วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2564

#11ปี10เมษา ตอนที่ 3 การแรลลี่รอบกรุงเทพมหานคร!

 


#11ปี10เมษา  ตอนที่ 3  การแรลลี่รอบกรุงเทพมหานคร!

 

เหตุการณ์ช่วงก่อนถึงวันสังหารประชาชน 10 เมษา 53

จากบทบรรยาย ยุทธการขอคืนพื้นที่ เมษา 53 ตอนที่ 1

(เหตุการณ์ 13 มีนาคม 2553 ถึง 9 เมษายน 2553)

 

20 มีนาคม 2553  หลังการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ได้เริ่มขึ้นมาสักระยะบริเวณสะพานผ่านฟ้า  ก็ได้มีแนวคิดที่จะเคลื่อนขบวนไปรอบ ๆ กรุงเทพฯ แบบดาวกระจายเพื่อแสดงจุดยืนของการชุมนุมในครั้งนี้พร้อมกับมีการระดมแจกสติ๊กเกอร์รูปหัวใจและเป็นการเชิญชวนคนกรุงเทพฯ เข้าชุมนุมกับกลุ่ม นปช.  การเคลื่อนพลของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. ของวันที่ 20 มีนาคม 2553 นำโดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. โดยได้มีการตั้งขบวนบริเวณถนนหลานหลวง ประกอบด้วยรถบรรทุกเครื่องขายเสียงกว่า 10 คัน  พร้อมรถกระบะและรถจักรยานยนต์จำนวนมาก  โดยในรถบรรทุกแต่ละคันจะมีแกนนำ นปช. ประจำรถ โดยคันที่ 1 คือนายณัฐวุฒิ และคันที่ 10 ซึ่งเป็นคันสุดท้ายจะเป็นของนักวิชาการและพระสงฆ์ โดยแกนนำได้แจ้งผ่านเครื่องขยายเสียงให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางโดยสงบ  ซึ่งนพ.เหวง โตจิราการ หนึ่งใน

 

แกนนำ นปช. บอกว่าจะใช้สูตร 3 ไม่ คือ ไม่โกรธ, ไม่ตอบโต้, ไม่รุนแรง และ 3 ส่ง คือส่งยิ้ม, ส่งความรัก และส่งความสุข  การเคลื่อนพลของกลุ่มผู้ชุมนุมตลอดการเดินทางเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นไปด้วยมิตรภาพ  มีการโบกไม้โบกมือให้กำลังใจของประชาชนระหว่างทางพร้อมกับการแสดงรอยยิ้มให้กันและกันทั่วกรุงเทพฯ รวมไปถึงพื้นที่ในย่านเขตเศรษฐกิจสำคัญอย่างสีลม ก็มีภาพการตอบรับของประชาชนที่ตอบรับการแรลลี่ของกลุ่มผู้ชุมนุมและให้กำลังใจจากผู้คน รวมถึงพนักงานของหน่วยงานและบริษัทต่าง ๆ บนตึกสูง  มีการเตรียมน้ำดื่มอาหาร  และรอยยิ้มให้กันและกันอย่างน่าชื่นชม  และเนื่องจากขบวนที่ยาวมาก จึงมีการตกลงกันทำการแยกสายทำการแรลลี่ครั้งนี้เป็น 2 เส้นทาง  ขณะที่นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช. ได้รับมอบหมายให้อยู่เฝ้าเวทีชุมนุมใหญ่  โดยมีการปราศรัยเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนอย่างสันติ

 

27 มีนาคม 2553  หนทางการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่ม นปช. ที่ยืนหยัดด้วยสันติซึ่งเป็นไปตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับอย่างชัดเจนมาโดยตลอด  ห้วงเวลาของการเริ่มชุมนุมที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 นั้น กลับเป็นฝ่ายรัฐบาลอภิสิทธิ์และทหารที่ได้ใช้กลอุบายหลากหลายวิธีในการหาทางที่จะทำลายสลายการชุมนุมและใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนมาโดยตลอด  ซึ่งหนึ่งในวิธีที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เคารพความยุติธรรมและมนุษยชนของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์  หลังการเคลื่อนขบวนแบบดาวกระจายในวันที่ 20 มีนาคม 2553  ซึ่งได้ผลตอบรับจากประชาชนชาวกรุงเทพฯ เป็นอย่างดี  ก็มีกระแสข่าวของการเคลื่อนขบวนแบบดาวกระจายอีกครั้ง  แต่หลังจากมีการประเมินแล้วว่าอาจจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนส่วนรวมมากเกินไปในการสัญจรไปมาและความสะดวกในด้านต่าง ๆ ของชาวกรุงเทพฯ แต่จะขอเปลี่ยนเป็นการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้ทหารที่ทำการซ่อมสุมกำลังและซ่อนตัวในพื้นที่วัดต่าง ๆ รอบพื้นที่ชุมนุมและส่วนราชการต่าง ๆ ออกจากสถานที่ต่าง ๆ ที่ซ่องสุมกำลังอยู่ ภาพที่ปรากฏตามหน้าสื่อมวลชนจึงเป็นภาพของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ดินไปสถานที่ต่าง ๆ เพื่อขอร้องและเชิญให้ทหารออกจากสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการซ่อมสุมกำลังทหารอยู่ เช่น วัดตรีทศเทพ, วัดมกุฎกษัตริยาราม, วัดแคนางเลิ้ง, วัดโสมนัสวรวิหาร, เขาดินวนา, สนามม้านางเลิ้ง และมหาวิทยาลัยวิทยาเขตพาณิชยการพระนคร  ภาพของการแสดงความยินดีโบกไม้โบกมือให้กันระหว่างผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงและทหารที่เคลื่อนตัวออกจากที่ซอนพร้อมอาวุธประจำกาย  คงเป็นสิ่งที่บอกได้ถึงแนวทางการต่อสู้ในแบบสันติวิธีที่ผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ให้การยึดมั่นมาโดยตลอดการชุมนุมเรียกร้อง

 

แต่กลับมีการเขียนรายงานของเหตุการณ์นี้ไปในทางลบของผู้ชุมนุม  โดยรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ออกมาในปี 2556 นั้น  กลับได้เขียนรายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุม นปช. นั้นได้เคลื่อนขบวนเพื่อขับไล่เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่บริเวณวัดและสถานที่ต่าง ๆ โดยไม่ได้แยแสกับหลักฐานต่าง ๆ ทั้งภาพถ่าย, คลิปเหตุการณ์ที่แสดงหลักฐานชัดเจน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกลับไม่มีความเห็นเชิงลบใด ๆ ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่ทางรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ประกาศออกมา

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์