แลไปข้างหน้ากับ
ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.91
ประเด็น
: การเดินสองขาของขบวนการประชาธิปไตย
[การเริ่มหนทางใหม่ในภาครัฐ
กับ การเดินต่อไปของภาคประชาชน]
สวัสดีค่ะ
ดิฉันคิดว่าในช่วงเวลานี้เป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีปรากฏการณ์ดี ๆ
เกิดขึ้นในขบวนการต่อสู้ของฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตยแบบสากล แต่ว่าสิ่งดี ๆ
ที่เกิดขึ้นนั้นมันก็ยังไม่ได้อาจที่จะทำให้เรามีความสบายใจ
เพราะมันก็มีสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นด้วย ดังนั้นวันนี้ดิฉันก็คิดว่า ปรากฏการณ์ที่มันเกิดขึ้นที่มีทั้งดีและไม่ดีนั้น
ดิฉันก็จะขอพูดในประเด็นที่ว่า
“การเดินสองขาของขบวนการประชาธิปไตย”
แล้วก็เราจะแตกประเด็นเป็นสองส่วนก็คือ ส่วนของการเริ่มหนทางใหม่ในภาครัฐ เดินทางไปสู่การได้อำนาจรัฐ
ในภาครัฐ และอีกส่วนหนึ่งก็คือการเดินต่อไปของภาคประชาชน
ดังที่เราได้จั่วหัวเรื่องการเดินสองขา
แน่นอนคือขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนไทย โดยเฉพาะถ้าเราเริ่มจาก 24
มิถุนายน 2475 อีกไม่กี่วันเราก็จะครบ 90 ปี แล้วก็อีกไม่นานก็อาจจะครบ 100 ปี
ในช่วงเวลาเหล่านี้มันมีเส้นทางหนึ่งที่แน่วแน่
ก็คือขบวนการในการที่จะเดินไปสู่เป้าหมายของระบอบประชาธิปไตยแบบอารยประเทศ
นั่นก็คืออำนาจเป็นของประชาชน คนเท่าเทียมกัน ให้ประเด็นสิทธิ
เสรีภาพและความเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่จะนำมาซึ่งการลดความเหลื่อมล้ำในปัญหาเศรษฐกิจและสังคมต่อไป
อันนี้ก็คือเป้าหมายเดียวกันทั้งหมดในระยะเวลา 90 ปี
บางครั้งฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตยก็ดูเหมือนจะชนะ
แต่ว่าบางครั้งและก็เป็นส่วนมากด้วยก็กลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แม้น 24
มิถุนายน 2475 คณะราษฎรจะมีอำนาจอยู่ประมาณ 15 ปี พอ 2490 ก็จบ
อันนั้นก็เป็นตัวอย่างของการที่ว่าขบวนการต่อสู้แม้นจะได้อำนาจรัฐ
แต่มันก็ไม่ได้ดำรงอยู่ถาวร
หากไม่มีขบวนการของประชาชนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กในการที่จะปกป้องคุ้มกัน
ดังนั้นเราจึงใช้คำว่าเดินสองขา ก็คือ ในการต่อสู้โดยสันติวิธี
แน่นอนก็คือเข้าสู่ระบบของระบอบแม้นจะปลอม ๆ ก็ตาม ก็คือในระบบการต่อสู้ในรัฐสภา
อีกส่วนหนึ่งก็คือนอกเวทีรัฐสภาก็เป็นเวทีของประชาชน
การได้รับชัยชนะในเวทีรัฐสภา
แต่ถ้าไม่มีขาของประชาชนเข้มแข็ง ไม่มีทาง คุณชนะเลือกตั้ง คุณได้เป็นรัฐบาล
คุณก็ถูกจัดการ เหมือน 2490 เหมือน 2519 แล้วก็เหมือน 2534 แล้วก็มันมาเหมือน 2549 และ 2557 เราจะเห็นการทำลายอำนาจรัฐที่ได้มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
และขบวนการประชาชนก็ถูกทำลายไปด้วย ดังนั้นต้องมีความเข้มแข็งทั้งสองอย่าง
คุณได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง
แต่ถ้าขาของภาคประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งคุณก็ยากที่จะอยู่ได้
และขาของประชาชนในฝ่ายประชาธิปไตยที่เข้มแข็งก็สามารถแปรสภาพเป็นโหวตเตอร์เพื่อให้ได้ชัยชนะในรัฐสภาด้วย
ดังนั้น ดิฉันใช้คำว่าการเดินสองขาของขบวนการประชาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็น
และจะต้องเข้มแข็งทั้งสองทาง มีอย่างเดียวก็ยังไม่เพียงพอ
ปรากฏการณ์ในช่วงไม่กี่วันนี้มันเหมือนสร้างความหวังให้
นั่นก็คือการเริ่มเดินทางครั้งใหม่ในเวทีภาครัฐ
อันได้แก่ปรากฏการณ์คุณชัชชาติที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกผู้ว่าฯ กทม.
