วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2564

ศาลมีคำสั่งชัด ปมราชทัณฑ์ ย้าย 3 เเกนนำราษฎรกลางดึก ต้องระมัดระวัง และคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขัง

 


ศาลมีคำสั่งชัด ปมราชทัณฑ์ ย้าย 3 เเกนนำราษฎรกลางดึก ต้องระมัดระวัง และคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขัง


29 มี.ค. 64 เวลาประมาณ 11.00 น. ศาลอาญาอ่านคำสั่งต่อคำร้องของอานนท์ นำภา ที่ระบุว่า ผู้คุมและเจ้าหน้าที่พยายามจะเอาตัว “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ต้องขังคดี ม.112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ออกไปควบคุมนอกแดนถึง 4 ครั้งในช่วงกลางดึกคืนวันที่ 15 มี.ค. 2564 โดยอ้างถึงการตรวจโควิดและกักโรค และเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งยังไม่ติดป้ายชื่อ ทำให้เขาเกรงว่าจะถูกนำตัวไปทำร้ายถึงชีวิต 


ก่อนมีคำสั่งศาลได้เรียกไต่สวนอานนท์และผู้ที่เกี่ยวข้องรวม 5 ปาก กับทั้งได้เปิดคลิปจากกล้องวงจรปิดบริเวณห้องขัง เมื่อ 17 และ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา


คำสั่งศาลโดยสรุประบุว่า เชื่อว่า การอํานวยการปฏิบัติงานของนายแพทย์วีระกิตติ์เป็นการดําเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด และต้องการแยกตัวภาณุพงศ์, จตุภัทร์ และปิยรัฐ ไปคุมขังในสถานที่อื่น โดยมิได้มีความมุ่งหมายที่จะข่มขู่ คุกคาม หรือทําอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของอานนท์กับพวก 


อย่างไรก็ตาม อานนท์กับพวกเป็นบุคคลที่ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งถูกจํากัดเสรีภาพในร่างกายบางประการ เพียงเพื่อป้องกันมิให้ผู้ต้องขังหลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่ออันตรายประการอื่นเท่านั้น ผู้ต้องขังยังคงเป็นพลเมืองไทย ย่อมได้ความรับรอง คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งต้องมีช่วงเวลาพักผ่อนที่เหมาะสมเพียงพอ ไม่ถูกล่วงละเมิดเกินสมควร 


เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อานนท์กับพวกได้รับการคัดกรองโรคเบื้องต้นโดยตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกายถึง 3 ครั้ง จนผ่านเกณฑ์แล้ว แม้ภาณุพงศ์, จตุภัทร์ และปิยรัฐ จะถูกย้ายตัวมาจากเรือนจําพิเศษธนบุรีซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด แต่เรือนจําก็มีมาตรการคัดกรองโควิดในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอานนท์กับพวกถูกคุมขังอยู่ในแดนกักโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดอยู่แล้ว 


จึงยังไม่ปรากฏเหตุจําเป็นเร่งด่วนถึงขนาดต้องแยกตัวอานนท์กับพวกออกจากผู้ต้องขังอื่น หรือเร่งตรวจหาเชื้อโควิดให้แล้วเสร็จภายในคืนนั้น การกระทําของเจ้าพนักงานเรือนจํา แม้จะไม่ถึงขนาดเป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมาย แต่ก็ถือเป็นการกระทําโดยไม่คํานึงถึงสิทธิของผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชนที่นานาอารยประเทศให้การรับรองและคุ้มครอง 


ศาลจึงเห็นควรให้เจ้าพนักงานเรือนจําที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทําหน้าที่โดยใช้ความระมัดระวังเพื่อให้อานนท์กับพวกได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่กฎหมายรับรอง


ขอบคุณข้อมูล/รูป : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน