วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2564

กระบวนการยุติธรรมไทยมาถึงจุดที่น่าเป็นห่วงว่าจะสามารถธำรงลักษณะประมาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ได้หรือเปล่า เพราะคนรุ่นใหม่เขากล้าทำในสิ่งซึ่งคนรุ่นเดิมจำนวนมากไม่กล้าทำ!

 


🧿 กระบวนการยุติธรรมไทยมาถึงจุดที่น่าเป็นห่วงว่าจะสามารถธำรงลักษณะประมาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ได้หรือเปล่า เพราะคนรุ่นใหม่เขากล้าทำในสิ่งซึ่งคนรุ่นเดิมจำนวนมากไม่กล้าทำ!


เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 64 ที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้กลับมาพบกับทุกท่านอีกครั้งหลังวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์ โดยอ.ธิดากล่าวว่าในสถานการณ์โควิดที่กำลังร้อนแรง ในขณะเดียวกันสถานการณ์การเมืองและกระบวนการยุติธรรมก็กำลังร้อนแรงด้วย ถึงแม้ว่าวันนี้ดิฉันอยากจะพูดเรื่องโควิด แต่ทีมงานก็ขอให้พูดเรื่องการเมืองและสังคมก่อน เพราะฉะนั้นตอนต่อไปก็คงจะพูดเรื่องโควิด วันนี้ที่ดิฉันจะพูดก็คือ 


กระบวนการยุติธรรมไทยกำลังถูกท้าทายโดยเยาวชน!


ดิฉันก็อายุมากพอสมควรนะคะ คิดว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน จากความขัดแย้ง จากการทำรัฐประหาร ปัญหาต่าง ๆ ในประเทศไทยที่ยาวนานมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ กระบวนการยุติธรรมไทยซึ่งปกติจะเป็นกระบวนการที่เรียกว่าจัดว่าเป็น “ที่พึ่ง” ของประชาชนในทุกส่วนทุกฝ่ายไม่ว่าจะมีความขัดแย้งแบบไหน และค่อนข้างจะได้รับการยอมรับ และไม่ว่าจะพิจารณาตัดสินมีคำพิพากษาอย่างไร ทุกคนก็พร้อมที่จะน้อมรับ


ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมไทยจึงอยู่ในฐานะที่เรียกว่าได้รับการเชิดชู ยกย่อง เคารพ ถ้าพูดในความคิดเชิงระบบ นอกจากองค์ประมุขของประเทศแล้ว กระบวนการยุติธรรมไทยซึ่งถือว่าทำในนามพระปรมาภิไธยก็ได้รับการยกย่องเทิดทูนอยู่ในระดับที่สูงมาก แม้กระทั่งในอดีตผู้พิพากษาก็จะไม่ไปสังสรรค์กับใครทั้งสิ้น อยู่เป็นเอกเทศ ทำให้คนมองว่ากระบวนการยุติธรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สถาบันตุลาการ” ก็ดูประหนึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเมื่อมีคำพิพากษาหรือมีกระบวนการมาสู่ศาลแล้ว ทุกฝ่ายก็ยอมรับโดยดุษณี อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมายาวนาน


แต่ถามว่า...ความจริงแล้ว คนมีความสงสัย มีความไม่แน่ใจ มีความไม่เชื่อมั่นอยู่บ้างหรือเปล่า? ดิฉันคิดว่ามี!


สิ่งหนึ่งซึ่งมองเห็นชัดที่คนไม่เห็นด้วยเลยก็คือหลักไมล์สำคัญในยุคหลังการทำรัฐประหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อันนี้ไม่ใช่การปฏิวัติ แต่เป็นการทำรัฐประหาร แล้วหลังจากมีการฟ้องร้องกัน ศาลได้มีคำพิพากษาออกมาว่าเมื่อมีการยึดอำนาจและทำได้สำเร็จ ไม่มีผู้มาต่อต้าน ก็ถือว่ามีอำนาจ ได้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เพราะฉะนั้นนั่นเป็นหลักไมล์สำคัญที่ทำให้สถาบันตุลาการ (จะเรียกว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ได้) จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวและรับรองการทำรัฐประหารที่สำเร็จ


