แลไปข้างหน้ากับ
ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.96
ประเด็น
: ประยุทธ์ ไม่ยอมลงจากหลังเสือ!
สวัสดีค่ะ
วันนี้ดิฉันก็อยากจะพูดในประเด็นที่เราให้ชื่อว่า “ประยุทธ์ ไม่ยอมลงจากหลังเสือ”
อันที่จริงดิฉันอยากจะไปพูดหน้าทำเนียบนะ
แต่ว่าติต่างเอาก็แล้วกันเพราะเราขึ้นภาพเอาไว้แล้ว
เพราะว่าก็อาจจะไม่สามารถพูดจนจบได้ ก็น่าจะมีคนมารบกวน
เพราะฉะนั้นก็ให้ท่านผู้ชมคิดซะว่าดิฉันยืนพูดอยู่หน้าทำเนียบ
แล้วก็กำลังยืนมองทำเนียบอยู่ แล้วก็ภาพรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีที่อยู่เต็มไปหมด
ซึ่งมีมาตั้งแต่ 2557 หลังการทำรัฐประหาร
ประเด็นของเราก็คือ
“ประยุทธ์ ไม่ยอมลงจากหลังเสือ” ถามว่าทำไมพูดอย่างนี้?
ก็คือในระหว่างนี้เราก็จะเห็นว่า มีความคิดของประชาชน ความคิดของรัฐบาล
ความคิดของพรรคร่วม ความคิดของฝ่ายค้าน ในประเด็นที่มีคำถามว่า 23 สิงหาคม 2565
ก็คือครบ 8 ปี กับการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คำถามว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับที่เขียนเองนั้น
มาตรา 158 วรรค 4 ได้ระบุเอาไว้ว่า
“นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่
แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”
แปลว่าพอพ้นจากตำแหน่งแล้วก็ต้องรักษาการอยู่
อันนี้ไม่นับ ทีนี้ถ้าเขาจะเขียนให้อยู่ต่อได้ เขาก็ต้องไม่นับรวมระยะเวลาที่อยู่ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้
เขาน่าจะเขียนให้จบ แต่เขาไม่เขียน เขาเขียนแต่เพียงว่า นายกฯ จะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้
ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ เพิ่มเติมจากฉบับก่อน
ก็แปลว่าเป็นเจตนารมณ์ว่า
คนเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ควรจะอยู่ในตำแหน่งเกินแปดปี ไม่ว่าจะเว้นวรรค หรือเหตุผลใด
ๆ ก็ตาม เพราะฉะนั้นโดยสามัญสำนึกของคนก็ถือว่านายกรัฐมนตรีคนนี้
ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ 23 สิงหาคม 2557 ก็ครบแปดปีไปแล้ว ดังนั้น ตามรัฐธรรมนูญนี้ก็คือควรจะหมดอายุของการเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว
อันนี้เป็นความเข้าใจของคนทั้งหมด เราต้องรวมถึงแม้กระทั่งโพลของนิด้า
โพลของนิด้าที่บอกมาว่าประชาชน
64.25% คิดว่านายกฯ ควรประกาศว่า 8 ปี คืออยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 24 ส.ค. 2565
นี่แปลว่าประชาชนก็มองเห็นอย่างนั้น
คือมองเห็นด้วยการยึดรัฐธรรมนูญที่พวกคุณเขียนมาเอง ที่ตัวพล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ
เป็นคนสั่งการเขียนมาเอง ก็คือควรจะพ้นตำแหน่ง 24 ส.ค. 2565 คืออยู่มาตั้ง 8 ปีแล้ว
ถ้าดู “ป๋าเปรม” เป็นตัวอย่างก็คือ “ผมพอแล้ว” ป๋าเปรมนั้นไม่ค่อยมีใครไปไล่นะ
แต่มีความเห็นของนักวิชาการ และก็โดยเฉพาะคนสำคัญคนหนึ่งก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์
ปราโมช ออกมาพูดแทนว่า “ไม่ไหวแล้ว” แต่ว่าเหนือสิ่งอื่นใดคือ พล.อ.เปรม
ติณสูลานนท์ คิดเอง
เรื่องครบกำหนดการเป็นนายกรัฐมนตรี
เป็นทั้งกฎหมาย เป็นทั้งปัญหาความชอบธรรม คือเวลาคำนึงต้องคำนึง 2 อย่าง
