะนั้น ท่านที่เคารพทุกท่านโปรด่พิจารณาดูนะครับว่าคำพูดของทหารเผด็จการนั้นรับฟังไม่ได้นะครับ

 

ประการที่สาม ลุงนวมทองบอกแล้วนะครับว่าเกิดภพหน้าชาติใหม่ขออย่าได้เจอปฏิวัติอีก! ผมต้องกราบเรียนทุกท่านนะครับว่านี่เป็นภาระรับผิดชอบของพวกเราในการที่จะป้องกันหรือปิดประตูไม่ให้รัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศไทยได้อีก ผมเองขอเสนอทางเลือกซึ่งผมเชื่อว่าสำหรับผมเป็นทางเลือกที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการยึดอำนาจรัฐประหารได้ นั่นก็คือ เราต้องเอาคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจสำเร็จมาลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ได้ ผมคิดของผมในฐานะที่ไม่ได้เป็นทนายความ เป็นหมอ แต่ก็ได้เรียนกฎหมายมาบ้าง ณ วินาทีที่พวกเขายึดอำนาจ วินาทีนั้นพวกเขาเป็นผู้ร้ายแล้วครับ เป็นอาชญากรครับทำผิดมาตรา 113 มีความผิดข้อหากบฏครับ

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาประกาศสืบเนื่องมาภายหลังก็คือนิรโทษกรรมนั้น ต้องถือว่ารับฟังไม่ได้ ถือว่าเป็นโมฆะ ดังนั้นผมฝากให้ประเทศไทย ให้ประชาชนไทย ให้พรรคการเมืองของฝ่ายประชาชนทุกพรรคนำไปพิจารณา หากว่าท่านได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายหรือจะเรียกว่าแลนด์สไลด์ก็สุดแท้แต่นะครับ ได้โปรดนำคณะรัฐประหาร ไม่ว่าชุดของ สนธิ(บัง) หรือว่าชุดของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาลงโทษตามประมวลกฎหมายมาตรา 113 ให้ได้

 

ส่วนที่เลือกที่สอง ผมเรียนรู้จักประวัติศาสตร์ก็เพียงแต่นำมากราบเรียนเพื่อประกอบการพิจารณา ในประวัติศาสตร์ชาติไทยมีการยึดอำนาจรัฐประหารหลายครั้ง แต่การยึดอำนาจรัฐประหารที่พ่ายแพ้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีกองกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายประชาธิปไตยกล้าต่อสู้ครับ ครั้งแรกที่สุดก็คือกบฏบวรเดช คณะราษฎรเขาสู้ครับ เพราะฉะนั้นก็เลยสามารถที่จะปราบกบฏบวรเดชได้ คงจำได้นะครับว่า “ดิ่น ท่าราบ” ถูกยิงตายที่ไหน? โดยใคร? หลังจากนั้นจึงมีการจับกบฏบวรเดชไปลงโทษตามประมวลฯ 113 และต่อมา “เมษาฮาวาย” ที่พ่ายแพ้เพราะว่าฝ่ายพล.อ.เปรมเขาไม่ยอม และฝ่ายพล.อ.เปรมเขามีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นกำลังสำคัญ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็เลยส่งกำลังทหารมาลงที่ดอนเมืองนี่แหละ C130 เอารถถังเข้ามา แล้วก็จับ “ประจักษ์ สว่างจิตร” ในที่สุดก็สามารถที่จะปราบกบฏได้

 

ดังนั้น ผมได้ยินได้ฟังมาเยอะว่าพวกเราไม่ประสงค์ที่อยากจะให้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกต่อไป การตราไว้ในรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ได้ไว้เรียบร้อยว่าการรัฐประหารนั้นไม่สามารถออกพ.ร.ก.นิรโทษกรรมได้ แต่ว่าพอปฏิบัติเข้าจริง ๆ เป็นไปไม่ได้ครับ รัฐประหารเสร็จเขาฉีกรัฐธรรมนูญทันที ดังนั้นถึงจะตราไว้ในรัฐธรรมนูญว่ารัฐประหารไม่สามารถออกพ.ร.ก.ได้ สุดท้ายเขาก็ฉีกรัฐธรรมนูญในที่สุดเขาก็สามารถที่จะนิรโทษตัวเอง มันมีแต่ว่าถึงจะนิรโทษไปแล้วก็ต้องนำเอานักกฎหมายทั้งหลายมาถกเถียงกันว่าพวกที่เป็นกบฎตามมาตรา 113 สามารถออกพ.ร.ก.นิรโทษตัวเองได้หรือเปล่า?

 

ดังนั้น ผมจึงประสงค์ที่อยากจะฝากให้พี่น้องทุกคนพิจารณานะครับ ทำอย่างไรถึงจะให้อุดมการณ์ของลุงนวมทองปรากฎเป็นจริงขึ้นมา ขอบคุณมากนะครับ สวัสดีครับ

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นวมทองไพรวัลย์ 

รำลึก 16 ปี “นวมทอง ไพรวัลย์” สละชีพบริเวณสะพานลอยหน้าไทยรัฐ ต้านรัฐประหาร 2549 อดีตแกนนำเสื้อแดงตบเท้าเข้าร่วม “พรรคเพื่อไทย-ครอบครัวเพื่อไทย-ไทยสร้างไทย” ร่วมวางหรีดไว้อาลัย

 


รำลึก 16 ปี “นวมทอง ไพรวัลย์” สละชีพบริเวณสะพานลอยหน้าไทยรัฐ ต้านรัฐประหาร 2549 อดีตแกนนำเสื้อแดงตบเท้าเข้าร่วม “พรรคเพื่อไทย-ครอบครัวเพื่อไทย-ไทยสร้างไทย” ร่วมวางหรีดไว้อาลัย

 

วันที่ 31 ต.ค. 2565 ที่สดมภ์อนุสรณ์ “นวมทอง ไพรวัลย์” บริเวณใต้สะพานลอยหน้าสำนักข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถ.วิภาวดีรังสิต เครือข่ายภาคประชาชนและกลุ่มคนเสื้อแดง จัดกิจกรรมรำลึกถึง “นวมทอง ไพรวัลย์” หรือ “ลุงนวมทอง” คนขับแท็กซี่ผู้ขับรถชนรถถัง เพื่อประท้วงการก่อรัฐประหาร ปี 2549 ก่อนจะผูกคอเพื่อกระทำอัตวินิบาตกรรมใต้สะพานลอยหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อ 31 ธ.ค. 2549 เพื่อยืนยันในอุดมการณ์และลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ (ยศขณะนั้น) รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่กล่าวว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีวิตได้”

 

เวลาประมาณ 13.00 น. มวลชนทยอยเข้ารวมตัวที่สดมภ์อนุสรณ์ ก่อนผู้นำในพิธีการจะเดินทางมาถึง อาทิ นางบุญชู ไพรวัลย์ ภรรยาของลุงนวมทอง อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เช่น ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธานนปช., นพ.เหวง โตจิราการ, วรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย รวมถึงตัวแทนของพรรคเพื่อไทยและครอบครัวเพื่อไทย เช่น ลิทธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์, ชญาภา สินธุไพร, อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” และ ชานันท์ ยอดหงษ์ เป็นต้น

