เวทีรัฐสภาล่าสุดทำได้ดีเป็นการยกระดับของฝ่ายค้าน
ส่วนของประชาชนนอกสภาการจัดทัพปรับขบวนของเยาวชนแสดงถึงความตั้งใจที่จะยกระดับพัฒนา
สองส่วนนี้สามารถประสานกันได้
เมื่อวันที่
23 ก.พ. 64 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้ทำเฟซบุ๊คไลฟ์ โดยประเด็นสนทนาในวันนี้ก็คือ
การยกระดับการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยทั้งในรัฐสภาและภายนอก!
ถ้านอกประเทศเราจะเห็นการยกระดับการต่อสู้
คือหลังจากการต่อสู้ในระบบรัฐสภาล้มเหลวอย่างพม่า ก็คือมีการเลือกตั้ง
แล้วทหารปฏิเสธผลการเลือกตั้ง แล้วยึดอำนาจโดยอ้างว่าไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ
พอเวทีรัฐสภาล้มเหลวหลังจากที่เขาก็พยายามอดทนอยู่กันให้ได้มา
4-5 ปี จากการเลือกตั้งรอบที่แล้ว ซึ่งเรียกว่า อองซาน ซูจี
ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศนั้นถูกประณามด้วย ซึ่งเราก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเธอว่าสถานการณ์ของพม่านั้น
บางทีประเทศอื่นก็ยากที่จะเข้าใจ
แต่ว่าทุกคนจะเข้าใจตรงกันเมื่อทหารยึดอำนาจแล้วประชาชนออกมาต่อสู้
และการต่อสู้ครั้งแรกที่เป็น 8888 (วันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988)
ก็เป็นการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่ที่ฝ่ายประชาชนสูญเสียมากและก็ไม่ชนะ
มาบัดนี้
เมื่อเวทีรัฐสภาของพม่าล้มเหลว
เราจะเห็นการต่อสู้ของประชาชนนั้นยกระดับอย่างที่ไม่น่าเชื่อ
เป็นการยกระดับที่เรียกว่าฝ่ายประชาธิปไตยของไทยก็ต้องอึ้ง
แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถลอกแบบของเขามาได้ด้วยสถานการณ์ที่ต่างกัน
เพราะพูดง่าย ๆ ว่าเวทีรัฐสภานั้นจบ! (อันนี้ชนชั้นนำจารีตไทยดูเป็นตัวอย่างนะ)
เมื่อเวทีรัฐสภาจบ ประชาชนไม่มีทางเลือกอื่นที่ต่อสู้ให้ได้ประชาธิปไตย
ก็จำเป็นที่จะต้องลงท้องถนน แม้นเขาจะไม่มีอาวุธ เขาจะพยายามใช้สันติวิธีอย่างเต็มที่
มีอย่างเดียวก็คือพลัง ต้องออกมาให้มาก เพราะฉะนั้นเราจะเห็นทั้งการหยุดงาน
ทั้งการที่เอารถออกมาจอดเต็มถนน แล้วประชาชนออกมาเป็นจำนวนมากทุกวัน
ดังนั้นมันก็เหลืออยู่ที่ว่า
1)
ปัญหาการต่อต้านพม่าจากต่างประเทศจะเอาจริงเอาจังไหมถ้ามีการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง
2)
กองกำลังอาวุธของชนชาติต่าง ๆ ที่มีอยู่จะออกมาหนุนช่วยประชาชนอีกหรือเปล่า มันก็แปลว่าทำให้การต่อสู้สันติวิธีกลายเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธ
ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้มันก็เป็นไปได้ที่ว่า อันที่จริงที่เขาขอความช่วยเหลือมานานแล้วก็คือ
ควรจะมีกองกำลังของ UN ในการที่เข้ามาหยุดยั้งอาชญากรรมรุนแรงที่ทหารพม่าจะทำกับประชาชนพม่า
นั่นคือการยกระดับการต่อสู้ของประชาชนพม่าอย่างที่รุนแรง
รวดเร็ว ทีนี้คำถามสำหรับประชาชนไทย ในขณะนี้ดิฉันก็ยังมองในแง่ดีว่าในเวทีรัฐสภาที่ผ่านมา
พรรคฝ่ายค้านซึ่งถือว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย พูดง่าย ๆ ว่าไม่เอาเผด็จการทหาร
ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ ในการทำงานไม่ไว้วางใจก็ถือว่ายกระดับกว่าเดิม ปีก่อนหน้าโน้นซึ่งของพรรคเพื่อไทยน่าเกลียดมาก
คือออกมาตีโวหารกันเป็นส่วนใหญ่ มีแต่ท่า แต่เนื้อหามันน้อยเกินไป มาในรอบนี้เพื่อไทยก็ทำได้ดีขึ้นมาก
คือรวม ๆ แล้วดีกว่าเดิมเยอะ ทัศนะดิฉันก็ถือว่าเป็นการยกระดับของฝ่ายค้าน
แต่ในขณะเดียวกันมันก็ได้แสดงตัวตนคือปริออกมาว่ามีการโหวตแตกต่างกัน
เช่น พรรคเพื่อชาติ พรรคเสรีรวมไทย และในพรรคก้าวไกล
มันก็จะสลัดออกมาว่าจะเหลือคนที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย
ต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจอย่างจริง ๆ เหลืออยู่เท่าไหร่
ความจริงไม่เป็นไร
ถ้าคุณเป็นนักประชาธิปไตย มันเป็นเรื่องที่ดี หลุดก็หลุด สำคัญที่สุดคือว่า ข้อมูล
เนื้อหา ได้ทำงานได้ดี แล้วทำให้เกิดความเสื่อมทรุด
เพราะประชาชนเขาสามารถขยายผลและต่อยอดได้ นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า “การต่อสู้สองขา”
คือในเวทีรัฐสภาและนอกเวทีรัฐสภา
เพราะฉะนั้น
นอกเวทีรัฐสภาของเราที่ผ่านมาจากปีก่อนโน้นเราก็ถือว่าได้ยกระดับ นั่นก็คือมีเยาวชน
มีมวลชน เข้ามานำ ในแต่ละครั้งแม้จะทำเป็นแฟลชม็อบก็ตาม แต่ผู้คนและคนที่สนใจไม่ว่าจะเป็นในทวิตเตอร์
การสื่อสารออนไลน์ และคนที่ออกมาจริง ๆ บนท้องถนนก็มีจำนวนมากเป็นหลักหมื่นหลักแสน
แต่ว่าสถานการณ์ที่ผ่านมาก็มีการแปรเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นการใช้อาวุธ 112 ใช้กฎหมายในการจัดการ
ปราบปราม จับกุม ซึ่งตรงนี้จะไม่มีผลเท่าไหร่ เพราะมันยิ่งสร้างคนที่เคียดแค้น
แต่เรามีปัญหาโควิดด้วย แล้วการที่เยาวชนทั้งหลายต้องมีการปรับทัพ ปรับขบวน
มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ดังนั้นมันก็มีการจัดทัพปรับขบวนภายในพร้อมกับเรื่องโควิด
เพราะฉะนั้นกระแสของการออกมาท้องถนนมันก็อ่อนลง
ในขณะเดียวกัน
การต่อสู้มันเป็นสองขา เพราะฉะนั้นในเวทีรัฐสภาก็ยังเดินหน้าและมันจะยิ่งเข้มข้น
ตอนนี้เป็นการไล่นายกฯ ซึ่งก็ตรงกับข้อ 1
ในข้อเรียกร้องที่เยาวชนทั้งหลายออกมาเรียกร้อง
