"ไอลอว์" จัดเสวนาหน้ารัฐสภา ยื่นหนังสือถึงวิป 2 ฝ่าย ชวนจับตาพรุ่งนี้(1 ธ.ค.) จี้สภารับหลักการร่างรื้อมรดกคสช. เตือนนักการเมืองคว่ำร่างหมดอนาคตทางการเมือง
วันนี้ (30 พ.ย. 64) ที่หน้าอาคารรัฐสภา แยกเกียกกาย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) และเครือข่าย People Go ร่วมจัดกิจกรรม "รวมพลังประชาชน รื้อมรดกคสช." เรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎร ลงมติรับหลักการ "ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ" และ"คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ...." หรือ เรียกว่า "ร่างฯ ปลดอาวุธ คสช." ซึ่งภาคประชาชนเป็นผู้เสนอ
โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ รวบรวมรายชื่อจากประชาชน 13,409 รายชื่อ และถูกนำเสนอต่อรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 และในวันพรุ่งนี้ 1 ธันวาคม 2564 สภาผู้แทนราษฎร จะมีนัดพิจารณาร่างดังกล่าว
โดยไฮไลท์สำคัญของงานในวันนี้ คือกิจกรรมเสวนาบอกเล่าประสบการณ์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหาร โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงใหม่, อรนุช ผลภิญโญ กรรมการบริหารเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ในเวลา 16.15 น. นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ กล่าวว่า ภาคประชาชนรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.61 และเข้าชื่อสำเร็จเมื่อ 24 มิ.ย.62
ล่าสุดได้รับแจ้งว่าร่างกฎหมายยกเลิกคำสั่ง คสช. กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันพรุ่งนี้ (1 ธ.ค.) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สภาจากการเลือกตั้ง จะได้ทบทวนมรดกของคณะรัฐประหาร โดยตนหวังว่า ส.ส.ฐานะผู้แทนประชาชนจะไม่ปฏิเสธร่างกฎหมายดังกล่าว และหากมีนักการเมืองคนใดเสนอให้เลื่อนหรือลงมติไม่รับหลักการ ก็ขอชวนประชาไม่เลือกคนเหล่านั้นเป็นผู้แทนของประชาชน พวกเขาจะต้องหมดอนาคตทางการเมือง นายยิ่งชีพกล่าว
ต่อมาเริ่มวงเสวนาเกี่ยวกับผลกระทบจากมรดก คสช. โดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การใช้คำสั่งคสช. มีผล 2 ลักษณะคือ 1. คำสั่งที่จำกัดสิทธิ เสรีภาพ และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน 2. คำสั่งที่มีผลกระทบต่อระบบโครงสร้างการพัฒนาประเทศ คำสั่ง คสช. มีลักษณะพิเศษคือ ไม่ต้องฟังเสียงประชาชน ทุกด้านคำนึงถึงธุรกิจทุนขนาดใหญ่ โดยไม่ได้คำนึงถึงประชาชนทั่วไป
นายจาตุรนต์ ยังได้กล่าวด้วยว่า ส่วนโอกาสเกิดการพลิกขั้วจับมือตั้งรัฐบาลระหว่างฝ่ายเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตยคงเกิดขึ้นยาก ส่วนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่มีกำหนดเข้าสภาฯวันที่ 1 ธ.ค. นั้น โอกาสที่รัฐบาลจะผ่านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นไปได้ยาก แต่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนและการอภิปรายในสภาฯ ช่วยให้ประชาชนเข้าใจถึงการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกอำนาจคสช.มากขึ้น
ขณะที่ น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญ ปี 59 ต้องมีการทำประชามติ ตนอ่านแล้วพบว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนจะเสียสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงได้แสดงความเห็น โดยปฏิบัติตามคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ส่งจดหมายไปตามบ้านเรือนประชาชน โดยบอกถึงข้อเสียของรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมาย จึงส่งไปตามบ้านเรือนประชาชนในเขตเลือกตั้งของตนเอง แต่หลังจากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ มีข่าวใหญ่ว่ามีการจับจดหมายบิดเบือนรัฐธรรมนูญ และตามจับคนทำจดหมาย สรุปตนถูกแจ้งข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร และต้องขึ้นศาลทหาร
น.ส.ทัศนีย์ ได้ทิ้งท้ายด้วยว่าทุกคนได้รับผลกระทบจากคำสั่งคสช.ถ้วนหน้า จึงอยากเรียกร้องส.ส.ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ช่วยกันรื้อมรดก คสช.ก่อน ด้วยการรับหลักการเพื่อแก้คำสั่งช่วยประชาชน อยากให้ประชาชนช่วยกันจับตาดูในวันพรุ่งนี้
ขณะที่ น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในพื้นที่ป่าคุณทวงคืนให้โดยให้ประชาชนออกจากพื้นที่ แต่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ลุ่มน้ำทำเหมืองแร่ได้ รวมถึงการควบคุมบุคคลไม่ให้สื่อสารความคิดต่าง คือสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนในยุคคสช. ดังนั้น คำสั่งคสช.ได้รวบอำนาจทรัพยากรเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยมีหัวหน้าคสช.เป็นประธาน ซึ่งอำนาจเหล่านี้ไม่ควรมีอยู่ เราแค่ขอกลับไปสู่สภาวะปกติ และไม่ควรเห็นว่าการใช้อำนาจลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติ
ภายหลังจบการเสวนา นายนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่าย People Go ได้อ่านแถลงการณ์องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน
จากนั้นได้ยื่นหนังสือแถลงการณ์ขอให้สภาฯ รับร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไว้พิจารณา โดยมีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) พร้อมด้วยนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ
นายชินวรณ์ ระบุว่า ขณะนี้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้บรรจุเข้าระเบียบวาระของที่ประชุมสภาแล้ว อยู่ลำดับที่ 5.6 ส่วนจะได้พิจารณาในวันที่ 1 ธ.ค. หรือไม่ ตนตอบไม่ได้ เพราะ ขึ้นกับที่ ประชุมจะใช้เวลาในการพิจารณากฎหมายแต่ละฉบับนานเท่าใด
ขณะที่นายสุทิน ระบุว่า พรรคฝ่ายค้านพร้อมผลักดันเต็มที่ แต่คิดว่าในวันที่1 ธ.ค. ไม่น่าพิจารณาได้ทัน
และได้ยุติกิจกรรมในเวลาประมาณ 18.15 น.
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ม็อบ30พฤศจิกา64