นี่พูดถึงคนทั่วไป แต่ถ้าพูดถึง “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ดิฉันคิดว่าบางทีเขาไม่ได้คำนึง
2 อย่างนี้ ไม่ได้คำนึงว่าประชาชนคิดยังไง เพราะประชาชนเป็นพวกต่ำต้อย
เป็นพวกไม่รู้ หรืออาจจะไม่ได้คำนึงด้วยว่ากฎหมายหรือรัฐธรรมนูญเขียนว่ายังไง
เพราะเขาเป็นคนเขียนและสั่งให้เขียนเอง ขนาดอาจารย์บวรศักดิ์
(คนร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้าคุณมีชัย) ก็บอกเลยว่า “ก็ไม่บอกว่าอยากอยู่ยาว”
เพราะฉะนั้นในทัศนะดิฉัน
ทั้งกฎหมายและความชอบธรรมในสายตาประชาชนและในสายตาชาวโลกไม่ได้อยู่ในความคิดของ
พล.อ.ประยุทธ์ เลย เพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์ ถือว่าตนเองถือครองอำนาจอยู่ แต่ถามว่าถือครองอำนาจแล้วดิฉันก็ไม่ได้คิดนะว่า
พล.อ.ประยุทธ์ อยากอยู่ต่อ เพราะอยากได้เงิน อยากได้ทรัพย์สินผลประโยชน์เพิ่มเติม
แต่ดิฉันคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการยึดอำนาจอยู่ต่อ และไม่ยอมลงจากอำนาจง่าย ๆ
ประมาณเหมือนคนขี่เสือ ก็จะไม่ยอมลงจากหลังเสือง่าย ๆ
เพราะฉะนั้น
เสือที่พล.อ.ประยุทธ์ขี่อยู่นี้ก็ต้องหมายถึงประชาชนและผู้เห็นต่างนั่นเอง การไม่ยอมลงจากอำนาจก็เหมือนไม่ยอมลงจากหลังเสือง่าย
ๆ เพราะกลัวเสือกัด ใช่หรือเปล่า? ดิฉันคิดว่าเป็นอย่างนั้น
เราพูดในประเด็นกฎหมายก่อนก็ได้
ในประเด็นกฎหมายตอนนี้เรารู้แล้วว่าพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พรรคเพื่อไทย”
ก็เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะยื่นดูเหมือนทราบว่า 16 สิงหาคม 2565
ไม่รู้ว่าต้องผ่านประธานสภา แล้วไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แล้วกว่าจะตัดสินจะนานเท่าไร
ดิฉันคิดว่าอย่างเร็วก็อาจจะ 1 เดือน บางคนบอกว่านี่น่าจะเป็นอย่างช้า
ก็หมายถึงว่าเลยแล้วนะ เลย 24 สิงหาคม 2565 ไปแล้วด้วย
ที่เลยนั้นพรรคฝ่ายค้านต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากหลังเสือเองหรือเปล่า?
คือถ้าเกิดได้ข่าวว่าตัวเองจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หรือมีเค้าเงื่อนว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะตัดสินอย่างนั้นอย่างนี้
มันก็อาจจะเกิดการตัดสินใจเช่น ลาออก ยุบสภา หรือกระทั่งทำรัฐประหาร
อันนี้คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา
แต่ถามหัวใจ
ดิฉันมองว่าคุณประยุทธ์ไม่ต้องการลงจากอำนาจ การที่ไม่ยอมลงจากอำนาจเพราะตัวเองทำไว้เยอะ
ไม่จำเป็นว่าดิฉันต้องพูดแบบคนเสื้อแดงนะ แต่ดิฉันเชื่อว่าคดีความต่าง ๆ
และเรื่องราวต่าง ๆ ของพล.อ.ประยุทธ์ คดีความทางอาญา คดีความทางแพ่ง
ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรา 44 โดยมิชอบก็ตาม เช่นที่เราทราบอยู่ในประเด็นเหมืองทองอัครา
คดีแพ่งอื่น ๆ แล้วก็เรื่องราวที่ไม่ชอบมาพากล ถ้าหลุดจากอำนาจมันจะถูกเช็คบิลทันที
อันนี้ก็มีความเป็นไปได้ นี่คือคดีความทางแพ่ง
คดีความทางอาญาก็ไม่น้อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีปราบปรามประชาชนในปี 2553 3ป. มีบทบาททั้งหมด
ในคดีความอาญามันไม่ใช่เฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียวที่จะต้องมารับผิดชอบ ทั้ง 3ป.