ต่อไปก็เป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็อยู่ในข้อ 2 ของข้อเรียกร้องเช่นกัน
แล้วก็มีการเสนอกฎหมายแก้ไข 112 (ไม่ได้ยกเลิกนะ) ดังนี้เป็นต้น มันก็สอดคล้องกับ
3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชน
หลายคนอาจจะใจร้อนว่ามันยังไม่ได้ดังใจ
มันต้องจากคนเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน ต้องไล่เป็นล้าน (หมายความว่ากราฟต้องขึ้นไปเรื่อย
ๆ) แต่ว่ามันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นนะ เพราะเราอย่าลืมว่าที่ผ่านมาในปีที่แล้วที่มีคนออกมาเป็นระดับหมื่นเป็นแสน
ก็ต้องถือว่าอยู่ ๆ จากกราฟที่เป็นแนวนอนมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นก็แปลว่ามันมีปัญหาและมีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่
ดังที่เกิดขึ้นกับประเทศพม่า พูดตรง ๆ ว่าถึงจุดที่เขาทนไม่ไหว
อันนั้นก็คือประเทศพม่า
แต่ว่ามันก็สามารถที่จะเรียนรู้กันได้ เพราะฉะนั้น
การชูสามนิ้วของเราพม่าก็รับไปเต็มที่ ส่วนเราก็ไปรับตีหม้อ ตีฆ้อง ตีอะไรต่าง ๆ
ของเขามา แต่สิ่งที่เรายังต้องใช้เวลาและต้องขยายผลทั้งในเวทีรัฐสภาและเวทีนอกรัฐสภา
จนกระทั่งประชาชนสามารถที่จะออกมาแบบเดียวกับพม่า คือพม่านั้นมันสุดทางของเวทีรัฐสภาแล้ว
แปลว่าจบแล้ว มันเหลือเวทีเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นทุกส่วน ทุกฝ่าย
ต้องระดมออกมาด้วยกัน ต้องลบเรื่องเชื้อชาติ
แต่ของเรายังมีความแตกต่างของผู้คนที่ยังอยู่ในฝ่ายของกลุ่มอำนาจนิยม
จารีตนิยม ยังเป็นมวลชนของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ปัญญาชนยังเป็นอนุรักษ์นิยม จารีตนิยม
อยู่เป็นจำนวนมาก
สำหรับดิฉันอาจจะเป็นคนที่เรียกว่าไม่ได้หวังอะไรที่เป็นการก้าวกระโดดมาก
ดิฉันก็ชื่นชมและพอใจที่มีปัญญาชน มีคนชั้นกลาง
ออกมาร่วมการต่อสู้ให้ได้ประชาธิปไตยเป็นจำนวนมาก เพราะดิฉันรู้ว่า “แล้วมันจะสำเร็จ”
ที่ผ่านมามันลำบากเพราะปัญญาชนและคนชั้นกลางปล่อยให้คนเสื้อแดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นมวลชนพื้นฐานต่อสู้อย่างค่อนข้างโดดเดี่ยวแม้นจะต่อสู้สุดกำลังเพียงไรก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถประสบชัยชนะแบบเด็ดขาด
แต่ในเวทีรัฐสภาก็ชนะได้นะ เพราะว่าอย่างน้อยที่สุดพรรคฝ่ายประชาธิปไตยก็ได้รับเสียงข้างมากตลอด
ดิฉันจะไม่พูดถึงเวทีรัฐสภามากนัก
เพราะเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองจะต้องไประดมสมอง เพราะว่าผู้ที่ต่อสู้อยู่บนเวทีรัฐสภาอย่างน้อยที่สุดเขายังมีพื้นที่ของการได้อำนาจระดับหนึ่ง
ของผลประโยชน์ระดับหนึ่ง แต่ว่าในเวทีของประชาชนนอกรัฐสภา