หลักไมล์ต่อมาก็คือ ข้อเสนอตุลาการภิวัฒน์ในช่วงระยะที่มีการขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างทุนสามานย์กับคณะจารีตนิยมและอนุรักษ์นิยม “ตุลาการภิวัฒน์” หลายคนที่ไม่ทราบก็อาจจะมองไปว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ก็คือการพัฒนาการหรือวิวัฒนาการของระบบตุลาการ แต่ในทัศนะของดิฉัน ผู้ที่นำมาใช้และเอามาบอกว่าต่อไปนี้ต้องเป็น “ตุลาการภิวัฒน์” นั้น ผู้นำมาใช้ที่ดิฉันได้ยินเป็นคนแรก (ถ้าเข้าใจผิดก็ต้องขออภัยด้วย) คือคุณธีรยุทธ บุญมี และหลังจากนั้นคำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ก็ถูกนำเอามาใช้ในลักษณะที่ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพของระบบตุลาการ


แต่ในความหมายที่แท้จริงก็คือว่า การที่ระบบตุลาการนั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศ “ประชาภิวัฒน์” ก็หมายถึง ประชาชนอภิวัฒน์หรือปฏิวัติ ฉะนั้น “ตุลาการภิวัฒน์” ความหมายคือ ตุลาการก็ทำการอภิวัฒน์หรือปฏิวัติ นั่นเอง นี่ถ้าพูดถึงว่าผู้ที่นำมาใช้ออกมาพูดกันให้แพร่หลายมีทัศนะแบบนั้นก็คือ ระบบตุลาการก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาการเมืองการปกครอง โดยมองไปในแง่ที่ว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงการเมืองการปกครอง 


ดังนั้น ระบบยุติธรรมและตุลาการในสังคมไทยและในโลก มันก็ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว มันไม่ได้หมายความว่าอยู่ ๆ เป็นระบบที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมใด ๆ เพราะคิดแบบนี้ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ สถาบันใด ๆ ก็ตามที่เป็นคนหรือแม้กระทั่งวัตถุล้วนมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มคน ประชาชน การเมืองการปกครองทั้งสิ้น และสิ่งที่เราต้องยอมรับว่ากฎหมายในระบอบศักดินา เช่น กฎหมายตราสามดวงก็เขียนไว้อีกแบบซึ่งมีลักษณะชนชั้นเต็มที่ กฎหมายที่พัฒนามาสู่ระบอบประชาธิปไตย (ที่ไม่ใช่ระบอบศักดินา) นั่นหมายถึงว่าไม่มีชนชั้นอีกแล้ว คนทุกคนต้องเท่ากัน


ปัญหาอยู่ที่ว่า “ระบอบกฎหมายไทย” และ “ผู้ใช้กฎหมาย” มันเป็น “กฎหมายและผู้ใช้กฎหมาย” ในระบอบประชาธิปไตยที่มองเห็นคนเท่ากันจริงหรือไม่? นั่นก็คือคำถามสำคัญมาก ที่ต้องตั้งคำถามว่าตกลงแล้วสถาบันตุลาการและกระบวนการยุติธรรมไทย เกิดขึ้นลอย ๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจใด ๆ หรือเปล่า? อย่างน้อยที่สุด เหตุการณ์ที่มีการรับรองการทำรัฐประหารก็แสดงให้เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่สืบเนื่องกัน นั่นก็คืออำนาจรัฐประหารเป็นสิ่งที่ตุลาการไทยยอมรับ แต่ต้องทำสำเร็จนะ! 


