อ.ธิดา
ถาวรเศรษฐ :
เมื่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกใช้เพื่อเป้าหมายทางการเมืองอย่างเข้มขัน
วานนี้
(4 มิ.ย. 64) ที่เพจเฟซบุ๊ค อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ
ได้สนทนาผ่านการทำเฟซบุ๊กไลฟ์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ กล่าวว่า
ท่ามกลางกระแสข่าวที่มีเรื่องต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในรัฐสภาซึ่งได้จบไปแล้ว
มีการอภิปรายอย่างราชสีห์แล้วก็โหวตอย่างหนู ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจ
ในเรื่องที่สองก็คือเรื่องโควิด-19
ความผิดพลาด รวมทั้งการตัดสินใจและการบริหารจัดการที่ไม่ถูก การเลือกซื้อวัคซีน
การใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือในการที่จะฟื้นประเทศ ทุกอย่างตัดสินใจผิดมาเป็นลำดับ และความพยายามที่จะปกปิดข้อมูลก็ทำให้สถานการณ์ยิ่งร้ายแรง
เราได้พูดกันมาบ้างแล้ว และเราก็จะพูดกันต่อไป
แต่ดิฉันอยากจะพูดอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมันถูกซ่อนเอาไว้
ในฐานะของเราที่เป็นนักต่อสู้เพื่อให้การเมืองในประเทศนี้ก้าวไปข้างหน้า อยู่ในสภาพที่ดีกว่านี้
ให้อำนาจเป็นของประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม
เพื่อที่ให้ได้รัฐธรรมนูญใหม่และได้การเมืองการปกครองที่มีระบอบประชาธิปไตย ที่อำนาจเป็นของประชาชนมากขึ้นให้ได้สัก
60-70% ก็ยังดี (ถึงไม่ได้ 100%) เพราะฉะนั้นเรายังยืนยันตรงจุดนี้
วันนี้ดิฉันจะพูดเรื่องปัญหาที่กลุ่มเยาวชนและแกนนำคนรุ่นใหม่ต่าง
ๆ กำลังถูกกระทำอยู่ ฉะนั้นจึงให้ชื่อประเด็นว่า
“เมื่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกใช้เพื่อเป้าหมายทางการเมืองอย่างเข้มข้น”
เพราะกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมได้ถูกใช้เป็นเรื่องมือทางการเมืองมานานแล้ว
แต่ในปัจจุบันนี้ก็ถูกใช้อย่างเข้มข้นและกระทำต่อเยาวชนคนรุ่นหนุ่มสาว
แม้กระทั่งเยาวชนคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ตอนนี้ถูกดำเนินคดี 40 กว่าคน เพราะฉะนั้นการใช้กฎหมายและเรื่องราวของการฟ้องร้อง
จับกุมคุมขัง ไม่ให้ประกันตัว ดำเนินคดียาวนาน บางคดีผ่านมา 3 ปีแล้ว
(เรื่องของคนอยากเลือกตั้ง) ก็เพิ่งมาฟ้อง นี่ยกตัวอย่างดังนี้เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ดิฉันมองว่ามันถูกใช้อย่างเข้มข้นเพราะ
“ความกลัว”
การที่มีคนรุ่นใหม่แสดงความคิดแล้วออกมามีการชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก
แสดงความคิดเห็นในสื่อออนไลน์และบนท้องถนนจำนวนมาก
ในทิศทางที่ไม่ตอบรับการเมืองการปกครองในปัจจุบันที่นำโดยคณะรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการทำรัฐประหาร
พูดง่าย ๆ ก็คือ 7 ปี ของการทำรัฐประหาร และ 7 ปี ของการเป็นนายกฯ
สิ่งที่มีการโต้มาจากรัฐบาลก็คือ
7 ปี แล้วไง?
7
ปี เป็นนายกฯ แล้วไง?
7
ปี ที่กระทำต่อพวกคุณ ยังไม่เข็ดหรือ? แล้วไง?
แหม...ดิฉันมองว่าตั้งแต่มีการตอบโต้จากรัฐบาลในประเด็นว่า
7 ปี แล้วไง? มันสุดยอด คือกวนที่สุดเลย แล้วมันมีลักษณะที่บางคนก็วิจารณ์ว่า เอ๊ะ
มันเหมือนเป็นอันธพาล เดินมาแบะอกแล้วบอกว่า 7 ปี แล้วไง? ยังไม่เข็ดอีกหรือ
ความหมายก็คือหมายถึงผู้ถูกทำรัฐประหาร ประชาชนที่ถูกอำนาจของการทำรัฐประหารกดทับ
จนกระทั่งมาเป็นนายกฯ 7 ปี ขณะนี้ดิฉันถือว่าการตอบโต้ของทีมงานนายกฯ 7 ปี แล้วไง?
นี่มันสุดยอด กล้ามาก กล้ามากที่พูดว่าแล้วไง?
ก็คือมีสิ่งที่ประชาชนสามารถตอบได้อีกมากมาย
: -
7 ปี ทำรัฐประหาร แล้วไง?
เป็นนายกฯ
7 ปี แล้วไง?
อาจจะไม่ได้อยู่
7 ปีหรอก อาจจะอยู่ 12 ปี แล้วไง?
มีวุฒิสมาชิกที่เลือกนายกฯ
แล้วไง?
มีรัฐธรรมนูญ
60 ที่ทำให้เขียนชื่อนายกฯ ว่าชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วไง?
มีรัฐธรรมนูญที่เขียนแล้วแก้ไม่ได้
แล้วไง?
มันมี
แล้วไง? อีกมากมาย เยอะแยะ แต่ว่าเอาเถอะ เราก็จะไม่ใช่อันธพาลที่จะไปกวนตอบ
ดิฉันจะพูดถึงในประเด็นนี้ว่า นอกจากการปราบปรามด้วยอาวุธ
การใช้กฎหมายและกระบวนการที่เรียกว่ายุติธรรม
ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมของการเมืองที่ไม่ใช่การเมืองในระบอบประชาธิปไตย
เพราะถ้าเป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คนต้องเท่ากัน ความยุติธรรมนั่นก็หมายความว่าต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
เพราะคนเท่ากัน แต่ถ้าการเมืองที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย (คือคนไม่เท่ากัน)
ความยุติธรรมก็ขึ้นอยู่ว่าเป็นความยุติธรรมของผู้มีอำนาจในระบอบอะไรเท่านั้น
เมื่อมีการยึดอำนาจ
เมื่อศาลรับรองอำนาจ จากนั้นกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม บางอย่างก็เขียนขึ้นมาใหม่
รัฐธรรมนูญก็เขียนขึ้นมาใหม่ กฎหมาย ประกาศ คำสั่ง เขียนขึ้นมาใหม่
และดำเนินกระบวนการในการจับกุมคุมขัง ลงโทษ ทำได้ทุกอย่าง
ดังนั้น
เราจะเห็นชัดเจนว่า แม้กระทั่งบอกว่ามีการเลือกตั้ง แม้กระทั่งบอกว่ามีรัฐธรรมนูญ
สิ่งเหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้น และในเฉพาะหน้านี้ดิฉันถือว่าเข้มข้นมาก
คือจากช่วงคสช.ขึ้นมามีอำนาจ แล้วเริ่มต้นเลยคือจัดการคนที่ไม่มารายงานตัว แล้วคดีก็เดินหน้ายาวมาก
จากนั้นก็มีอื่น ๆ มากมาเป็นลำดับ จนกระทั่งมีการเลือกตั้ง มีการใช้รัฐธรรมนูญ
ดิฉันใช้ข้อมูลส่วนหนึ่งก็คือจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวบรวมมา
เพราะฉะนั้น ก่อนที่ดิฉันจะลงไปตรงนี้ ดิฉันก็ถือว่ามีองค์กร 2 องค์กร
ที่ดิฉันอยากจะขอแสดงความชื่นชมมา ณ ที่นี้ ก็คือ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน”
ซึ่งในช่วงของคนเสื้อแดงและนปช. ยังไม่มีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกมาช่วยทำงานเหล่านี้
เราก็ใช้ทนายความซึ่งเป็นเพื่อนฝูงกัน
รู้จักกันธรรมดามาตลอดในส่วนของคนเสื้อแดงและนปช. ถ้าถามว่าเขาก็พยายามทำกันอย่างดีที่สุด
แต่เนื่องจากผู้ถูกดำเนินคดีมีจำนวนมากรวมทั้งในต่างจังหวัด และไม่มีทนายความที่ทำเป็นระบบอย่างนี้
เพราะฉะนั้นการดูแลคดีความต่าง ๆ ก็ยังทำได้ไม่ดี ดิฉันก็ขอยอมรับตรงนี้และขอชื่นชม
และอีกองค์กรหนึ่งก็คือ
“กองทุนราษฎรประสงค์” ที่ อ.ชลิตา บัณฑุวงศ์ และคุณไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา
ได้มาร่วมดำเนินการ ซึ่งดิฉันก็ขอชื่นชม ขอคารวะในน้ำใจและความเสียสละของท่านทั้งอสอง
เราไม่ได้สนิทกันเป็นส่วนตัว ก็รู้จักผ่านงานและได้พูดคุยกันบ้างกับคุณไอดา ดิฉันยังไม่ได้คุยกับ
อ.ชลิตา แต่ว่าติดตามผลงานมาโดยตลอด เมื่อเราจะพูดเรื่องคดีความของผู้ถูกกระทำ
เราก็ขอคารวะผู้ที่ช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ ซึ่งทำงานได้ดี ยอดเยี่ยม
ถึงแม้จะอยู่ในสถานการณ์โควิด-19
เราใช้คำว่าเข้มข้น เพราะว่าคดีความต่าง ๆ ซึ่งมีการเอามาใช้ แน่นอน! มาตรา
112, มาตรา 116, คดีความฝ่าฝืนห้ามชุมนุมทางการเมือง, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ,
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกับ พ.ร.ก.ที่ร้ายแรง, มาตรา 215 คือ มั่วสุมกัน ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวาย
(อันนี้พวกคุณณัฐวุฒิ คุณหมอเหวง ที่เจอคดีอยู่หน้าบ้านพล.อ.เปรม
ติณสูลานนท์ก็เจอมาตรานี้), พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แล้วตอนหลังก็มีคดีละเมิดอำนาจศาล คือกฎหมายเหล่านี้ถูกนำมาใช้
ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเพิ่มไปกว่า
635 คน แนวโน้มอัยการก็เร่งฟ้องหลายคดีตลอดเดือน แม้กระทั่งในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19
แต่ว่าปรากฏการณ์ของการติดตามจับกุมคุมขัง ไม่ให้ประกันตัว
ขณะเดียวกันประชาชนก็มีการแสดงออกในการเรียกร้องให้ได้รับการประกันตัวต่าง ๆ
เหล่านี้ก็มีมาตลอด เช่น ยืนหยุดขัง เป็นต้น
ภาพรวมของศูนย์ทนายฯ
ที่บอกว่าจาก 18 ก.ค. 63 มาจนถึง 30 เม.ย. 64 รวม 9 เดือนเศษ
มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง
การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 635 คน ในจำนวน 301 คดี
ถ้าคิดเอาเฉพาะเดือนเม.ย. ถึง ต้นเดือนพ.ค. มีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า
54 คน คดีเพิ่มขึ้น 33 คดี
สถิติต่าง
ๆ ก็มีเยอะมาก อย่าง
มาตรา
112 รวม ๆ แล้วก็ 108 คน ในจำนวน 80 คดี แต่ถ้าในช่วงนี้ก็ 88 คน ในจำนวน 81 คดี และในมาตรา
112 นี้ ถูกคุมขังอย่างน้อย 169 คน กรรมละ 5 ปี บางรายรวมโทษสูง
ซึ่งอันนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเยาวชนทั้งหมด เพราะคดีของเยาวชนยังไม่ได้ตัดสิน
แต่ความที่ว่าคดีในช่วงนี้ที่มีการตัดสินไปด้วยนั้นมันสูงมากคือกรรมละ 5 ปี ดังนั้นบางคนถูกจำคุก
87 ปี อันนี้เป็นตัวอย่าง
มาตรา
116 ในช่วงนี้ก็ 27 คดี 103 คน
มาตรา
215 ก็ 184 คน ในจำนวน 36 คดี
แม้จะได้รับการประกันตัวในช่วงนี้
ซึ่งในการประกันตัวนั้นก็จะต้องมีข้อแม้ว่าจะไม่ดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้
แต่สิ่งที่เราเห็นก็ยังมีความพยายามจะฟ้องว่าคนที่ได้รับการประกันตัวไปแล้ว เช่น
มีการให้สัมภาษณ์หรือไปยืนอยู่หน้าศาลอาญา กรณีของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข
หรือกรณีของคุณเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ก็มีคนพยายามที่ไปให้ถอนประกัน
เพราะว่ามันมีนักร้อง นักฟ้อง แล้วตำรวจก็รับและเร่งทำเลย
ทั้งหมดเหล่านี้เป็นการแสดงออกว่ามันเข้มข้นขึ้น
คือเรารู้อยู่แล้วว่ากระบวนการยุติธรรมถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับฝ่ายที่เห็นต่าง
ในการกำจัด ในการกำราบ ในการกดดัน ให้ล้มเลิกที่จะมาต่อสู้แบบนี้อีก
แม้กระทั่งให้ลองมาถูกลงโทษให้ใช้ชีวิตในเรือนจำ จะเข็ดหลาบมั้ย เพื่อให้บางคนเลิกไปเลยก็มี
หนีไปต่างประเทศก็มี (ไม่อยากติดคุก) ที่เหลืออยู่ก็ให้ยุติ แต่ไม่ใช่คดีหมดนะ
คดีก็ยังต้องดำเนินต่อไป
สิ่งเหล่านี้กำลังถูกทำอย่างเข้มข้น
มันสะท้อนถึง “ความกลัว” กลัวเยาวชน กลัวคนรุ่นใหม่
สมัยแรก
กลัว “คณะราษฎร”
สมัยที่สองต่อมา
กลัว “คอมมิวนิสต์” (พคท.)
สมัยที่สาม
กลัว “นายทุน” (คุณทักษิณ ชินวัตร)
ตามด้วยนายทุนรุ่นใหม่
(คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ)
และในยุคเดียวกันที่กลัวคุณทักษิณ
ก็กลัวการลุกขึ้นของประชาชน ไพร่ ทั้งในชนบทและในเมือง
นั่นก็คือแกนนำนปช.ถูกจัดการเรียบ มันสามารถเปรียบเทียบคดีได้ว่าในพฤติกรรมแห่งคดีแบบเดียวกัน
ถ้ากระบวนการยุติธรรมมองว่าเป็นเรื่องของคนดีจะจัดการกับคนชั่ว โทษก็ระดับหนึ่ง
แต่ถ้าเป็นเรื่องของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์) กับฝ่ายจารีต
พูดกันตรง ๆ ว่ายุคก่อน ระหว่างคดีพรรคไทยรักไทยกับพรรคประชาธิปัตย์มันก็จะมีการดำเนินคดี
ซึ่งไปศึกษาดูได้ แต่ดิฉันมองในแง่ของความคิดมากกว่าว่าถ้าตรรกะว่า “คนดี” ทำผิด
ก็อาจจะดูว่าน่าจะผิดน้อยหน่อย ถ้า “คนชั่ว” ทำผิดก็เรียบร้อยไปเลย ซึ่ง “คนชั่ว”
ความหมายก็คือคนที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างกัน คนที่ไม่ได้อยู่ในฝ่ายจารีต
ถ้าใครที่มองว่าอาจจะเป็นพวกกับนายทุน เช่น คุณทักษิณ ชินวัตร หรืออะไรต่าง ๆ รวมทั้งคนเสื้อแดง
แกนนำนปช. ก็มีคดีความมากมายและโทษหนักทั้งสิ้น
นี่มายุคสุดท้าย
(ไม่รู้จะเป็นยุคสุดท้ายหรือเปล่า?) ก็เกิดกับเยาวชนคนรุ่นใหม่
ซึ่งเขายังเรียนหนังสืออยู่ อายุก็ 20 กว่าปี มีบางคนเช่น คุณอานนท์ นำภา ก็ดูเหมือนจะอายุมากกว่าคนอื่นสักหน่อย
แต่ทั้งหมดนี้
ในทัศนะของดิฉัน เขาเป็นเยาวชนที่เขามองไปข้างหน้า เขาหวังดีกับประเทศ
เขาอยากจะอยู่ในประเทศที่มีความก้าวหน้า
และเขาภาคภูมิใจที่เป็นพลเมืองในประเทศที่มีอนาคต
และเขาก็เป็นพลเมืองที่เขาภาคภูมิใจในตัวเองว่าเขาได้ต่อสู้กับสิ่งที่ถูกต้อง
ไม่ใช่สยบยอมกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความกลัวของฝ่ายจารีตนิยม/อำนาจนิยม
ถ้านับคณะราษฎรเป็นรุ่นที่
1
ถ้านับคอมมิวนิสต์
(พคท.) เป็นรุ่นที่ 2
รุ่นที่
3 ก็เป็น นายกฯ ทักษิณ และคนเสื้อแดง
มารุ่นนี้
เยาวชนคนรุ่นใหม่ก็นับเป็นรุ่นที่ 4 (หรือถ้านับคุณธนาธรด้วยก็เยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นนี้เป็นรุ่นที่
5) และเป็นคน Generation ใหม่ ๆ
ดิฉันเศร้าใจที่เครือข่ายจารีตนิยม/อำนาจนิยมในประเทศไทย
รวมทั้งหน่วยงานความมั่นคง
ถือความมั่นคงของอำนาจของฝ่ายจารีตนิยมและอำนาจนิยมเป็นสำคัญยิ่งกว่าความผาสุขของประชาชน
ท่านอาจจะบอกว่าท่านก็ทำได้
ให้ประชาชนผาสุกได้ ท่านทำเต็มที่แล้ว แต่มันมีขีดจำกัด
และเมื่อขีดจำกัดของวิสัยทัศน์ ขีดจำกัดของจุดยืน ขีดจำกัดของข้อมูลและความรู้
ทำให้ท่านไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาประเทศได้หรอก ยกตัวอย่างเรื่องโควิด-19
ปกปิดกัน
ทำไมไม่บอกมาเลย “แอสตร้า เซนเนก้า” ผลิตได้เท่าไหร่? ได้รับเท่าไหร่?
