ผมยืนยันว่า “การปฏิรูปไม่ใช่การล้มล้าง” และควรเปิดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้มีการอภิปรายสาธารณะในเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสร้างสรรค์ หากไม่อาจจะหาข้อตกลงได้ก็ควรยุติโดย “การทำประชามติ”
การปฏิรูปทั่วด้านในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช ทรงทำให้ประเทศสยามเจริญก้าวหน้าและพ้นภัยล่าอาณานิคมได้อย่างสง่างาม
รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นแบบฉบับที่ “เด่นสง่าฉลาดเฉลียว” “ทำให้ประเทศสยามรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกาและเจริญเติบใหญ่พัฒนาอย่างแข็งแรงยั่งยืนได้จนปัจจุบัน” โดยพระองค์ทรงเป็นผู้นำและผู้ริเริ่มในการปฏิรูปประเทศอย่างทั่วด้านรวมทั้งปฎิรูปการใช้อำนาจในการปกครองในระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์
พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มในการปฎิรูปประเทศสยามให้เปลี่ยนแปลงสอดรับกับยุคสมัย ภายหลังจากที่พระองค์ทรงเสด็จประพาสต่างประเทศหลายครั้ง เพราะพระองค์ทรงมีวิสัยทัศน์ที่เล็งเห็นชัดถึงความจำเป็นของการปฎิรูป
ดังนั้นพระองค์ทรง
1. เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองประเทศ จาก ระบบจตุสดมภ์ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยพระบรมไตรโลกนาถ หรือที่เรียกกันว่าเวียงวังคลังนา มาเป็นระบบกระทรวง
2. ดำเนินการยกเลิกระบบทาสอย่างมีจังหวะก้าวที่ทรงพระปรีชายิ่ง
3. ทรงยกเลิกการหมอบคลาน
4. พระองค์ทรงแยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินของแผ่นดิน แล้วมอบให้พระคลังข้างที่เป็นฝ่ายบริหารพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ต่อไป
5. การใช้พระราชอำนาจในการปกครองแผ่นดินนั้น ทั้งที่พระองค์ทรงสิทธิ์โดยสมบูรณ์ในการที่จะทรงใช้พระราชอำนาจโดยพระองค์เองแต่เพียงลำพัง แต่พระองค์ทรงโปรดให้มีสภาที่ปรึกษาสองชุดคือ 1. สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน 2. องคมนตรีสภา เพื่อช่วยในการบริหารแผ่นดิน (อาจจะมีคนโต้แย้งว่าการตั้งสองสภานี้นั้นเป็นการลิดรอนอำนาจของฝั่งบุนนาคนี่ก็เป็นประเด็นที่ศึกษาแลกเปลี่ยนกันได้) และอื่นๆอีกมากมาย
เป็นผลให้ประเทศสยามเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศทั่วโลกจนมีผู้นำไปเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นในระยะเดียวกันว่า ประเทศสยามก้าวล้ำหน้าประเทศญี่ปุ่นไปมากมายทั้งที่อยู่ใน การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นกัน
ดังนั้น การปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่5 จึงทำให้ สังคมสยาม ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้มแข็งเกรียงไกรขึ้นจนอารยะประเทศต้องให้ความเคารพยำเกรงและทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของไพร่ทาสราษฎรทั้งหลายดีขึ้นในระดับหนึ่ง
การเสนอเรื่อง “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ของ อานนท์ ไมค์ รุ้งนั้น ได้กระทำขึ้นด้วยเจตนารมณ์บริสุทธิ์ที่ต้องการ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับเข้ามาอยู่ในร่องในรอยที่ถูกต้องของการปกครองในระบอบนี้
ภายหลังจากที่คณะรัฐประหารได้จัดทำรัฐธรรมนูญที่ทำให้ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” คลาดเคลื่อนบิดเบือนไปจากความเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประชาชนทั้งประเทศ และทำให้สถานภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์อาจจะถูกเข้าใจผิดไปได้อย่างน่าเป็นห่วง
ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ต้องการจะ “โค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ลงแต่อย่างใด” ยังยืนยันว่าประเทศไทยต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ส่วนข้อเสนอปฏิรูปประเทศสิบประการของทั้งสามนั้น จะถูกจะผิด จะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ จะทำให้เกิดความแตกแยกแตกหักทางความคิด หรือไม่อย่างไรนั้น สมควรที่จะเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้มีการแลกเปลี่ยนโต้แย้งกันอย่างเต็มที่ หากไม่สามารถที่จะบรรลุข้อตกลงที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ก็ สามารถหาข้อยุติได้โดยการ “ทำประชามติ” อันเป็นครรลองที่ถูกต้องของระบอบประชาธิปไตย
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 64 นี้ว่า การเคลื่อนไหวและข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์สิบข้อเป็นการจงใจล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขลงไป เท่ากับเป็นการ ตราลงไปในหน้าประวัติศาสตร์ว่า “การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ” เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด และผูกพันทุกองค์กร เท่ากับเป็นการ “ตอกตะปูปิดหนทางในการนำเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไปอย่างถาวร”
หากแม้นในอนาคตการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็วดุจความเร็วแสงที่ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์สถิตย์เสถียรสถาพรอย่างยั่งยืนในสังคมไทยเป็นไปได้อย่างยากยิ่ง
แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะรับผิดชอบไหวหรือ?
การวินิจฉัยของศาลยังครอบคลุมไปถึงเครือข่าย การชุมนุม องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เป็นการวินิจฉัยแบบเหวี่ยงแห ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่านี่เป็นการอำนวยความยุติธรรมให้กลุ่มองค์กรเครือข่ายการชุมนุมต่าง ๆ หรือไม่ เพราะศาลฯ เองไม่ได้ทำการไต่สวนผู้ที่ถูกพาดพิงถึง ไม่ได้ให้โอกาสในการอธิบายความชอบธรรมหรือต่อสู้คดีอย่างยุติธรรมตามหลักนิติธรรมสากล
ผมจึงขอยืนยันว่า “การปฏิรูปไม่ใช่การล้มล้าง”
และควรเปิดพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้มีการอภิปรายสาธารณะในเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสร้างสรรค์ หากไม่อาจจะหาข้อตกลงได้ก็ควรยุติโดย “การทำประชามติ”
นพ.เหวง โตจิราการ
14 พ.ย. 64