หมอบุญโทรถาม
“ไฟเซอร์-โมเดอร์นา” ทำไมไทยได้ช้า คำตอบคือรัฐบาลยังไม่เซ็นสัญญา!
นพ.บุญ
วนาสิน ประธานกรรมการบริษัทธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ผู้บริหารโรงพยาบาลและธุรกิจดูแลสุขภาพ
กล่าวว่า ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19
โรงพยาบาลของบริษัทธนบุรี เฮลแคร์ หรือ เครือโรงพยาบาลธนบุรี
วางแผนตั้งแต่เดือนตุลาคม 63 เพื่อซื้อวัคซีน 4-5 ชนิด จำนวน 50 ล้านโดส
แต่รัฐบาลออกมาบอกว่าสั่งไม่ได้ เพราะเป็นการใช้ฉุกเฉิน ต้องซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ
และห้ามซื้อวัคซีน 5 ชนิดที่รัฐบาลจะสั่งซื้อ
ดังนั้นจะเหลือวัคซีนที่เอกชนสามารถซื้อได้ เพียง 3 ยี่ห้อ
คือ วัคซีนโมเดอร์นา,ไฟเซอร์ ของไบโอเอ็นเทค และโนวาแวคซ์
แต่ต้องซื้อผ่านองค์การเภสัชฯ
นพ.บุญ
ระบุว่า สอบถามไปยังผู้ผลิตวัคซีนทั้งโมเดอร์นาและไฟเซอร์ ระบุว่า
ไทม์ไลน์การสั่งซื้อวัคซีน ภายหลังเซ็นสัญญาซื้อขายแล้ว
ทางบริษัทผู้ผลิตจะต้องใช้เวลา อีก 4 เดือน
ถึงจะส่งวัคซีนไปยังประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนได้ หากไม่ติดเงื่อนไขจากรัฐบาล
บริษัทธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด เตรียมพร้อมทำการสั่งซื้อทั้งโมเดอร์นา และ
ไฟเซอร์ ไปจำนวน 50 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนตุลาคม 63 เพราะคาดว่าจะได้วัคซีนทางเลือก ที่ผลิตโดยเทคโนโลยีใหม่ mRNA มาฉีดให้ประชาชนในเดือนกุมภาพันธ์ 64
ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนดำเนินการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ติดเพียงภาครัฐไม่ยอมเซ็นให้
โดยให้เหตุผลว่าต้องเป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ
ทำให้เอกชนไม่สามารถสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกได้และรอวัคซีนมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ในเดือนเมษายน
มีการยืนยันจากทั่วโลก ว่า วัคซีนแบบ mRNA คือวัคซีนที่ดีที่สุด
โดยเฉพาะไฟเซอร์และโมเดอร์นา เช่น การศึกษาของสหรัฐอเมริกา ยืนยันแล้วว่าวัคซีน
ที่ผลิตเทคโนโลยีใหม่ mRNA อย่าง โมเดอร์นา และ ไฟเซอร์
มีประสิทธิผลดีที่สุด คุ้มกันไม่ให้เกิดโรคได้ ไม่ใช่เพียงแค่ป้องกันการเสียชีวิต
หรือ อาการหนักเท่านั้น โดยมีประสิทธิภาพสามารถป้องกันได้ทั้ง โควิด19 สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) สายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) และสายพันธุ์เบต้า
(แอฟริกาใต้)
ขณะที่หลายประเทศที่ฉีดซิโนแวค
การติดเชื้อโควิดยังเยอะ ล้มตายจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ใช้ mRNA ก็ยืนยันชัดเจนว่าป้องกันไวรัสได้ดี
ดังนั้นหากจัดเกรดวัคซีน ซิโนแวกจัดเป็นวัคซีนเกรด C ถ้าวัคซีนที่ดีที่สุดต้องเป็น
วัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ mRNA รองลงมาคือวัคซีนเชื้อเป็น
