วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2565

เสวนา 2 ปี "วีโว่" "นักการเมืองกับเรื่องม๊อบ" ชี้ การต่อสู้ทั้งในและนอกสภาคือสิ่งสำคัญและจำเป็น นักการเมืองออกมาเคียงข้างประชาชนเป็นสิ่งดีแต่ไม่การันตีจะหยุดยั้งความโหดร้ายจากผู้มีอำนาจเผด็จการได้ ขอประชาชนเชื่อมั่นตัวเอง เชื่อมั่นในหลักการที่ถูกต้อง เชื่อมั่นกันและกัน

 


เสวนา 2 ปี "วีโว่" "นักการเมืองกับเรื่องม๊อบ" ชี้ การต่อสู้ทั้งในและนอกสภาคือสิ่งสำคัญและจำเป็น นักการเมืองออกมาเคียงข้างประชาชนเป็นสิ่งดีแต่ไม่การันตีจะหยุดยั้งความโหดร้ายจากผู้มีอำนาจเผด็จการได้ ขอประชาชนเชื่อมั่นตัวเอง เชื่อมั่นในหลักการที่ถูกต้อง เชื่อมั่นกันและกัน


วันนี้ (14 ส.ค. 65) ที่ The Jam Factory เขตคลองสาน กรุงเทพฯ กลุ่ม We Volunteer หรือ วีโว่ จัดงาน “2nd Anniversary Schedule of We volunteer” ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการจัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 2 ปีการก่อตั้งกลุ่มวีโว่ วันที่ 16 สิงหาคม 2563 โดยการจัดงานได้จัดเป็นเวลา 2 วัน คือ วันที่ 13-14 สิงหาคม เวลา 10.30 -18.00 น. นั้น


สำหรับบรรยากาศงานตั้งแต่ช่วงเที่ยงเป็นต้นมา เป็นการแสดงดนตรีโดยวง Rap against dictatorship (RAD) ที่มาพร้อมเพลงประเทศกูมี เพลง250 สอพลอ เพลงปฏิรูป และเพลงงบประมาณ ซึ่งเป็นเพลงสะท้อนเหตุบ้านการเมือง ต่อด้วยวง สามัญชน ที่มี ไผ่ จตุภัทร์ ร่วมเล่นพิณด้วย โดยสามัญชนเล่นเปิดด้วยเพลงนักสู้ธุลีดิน แล้วปิดท้ายด้วยเพลงเราคือเพื่อนกัน ทั้งนี้สามัญชนได้ร้องเพลงตัวอย่าง ที่แต่งไว้ให้วีโว่ด้วยซึ่งคาดว่าจะได้ฟังเต็ม ๆ เดือนหน้า


กระทั่งช่วง 16.30 น. เป็นวงเสวนา "นักการเมืองกับเรื่องม๊อบ" วิทยากรประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย) ส.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล (สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล) และนายแพทย์ ทศพร เสรีรักษ์ (ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย) ดำเนินรายการโดยนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้


นายณัฐวุฒิ ได้กล่าวถึงการสัมผัสถึงเรื่องราวการเคลื่อนไหว การต่อสู้ของเยาวชน นิสิต นักศึกษาเมื่อช่วงปี 2563 ว่าช่วงเวลานั้น ตัวเขาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แต่ได้รับรู้เรื่องราวการเคลื่อนไหวและการออกมาขอโทษคนเสื้อแดง รวมทั้งการนำคำปราศรัยของเขาออกมาพูดถึงใหม่ โดยหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ก็ทำให้ตัวเขาเองนั้นถึงกับน้ำตาไหล โดยนายณัฐวุฒิ ระบุว่า มันมีแรงปะทะต่อจิตใจต่อความรู้สึก "นี่คือคำพิพากษาของคนหนุ่มสาวยุคนี้ว่า อะไรเขารู้สึกอะไรกับเหตุการณ์เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้"


ภายหลังออกจากเรือนจำ และถอดกำไลEM แล้ว ก็ได้มีการแถลงข่าวจุดยืนต่อการเคลื่อนไหวของหนุ่มสาว และร่วมจัดกิจกรรมคาร์ม็อบกับสมบัติ บุญงามอนงค์