มีปัญหาอะไร? ทำไมคุณต้องปกปิด นี่ยกตัวอย่างแค่อย่างเดียวว่าคุณแก้ปัญหาโรคติดเชื้อโควิดและการฟื้นฟูประเทศ
คุณไม่สามารถทำได้ดีได้ เพราะมันจำกัดด้วยความคิดจารีตที่ต้องเป็นฝ่ายถูกต้อง
คนอื่นจะมาคิดต่างก็ไม่ได้ เมื่อคุณมีขีดจำกัด
แต่เยาวชนเขาต้องการจะก้าวไปข้างหน้า คุณพยายามเล่นงานเยาวชน
ดิฉันก้าวข้ามเรื่องของคุณทักษิณและเรื่องของคนเสื้อแดง
ซึ่งแน่นอนเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างหนักหน่วง และยังไม่จบ
แต่ดิฉันมองมาถึงเยาวชนและดิฉันสลดใจ ดิฉันคิดไม่ถึงว่า คนดีประเทศไทยที่อ้างตัวว่าเป็น
“คนดี” ฝ่ายจารีต ฝ่ายอนุรักษ์นิยม/อำนาจนิยมในประเทศไทยทำได้ถึงปานนี้
ในการตั้งข้อหา ในการพยายามจับกุม และที่แล้วมาในการปราบปรามและจัดการฆ่า/อุ้มหาย
เพราะคิดว่ามนุษย์เราจะต้องมีข้อมูลความเข้าใจว่าเราจะเดินร่วมกันได้อย่างไร
ดิฉันคิดไม่ถึง
แต่ดิฉันอยากจะเรียนว่า
ตัวเลขของผู้ถูกดำเนินคดีที่รวบรวมมาเป็นจำนวนมาก
และกำลังทำอยู่เป็นจำนวนมากในขณะนี้ มันชี้ชัดว่ารัฐไทยจารีตนิยม/อำนาจนิยม
กำลังจัดการกับคนรุ่นใหม่และเยาวชนอย่างเข้มข้น ไม่สนใจว่าเขาอายุไม่ถึง 18 ปี 16
ปี ไม่สนใจว่าคนเหล่านี้กำลังเรียนหนังสืออยู่ แล้วทำไมไม่ให้เขาคิดต่าง
เขาคิดต่างแล้วมันเป็นไง? ดิฉันก็อยากจะถามว่า คิดต่างแล้วไง?
(ไม่ใช่อันธพาลแบบลูกน้องนายกฯ ที่บอกว่าเป็นนายกฯ 7 ปี แล้วไง?) ก็อยากจะถามว่า
เยาวชนคิดต่าง แล้วไง?
เยาวชนคิดต่าง
ประชาชนคิดต่างนั้นชาติเจริญขึ้น ประเทศเจริญขึ้น แต่คุณประยุทธ์อยู่ 7 ปี แล้วไง?
ไม่อยากใช้คำพูดที่หยาบ ก็มันเสื่อม เอาตรง ๆ ก็ได้ว่า
มันก็ฉิบหายมากขึ้นเท่านั้นเอง
ดิฉันก็อยากจะให้กำลังใจเยาวชน
กลุ่มทนาย และประชาชนที่ช่วยเหลือทั้งหลายว่า หนทางที่เยาวชนจะเดินไปนั้นมีอุปสรรคที่ไม่น่าเชื่อว่าผู้ใหญ่ที่มีอำนาจจะทำได้ถึงขนาดนี้ด้วยความกลัว
ดังนั้นประชาชนทั้งหลายก็ต้องช่วยกันดูแล ช่วยเหลือ และสนับสนุน
พร้อมกันนั้นก็เตือนสติ (แบบที่ดิฉันทำอยู่นี้) เตือนสติคนเก่า ๆ แก่ ๆ พวกจารีต
พวกความคิดสุดโต่ง ความคิดหยุดนิ่งทั้งหลายว่า เลิกกลัวเยาวชนได้แล้ว
ลูกหลานของคุณต่อไปก็อาจจะเสียใจที่ในอดีตในครอบครัวและคนที่เกี่ยวข้องคิดและทำแบบที่ทุกวันนี้
อย่าคิดว่าเขาจะภาคภูมิใจนะ ท่านอาจจะภาคภูมิใจ แต่ลูกหลานของท่านในข้างหน้าอาจจะไม่ได้คิดแบบนี้
เพราะฉะนั้นเราก็อยากจะเตือนสติว่า
"อย่ากลัวความคิดต่าง อย่ากลัวเยาวชนคนรุ่นใหม่ กล้าเข้าไว้ ถ้าหากว่าคนรุ่นเก่าดีจริง ท้องแท้ต้องไม่กลัวไฟค่ะ ถ้าคิดว่าเยาวชนเป็นไฟแล้วคุณเป็นทองแท้ แต่ถ้าคุณเป็นตะกั่ว มันก็อีกเรื่องหนึ่ง" อ.ธิดากล่าวในที่สุด.