แต่วัคซีนเชื้อตายภูมิขึ้นน้อย และยังพบว่า เมื่อฉีดเข็ม 2
ไปแล้ว ผ่านไป 4-5 สัปดาห์ภูมิจะลดลง
ต้องกระตุ้นด้วยการฉีดเข็ม 3 แอสตราเซเนกาก็เหมือนกัน
ต้องฉีดกระตุ้นเพิ่ม แต่ถ้าใช้วัคซีนชนิด mRNA ภูมิจะขึ้นมามากถึง
20-100 เท่า
ล่าสุดบริษัทธนบุรี
เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด ได้ตรวจสอบไปยังไฟเซอร์และโมเดอร์นา พบว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเซ็นสัญญาสั่งซื้อ
ทั้งวัคซีนของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา จึงอยากได้ความกระจ่างว่าทำไมถึงช้า
เพราะขณะนี้ประเทศในเอเชียได้กันเกือบทุกประเทศ อย่าง ฟิลิปปินส์ ได้ไฟเซอร์รอบที่
3 แล้ว รวม 40 ล้านโดส อินโดนีเซียได้วัคซีน mRNA
3 รอบ สิงคโปร์ มาเลย์เซียได้แล้วเหมือนกัน เหลือแค่ประเทศไทย
ยังไม่ได้วัคซีน mRNA ซักโดสเลย
เมื่อโทรไปสอบถามผู้ผลิตไฟเซอร์และโมเดอร์นา
ซึ่งสนิทเป็นการส่วนตัวกับโรงพยาบาลเอกชนในไทยอยู่แล้ว มองไทยเป็นอะไร
ทำไมได้วัคซีนช้า ได้คำตอบว่า ไทยไม่ยอมเซ็นสัญญา
นอกจากนั้นทางโรงพยาบาลเอกชน
ยังมองว่าไทยตรวจเชิงรุกน้อยมาก เราตรวจได้เพียงร้อยละ 5
ซึ่งตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ควรตรวจอย่างน้อยร้อยละ 15 ในต่างประเทศอย่างจีน ไต้หวันหรือเกาหลีใต้ ตรวจเชิกรุกกันมากกว่าร้อยละ 30-40
สำหรับการฉีดวัคซีน
หมอบุญ มองว่าไม่เพียงคนชรา หรือ กลุ่มเสี่ยงที่ต้องฉีดก่อนเท่านั้น
กลุ่มคนหนุ่มสาว วัยทำงาน ควรได้รับวัคซีนก่อน เพราะกลุ่มนี้ต้องออกไปทำงานทุกวัน
ต้องเจอคน
นพ.บุญกล่าวว่า
ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติมาตั้งแต่เดือนก่อน เพราะ ICU ทั่วประเทศที่มีกว่า
500 เตียง ผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง ล้นมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว
อย่างไรก็ตามทางบริษัทธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ THG จะเข้าไปช่วยเหลือภาครัฐด้วยการเพิ่มห้องความดันลบ
ที่สามารถรองรับผู้ป่วยหนักได้อีก 110 เตียงภายใน 1 สัปดาห์ นอกจากนั้นจะเพิ่มเตียงผู้ป่วยสีเหลืองอีก 500 เตียง และเตียงสีเขียวเพิ่มอีกประมาณ 3,000 เตียง
สุดท้ายที่อยากฟังความชัดเจนจากรัฐบาล คือ คำตอบว่าทำไมการสั่งวัคซีน mRNA ถึงได้ช้า ทำไมจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้วัคซีน ทั้งที่วัคซีนแบบ mRNA ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา ได้ผลดีที่สุด ผลข้างเคียงน้อยสุด ในมุมมองโรงพยาบาลเอกชน มองว่าการระบาดที่ผ่านมารัฐบาลประมาทเกินไป ทั้งที่นักวิชาการก็บอกว่าไวรัสโควิด19 กลายพันธุ์เร็วมาก รัฐบาลรอวัคซีนเพียงชนิดเดียวคือแอสตร้าเซนเนก้า แต่เมื่อแอสตร้าเซนเนก้า ผลิตไม่ทันสถานการณ์ที่มีการระบาดเกิดขึ้น ก็เลือกซื้อวัคซีนซิโนแวคมาแทน ซึ่งต้องยอมรับคุณภาพไม่สามารถเทียบวัคซีน ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ mRNA ได้