นายณัฐวุฒิกล่าวต่อไปว่า ตนโตมาพร้อมกับคนเสื้อแดง คนเสื้อแดงอายุเท่าไหร่ตนก็อายุเท่านั้น ประเด็นที่ว่านักการเมืองมาร่วมม็อบจะถูกข้อครหาว่ามาหาผลประโยชน์ ตนไม่แคร์ในประเด็นนี้ คำว่าการเมืองในสังคมนี้ถูกกล่าวหาทำให้เป็นเรื่องร้าย ถูกทำให้ความหมายเป็นลบ เพราะสังคมนี้ปฏิเสธพัฒนาการทางการเมือง ปฏิเสธเกียรติยศศักดิ์ศรีของนักการเมือง สังคมนี้ต้องการทำให้คำว่านักการเมืองเป็นผู้ร้ายเพราะอำนาจนอกระบบ อำนาจนอกเหนือการเมืองจะได้กดทับในนามของความดีและในนามของคนดี


คนไม่จำเป็นต้องมีหัวโขนอะไรมายืนในขบวนการต่อสู้ แค่ความเป็นคนที่เท่ากันนั้นก็ยืนอย่างสง่างามได้ ไม่ต้องมีสถานะอะไร สำคัญคือคนที่อยู่ในขบวนต้องเชื่อมั่นในกันและกัน ต้องยังคงเชื่อว่าตราบใดที่เรายังยืนกับหลักการที่ถูกต้อง เดินไปข้างหน้าจะมีคนเชื่อแบบนี้เห็นแบบนี้ แม้คนที่จะหายไปก็มีแต่คนที่จะเติมมาก็มาก นายณัฐวุฒิกล่าว


ทุกองค์กรกลุ่มก้อนจะมีคนที่เป็นทั้งของจริงและของปลอม ปนกันอยู่เสมอ ในพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยก็มีของจริงและของปลอมปนกันอยู่ ในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็เฉกเช่นเดียวกัน ดังนั้นต้องอาศัยการเคี่ยวกรำ อาศัยสถานการณ์อาศัยระยะเวลา เป็นตัวพิสูจน์ทราบ การพิสูจน์ทราบนี้ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการประกาศตัวตนของคนนั้น ๆ ต้องให้ผู้คนที่อยู่ในขบวนการต้องให้สังคม รับรู้และตัดสินใจ


การที่นักการเมืองมาเคียงข้างประชาชนถ้าออกมาเป็นสิ่งดีแต่ไม่การันตีว่าจะหยุดยั้งความโหดร้ายจากผู้มีอำนาจได้


นี่คือภาระที่คนทุกรุ่นต้องแบกรับ เพราะสังคมนี้เป็นสังคมที่ผิดรูปกับพัฒนาการจริงของสังคมที่ควรจะเป็น ถ้าเราต้องการจะให้สังคมนี้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เจ็บ ไม่เจ็บกายก็เจ็บหัวใจ หรือเจ็บทั้งสองอย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีการทรยศหักหลังตลอดเส้นทางนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีแต่ความจริงแท้งดงาม ในท่ามกลางการต่อสู้ที่มีทั้งเล่ห์เหลี่ยมกลโกง กลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจเผด็จการในประเทศนี้คือกลุ่มคนที่มีถือปืนอยู่ในกองทัพ กลุ่มคนพวกนี้โตมากับคำขวัญที่ว่า "การศึกไม่หน่ายเล่ห์" หมายความว่าพร้อมทุกอย่างที่จะเอาชนะ


ตนเห็นว่านักการเมืองควรแสดงจิตสำนึก ด้วยการที่จะเคารพ เข้าใจ หรือเข้าร่วมในการต่อสู้ของประชาชน แต่ถ้าหากว่าไม่ก็ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในตนเอง เชื่อมั่นในกันและกันและเข้าใจว่านี่คือโลกของความเป็นจริง


ขณะที่ ส.ส.อมรัตน์ กล่าวว่า สถานการณ์ของประเทศเราอยู่ในหลุมดำอันมืดมิด และยาวนาน โดยเฉพาะนับตั้งแต่ ปี 2557 คำว่า "ม็อบ" ถูกทำให้มีความหมายไปในทางลบ แต่แท้จริงแล้ว ม็อบคือการใช้สิทธิและเสรีภาพทางการเมือง เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่แค่วันไปหย่อนบัตรเลือกตั้งแล้วก็หมดหน้าที่ของพลเมือง ที่ประชาชนจะแสดงออกทางการเมืองก็คือการชุมนุม คือการมีส่วนร่วมทางการเมือง