 

จากนั้น พระสงฆ์ 4 รูป เดินทางมาประกอบพิธีสวดพระอภิธรรม ผู้ร่วมงานร่วมกันถวายสังฆทานและกรวดน้ำ จากนั้นเป็นการวางพวงหรีดบริเวณใต้สะพาน โดยเป็นหรีดของบรรดาอดีตแกนนำนปช. และเครือข่ายในจังหวัดต่างๆ อาทิ เสื้อแดงปทุมธานี, เสื้อแดงนนทบุรี, เสื้อแดง กทม. พร้อมทั้งมีพวงหรีดของ คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553, UDD News (ยูดีดีนิวส์), คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครป.), มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย, พรรคเพื่อไทย, ครอบครัวเพื่อไทย, We Volunteer และ ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย เป็นต้น

 

จากนั้นเป็นการกล่าวสดุดีและรำลึกถึงลุงนวมทอง โดย อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ, นพ.เหวง โตจิราการ, นายวรชัย เหมะ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งกิจกรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและจบลงในเวลาประมาณ 15.00 น.

 

ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บางซื่อ และตำรวจจราจรกลาง รวมกันราว 30 นาย มาสังเกตการณ์และอำนวยความสะดวกบริเวณจุดจัดกิจกรรม ขณะเดียวกันทาง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ประสานงานรถสุขาเคลื่อนที่เพื่อบริการให้ผู้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #16ปีนวมทองไพรวัลย์ #นวมทองไพรวัลย์

















ธิดา ถาวรเศรษฐ : ลุงนวมทองเป็นเชื้อเพลงของคบไฟแห่งการต่อสู้ของประชาชน และการต่อสู้ประชาชนไม่ได้ขาดหาย : รำลึก #16ปีนวมทองไพรวัลย์

 


#16ปีนวมทองไพรวัลย์ : อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ

 

สวัสดีค่ะ พี่น้องประชาชน สื่อมวลชน ผู้รักประชาธิปไตยทุกท่าน

 

31 ตุลาคม เป็นวันที่เรารำลึกถึงสามัญชนคนหนึ่ง ก็คือ ลุงนวมทอง ไพรวัลย์

 

ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ เป็นสามัญชนธรรมดา แต่ว่าสิ่งที่ทำนั้นยิ่งใหญ่และสูงส่ง เพราะยินดีพลีชีพเพื่ออุดมการณ์ในการต่อต้านรัฐประหาร นั่นเป็นประการสำคัญก็คือการขับแท็กซี่เพื่อชนรถถัง นี่คือวิถีทางของลุงนวมทอง ซึ่งมีแต่เพียงแท็กซี่คันเดียวและร่างกาย ลุงนวมทองต้องการบอกให้โลกรู้ว่าคนธรรมดาขับแท็กซี่ จะแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐประหารได้อย่างไร ก็คือทรัพย์สินที่มี ก็คือรถแท็กซี่และร่างกาย แต่เมื่อมันไม่สำเร็จ นั่นก็คือท่านยังไม่ได้เสียชีวิต ปรากฏว่ามาถึงประการที่สอง นอกจากท่านจะต้องการสร้างประวัติศาสตร์โดยเอาแท็กซี่ชนรถถังแล้ว

 

ในประการที่สองก็คือท่านต้องการรักษาศักดิ์ศรีของฝ่ายประชาธิปไตยทุกท่าน เพราะมีการหมิ่นจากยศพันเอกอัคร ทิพโรจน์ (เวลานั้น) ว่าไม่มีใครที่มีอุดมการณ์พอที่จะสละชีวิตได้ นี่เป็นวิธีคิดของฝ่ายอำนาจจารีตนิยม ซึ่งดูหมิ่นดูแคลนฝ่ายประชาธิปไตย การดูหมิ่นดูแคลนอันนี้นี่แหละ ลุงนวมทองจึงต้องตัดสินใจพลีชีพให้สำเร็จอีกครั้งหนึ่ง ณ ที่นี้ การพลีชีพครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงสร้างประวัติศาสตร์ของสามัญชนในการต่อต้านรัฐประหาร แต่เป็นเนื้อหาอันที่สองก็คือ รักษาศักดิ์ศรีของฝ่ายประชาธิปไตย ฆ่าได้ หยามไม่ได้! ต้องการชี้ให้เห็นว่าอุดมการณ์ที่มีอยู่ในสามัญชนนั้นมีมากพอที่ยินดีสละชีพได้ นี่จึงเป็นความสูงส่งซึ่งมนุษย์คนหนึ่ง การสละชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่มากไปกว่านี้แล้ว

 

ดังนั้นท่านได้ทำเป้าหมายสองเป้าหมายคือสร้างประวัติศาสตร์สามัญชนต่อต้านรัฐประหาร คือเอาแท็กซี่ชนรถถัง และการพลีชีพเพื่อที่จะรักษาศักดิ์ศรีของฝ่ายประชาธิปไตยว่า มีอุดมการณ์มากพอที่จะพลีชีพจริง นี่จึงเป็นสิ่งที่เราควรศึกษาจิตใจที่สูงส่ง ยอมสละได้กระทั่งชีวิต แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราควรจะ หลายคนแม้กระทั่งตัวดิฉันเองก็คิดว่าเราไม่เห็นด้วย แต่ว่าสำหรับลุงนวมทองซึ่งมีความคิดของตัวเอง ทำเองคนเดียว ท่านก็คิดว่าชีวิตท่านดีที่สุดที่จะทำให้กับส่วนรวมได้ก็คือสละชีวิต

 

ดังนั้นการสละชีวิตของลุงนวมทองจึงเปรียบเสมือนการจุดคบไฟของการต่อสู้ ต่อต้านรัฐประหาร 2549 ด้วยเชื้อเพลิงที่เป็นร่างกายของท่าน ตัวท่านเป็นเชื้อเพลิงของคบไฟแห่งการต่อสู้ของประชาชน และคบไฟอันนี้จะยังดำรงอยู่ในหัวใจของพวกเราทุกคน เพราะท่านได้เอาตัวท่านเป็นประหนึ่งน้ำมันเชื้อเพลงในการหล่อเลี้ยง และคบไฟแห่งการต่อสู้ ต่อต้านรัฐประหารมันได้เกิดขึ้นนับจากบัดนั้นมาจนกระทั่งถึงปี 2553 และมาจนกระทั่งบัดนี้ การต่อสู้ประชาชนไม่ได้ขาดหาย

 

ดังนั้น สิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ ศึกษาจิตใจกล้าต่อสู้ กล้าเสียสละของท่าน แต่รูปแบบที่ท่านทำมันไม่ใช่สิ่งที่พวกเราจะทำเช่นนั้น เพราะการรักษาชีวิตและจิตวิญญาณเพื่อการต่อสู้เพื่อให้ได้อำนาจเป็นของประชาชนนั้น มันใช้เวลาในประเทศนี้ ดังนั้นการรักษาชีวิตไว้เพื่อทำงานต่อไปมันจึงเป็นเรื่องที่ควรทำมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากเราศึกษาจิตใจกล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ ไม่มีประโยชน์ส่วนตัวแม้แต่น้อยแม้กระทั่งชีวิต แปลว่าอุทิศให้ส่วนรวมทั้งหมด แต่เสื้อที่ลุงนวมทองใส่ก็ประหนึ่งคำบอก คำสั่งต่อคนรุ่นต่อมาก็คือ ที่มีบทกวีของศรีบูรพาที่ว่า

 

“อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง

เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล

แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล

ไม่อาจต้านแรงมหาประชาชน”

 

นี่คือมรดกที่เป็นคำสั่ง ดังนั้นศึกษาจิตใจกล้าต่อสู้ ศึกษาจิตใจกล้าเสียสละ แต่อย่าใช้รูปแบบของลุงนวมทองเลย แต่ว่าเอามรดกที่ลุงมีอยู่ที่เสื้อนั่นแหละเป็นคำชี้แนะของลุงนวมทอง

 

ดังนั้น เรามาวันนี้เราก็มาเพื่อคารวะจิตวิญญาณของลุงนวมทอง และเราตั้งใจที่จะสืบสานเจตนารมณ์ของลุงนวมทองต่อไป พร้อมที่จะส่งมอบคบไฟแห่งการต่อสู้ของประชาชนซึ่งเกิดจากร่างกายของลุมนวมทองหล่อเลี้ยงคบไฟอันนี้มันได้จุดตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2549 ตั้งแต่บัดนั้นมาจนบัดนี้ การต่อสู้ประชาชนยังไม่หยุด และนี่ก็คือแบบอย่างของนักต่อสู้ของประชาชนที่แท้จริงค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ธิดาถาวรเศรษฐ

#16ปีนวมทองไพรวัลย์ #นวมทองไพรวัลย์

วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2565

"ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้" ... จริงหรือ? .

 


"ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้" ... จริงหรือ?

 

เมื่อเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ที่นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน

 

- 30 กันยายน 2549

“นวมทอง ไพรวัลย์” ขับรถแท็กซี่ โตโยต้า โคโรลา สีม่วง พุ่งชนรถถังของ ม.พัน 4 รอ. บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร ทำให้รถแท็กซี่ที่ใช้ทำมาหากินพัง และตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัส



 

- หลังเหตุการณ์

รองโฆษกคณะรัฐประหาร คปค.

พันเอกอัคร ทิพโรจน์ กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้"



 

- 31 ตุลาคม 2549

หลังรักษาอาการบาดเจ็บระยะหนึ่ง “นวมทอง ไพรวัลย์” ได้กระทำอัตวินิบาตกรรม ด้วยการแขวนคอใต้สะพานลอยหน้าที่ทำการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อลบคำสบประมาทของรองโฆษก คปค.(คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)

 

"นวมทอง ไพรวัลย์" พิสูจน์ให้เห็นในวันที่กระทำอัตวินิบาตกรรม ด้วยการสวมเสื้อด้านหลังสกรีนบทกวีที่ใช้ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ที่ว่า

 

"อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง

เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล

แสนอาวุธ แสนศัตรู หมู่อันธพาล

ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน"



 

ต่อมาได้มีการเผยแพร่จดหมาย ที่เขียนด้วยลายมือ ลงชื่อ นายนวมทอง ไพรวัลย์ วันที่ 29 ต.ค.49 หรือ 2 วันก่อนที่จะกระทำอัตวินิบาตกรรม โดยใจความในจดหมายระบุว่า

 

สวัสดีครับท่านพี่น้องประชาชนที่เคารพ เหตุที่กระผมทำการพลีชีพเป็นครั้งที่ 2 โดยการทำลายตัวเองเพื่อมิให้เสียทรัพย์เหมือนครั้งแรกก็เพื่อลบคำสบประมาทของท่านรองโฆษก คปค.ที่สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้”

 

เหตุพลีชีพครั้งแรกของผมยอมรับว่าคำณวนความเร็วของรถแท็กซี่ผิดพลาด รถถังที่จอดลานพระบรมรูปทรงม้าติดด้านหัวถนราชดำเนินนอก เมื่อผมขับรถผ่านกองบัญชาการทัพบกพ้นหัวถนนและเกาะกลางถนนเพื่อพุ่งเข้าชนเพื่อหักเลี้ยวแบบตัว S ความเร็วจึงลดลงมากเพราะต้องการชนแบบประสานงา ผมจึงแค่บาดเจ็บสาหัส ซี่โครงหัก 5 ซี่ ตาซ้ายบวมช้ำคางทะลุถึงภายในช่องปาก รักษาตัวโรงพยาบาลวชิรฯ มีคณะของคุณครูประทีป ฮาตะ และคณะอื่นๆ มาเยี่ยมหลายคณะ และมีผู้สื่อข่าว นสพ. มาขอสัมภาษณ์ว่า ไม่พอใจหรือที่ปฏิรูปแล้วบ้านเมืองสงบสุข ไม่มีการนองเลือด ผมตอบไปว่าใครทำผิดกฎหมายและก่อความไม่สงบก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ที่ผ่านมามีเบื้องหลังเบื้องลึกมากมาย ตอนนี้ก็เปิดหน้ากากออกมาจนเกือบหมดแล้ว เป็นการตบหน้าประชาชนอย่างไม่อาย. แต่ไม่เห็นเป็นข่าวรวมทั้งข่าวของผมที่ชนรถถังเพื่อประท้วง คปค. ลงข่าว นสพ. วันเดียวเงียบหายไปเลย ผมรักษาตัวที่โรงพยาบาลวชิรฯ 13 วัน คุณหมออนุญาตให้กลับมาพักฟื้นที่บ้านและนำ นสพ. ที่เสนอข่าวชนรถถังประท้วง คปค. ของผม พบคำสัมภาษณ์ท่านรองโฆษก ใน นสพ. ตรงกันหลายฉบับด้วยถ้อยคำที่กล่าวมาข้างต้นและยังปรามาสว่าผมแก่แล้ว คงทำด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ก็มีเวลาเอาสีมาพ่นข้อความรอบตัวรถยังคิดว่าอารมณ์ชั่ววูบ ไม่น่าให้ทำงานและกินเงินเดือนที่ได้มาจากภาษีของประชาชนเลย

 

ความคิดผม เมื่อหายป่วยดีก็จะทำมาหากินขับรถ TAXI ไม่ก่อวีรกรรมอีกต่อไป แต่พบข้อความการให้สัมภาษณ์ นสพ. ของท่านรองโฆษก คปค. ในเชิงปรามาสดังกล่าวก็เลยต้องสนองตอบกันหน่อย เพราะนิสัยคนไทยฆ่าได้แต่หยามไม่ได้ และเหตุผลที่ผมเลือกวันสุดท้ายของเดือนตุลาคมเป็นวันพลีชีพเพราะเดือนนี้เป็นเดือนที่วิญญาณของวีรชนที่สถิตอยู่ที่อนุสรณ์สถานฯ ที่ผมทำการพลีชีพนี้ได้เรียกร้องกระทั่งได้มาซึ่งประชาธิปไตย และวิญญาณของผมก็จะสถิตอยู่กับเหล่าวีรชนแห่งนี้ตลอดไป และขอยืนยันว่าปฏิบัติการทั้งสองครั้งทำด้วยใจ ไม่มีใครจ้าง

 

สุดท้ายขอให้ลูก ๆ และภรรยาจงภูมิใจในตัวพ่อ ไม่ต้องเสียใจ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก

 

ลาก่อน พบกันชาติหน้า

 

ปล. ขอแก้ข่าว ขวดยาที่พบในรถภายหลังเกิดเหตุคืออาหารเสริมแคปซูลใบแปะก๊วยไม่ใช่ยาแก้เครียดตามที่ลงข่าว นสพ. ผมไม่เครียดแต่ประท้วงจอมเผด็จการ

 

สวัสดีครับ

29 ตุลาคม 2549

(นายนวมทอง ไพรวัลย์)

 



ซึ่งในวาระรำลึก 16 ปี นวมทอง ไพรวัลย์ ผู้พลีชีพเพื่อประชาธิปไตย อาจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟสบุ๊ค ระบุว่า พบกันพรุ่งนี้ ( 31 ต.ค. 65) เวลาบ่ายโมง ที่ สดมภ์อนุสรณ์ นวมทอง ไพรวัลย์มี อ. ธิดา, หมอเหวง, คุณก่อแก้ว, คุณณัฐวุฒิ, คุณวีระกานต์ และพี่น้องประชาชนคนเสื้อแดง เพื่อคารวะลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ผู้ยินดีพลีชีพเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐประหารเป็นคนแรกและขอให้เป็นคนสุดท้ายค่ะ

 



ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้โพสต์ว่า 31 ตุลาคม 2549 นวมทอง ไพรวัลย์ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ประกาศศักดิ์ศรีประชาชน ไม่ยอมรับการรัฐประหาร

เผด็จการไม่เคยเรียนรู้และจดจำ แต่เราไม่เคยลืม

31 ต.ค. 13.00 น. ร่วมรำลึก สดุดีลุงนวมทอง พบกันที่สดมภ์อนุสรณ์ ใต้สะพานลอย หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ลุงขับแท็กซี่คนนี้ ยิ่งใหญ่ สง่างาม กว่าลุงขี่รถถังคนนั้นมากมายนัก

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นวมทองไพรวัลย์ #รัฐประหาร19กันยา #16ปีนวมทองไพรวัลย์

“นิด้าโพล” เผลผลสำรวจของปชช. “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคนกทม.” สนับสนุนให้เป็นนายกฯ อันดับ 1 “พิธา” ส่วน “อุ๊งอิ๊ง” อันดับ 3 ขณะที่ส.ส.เขต “เพื่อไทย” คว้าอันดับ 1 “ก้าวไกล” อันดับ 2

 


“นิด้าโพล” เผลผลสำรวจของปชช. “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคนกทม.” สนับสนุนให้เป็นนายกฯ อันดับ 1 “พิธา” ส่วน “อุ๊งอิ๊ง” อันดับ 3 ขณะที่ส.ส.เขต “เพื่อไทย” คว้าอันดับ 1 “ก้าวไกล” อันดับ 2

 

วันนี้ (30 ต.ค. 2565) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคน กทม.” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21-27 ตุลาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 50 เขต กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคน กทม. การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

 

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่คนกรุงเทพมหานครจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า

 

อันดับ 1 ร้อยละ 20.40 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ เป็นคนมีความมุ่งมั่น มีความรู้ความสามารถ เป็นคนรุ่นใหม่ และชื่นชอบนโยบายของพรรคก้าวไกล

อันดับ 2 ร้อยละ 15.20 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ เป็นคนมีความซื่อสัตย์ ชื่นชอบผลงาน ทำให้บ้านเมืองสงบ และต้องการให้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง

อันดับ 3 ร้อยละ 14.10 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ เป็นคนมีความรู้ความสามารถ และต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

อันดับ 4 ร้อยละ 12.20 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ 

อันดับ 5 ร้อยละ 7.70 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ เป็นคนมีความน่าเชื่อถือ มีประสบการณ์ทำงานทางการเมือง และมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน

อันดับ 6 ร้อยละ 6.85 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า) เพราะ เป็นคนมีความรู้ความสามารถด้านเศรษฐกิจ มีประสบการณ์ทางการเมือง มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน และชื่นชอบความคิดที่ต้องการพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น

อันดับ 7 ร้อยละ 6.35 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) เพราะ เป็นคนเด็ดขาด การทำงานมีความโปร่งใส ตรงไปตรงมา

อันดับ 8 ร้อยละ 3.15 ระบุว่าเป็น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (พรรคสร้างอนาคตไทย) เพราะ เป็นคนมีความรู้ความสามารถด้านเศรษฐกิจ มีประสบการณ์ ด้านการบริหาร และชื่นชอบผลงานที่ผ่านมา

อันดับ 9 ร้อยละ 3.00 ระบุว่าเป็น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพราะ เป็นคนมีความรู้ ความสามารถ ชื่นชอบแนวคิดและทัศนคติในการทำงาน

อันดับ 10 ร้อยละ 2.15 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ เป็นคนพูดจริงทำจริงมีประสบการณ์ และลงพื้นที่ดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง

       

สำหรับพรรคการเมืองที่คนกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต ในวันนี้ พบว่า

 

อันดับ 1 ร้อยละ 28.50 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย

อันดับ 2 ร้อยละ 26.45 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล

อันดับ 3 ร้อยละ 9.50 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ และยังไม่ตัดสินใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน

อันดับ 4 ร้อยละ 9.45 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์

อันดับ 5 ร้อยละ 3.05 ระบุว่าเป็น พรรคชาติพัฒนากล้า

 

ด้านพรรคการเมืองที่คนกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ในวันนี้ พบว่า

 

อันดับ 1 ร้อยละ 28.60 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย

อันดับ 2 ร้อยละ 26.10 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล

อันดับ 3 ร้อยละ 10.15 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ

อันดับ 4 ร้อยละ 9.15 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ

อันดับ 5 ร้อยละ 9.00 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คนที่ใช่พรรคที่ชอบของคนกทม #นิด้าโพล


วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2565

ทะลุฟ้า-ทะลุวัง-ทะลุแก๊ซ ร่วมเสวนา "รวมพลเยาวชน ทะลุ..." บอกเล่าถึงการตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหว แบ่งปันประสบการณ์ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน ชี้ทุกเหตุการณ์ประชาชนได้เรียนรู้และเติบโตทางความคิด หวังทุกกลุ่มจับมือสู้ปีศาจ 6 ตุลาไปด้วยกัน

 


ทะลุฟ้า-ทะลุวัง-ทะลุแก๊ซ ร่วมเสวนา "รวมพลเยาวชน ทะลุ..." บอกเล่าถึงการตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหว แบ่งปันประสบการณ์ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน ชี้ทุกเหตุการณ์ประชาชนได้เรียนรู้และเติบโตทางความคิด หวังทุกกลุ่มจับมือสู้ปีศาจ 6 ตุลาไปด้วยกัน 


วันนี้ (29 ต.ค. 2565) เวลา 13.00 -15.00 น. ที่ KINJAI CONTEMPORARY เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ได้มีการจัดงานเสวนา"รวมพลเยาวชน ทะลุ..."