ทั้งสุเทพ เทืองสุพรรณ ทั้งอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ร่วมกันกระทำการซึ่งดิฉันคิดว่าคดีอาญาถ้าเมื่อไรในสมอง
ถึงแม้ว่าจะมีน้อยเซลล์ก็ตาม เขาก็คงต้องคิดว่าคงจะต้องถูกเช็คบิลแน่ เพราะคดีความมันยังค้างอยู่
ถ้าผู้ชมจำได้ ก็คือคดีความมันคืบหน้าไป แต่พอมีรัฐประหารปั๊บ หยุดเลย!
และคดีความของฝ่ายผู้เห็นต่างเป็นผู้ต้องหาที่ควรจะต้องหยุดก่อนรัฐประหาร
ก็ถูกฟื้นขึ้นมาหลังรัฐประหาร ตรงกันข้าม คดีของผู้ก่อการทำรัฐประหารและผู้ปราบปรามประชาชนกลับหายไป
แต่คดีของประชาชนกลับมากขึ้นมา อันนี้นี่ก็เป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นว่า
ทำไมเขาไม่ยอมลงจากหลังเสือ ประมาณว่ากลัวเสือ กลัวประชาชนซึ่งเป็นเสือ
แล้วเดิมที่คิด ดิฉันคิดว่าตามรัฐธรรมนูญและตามที่เขาคิด 5 ปี ก็น่าจะทำให้เสือเชื่อง
คือ “เสือ” กลายเป็น “ควาย” แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่! มันมีทั้งเสือตัวเก่า เสือตัวใหม่
เสือที่ยังหนุ่มยังสาว มันน่ากลัวกว่าเสือแก่ ๆ เสือหนุ่มน่ากลัวกว่าเสื้อแก่ ๆ สมมุติว่าถ้าเป็นพรรคการเมือง
อาจจะกลัว “พรรคอนาคตใหม่” หรือว่า “ก้าวไกล” พร้อมกันก็กลัวเสือแก่ ก็คือ “พรรคเพื่อไทย” ที่มาจาก
“ไทยรักไทย” ด้วยก็ได้
ดังนั้น
ไม่ว่าจะประเด็นพรรคการเมือง ประเด็นของนอกเวทีรัฐสภา ก็คือกลุ่มประชาชนที่เห็นต่างทั้งในฐานะพรรคการเมืองและฐานะขบวนการนอกรัฐสภา
มันกลายเป็นเสือดุมากขึ้นทุกวัน แล้วก็กลายเป็นเสือหนุ่มเสือสาวไม่ใช่ประยุทธ์
ที่คิดว่า “เสือ” จะกลายเป็น “ควาย” นอกจากตัวเองยุติลงจากหลังเสือแล้ว
พรรคพวกกลุ่มของตัวเองก็สามารถอยู่ในอำนาจได้ต่อ
ดังนั้นจึงน่าจะเป็นที่มาของพรรคการเมือง พปชร. ซึ่งคาดหวังว่าถ้าหมดยุค
พล.อ.ประยุทธ์ ก็สามารถที่จะยังครองอำนาจในรัฐสภาและเป็นรัฐบาลได้
นั่นก็คือเพื่อความปลอดภัยของคณะผู้ทำรัฐประหารและใช้อำนาจจากการทำรัฐประหารมาอีกยาวนาน
นี่เป็นสิ่งที่ดิฉันมอง หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ดิฉันมองอย่างนี้แหละว่า
คุณประยุทธ์กลายเป็นคนขี่เสือที่ไม่ยอมลงจากหลังเสือเพราะกลัวเสือกัด เสือมันไม่ใช่ควาย
แล้วมันไม่ใช่เสือตัวเดียวแล้ว ก็คือกลายเป็นว่ามีเสือซุ่ม มีเสือที่อยู่รอบนอก
ที่ขี่ก็ขี่อยู่ เสือที่เตรียมจะมาขย้ำก็มี ดังนั้นการอยู่ในอำนาจนานมันน่าจะเป็นวิธีคิดของพล.อ.ประยุทธ์
ถ้าถามว่าทางกฎหมาย
นอกจากมาตรา 158 ที่ดิฉันอ่านแล้ว เพราะในมาตรา 158
เขาระบุเลยประหนึ่งเป็นเจตนารมณ์ชัดเจนว่า นายกฯ จะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้
ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ตรงนี้มันชัดยิ่งกว่าอย่างอื่น
ถ้าหากว่าเขาไม่ให้นับรวมเวลาที่ก่อนการเลือกตั้ง เขาก็ควรจะเขียนนะ
เพราะในนี้ยังเขียนเลยว่าไม่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง
คือแปลว่า “รักษาการ” ไม่ต้องนับ อย่างนั้นเขาก็ควรจะเขียนว่า
ไม่ให้นับเวลาที่เป็นนายกฯ ก่อนจะมีการเลือกตั้ง
ส่วนมาตรา
264 ในนี้มันก็เขียนชัดเจนว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่”
ดังนั้น หมายความว่าก่อนที่จะมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
ก็แปลว่าคุณเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนี้ คือก่อนที่จะมีการประกาศ
ก่อนที่จะมีการใช้รัฐธรรมนูญ ในนี้เขาสรุปแล้วว่าเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติ
เมื่อเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติ ตามมาตรา 264 แล้วทำไมไม่นับรวมล่ะ?
