กทม.
ประสานมูลนิธิกระจกเงา แก้ปัญหาคนจนเมือง
เน้นการจ้างงานที่มีศักดิ์ศรีและพึ่งพาตัวเองได้
วันที่
20 ก.ค. 2565 นายชัชชาติ
สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายสมบัติ
บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา ว่า
วันนี้ได้หารือกับมูลนิธิกระจกเงาหลายเรื่อง อาทิ ปัญหาคนไร้บ้าน คนจนเมือง
การจัดการขยะ การจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งการจ้างงานถือเป็นเรื่องสำคัญ
ไม่เฉพาะเรื่องเงิน แต่เป็นการสร้างความภูมิใจในการใช้ชีวิต
รวมทั้งการมีสังคมร่วมกับผู้อื่น
ในวันนี้ก็มีอาสาสมัครคนรุ่นใหม่มาทำงานร่วมกับผู้สูงอายุซึ่งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน
มูลนิธิมีการบริหารจัดการหลายๆ อย่างที่ดีมาก เข่น การแยกขยะ การนำขยะไปขาย สำหรับ
กทม. ขยะคือรายจ่าย แต่สำหรับมูลนิธิฯ ขยะคือรายได้ กทม.
อาจต้องเรียนรู้จากมูลนิธิฯ
ซึ่งในเมืองใหญ่หลายแห่งในโลกจะมีมูลนิธิแบบนี้ที่ช่วยบริหารจัดการ
เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่เสริมการสร้างงานและจัดการขยะให้กับเมือง
ด้านนายศานนท์
หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สิ่งที่กทม.
จะดำเนินการต่อคือการเรียนรู้โมเดลที่จะทำร่วมกันกับมูลนิธิฯ
รวมทั้งมีโครงการที่จะเปิดบ้านอิ่มใจอีกครั้งเพื่อดูแลคนไร้บ้าน
โดยจะปรับการให้บริการเป็นรูปแบบ “พื้นที่สวัสดิการ”
จากเดิมการใช้บริการบ้านอิ่มใจ ต้องลงทะเบียนเข้าพักค้างก่อนจึงจะได้รับสวัสดิการ
อาทิ อาบน้ำ ซักผ้า แต่รูปแบบใหม่จะให้บริการด้านสวัสดิการก่อน
ไม่ต้องลงทะเบียนพักค้าง สามารถอาบน้ำ ซักผ้าได้ ซึ่งหากต้องการพักค้างก็สามารถทำได้
รวมถึงการเพิ่มจุดรวมการหางานและการเข้าสังคม นอกจากนี้ กทม. มีอัตราการจ้างงานหลายภาคส่วน
อาจจะพิจารณาจ้างคนไร้บ้านเข้ามาเสริมในเรื่องการแยกขยะ
เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนไร้บ้านทั้งในเรื่องที่พักและการจ้างงานด้วย
ซึ่งจากการดำเนินการของมูลนิธิฯ พบว่า หากคนไร้บ้านทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์
จะมีรายได้สามารถเช่าที่พักได้ มีงานทำอย่างต่อเนื่อง
และมีสวัสดิการจะทำให้คนไร้บ้านสามารถกลับสู่ภาวะสังคมปกติได้
ผู้ว่าฯ
ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกปัญหาที่มองเห็นคือเรื่องการบริโภคของเมือง
เรามีการบริโภคเยอะ เรามีการจับจ่ายซื้อของ ซื้อเสื้อผ้าเยอะ
แต่ไม่มีที่ทิ้งซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นแหล่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนอื่นได้
โดยการหมุนเวียนหรือการบริจาค นอกจากนี้ได้เห็นถึงพลังของผู้บริจาคที่มีน้ำใจ
นี่คือความสำคัญของคำว่า “เมืองแบ่งปัน” ซึ่งการมาเยี่ยมมูลนิธิฯ
วันนี้ทำให้เห็นการทำงานในหลายมิติ
การทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาคมและภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญ จะทำให้เกิดพลังบวกเป็นทวีคูณ
แต่ถ้าต่างคนต่างทำ ไม่ได้เป็นพลังบวก
รัฐเองก็ไม่ง่ายที่จะสร้างงานเพราะว่าไม่เข้าใจหน้างาน ไม่มีความลึกในพื้นที่
ส่วนภาคเอกชนมีพลัง แต่ก็ติดเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งหากทั้งสองภาคส่วนรวมกันได้
ก็จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่
ด้านนายสมบัติ
กล่าวว่า
มูลนิธิกระจกเงาเป็นภาคประชาสังคมถือว่าเป็นองค์กรที่อยู่ส่วนหน้าของปัญหา
และประชาชนส่วนมากติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือ ปัญหาหลักๆ
ที่พบคือปัญหาคนไร้บ้านและปัญหาคนจนเมือง และกรุงเทพฯ กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ดังนั้นจะต้องกันงานบางส่วนและออกแบบงานบางประเภทให้กับผู้สูงอายุที่เป็นคนจนและต้องการที่จะทำงาน
เพื่อป้องกันผู้สูงอายุสูญเสียความสามารถด้านการพึ่งพาตนเอง
และจากออกมานอกบ้านกลายเป็นคนไร้บ้านซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไป
โดยหากเอางานมาแก้ปัญหาโดยนำผู้สูงอายุหรือคนไร้บ้านมาช่วยในการจัดการแยกขยะ
โดยการจัดการพลาสติก การจัดการสิ่งของ การจัดการกระดาษ
จะทำให้เกิดการสร้างงานอย่างมหาศาลทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
เปลี่ยนภาระเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคม
“การแก้ปัญหาคนจนเมือง คนไร้บ้าน ไม่ใช่แค่เอาเงินไปให้
เนื่องจากไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะถมเท่าไรก็ไม่เต็ม
สิ่งที่ดีคือการจ้างงานที่มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่งานที่มาจากความสงสาร งานที่มีความต้องการของตลาด
มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนทำ
ซึ่งบางส่วนอาจจะต้องมีการอบรมสอนงาน กทม. เองต้องดูเรื่องการฝึกสอนเพิ่มเติม เช่น
นวดแผนโบราณ นวดแผนไทยให้สอดคล้องตามความต้องการของผู้สูงอายุและความต้องการของตลาดด้วย”
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
#ชัชชาติสิทธิพันธุ์ #ผู้ว่าฯกทม
#UDDnews
#ยูดีดีนิวส์ #กระจกเงา