ซึ่งเป็นวงเสวนาที่จะชวนคุยถึงความฝัน ความหวัง ความต้องการของเด็กและเยาวชน ไปจนถึงความท้าทายที่ต้องเจอในชีวิตปัจจุบันและอนาคต และที่สำคัญที่สุด การส่งเสียงของพวกเขาบนถนนต้องแลกกับอะไรไปบ้าง ร่วมเสวนาโดย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ทะลุฟ้า, จิรภาส กอรัมย์ หรือแก๊ป ทะลุแก๊ซ, ณัฐนิช ดวงมุสิทธ์ หรือ ใบปอ ทะลุวัง, เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง และธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ สื่อมวลชน ดำเนินรายการโดย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล


จตุภัทธ์ ได้กล่าวว่า ตนเองเริ่มทำกิจกรรมตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาลงพื้นที่ไปพบปะกับชาวบ้านทำให้พบว่าชาวบ้านถูกเอาเปรียบ พอออกมาเรียกร้องก็ถูกรัฐจับกุม ถูกใช้ความรุนแรง และรู้สึกว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ 50 ทำให้เกิดความอยุติธรรม จึงตั้งปณิธานตั้งแต่นั้นว่าจะต่อสู้กับความอยุติธรรม ภายหลังจากรัฐประหาร 2557 ก็ออกมาเคลื่อนไหว และถูกดำเนินคดีในช่วงปี 2559 หลังจากนั้นก็ยังคงเคลื่อนไหวในภูมิภาคของตัวเอง และทำกิจกรรมร่วมกันอย่างการเดินทะลุฟัา จนกลายมาเป็นกลุ่มทะลุฟ้าในปัจจุบันนี้


การที่ตัดสินใจออกมาต่อสู้ในกรุงเทพฯ เพราะเป็นที่อำนาจรวมศูนย์ แม้ปัจจุบันนี้จะยังไม่สำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์ แต่การเคลื่อนไหวเมื่อปี 2563 ก็ได้เปลี่ยนสังคม อย่างน้อย ๆ ที่เห็นก็คือ วัฒธรรมเปลี่ยนไป คนเห็นค่าความเท่ากัน และเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มากขึ้น หลายมหาวิทยาลัยยกเลิกระบบโซตัส การต่อสู้ในเรื่องอำนาจนิยมตามโรงเรียนมีมากขึ้น ถือว่าเป็นการปักหมุดหมายทางความคิดไปแล้ว แต่ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพยังไม่เกิดขึ้น จตุภัทร์ กล่าว


การใช้อำนาจกฎหมายหรืออำนาจที่รัฐมีอยู่ในมือ จัดการกับประชาชนยังมีอยู่ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจคิดผิดมาตลอด คิดว่าฆ่าได้ สลายได้แล้วจะจบไป มันไม่ใช่ ยิ่งความอยุติธรรมเกิดขึ้นการต่อต้านก็ยิ่งมากขึ้น มองว่าการต่อสู้ไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ตลอด ดังนั้นไม่ว่าจะเหตุการณ์ความรุนแรงใด ๆ คนก็ยังออกมาต่อสู้ สิ่งที่จะหยุดการเคลื่อนไหวของประชาชนได้ คือรัฐต้องฟังเสียง ฟังข้อเรียกร้องของเรา ทำให้บ้านเมืองนี้มีหลักการ ความขัดแย้งจะหายไปก็คือต้องคืนความยุติธรรมและคืนความจริงให้กับสังคม 


จตุภัทร์ ระบุถึง การเลือกตั้งที่ประชาชนต้องการ กับรัฐบาลที่เขาไม่ต้องการการเลือกตั้ง เพราะเขาเองรู้ว่าไม่สามารถสู้ได้ในสนามการเลือกตั้ง ทำไมการรัฐประหารการใช้อำนาจที่นอกเหนือรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น เพราะเขาไม่สามารถชี้นำทางความคิดกับสังคมได้ จึงต้องใช้อำนาจมาจัดการ และสิ่งที่ทำก็มีราคาที่ต้องจ่ายเหมือนกัน เพราะทุกคนจดจำและมีความเจ็บช้ำ


ตราบใดที่ยังมีคนสู้ยังมีคนยืนหยัดไม่ว่าจะมากหรือน้อย ความคิดและการต่อสู้มันก็จะยังมีต่อไปเรื่อย ๆ ผู้มีอำนาจจะหยุดความคิดที่ก้าวหน้า หยุดความฝันของประชาชนได้ก็ต่อเมื่อความฝันนั้นมันเป็นจริง ที่ใดที่คนมีอำนาจยังไม่แชร์ความฝันของประชาชน คิดว่าเป็นเจ้าของประเทศแต่เพียงผู้เดียว จึงมีเด็กใหม่ ๆ ที่ออกมาต่อสู้และเขากำลังเติบโตในทางความคิด นั่นคือความงดงาม คือความหวังในการเปลี่ยนแปลง


ขณะที่ณัฐนิช ระบุว่า การชุมนุมเมื่อปี 63 ตนเองใส่ชุดนักศึกษาไปร่วมชุมนุม ก็ถูกรุ่นพี่เตือนว่าให้ถอดอะไรที่ระบุตัวตนออก ซึ่งตนมองว่าก็เป็นประชาชนคนหนึ่งออกมาใช้สิทธิเสรีภาพซึ่งไม่ได้ผิดกฎหมายแต่ทำไมเราต้องป้องกันตัวเอง เพื่อไม่ให้ได้รับความรุนแรงหรือการถูกดำเนินคดีจากรัฐ จึงเกิดคำถามว่าทำไมกฎหมายไม่คุ้มครองประชาชนอย่างเรา เราต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเอง กระทั่งในช่วงที่ออกมาเคลื่อนไหว 2564 จนต้องติด EM แต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่สายสืบมาตามติดชีวิตประจำวันอยู่เรื่อย ๆ ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้


มั่นใจว่าการตั้งคำถามด้วยการทำโพลไม่ผิด เพราะเราอยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่หลังจากออกมาเริ่มเคลื่อนไหวก็โดนติดตาม คุกคาม จนถูกดำเนินคดี