มันดูเหมือนให้ความหวัง
ให้ความสุขกับประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขบวนการฝ่ายประชาธิปไตย
อาจจะไม่ถูกใจคุณชัชชาติ 100% แต่ก็ต้องยอมรับว่าคุณชัชชาติเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำจากการทำรัฐประหาร
แล้วก็ตัดสินใจเลือกเดินทางใหม่อีกครั้งหนึ่ง ไม่ยอมแพ้
แต่มาเลือกเดินทางใหม่เพื่อเข้าสู่ส่วนของภาครัฐ แต่ยังไม่ใช่เวทีรัฐสภา
เพราะคุณชัชชาติคนเดียวพร้อมด้วยเพื่อนก็ทำได้ คือตามกำลังความสามารถ
อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ของการเลือกเดินทางใหม่ของคุณชัชชาติ
ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างและน่าจะเป็นความหวังของฝ่ายขบวนการประชาธิปไตย
อีกคนหนึ่งก็คือสด
ๆ ร้อน ๆ คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เข้าไปเป็นผู้อำนวยการของครอบครัวเพื่อไทย
ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรมวลชนของพรรคเพื่อไทย เพื่อจุดมุ่งหมายที่จะให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย
นี่ก็เป็นการเดินทางใหม่ของคนสองคนที่เป็นตัวอย่าง แล้วก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจว่า
นอกจากการเข้าสู่วิถีทางรัฐสภาแบบเดิม ๆ
การจะเข้าสู่โครงสร้างอำนาจรัฐและมีบทบาทนั้นก็อาจจะทำได้หลายทางตามเหตุปัจจัยตามความเหมาะสมของแต่ละคน
อย่างคุณณัฐวุฒิก็ถูกลงโทษไปเป็นสมาชิกพรรคก็ไม่ได้ ไม่มีตำแหน่งทางการเมือง
แต่ก็เลือกที่จะไปสนับสนุนพรรคการเมืองโดยวิถีทางของการอยู่ในส่วนสำคัญของครอบครัวเพื่อไทยซึ่งสนับสนุนพรรคเพื่อไทยนั่นแหละ
นี่ก็เป็นทางเลือกของคนสองคน
อาจจะมีคนเห็นด้วยหรือคนไม่เห็นด้วย อันนี้ก็แล้วแต่
วันเวลาอนาคตจะพิสูจน์ว่าเขายังรักษาเป้าหมายเดิม
คือไม่ได้ไปทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง หรือเปล่า?
เพราะว่าในขณะเดียวกันก็จะมีคนบางส่วนซึ่งถูกกระทำ แต่กระโดดข้ามไปเลย
กระโดดข้ามไปอยู่ในฝั่งของอีกฟากหนึ่งเลย ก็คือฝ่ายขบวนการทำรัฐประหารแล้วก็เครือข่ายอำนาจนิยม
จารีตนิยมบางคนทำหมู่บ้านเสื้อแดงบ้าง เพื่อประจบนายเก่า
ไม่รู้มีจริงแค่ไหนก็ไม่รู้ แล้วก็ไปทำเป็นหมู่บ้านแบบใหม่
ซึ่งอันนั้นเป็นการเดินทางใหม่เหมือนกัน
แต่ของคนที่ไม่มีเป้าหมายและไม่มีอุดมการณ์ เราก็จะไม่ไปใช้เวลาอันนี้ เพราะว่านี่ไม่ใช่แบบอย่าง
นี่เป็นตัวอย่างที่ให้เห็นว่าคนที่ถูกกระทำและยากลำบากนั้นจะตัดสินใจไม่เหมือนกัน
ส่วนที่ยังรักษาเป้าหมายกับส่วนที่ไม่ถือเป้าหมายเป็นสำคัญ
เพราะว่าทั้งหมดนี้มันจะพิสูจน์คนก็คืออยู่ที่จุดยืนและอยู่ที่ว่าอุดมการณ์ยังรักษาเหมือนเดิมหรือเปล่า
หรือว่าไม่เอาแล้วทั้งจุดยืนทั้งอุดมการณ์ เอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก
นี่คือการเริ่มเดินทางใหม่ที่เข้าไปอยู่ในส่วนของโครงสร้างอำนาจรัฐ
แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือที่ดิฉันอยากจะให้เป็นการบ้านของท่านผู้ฟังที่เราจะต้องช่วยกันขบคิด