ก็ไม่ได้เขียนยกเว้นไว้นี่ว่าไม่ให้นับรวม
เมื่อไม่ได้เขียนยกเว้นไว้ว่าไม่ให้นับรวม ก็ต้องนับรวม! นี่ทัศนะของดิฉัน
เพราะฉะนั้น
ตามกฎหมายมี 3 ทาง
ทางที่
1 ก็คือ หมดอายุนายกฯ แล้ว 23 สิงหาคม 2565 ไปแล้ว ตามที่ดิฉันอ้างมาตรา 158,
มาตรา 264 อันนี้ตามกฎหมายของรัฐธรรมนูญ แต่ว่าพวกที่ดิ้นก็ยังมีอีก 2 ทาง
ทางที่
2 ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ก็มีคนเริ่มพูดถึงก็คือว่า
ให้นับตามที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็ดูเหมือนจะเป็น 6
เมษายน 2560 งั้นก็แปลว่าถ้าอย่างนั้น ถ้าตีความว่าให้นับอายุนายกฯ ตั้งแต่ 6
เมษายน 2560 ก็แปลว่าไปจบเอา 6 เมษายน 2568 ก็แปลว่าถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ คุณก็อยู่ไม่ถึงวาระ
4 ปี คุณต้องไปก่อน มันก็ไม่ชอบธรรมที่จะมาเป็นผู้สมัครตำแหน่งนายกฯ เลย
เพราะว่าคุณไม่สามารถอยู่จนครบได้
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นให้ถือว่าเป็นนายกฯ
ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ตั้งแต่ปี 2557 หรือว่าตั้งแต่ปี 2560
คุณก็จะเข้ามาในสนามเลือกตั้งใหม่ ไม่ได้!
เหลือทางเลือกเดียวทางที่
3 ก็คือผู้ที่ถือว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์
ให้มาจากหลังการเลือกตั้ง 2562 ก็แปลว่าไปสิ้นสุด 2570 ดิฉันมองว่า พล.อ.ประยุทธ์
ผู้ถือครองอำนาจอยู่จะพยายามดันให้มันมาออกตรง 2570 เพื่อที่ตัวเองเป็นแคนดิเดตนายกฯ
คนใหม่ เพราะดูแล้วไม่มีทาง ดูไม่เหมือนกับว่าจะวางมือจากอำนาจเลย ส่วนสาเหตุที่ไม่วางมือจากอำนาจ
ดังที่ดิฉันได้บอกไปแล้วว่า ก็มองประชาชนและผู้เห็นต่างเป็น “เสือ”
ที่กำลังจะมาขย้ำตัวเองหรือเปล่า? ตัวเองก็กำลังขี่เสืออยู่ แต่ก็มี “เสือซุ่ม”
คอยด้อม ๆ มอง ๆ อยู่เยอะ แล้วก็ไม่กล้าลงจากเสือตัวนี้เพราะกลัวเสือที่ตัวเองขี่จะขย้ำ
ในขณะเดียวกันก็มีเสืออื่นที่จะมาย้ำด้วยเหมือนกัน
ถ้าดูตามนี้
โดยทางกฎหมายเขายังคิดว่าเขามีอำนาจที่จะสามารถอยู่ต่อได้
แล้วก็ให้ตัดสินว่าความเป็นนายกฯ นั้นเริ่มจาก 2562 คือการเข้ามาเป็นนายกฯ
ตามการเลือกตั้ง
แต่ว่าถ้าหันมาดูประชาชน
ในประเด็นความชอบธรรมของประชาชน ดังที่ดิฉันบอกแล้วว่า
เขามาทำรัฐประหารก็ไม่มีความชอบธรรม แล้วอยู่ได้ 8 ปี
หลอกลวงกระทั่งแต่งเพลงหลอกลวง หรือว่าใช้วิธีการปลอบประโลม ใช้วิธีการแจกเงิน
แจกบัตรอะไรต่าง ๆ ทำทุกอย่างแล้ว แต่ที่ประชาชนอดทน ดิฉันมองอย่างนี้ ก็คือว่า
ในต่างความคิดนั้น ต่างได้ออกมาต่อสู้กันเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดง
ไม่ว่าจะเป็นซีก กปปส. ซึ่งทำบัตรเชิญให้มาทำรัฐประหาร
เพราะตัวเองพ่ายแพ้ในระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย
ติดคุกติดตะราง เป็นเวลาที่เผชิญความยากลำบาก แล้วซ้ำมาเจอโควิดและพิษเศรษฐกิจ
ปี
2563 เป็นกระแสของการต่อต้านของเยาวชนขึ้นสูงจนปี 2564 แล้วก็มาถูกขัดขวางด้วย