ซึ่งดูประหนึ่งเหมือนกับในอดีต ในระบอบศักดินา หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถ้ามีพระมหากษัตริย์ แล้วมีคนมาทำรัฐประหารกษัตริย์องค์เดิม แล้วถ้ากษัตริย์องค์ใหม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ (ชนะ) นั่นก็แปลว่าได้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์ ถ้าวิธีคิดแบบนี้นะ (ไม่ใช่วิธีคิดในระบอบประชาธิปไตยซึ่งถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน) ผู้มาทำรัฐประหาร พอทำสำเร็จก็กลายเป็นว่าชอบธรรม มีอำนาจเหนือกว่าอำนาจอื่นใด ๆ ทั้งหมด และก็เหนือว่าอำนาจประชาชน สามารถฉีกรัฐธรรมนูญได้


พูดง่าย ๆ ว่า “สถาบันตุลาการ” กับ “สถาบันกองทัพ” ที่ทำการรัฐประหารสำเร็จก็จะกลายเป็นประหนึ่งสถาบันเดียวกัน! (อันนี้ดิฉันพูดไปตามเนื้อผ้าจริง ๆ)


ทีนี้หันมาดูในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของ “เพนกวิน” การที่ “เพนกวิน” มีการประท้วงอดอาหาร ซึ่งความจริงจะบอกว่าอดอาหารทั้งหมดก็ไม่ใช่ ก็คือรับสารอาหารที่เป็นน้ำและอาหารเหลว ซึ่งอันนี้ก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของราชทัณฑ์ในการที่จะต้องดูแลว่าเขาได้สารอาหารครบและไม่มีอะไรเกิดขึ้นนะ (อันนี้เป็นวงเล็บของดิฉันเอง) 


แต่สิ่งที่ “เพนกวิน” ทำในการประท้วงอดอาหาร นี่ก็เป็นหนึ่งเรื่องแล้วนะที่คนที่ไปอยู่ในเรือนจำแล้วประท้วงแบบนี้ ดิฉันจำได้ว่าดิฉันไม่เคยเห็นเลย ประท้วงอดอาหารในเรือนจำ มีแต่อดอาหารข้างนอก ไม่ว่าจะเป็น คานธี, ฉลาด วรฉัตร หรือคุณจำลอง ศรีเมือง ไม่ได้เป็นการประท้วงตอนอยู่ในคุก เพราะฉะนั้น ในทัศนะดิฉันก็ถือว่า “เพนกวิน” เป็นผู้นำการอดอาหารในเรือนจำ นี่เป็นสิ่งใหม่ของเยาวชนที่ประท้วงการที่ไม่ได้รับการประกันตัว


โดยความคิดของเขาก็ถือว่าเขาควรจะมีสิทธิ์ เพราะยังไม่มีคำพิพากษา แต่เมี่อไม่ให้ประกันตัวตามที่เขาเขียนออกมา เขาก็ถือว่าประหนึ่งว่าพิพากษาไปแล้วว่าเขาผิด (ประมาณนั้น) อันนี้ถ้ามองเผิน ๆ ก็เป็นการประท้วงในการที่ไม่ได้ประกันตัว แต่ถ้าเราสังเกตให้ดีเขาไม่ได้ประท้วงเฉพาะการอดอาหารในเรือนจำ ไม่ได้ประท้วงแต่เฉพาะว่าปล่อยเขานะ ให้ได้ประกันตัว ซึ่งคนข้างนอกก็ช่วยกันพูดตรงนี้เพราะว่าด้วยความเป็นห่วงและสงสารทั้งตัว “เพนกวิน” และครอบครัว และคิดว่าตามหลักการควรจะมีคำพิพากษาเสียก่อน ดังนั้นก็ควรจะให้เขาออกมาเรียน ควรจะให้เขาออกมาต่อสู้คดี


แต่ดิฉันอยากจะบอกว่าสิ่งที่ “เพนกวิน” ทำมันมากกว่านั้น ที่สำคัญมากเลยก็คือการไม่ยอมรับระบบและกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับพวกเขา เช่นการถอนทนาย การไม่ขอเซ็นชื่อและไม่ต้องการใช้สิทธิ์ใด ๆ ถ้าให้ดิฉันคาดเดา (ดิฉันเดานะ ดิฉันไม่ได้คุยกับเพนกวินเลย ไม่มีโอกาสไปเยี่ยมด้วย) ดิฉันคาดเดาว่า “เพนกวิน” เขามองว่า เมื่อเขาถูกตัดสินไปแล้ว สิ่งที่จะปรากฏต่อไปมันก็จะเป็นพิธีกรรมในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเขาคิดว่าก็ถ้าติดสินไปแล้ว พิธีกรรมอย่างอื่นเขาก็... พูดง่าย ๆ ว่าเขาไม่ต้องการให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรมที่ได้พิพากษาไปแล้ว และเป็นกระบวนการยุติธรรมที่เขาไม่ยอมรับ อันนี้เป็นสิ่งที่ดิฉันกำลังคาดว่า “เพนกวิน” คิดอย่างนี้