การล้อมปราบและการถูกกดด้วยอำนาจของ 3ป ในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายที่รุนแรงทุกชนิด เช่น มาตรา 112 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายปิดปาก รวมถึงการใช้ สปายแวร์ นี่คือสิ่งที่ประชาชนตระหนักและรับรู้


ประเทศไทยเคยปรามาสคนรุ่นใหม่ว่าไม่สนใจการเมือง แต่สถานการณ์ก็นำมาซึ่งการเบ่งบานด้วยการชุมนุมโดยคนหนุ่มสาว นิสิต นักศึกษาของปี 2563 ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวคือยุคที่ให้คุณค่าของการตั้งคำถาม ซึ่งนำมาซึ่งการชุมนุมและการเคลื่อนไหว ก็ถูกเจ้าหน้าที่คฝ.ล้อมปราบ สลายการชุมนุม และก็คดีความต่าง ๆ ซึ่งแสดงถึงความกลัวและปากกล้าขาสั่นของรัฐบาลเผด็จการชุดนี้


ส.ส.อมรัตน์ กล่าวอีกว่า ก่อนที่จะมาเป็นนักการเมืองก็เป็นมวลชนมาก่อน ตั้งแต่สมัยกลุ่มคนอยากเลือกตั้งตนก็โดนคดีไป 2-3 คดี โดยตอนที่เป็นมวลชนเคยรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เวลาที่เราอยากจะเห็นผู้แทนราษฎรที่เราเลือก มาปกป้องเรามายืนเคียงข้างเรา เวลาที่ต้องเผชิญกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ไปหานักการเมืองหลาย ๆ คนในเวลานั้นว่าจะมีการจัดชุมนุมที่นั่นที่นี่นะช่วยมาอยู่เคียงข้างเราหน่อย มาเป็นไม้กันหมา มาให้เรารู้สึกอุ่นใจหน่อย แต่ก็มีนักการเมืองท่านหนึ่งที่มาแต่ก็มาได้แป๊บเดียว 


เมื่อวันหนึ่งตัวเองได้มาเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ตนตั้งปณิธานว่าอะไรก็ตามที่เราคาดหวังกับนักการเมืองเก่า ๆ เมื่อครั้งเป็นมวลชน ที่เราไม่ได้รับการตอบสนองเราจะทำ อะไรที่เราเคยขอนักการเมืองให้ทำให้แล้วเขาไม่ทำเราจะทำ การเป็นผู้แทนของราษฎรคือการออกมาเคียงบ่าเคียงไหล่คือการร่วมทุกข์ร่วมสุข แต่ทั้งหมดนั้นการกระทำจะสำคัญกว่าคำพูด ในยุคสมัยที่เราอยู่ภายใต้อำนาจที่ป่าเถื่อน


สำหรับประเด็นที่ว่านักการเมือง ไปร่วมม็อบเพื่อหวังคะแนนเสียง ไปหาผลประโยชน์ ส.ส.อมรัตน์ กล่าวว่าเป็นเรื่องของสิทธิหน้าที่พลเมือง วันเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้าเรามัวแต่จะไปกลัวในการที่จะทำอะไรดี ๆ กลัวคำครหา ต้องทำอะไรแล้วแต่เหนือสิ่งอื่นใด ตนคิดว่ามวลชน ประชาชนดูออกและคิดเป็น


ด้านนพ.ทศพร กล่าวว่า การต่อสู้ต้องควบคู่กันไปทั้งในและนอกสภา โดยตนสัมผัสได้ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 ใหม่ ๆ กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นจ่านิว โรม หรือเอกชัย จนเรื่อยมาถึงการเคลื่อนไหวเมื่อปี 2563 มองเห็นพัฒนาการในยุคแห่งการตั้งคำถามของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาและความเป็นไปของประเทศนี้


โดยช่วงหนึ่งของการเสวนา นพ.ทศพรได้ เอ่ยความรู้สึกต่อกรณี ผู้ต้องขังทางการเมืองในเวลานี้ที่ยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทำให้ถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ 


ภายหลังจบการเสวนา นายปิยรัตน์ จงเทพได้เป็นตัวแทนกลุ่มวีโว่ มอบของที่ระลึกให้กับวิทยากรทั้ง 3 ท่าน และ กล่าวปิดงาน "2nd Anniversary Schedule of We volunteer”


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #2ปีWevolunteer

#Wevo #Wevolunteer