ที่ผ่านมาทุกคนอาจท้ออาจเหนื่อย แต่เรายังมีความหวังอยู่เสมอที่จะเปลี่ยนแปลง เชื่อว่ามีหลายสิ่งอย่างที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว จากการที่เราออกมาเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ ประเทศนี้ทำให้เด็กหลายคนคิดว่าโดนปิดกั้นความฝัน ไม่มีพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก ซึ่งรัฐไม่สามารถหยุดความคิดของเยาวชนได้ ยกตัวอย่างเช่นรุ่นพี่ ๆ อย่างเช่นรุ่นพี่ไผ่ ถูกจับกุมคุมขังในเรือนจำก็ยังมีรุ่นใบปอออกมาต่อสู้ต่อ ซึ่งทำให้เชื่อว่าในอนาคตถ้ารัฐจะจับนักกิจกรรมเข้าไปอีกก็จะมีคนรุ่นใหม่ ๆ ออกมาต่อสู้อย่างไม่หยุดยั้ง


ด้านเนติพร กล่าวว่า เริ่มจากการออกมาเคลื่อนไหวกับกลุ่มนักเรียนเลว ในตอนนั้นได้เจอทนายอานนท์ นำภา ซึ่งได้พูดคุยกันว่า ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยจริง ต้องตั้งคำถามได้ด้วยการทำโพล จึงได้เริ่มเคลื่อนไหวกับน้อง ๆ จนกลายเป็นกลุ่มทะลุวัง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำมาทุกรูปแบบแล้ว ทั้งที่สันติวิธีมาก ๆ ที่คิดว่าสร้างสรรค์สุด ๆ แล้ว แต่สิ่งที่รู้สึกคือสิ่งที่รัฐกระทำนั้นไม่เห็นพวกเราเป็นมนุษย์อยู่เลย ไปถึงทำความรุนแรงกันขนาดนี้ เพียงแค่ตอนนี้ขบวนเราเหนื่อย เนื่องจากเคลื่อนไหวมานาน ไม่มีทรัพยากรเท่ากับรัฐ ประชาชนจึงเหนื่อยกันมาก และพวกจะแค้นหนักกว่าเดิม ทำไมถึงไม่มีความเป็นมนุษย์กันเลย ทั้ง ๆ ที่เราแค่ออกมาตั้งคำถาม


เนติพร ยังได้ระบุอีกว่า ความสวยงามของประชาธิปไตยคือการถกเถียง คุยกันได้ อยากขอให้ฝ่ายเราอย่าตีกันเยอะ เอาเรี่ยวแรงของเราที่ตีกันไปตีกับรัฐดีกว่า เราต้องแสดงให้รัฐเห็นว่าวิธีที่รัฐทำมันไม่ได้ผล อยากให้ยืนหยัดสู้ต่อจนกว่าจะได้ชัยชนะ แล้วถ้าถึงวันนั้นที่เราจะวางเรื่องนี้ลงได้สักที และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติของเรา


จิรภาส ระบุว่า การเคลื่อนไหวที่ดินแดง เกิดจากกลุ่มคนที่อยากสู้ต่อ การไปที่ดินแดงมีจุดหมายเพื่อไปบ้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีข้อเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก และเราโดนสลายการชุมนุมทุกครั้งที่จะไป หลังจากนั้นก็โดนคุกคามโดยการไปหาเราที่บ้าน ไปตั้งด่านดัก สร้างความเดือดร้อนให้กับบ้านข้าง ๆ บอกให้ชาวบ้านในพื้นที่เกลียดชังเราเพราะเราสร้างความเดือดร้อน เป็นตัวปัญหา ความรุนแรงที่กลุ่มทะลุแก๊ซถูกกระทำ เราโดนกระสุนยาง โดนกระทืบ คือรัฐไม่สนใจว่าเราเป็นเยาวชนหรือเป็นประชาชน เวลาจะออกไปไหนก็จะถูกค้นตัวค้นรถ ถ้าจะทำกิจกรรมก็จะมาที่บ้าน มาขอดูอุปกรณ์มาขอดูข้อความในป้ายที่เขียน และตอนนี้ทะลุแก๊ซหลาย ๆ คนออกจากคุกมาไม่มีงานทำ บางคนไม่มีที่อยู่เพราะเจ้าของหอพักเอาห้องคืนเมื่อครั้งเข้าเรือนจำ 


จิรภาส ได้กล่าวต่อในฐานะตัวแทนกลุ่มทะลุแก๊ซว่า เรื่องการโดนสลายการชุมนุมไม่ได้ทำให้เราอยากหยุดเคลื่อนไหว เราไม่ได้มีความกลัว เพราะถ้ากลัวคงไม่ทำตั้งแต่แรก และสิ่งที่ถูกกระทำ ทำให้รู้สึกเจ็บแค้น ยิ่งเลิกสู้ไม่ได้


ตอนนี้เองทางกลุ่มทะลุแก๊ซเริ่มมาช่วยม็อบชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องเนื่องจากความเดือดร้อนไม่ว่าจะเป็นในที่ทำกินที่อยู่อาศัย ก็ไปเป็นการ์ด อำนวยความสะดวก ไปร่วมทำกิจกรรมยืนหยุดขังเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้เพื่อนที่อยู่ในเรือนจำ แต่เราก็ยังโดนดำเนินคดี เราไม่เคยใช้ความรุนแรงกับรัฐก่อน เพราะเราโดนตราหน้าจากฝั่งเดียวกันเยอะว่าเราใช้ความรุนแรง เราจึงพยายามต่อสู้ในเชิงสันติวิธีกันอยู่ ครั้งล่าสุดเราก็ไม่ได้ทำอะไรไปแต่ก็ยังโดนดำเนินคดี


ด้านธนาพงศ์ ระบุว่า ตั้งแต่การเคลื่อนไหวในปี 2563 นอกจากรัฐจะใช้กำลังกับประชาชนแล้ว ยังใช้กับสื่อด้วย ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อวิชาชีพสื่อมวลชนคือการลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชน ตั้งแต่การชุมนุม 2563 รัฐมีเทคนิควิธีการหลากหลายรูปแบบ มันเป็นความโกลาหลทางกฎหมาย ตั้งแต่การบังคับให้ติดปลอกแขนต้องมีบัตรสื่อ บัตรบริษัท มีบัตรกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเราจะเห็นความรุนแรงในเชิงการจำกัดเสรีภาพกับสื่อมากเป็นพิเศษ รวมถึงการจำกัดพื้นที่การทำงานในพื้นที่การชุมนุมโดยอ้างเรื่องเหตุแห่งความปลอดภัย แต่นั่นทำให้สื่อทำงานไม่ได้เพราะถูกกันไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถถ่ายภาพหรือเห็นเหตุการณ์ได้เลย นอกจากสื่อแล้วก็ยังมีผู้สังเกตการณ์นักวิจัยที่ไปเก็บข้อมูลในที่ชุมนุมก็จะถูกกันออกนอกพื้นที่