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องของโรคและเรื่องของโควิด
ดังนั้นก็เรียกว่ามันก็เป็นโชคช่วยที่ทำให้การต่อต้านไม่ได้มากเท่าที่ควร
แต่ว่ามันก็เป็นทุกขลาภเหมือนกัน เพราะว่ามันได้แสดงให้ประชาชนเห็นแจ่มแจ้งว่า ที่คุณอยู่เป็นรัฐบาลนั้นคุณไม่มีฝีมือเลย
คุณไม่ได้ความเลยว่างั้นเถอะ ทำให้ประชาชนเรียกว่าหาเสียงให้ฝ่ายค้าน หาเสียงให้ฝ่ายเห็นต่างโดยปริยายว่า
ความเป็นผู้นำ ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์
มันสร้างความเสียหายให้กับประเทศย่อยยับเพียงไร!
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโพลของนิด้าโพล
ซึ่งจำนวนหนึ่งเราต้องยอมรับว่ากระทั่งในเมืองก็มีคนฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นจำนวนมาก
เพราะว่าการสอบถามแม้คนพันกว่าคนก็จริง แต่ก็สุ่มในหลายพื้นที่ 64.25% บอกว่านายกฯ
ควรประกาศว่า 8 ปี คืออยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 24 ส.ค. 2565
ส่วนที่ไม่ตอบ/ไม่สนใจมีเพียง 2.82% ส่วนพวกที่ยังเอาใจช่วย
ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในประเทศไทยดังที่ดิฉันเคยบอก มันจะมีประมาณ 30% ผลสำรวจ 32.93% ก็บอกว่ารอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน
นี่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม
นี่
64.25% แปลว่าอะไร แปลว่าคนที่อยู่กลาง ๆ เป็นอนุรักษ์นิยมแบบกลาง ๆ
ไม่ใช่อนุรักษ์นิยมสุดโต่ง เห็นด้วยกับฝ่ายเสรีนิยม รวมแล้ว 64.25% ก็คือ พอแล้ว 8 ปี แล้วโดยเฉพาะที่ชัดเจนก็คือ คำถามที่บอกว่า ต้องการหรือไม่ต้องการให้
3ป. มีบทบาททางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า
อันนี้เป็นคำถามของนิด้าโพล 80.03% บอกไม่ต้องการ
แปลว่าแม้กระทั่งฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยกันก็ไม่เอาแล้ว เพราะคน 80.03% เราก็ต้องถือว่าเป็นเสียงโหวตที่เรียกว่าเกินมากเลย
คนส่วนใหญ่ข้างมากที่สุดบอกว่าพอแล้ว! คุณทำโพลเองก็ได้
พล.อ.ประยุทธ์และ 3ป.
ดังนั้น
ทัศนะของดิฉัน กฎหมายก็ส่วนหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญก็ส่วนหนึ่ง
มันอาจจะขัดแย้งกับความชอบธรรมและความคิดของประชาชนก็ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดประชาชนตัดสินไปแล้ว
คุณลองทำโพลดูก็ได้ว่า 3ป. คือไม่ใช่ “ประยุทธ์” ไปให้ “ประวิตร” อยู่ หรือ “ประวิตร”
แก่แล้ว ก็เอา “บิ๊กป๊อก อนุพงษ์” อยู่ เขาบอก 3ป. เลย ไปได้แล้ว!
ดิฉันว่าลงจากหลังเสือ
ถ้าคุณไม่ผิด คุณไม่เห็นต้องกลัวเลยใครจะมาเช็คบิล ที่คุณไม่ลงจากหลังเสือ
ไม่ยอมลงจากอำนาจ แปลว่าทำผิดมาตลอด ใช่หรือเปล่า?
ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งและคดีอาญาในการปราบปรามประชาชน จึงไม่ยอมลงจากอำนาจเสียทีค่ะ
#ธิดาถาวรเศรษฐ
#UDDnews
#ยูดีดีนิวส์