ก็คือการเดินต่อไปของภาคประชาชน คือมีคนเดินทางใหม่ แต่ว่าคนที่ไม่ได้เดินทางใหม่
ยกตัวอย่างเช่น อย่างดิฉัน หรืออย่างแกนนำมวลชนอื่น ๆ
ซึ่งอยู่ในการต่อสู้ในเวทีนอกรัฐสภา ไม่ได้ไปเริ่มเดินทางใหม่กับพรรคการเมืองแต่ยังอยู่บนถนนสายนี้อยู่
คือเป็นขบวนการต่อสู้ของประชาชนอกรัฐสภา นี่ก็จะต้องเดินต่อไป ไม่ใช่นั่งหยุดดู ดูว่าคุณชัชชาติจะช่วยอะไรได้บ้าง
คุณณัฐวุฒิอาจจะไปทำแล้วมันก็มีผลดียังไงบ้าง ไม่ใช่
ดิฉันเป็นคนส่วนหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ก็คือ
เราต้องเดินต่อไปในส่วนของภาคประชาชน แต่เราจะเดินอย่างไร
เดินที่ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ให้ได้แนวร่วมมากที่สุด สูญเสียน้อยที่สุด
ในอดีตเรามีการจัดทำม็อบขนาดใหญ่ในการเรียกร้อง
คนมากมายมหาศาล เรียกว่าแต่ละครั้งนับแสน ดิฉันยังไม่พูดเรื่องของ 14ตุลา16 เพราะนั่นมันเป็นม็อบของฝ่ายจารีตนิยมเข้ามามีส่วนในฐานะครอบงำด้วย
มันก็ผนึกกำลังทั้งจารีต ทั้งเสรีนิยม ทั้งสังคมนิยม มันก็มากมาย
แต่ว่าในส่วนของฝ่ายเสรีนิยมและอุดมการณ์ประชาธิปไตย เรานับจากการต่อต้านรัฐประหาร
2549 มาจนถึงปัจจุบัน ก็เรียกว่า 15-16
ปีมานี้เอง ใน 15-16
ปีมานี้เรามีการขับเคลื่อนที่เป็นขบวนใหญ่
แต่ว่าเราก็ต้องยอมรับว่ามีการสูญเสียแต่ละครั้งมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นการที่ถูกปราบปราม เข่นฆ่า จับกุมคุมขังดำเนินคดี
ที่สำคัญคือคนตายและคนบาดเจ็บมีเป็นจำนวนมาก แน่นอน เราอาจจะไม่ถึงกับแบบรวันดา
แต่ว่าในประเทศไทย ดิฉันก็ไปพูดที่ ICC ก็คือ
คุณดูตัวเลขแต่ละครั้งอาจจะไม่มาก แต่มันเป็นการผลิตซ้ำ การทำซ้ำ ฆ่าซ้ำ จับซ้ำ
ในทัศนะดิฉันมันรุนแรงกว่าการตายครั้งเดียว
เพราะว่าการผลิตซ้ำมันกดประเทศชาติประชาชนลงไปไม่ให้สามารถเงยหน้าอ้าปาก
พอจะเงยหน้าขึ้นมาก็กดซ้ำลงไปอีก
สำหรับประชาชนไทยซึ่งส่วนมากเกือบทั้งหมดก็เป็นผู้รักสันติ
ไอ้ประเภทที่ว่าจุดประทัดบ้าง จุดพลุบ้าง ดิฉันยังถือว่าเขารักสันตินะ
เขาไม่ได้ลากอาวุธมายิง ไม่มี! ดังนั้น
ในส่วนนี้มันได้มีการปรับปรุงพัฒนาของเยาวชนรุ่นใหม่
หลังจากที่มีการสูญเสียมากมายในปี 51, 52, 53 โดยเฉพาะปี 53 จัดการทั้งแกนนำ ทั้งระดับส่วนกลาง ระดับส่วนจังหวัด มาจนกระทั่งถึงปี 57 การกดและการจัดการ
โดยเฉพาะการสูญเสียบาดเจ็บล้มตายของประชาชนก็มีการปรับให้ใช้แฟลชม็อบในสถานการณ์ใหม่
ก็ดูเหมือนดีในปลายปี 63 และในระหว่างปี 64
แต่ผลที่เกิดขึ้นก็ปรากฏว่าแกนนำถูกจัดการ
แล้วคดีความ คือประชาชนอาจจะบาดเจ็บล้มตายน้อย สูญเสียน้อย แต่คนที่มาเป็นแกนนำ
แกนนำเล็ก ๆ ส่วนหนึ่ง คนที่ออกมาต่อสู้อย่างสันติวิธีถูกกระทำอย่างอำมหิต
ในทัศนะของดิฉันคือถูกจับกุมคุมขัง และการใช้คดีความซึ่งดูไม่มีเหตุผล ในช่วงหลัง
ๆ นี้เราก็จะเห็นคดี 112 คุณพูดแบบนักวิชาการคุณก็โดน
คุณแต่งตัวอาจจะเป็นการเลียนแบบหรือล้อเลียนจำนวนหนึ่งก็โดน ถามว่าในทัศนะดิฉันมันผิด
112 มั้ย มันไม่เข้าแน่นอน!