แล้วสิ่งที่เขาทำมันจึงไม่ใช่แค่ว่า ปล่อยฉันนะ เพราะถ้าไม่ปล่อยฉันก็จะอดอาหารอยู่อย่างนี้ ดิฉันมองว่าเขาทำเลยกว่าการประกันตัว ทำเลยไปจนกระทั่งถึงเรียกว่าไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมที่จะตามมาทั้งหมด


ถามว่ามีใครเคยทำอย่างนี้ไหม? ในทัศนะดิฉันเท่าที่จำได้ “ไม่มี” 


มันเคยเกิดเหตุการณ์ไม่ได้รับการประกันตัวของคนเสื้อแดง ของแกนนำ ตอนนั้นดิฉันเทียวไปเทียวมา (ปี 53) 9 เดือน ประกันตัวแบบนี้ ในกระเป๋าต้องมีทั้งโฉนดที่ดิน (เพราะว่าเราไม่ได้มีเงินสด) ก็เตรียมเอาไว้ตลอดว่าจะได้รับการประกันตัวเมื่อไหร่ ผ่านไป 9 เดือน จาก 19 พ.ค. 53 จนข้ามปีไปปี 54 ดิฉันเป็นรักษาการประธานนปช. ในวันที่ 1 ธ.ค. ตลอดเวลาเรามีการรณรงค์ให้ปล่อยตัว คำตอบเหมือนกับที่เห็นตอนนี้ก็คือว่า “ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลง” ทุกอย่างยังเหมือนเดิม (9 เดือนนะคะ) 


เพราะฉะนั้น เราก็ไม่รู้ว่าคณะใหม่ซึ่งมีเยาวชนเป็นส่วนมากจะกี่เดือนถึงจะได้รับการประกันตัว ในช่วงนั้น 9 เดือนได้รับการประกันตัว ก็พอดีจังหวะว่ามีกลุ่มของพันธมิตรฯ ที่เข้าไปในเรือนจำและรู้สึกจะทนไม่ได้ ก็มีการต่อสู้เรียกร้องมากให้ปล่อยตัว ได้รับการประกันตัว ไม่รู้ว่าอานิสงฆ์จากอันนั้นหรือเปล่าจึงทำให้แกนนำได้รับการประกันตัว แต่นั้นผ่านมา 9 เดือน


หรือเพราะเขาคิดว่ามันนานพอควรแล้ว ดูแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรไม่เรียบร้อย ก็เปิดให้ออกมา ดิฉันยังใช้คำว่า (ไม่รู้ว่ามองด้านบวกหรือเปล่า) มันน่าจะเป็น “อรุณรุ่งแห่งความยุติธรรม” ที่มีคนเอาคำพูดนี้แล้วเอาไปแต่งเพลง คือเราดีใจที่เขาได้รับการประกันตัว


จริง ๆ เราก็มีคดีอีกมากมาย ติดคุกไปแล้วปี 50 นี่มาปี 52-53 ยังค้างคาอยู่ ยังไม่รู้จะต้องติดคุกอีกกี่รอบ แต่เมื่อหันกลับมามองเยาวชน ดิฉันก็ต้องยอมรับว่าเขาเปิดศักราชใหม่ของประชาชนในการที่จะคัดค้านกระบวนการยุติธรรมที่เขาเห็นว่าไม่ชอบ 


คือในอดีตที่ผ่านมาแม้คนจะมีปัญหาไม่เห็นด้วย แต่ทุกฝ่ายก็ต้องยอม จำยอมรับ แต่พอมาถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีการลุกขึ้นไปยืนในห้องพิจารณาคดี มีการประท้วงอดอาหาร มีการประท้วงให้ถอนทนาย นี่เป็นศักราชใหม่ของการที่คนเยาวชนเหล่านี้แสดงออกถึงการท้าทาย แสดงออกถึงการไม่ยอมรับ แสดงออกถึงการต้องการฟ้องร้องต่อสังคมไทยและสังคมโลกว่า 


- กระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหา 

- กฎหมายไทย (ตามที่เขาเสนอกัน ม.112) มีปัญหา 

- การบังคับใช้มีปัญหา และ

- การฟ้องร้องแล้วไม่ให้ประกันตัว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีคำพิพากษา ก็มีปัญหา


ทั้งหมดนี้ดิฉันคิดว่านี่เป็นศักราชใหม่ที่คนรุ่นใหม่กำลังแสดงออกอย่างมีพลัง นี่เป็นเรื่องใหม่ของกระบวนการยุติธรรมไทยว่ากำลังเผชิญความท้าทายที่ยังไม่เคยปรากฎในสังคมไทย แม้กระทั่งในสังคมโลก 


ในสังคมโลกนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้พิพากษานั้น หรือกระบวนการสถาบันตุลาการนั้นถูกครอบงำ ถูกแทรกแซงโดยอำนาจอะไรหรือเปล่า แต่ถ้าโดยปกติ ถ้าเป็นในระบอบประชาธิปไตยซึ่งถือว่าคนเท่ากัน มาตรฐานในการลงโทษและตัดสินมันต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่คำว่าสองมาตรฐาน หรือไม่มีมาตรฐาน ด้วยความเชื่อเช่นนี้จึงทำให้สถาบันตุลาการได้รับการยอมรับและดูจะเป็นสิ่งสุดท้ายสำหรับประชาชน


ดิฉันก็คิดว่าขณะนี้กระบวนการยุติธรรมไทยมาถึงจุดที่น่าเป็นห่วงมาก! ว่าจะสามารถธำรงลักษณะประมาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ได้หรือเปล่า เพราะว่าคนรุ่นใหม่ไม่ใช่คนรุ่นเก่า เขากล้าทำในสิ่งซึ่งคนรุ่นเดิมจำนวนมากไม่กล้าทำ ดังนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับว่าถ้าระบอบยุติธรรม ถ้ากระบวนการยุติธรรมเป็นกระบวนการยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตยที่ถือว่าคนเท่ากัน และคนต้องมีอิสระเสรีภาพและจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศ ปัญหาสิทธิทางการเมือง ความแตกต่างในเรื่องความเชื่อ ศาสนา รวมทั้งปัญหาชนชาติต่าง ๆ เหล่านี้ อันนี้มันเป็นเรื่องสากล


ถ้ากระบวนการยุติธรรมเรายังไม่สามารถขับเคลื่อนไปอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ที่มนุษย์มีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ยังเป็นความยุติธรรมอยู่ในระบอบศักดินา หรือในระบอบรัฏฐาธิปัตย์ หรือระบอบที่สืบอำนาจจากการทำรัฐประหาร และถือว่ายังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านและยังไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง


ดิฉันก็คิดว่าต่อไปนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ดิฉันอาศัยประสบการณ์ในการผ่านการต่อสู้ของประชาชนมายาวนาน อยากจะเรียนมายังกระบวนการยุติธรรมทั้งกระบวน ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ จนกระทั่งมาถึงสถาบันตุลาการทั้งหมดว่า ท่านกำลังถูกท้าทายโดยเยาวชนอย่างมีพลังอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นก็เสนอว่า จะเป็น “ตุลาการภิวัฒน์” แบบที่นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้หรือไม่? ดิฉันก็ฝากมาถาม 


แต่ถ้าท่านจะเป็น “ตุลาการภิวัฒน์” แบบที่จะทำให้ประเทศถอยหลังกลับไปก่อน 2475 ไปจนถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เลยนั้น มันสอดคล้องกับความเป็นจริงแค่ไหน? แล้วจะไปรอดหรือเปล่า? ถ้า “สถาบันตุลาการ” ไปไม่รอด ประเทศก็ไปไม่รอดเหมือนกัน ลาไปก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ อ.ธิดากล่าวในที่สุด