ความรุนแรงที่รัฐเองเลือกใช้วิธีการจัดการกับหลายกลุ่มที่แตกต่างกัน อย่างทะลุฟ้าก็ได้รับความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกฎหมายหรือการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย ในส่วนทะลุแก๊ซที่จิรภาสเคยบอกว่าเป็นเด็กหลังสังคม ไม่ได้ถูกสังคมสนใจ และมองข้ามอยู่เสมอ เป็นคนจนเมืองรุ่นใหม่ และจะถูกกระทำความรุนแรงโดยตรงได้ค่อนข้างง่าย เขาเลยจะกระทำด้วยการกดดันเพื่อนบ้านให้เกลียดชังเรา ให้มองว่าเราเป็นตัวปัญหา และในส่วนบุ้งและใบปออาจจะอยู่ภายใต้วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ จึงเลือกใช้อีกวิธีหนึ่งในการคุกคามและกดดัน


ธนาพงศ์ ระบุว่า สิ่งที่รัฐได้ทำมานั้น ต่อให้ประชาชนไม่ออกมาบนท้องถนน ประชาชนก็จะไม่กลับไปคิดแบบเดิมอีกแล้วแน่นอน ถ้าเราดูจากกระแสในโซเชียลตั้งแต่มีการชุมนุม 2563 ซึ่งจะต่างจากม็อบก่อน ๆ ที่จะพูดถึงในเรื่องปัญหาของรัฐบาลและการเมือง การชุมนุม 2563 เป็นต้นมาจะพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ พูดถึงสิทธิมนุษยชน เต็มไปหมดบนโลกออนไลน์ นั่นเพราะประชาชนเกิดกระบวนการเรียนรู้มากขึ้นเป็นลำดับ จึงรู้สึกว่าความคิดนั้นมันเปลี่ยนมาแล้ว และจะไม่เปลี่ยนกลับไปแบบเดิมแน่นอน และปีศาจที่เราเผชิญกันในวันนั้น 6 ตุลา 2519 ก็เป็นตัวเดียวกันกับที่เราเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ แต่ด้วยการเมืองโลก ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ก็จะทำให้ปีศาจตัวนั้นอ่อนแรงลงแล้ว ให้ฝ่ายเราจับมือกันไว้แน่น ๆ ปีศาจอาจเปลี่ยนไป และจะกลายเป็นปีศาจที่ต้องมาเผชิญหน้ากับเราแทน ธนาพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย


ทั้งนี้งานเสวนานี้ เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ #6ตุลาเผชิญหน้าปิศาจ โดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ร่วมกับ คณะก้าวหน้า และ Common School สามารถเข้าชมนิทรรศการได้จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 เวลา 11.00 - 21.00 น. (ปิดทำการทุกวันจันทร์)


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #6ตุลา #ทะลุฟ้า #ทะลุแก๊ซ #ทะลุวัง




วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2565

'รัฐศาสตร์ จุฬาฯ' จัดเวทีรำลึก 92 ปี 'จิตร ภูมิศักดิ์' ครบรอบวันถูกโยนบก วงเสวนาร่วมวิพากษ์สื่อปัจจุบัน ควรเรียนรู้ความกล้าหาญ ตรวจสอบอำนาจรัฐ ย้ำอุดมการณ์ 'จิตร' ส่งต่อสู่อนาคต

 


'รัฐศาสตร์ จุฬาฯ' จัดเวทีรำลึก 92 ปี 'จิตร ภูมิศักดิ์' ครบรอบวันถูกโยนบก วงเสวนาร่วมวิพากษ์สื่อปัจจุบัน ควรเรียนรู้ความกล้าหาญ ตรวจสอบอำนาจรัฐ ย้ำอุดมการณ์ 'จิตร' ส่งต่อสู่อนาคต


วันที่ 28 ต.ค. 2565 ที่ลานเสรีภาพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในกิจกรรมรำลึก '92 ปี ชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์' เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ ถูก 'โยนบก' โดยนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อครั้งที่เขาเป็นสาราณียากรให้กับหนังสือประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2496 


โดยบรรยากาศภายในงาน มีการจัดแสดงนิทรรศการงานศิลปะจากพิพิธภัณฑ์สามัญชนและนิสิตจุฬาฯ ซุ้มหนังสือโดยจากสำนักพิมพ์นิสิตสามย่าน รวมถึงการแสดงดนตรีสดจากวง 'สามัญชน'


จากนั้นเป็นเวทีเสวนา 'จิตรสร้างสื่อ สื่อสร้างจิตร : จิตรกับการเป็นสื่อ และสื่อในการสร้างตัวตนจิตร' โดยวิทยากร ประกอบด้วย ธิบดี บัวคำศรี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฟาห์เรน นิยมเดชา จากรายการ Backpack Journalist สำนักข่าวไทยพีบีเอส และ ณัฐนนท์ เจริญชัย อดีตบรรณาธิการนิสิตรีคอร์เดอร์ และผู้สื่อข่าว The Reporters


***วงเสวนาวิพากษ์ 'จิตร' บนหน้าสื่อปัจจุบัน


ธิบดี กล่าวว่า เมื่อมอง จิตรกับสื่อ ต้องตั้งคำถามก่อนว่านิยามของคำว่าสื่อคืออะไร แล้วจะนับ จิตร เป็นสื่อได้หรือไม่ อาจจะนับในแง่ของผลงานที่ จิตร สื่อออกมาสะท้อนอะไรสู่สังคมบ้าง มีช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ จิตร ถูกพักการเรียนหลักถูกโยนบก ก็มีช่วงที่ทำอาชีพข้องเกี่ยวกับสื่ออยู่บ้างในฐานะคอลัมน์นิสต์ 


อย่างไรก็ตาม เรายังรู้จักชีวิตของ จิตร น้อยเกินไป จนอาจไม่มีการบันทึกผลงานในช่วงนั้นอย่างเป็นกิจลักษณะ ซึ่งจะว่าไปแล้วผลงานในด้านนั้นอาจไม่ได้ส่งอิทธิพลต่อสังคมมากเท่าผลงานด้านอื่น ๆ ก็ได้


ขณะที่ ฟาห์เรน ระบุว่า ในฐานะคนทำงานสื่อ ปัจจุบันการตีความหมายของสื่อแคบลง ส่วนตัวตนรู้สึกว่าใครก็เป็นสื่อได้ ทั้งทางการหรือสังกัดองค์กร เท่าที่จำความได้ตนไม่เคยเห็นสื่อกระแสหลักนำเสนอ จิตร จะเห็นอยู่บ้างทางสื่อออนไลน์ ซึ่งตนถือว่าสื่อเหล่านี้คือสื่อกระแสหลักในปัจจุบัน ดังนั้นการตีความหมายสื่อกระแสหลักกระแสรองแบบเก่าได้เปลี่ยนไปแล้ว