ดิฉันไม่ต้องอ่านคุณก็รู้ว่าความผิด 112
นั้นเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทเท่านั้น
และมันต้องเป็นความผิดจริง ไม่ใช่ในประเด็นซึ่งที่จับ ๆ กัน เช่น เด็กทำโพล
แล้วซ้ำร้ายไม่ให้ประกัน
ให้ประกันก็เป็นเงื่อนไขที่ไปติดกำไลข้อเท้าไม่ให้ออกจากบ้าน
คือไม่ได้ฆ่าประชาชนเพราะว่าแกนนำไม่ได้ทำให้เขาถูกฆ่า
แต่ว่ามาจัดการกับกลุ่มแกนนำที่เป็นเยาวชนและที่ไม่เป็นเยาวชนทั้งหลายอย่างอำมหิต
แม้พวกเราจะดีใจที่คุณชัชชาติได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง
หลายคนอาจจะดีใจที่มีพ.ร.บ.คราฟเบียร์ พ.ร.บ.เรื่องของ LGBT
สมรสเท่าเทียมได้ อันนี้มันไม่ได้เกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจรัฐเลย ที่ได้เนี่ย
แล้วคุณชัชชาติก็ยังเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่แม้จะมาจากการเลือกตั้งแต่ต้องอยู่ภายใต้การกดทับของโครงสร้างอำนาจรัฐใหญ่
คุณชัชชาติมาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องไปก้มหัวอยู่กับคนที่มาอย่างไม่ชอบธรรม
อาจจะดูเป็นการแสดงกันก็ได้เพื่อไม่ให้มันมีปัญหา
แต่ดิฉันอยากให้ระลึกไว้ว่าชัยชนะแบบนี้มันเป็นชัยชนะที่ต้องสะสม
มันยังเป็นระยะยาว
คำถามก็คือในส่วนของประชาชน
เราจะนั่งรอแบบนี้ไม่ได้ ก็ต้องเดินต่อ จะเดินต่ออย่างไร
ดังที่ดิฉันบอกว่าถ้าใช้เป็นศัพท์แบบเก่าก็คือ มีเหตุผล ได้ประโยชน์
ไม่ได้ประโยชน์ไม่ต้องทำ แล้วก็รู้ประมาณก็คือไม่ให้เกิดความเสียหาย แต่มันก็ยาก
ยกตัวอย่าง เด็กเขาบอกทำโพล เขาไม่ได้คิดว่าการทำโพลมันจะผิดตรงไหน
หรือการแต่งตัวบางอย่างมันจะผิดตรงไหน
ดิฉันอยากจะเตือนมายังโครงสร้างรัฐ
จะเป็นตำรวจ อัยการ หรือกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ
ที่มีการแก้ไขในเรื่องของการถวายพระเกียรติยศเพิ่มขึ้นมา ดิฉันว่าที่ทำ ๆ กันอยู่
ดิฉันว่าทำให้เสื่อมนะ คือคุณไม่มีเหตุผล คุณปกครองประชาชนเพื่อให้เขากลัวและกำราบ
มันสร้างความเกลียดชัง แล้วคำถามว่ามันจะได้ตามนั้นมั้ย?
ผู้ปกครองที่ฉลาดเขาทำให้คนรัก
แต่ผู้ปกครองที่โง่เง่าจะทำให้คนกลัวและทำให้คนเกลียด
แล้วก็จะเกิดการต่อต้านอย่างไม่รู้จบ คุณกระทำกับเด็กคนหนึ่งได้
คุณว่ามีเยาวชนจำนวนมากมายแค่ไหนในประเทศนี้ หรือคุณกระทำกับพรรคการเมือง
ยกตัวอย่างเช่นที่แล้วมา คุณไม่ชอบระบอบทักษิณ คุณจัดการกับไทยรักไทย
ก็ได้พลังประชาชน แล้วก็ได้เพื่อไทย โอเคคุณจัดการต่อไปอีก
คุณจัดการแม้กระทั่งนายกฯ ปู ตอนนี้มีคุณอุ๊งอิ๊งออกมา
แม้กระทั่งจะอำมหิตอย่างนี้ถามว่าคนกลัวมั้ย ไม่กลัว พรรคการเมืองก็ไม่กลัว
คนรุ่นเก่าก็ไม่กลัว เยาวชนก็ไม่กลัว
แล้วดังที่บอกว่าเวลามันเป็นของเยาวชนและของประชาชน
การทำให้คนเกลียด การทำให้คนกลัวมันก็ต้องมีการต่อต้าน ผู้มีอำนาจที่ปกครองประชาชนแล้วก็ทำให้คนเกลียดกลัวและมีการต่อต้านตลอดไป
ถามว่าอันนี้เป็นการทำให้เกิดความมั่นคงหรือ? คุณพูดคำหนึ่งก็มั่นคง สองคำก็มั่นคง
ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดิฉันถามว่ามันจะมั่นคงตรงไหน เพราะคุณทำให้ทั้งเกลียด
ทั้งกลัว และทำให้คนอยากมาต่อต้าน
ดังนั้นสิ่งที่คุณทำกันทั้งหลายมันทำเกิดผลตรงข้ามทั้งหมด ทำให้คนต่อต้านมากขึ้น
ทำให้คนไม่กลัว ทำให้ไม่มีความมั่นคงในประเทศนี้ หรือแม้กระทั่ง ชาติ ศาสนา
พระมหากษัตริย์ ก็ไม่ได้มีความมั่นคง
หรือถ้าคุณคิดว่าเรื่องบางเรื่องเป็นการสนับสนุนในการถวายพระเกียรติยศ
ดิฉันว่ามันไม่ใช่ มันตรงข้าม!
ดังนั้น
ในส่วนของภาคประชาชนมันก็ต้องเป็นการบ้านว่าจะมีการปรับในการเดินต่อไปอย่างไรให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด
ดิฉันจะไม่โทษกลุ่มต่าง ๆ ที่มีการทำแล้วหลายคนไม่เห็นด้วย
ดิฉันคิดว่าในกลุ่มคนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น “ทะลุแก๊ซ” หรืออะไรก็ตาม
ที่เขาพยายามทำ เพราะว่าเขาอยากจะบอกว่าประชาชนต้องการต่อต้านนะ จะให้อยู่เฉย ๆ
ให้เพื่อนอยู่ในคุก แล้วทุกคนกลัวยอมสยบมันเป็นไปไม่ได้
แต่ทั้งหมดดิฉันยังยืนยันว่าในทัศนะดิฉันยังเป็นสันติวิธี
ตราบใดที่เขาไม่ก่อตั้งกองกำลังอาวุธมายิง แบบพวกคุณขนาดใช้ปืน
แม้จะเป็นปืนที่เป็นกระสุนยางก็ตาม แต่การประทับยิงตรง ๆ ไปมันก็ไม่ถูกต้อง
และมันก็ไม่ใช่วิธีการปราบปราบดูแลประชาชนแบบสันติวิธี
การกระทำของภาครัฐในระบบยุติธรรมทั้งหมด
ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำในขณะนี้
ในทัศนะดิฉันเป็นการยั่วยุให้ประชาชนโกรธแค้นชิงชังและต้องการต่อต้านอย่างถึงที่สุด
แต่ดิฉันก็อยากจะเตือนขบวนการประชาชนว่าทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด
สูญเสียน้อยที่สุด เพราะว่าเส้นทางนี้ของเรายังยาว
ส่วนที่อยู่พรรคการเมืองในฝ่ายประชาธิปไตย
ดิฉันก็สนับสนุน เพราะว่าเมื่อคุณต้องการจัดการกับระบอบทักษิณ
มันก็เกิดพรรคการเมืองอื่นขึ้นมาในสายประชาธิปไตย ดังนั้น
นี่ก็คือการไม่ยอมแพ้ในเวทีรัฐสภา และการไม่ยอมแพ้ในนอกเวทีรัฐสภาของประชาชนค่ะ
ก็ขอให้การบ้านนี้เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันคิดมากกว่าที่จะมาโจมตีว่า
ท่วงทำนองแบบนี้ไม่ดี หรือวิธีแบบนี้ไม่ดี ช่วยกันคิด
ทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด และก็สูญเสียน้อยที่สุดค่ะ
#ธิดาถาวรเศรษฐ
#UDDnews
#ยูดีดีนิวส์