เมื่อเปรียบเทียบกับ สืบ นาคะเสถียร ที่เป็นตัวแทนของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อในวันครบรอบแต่ละครั้ง ขณะที่ จิตร เองก็ถูกจดจำในฐานะผู้ใช้งานเขียนเพื่อการปฏิวัติทางชนชั้นที่ไม่เป็นธรรม และสื่อเองเกิดมาได้เพราะเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตย จนอาจเรียกได้ว่าเป็นไอดอลของใครหลายคน 


"ดังนั้น อย่างน้อยในวันของ จิตร ควรจะมีการนำเสนอ จิตร ในฐานะบุคคล ผมมองว่าสื่อกระแสหลักกลัวความเป็นบาดแผล มากกว่าผลงานที่ถูกเชิดชู หรือพูดง่าย ๆ ว่าต้องอยู่เป็น"


ด้าน ณัฐนนท์ มองว่า จริงอยู่ที่ช่วงไม่กี่ปีให้หลังมาเริ่มมีการนำเสนอตัวตนของ จิตร ผ่านสื่อสมัยใหม่มากขึ้น แต่ในแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นหลัก แทบไม่มีโอกาสที่เรื่องราวของ จิตร จะผ่านไปสู่ผู้เสพสื่อแบบเก่าได้เลย คำถามสำคัญจึงกลายเป็นจะทำอย่างไรให้ตัวตนของ จิตร ถ่ายทอดผ่าน Echo Chamber ไปสู่ผู้ที่เสพสื่อโทรทัศน์หรือสื่ออื่น ๆ เป็นหลักได้ด้วย


ความสำคัญของ จิตร นอกจากแง่อุดมการณ์แล้ว ยังได้เห็นความกล้าหาญของ จิตร ที่จะพยายามเปลี่ยนบทบาทของสื่อในยุคนั้น จาก 'โทรโข่ง' มาสู่ 'หมาเฝ้าบ้าน' มากขึ้น ไม่ใช่เพียงการนำเสนอเพื่อรัฐ เป็นการตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบโครงสร้างอำนาจรัฐมากกว่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมก้าวหน้าไป


"แม้ว่าตัวจิตรจะไม่อยู่แล้ว แนวคิด คำพูดของเขายังคงอยู่ในอุดมการณ์ของการต่อสู้ และช่วยกระตุ้นเร้าและย้ำเตือนเราถึง จิตร ตราบใดที่ยังมีการต่อสู้ แรงกัดดันนั้นก็ยังคงมีอยู่"


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #จิตรภูมิศักดิ์




วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2565

2 นักกิจกรรม ยื่นหนังสือ กสม. เรียกร้องคุ้มครองและยุติการคุกคามนักกิจกรรม เร่งติดตามคดี ภายหลังเยาวชนอายุ 13 ถูกข่มขู่ด้วยมีด-ปืน นักกิจกรรมถูกตัดสายคลัชต์รถมอเตอร์ไซค์ได้รับอุบัติเหตุ

 


2 นักกิจกรรม ยื่นหนังสือ กสม. เรียกร้องคุ้มครองและยุติการคุกคามนักกิจกรรม เร่งติดตามคดี ภายหลังเยาวชนอายุ 13 ถูกข่มขู่ด้วยมีด-ปืน นักกิจกรรมถูกตัดสายคลัชต์รถมอเตอร์ไซค์ได้รับอุบัติเหตุ

 

วันนี้ (27 ต.ค. 2565) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร B เวลา 13.00 น. น.ส.แทนฤทัย แท่นรัตน์ และ เอีย เยาวชนอายุ 13 ปี เข้าร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในกรณีถูกข่มขู่และคุกคามและเพื่อให้ช่วยติดตามคดีที่มีความรู้สึกว่าถูกปองร้ายจากบุคคลไม่ทราบฝ่าย โดยมีนางปรีดา คงแป้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้รับเรื่อง

 

ในส่วนของน.ส.แทนฤทัย เปิดเผยว่า ถูกตัดสายคลัตช์รถจักรยานยนตร์ทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเมื่อคืนวันที่ 21 ตุลาคม 2565 ขณะรับประทานอาหารบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้นำรถไปจอดในโรงเรียนสตรีวิทยา ตามที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน(คฟ.) แนะนำเพื่อความเรียบร้อย ภายหลังรับประทานเสร็จได้ขี่รถกลับ แต่ไม่สามารถควบคุมรถได้ รถกระชากล้มทำให้ได้รับบาดเจ็บ เมื่อนำรถจักรยานยนต์เข้าไปทำการซ่อมจึงรู้ว่าเหตุเกิดจากสายคลัตช์ลักษณะเหมือนถูกตัดขาด

 

ด้านเอีย เยาวชน อายุ 13 ปี ได้เผยว่า ช่วงดึกเวลา ประมาณ 03.00 น. (22 ต.ค. 2565) ขณะขี่รถจักรยานยนต์บริเวณเขตดุสิต ถูกชายไม่ทราบฝ่าย 6 คน ข่มขู่ด้วยมีดด้ามยาวและมีการเหน็บปืนให้เห็น และต่อยที่ใบหน้าทำให้ได้รับบาดเจ็บ โดยได้ไปลงบันทึกประจำวัน ที่ สน.ดุสิต ในวันที่ 25 ตุลาคม ไว้เป็นหลักฐานแล้ว

 

วันนี้จึงรวมตัวเข้ามาเพื่อขอความช่วยเหลือจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อทำการตรวจสอบกลุ่มที่คุกคามและขู่ทำร้ายร่างกาย

 

ด้านนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้รับเรื่องกล่าวว่า จากการเข้ามาแจ้งเรื่องในวันนี้ทางกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเข้าไปติดตามคดีทั้งเรื่องคดีอุบัติเหตุที่เชื่อว่าเกิดจากการคุกคามและคดีทำร้ายร่างกายเยาวชน ซึ่งได้รับเรื่องเอาไว้แล้ว และจะไปปรึกษาหารือกับคณะกรรมการฯ เพื่อหาแนวทางในการปกป้องคุ้มครอง เพราะคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้ทุกคนปลอดภัย มีสิทธิเสรีภาพที่จะส่งเสียงในเรื่องต่าง ๆ

 

น.ส.แทนฤทัย กล่าวว่า ปัจจุบันยังรู้สึกระแวง เวลาอยู่บนท้องถนนกลัวจะเกิดความรุนแรงต่อชีวิต และอย่างน้องเยาวชนอายุ 13 ยังถูกคุกคามด้วยมีดด้วยปืนได้ขนาดนี้ โดยกระบวนการยุติธรรมก็เข้าถึงยาก ก่อนหน้านี้พยายามไปร้องทุกข์กลับถูกตำรวจหัวเราะใส่ เจ้าหน้าที่รัฐไม่รับเรื่อง ทุกวันนี้นอกจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ติดตามแล้วยังมีบุคคลไม่ทราบฝ่ายซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าฝ่ายไหนบ้างที่คอยติดตาม

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #หยุดคุกคามประชาชน