คนเหล่านี้ไม่มีเงินเดือน ไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ มีแต่เตรียมเข้าคุกหรือถูกจับกุมคุมขัง
ถูกเข่นฆ่า เข้าคุกไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ ทั้งคดีแพ่ง ทั้งคดีอาญา
ก็รอประกันไปเถอะ เหมือนอย่างแกนนำเสื้อแดง แกนนำนปช. ตอนปี 53 รอบนั้น 9
เดือนค่ะถึงจะได้ประกัน และที่ได้ประกันก็เพราะว่าบังเอิญมันมีม็อบพันธมิตรฯ
ที่ถูกฟ้องแล้วไม่ได้ประกัน ซึ่งสุดท้ายพันธมิตรได้ประกัน
แล้วก็เลยได้ประกันตัวของแกนนำนปช.ด้วย นั่นคือเรื่องราวในอดีต
ดิฉันคิดว่า
เวทีการต่อสู้ของประชาชนจะยกระดับอย่างไร? อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
เราจะไปเปรียบกับพม่าไม่ได้ ถามว่าอยากได้ไหม? ก็อยากได้แบบนั้น
แต่ว่าประชาชนเขาเป็นเอกภาพ พรรคการเมืองที่สำคัญหนึ่งเดียวก็คือ NLD
แล้วก็สู้ถวายหัวจริง! ของเราพรรคการเมืองหลายพรรคไม่ใช่ปัญหา
เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้เห็นการต่อสู้ของมวลชนที่ถ้าพรรคใดทิ้งมวลชนไป
พรรคอื่นก็สามารถได้ประโยชน์ได้ ดังนั้นก็จะทำให้สามารถที่จะ Balance กันได้ ก็คือทำให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยไม่ได้นึกว่าตัวเองเป็นผู้นำมวลชน
ถ้ามิฉะนั้นอาจจะถูกมองจากสังคมภายนอก ไม่ให้ค่าการต่อสู้เช่นของนปช. ของคนเสื้อแดง
เพราะถือว่าเป็นการต่อสู้ที่ขึ้นกับพรรคไทยรักไทยหรือพรรคเพื่อไทย
การต่อสู้ประชาชนก็ถูกด้อยค่า แต่ตอนนี้เมื่อมีหลายพรรคอันนี้ก็คือข้อดีในทัศนะของดิฉัน
แล้วก็เป็นเรื่องที่พรรคจะต้องแข่งขันกัน
ในส่วนของฝ่ายประชาชน
ดิฉันมองว่าการจัดทัพปรับขบวนของเยาวชนแสดงถึงความตั้งใจที่จะยกระดับพัฒนา
คือไม่ใช่พวกน้ำเต็มแก้ว ไม่เหมือนรุ่นใหญ่บางส่วนที่คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ดีแล้ว
ไม่ต้องฟังใคร อันนี้ดิฉันก็ต้องขอชมเชย
แล้วดังที่ดิฉันได้พูดในรอบที่แล้วว่าให้จับความขัดแย้งหลักให้ได้ว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างระบอบต่อระบอบ
บุคคลมาแล้วก็ไป แต่ระบอบมันยังอยู่ สมมุติว่าคุณไล่นายกฯ ออกไปคนเดียว แต่ระบอบของอำนาจนิยมจารีตนิยมยังดำรงอยู่
นายกฯ ไปคนเดียวก็ไม่มีประโยชน์
หรือเหมือนที่เขาพยายามจะไล่คุณทักษิณ
แล้วเป็นไง? มาเจอคุณธนาธร ยิ่งหนักกว่าคุณทักษิณ สมมุติว่าคุณจัดการคุณธนาธร มันก็จะต้องมีทักษิณ2
ธนาธร2 ธนาธร3 ปิยบุตร4 อะไรอย่างนี้ มันก็มีไปเรื่อย ๆ ไปจนกระทั่งปัจจุบันนี้ “เด็กมัธยม”
อย่าให้ไปถึง “เด็กประถม”
ดังนั้น
การยกระดับที่ดิฉันมองก็คือว่า
ประการที่
1 การต่อสู้นอกเวทีรัฐสภาสามารถประสานกับเวทีรัฐสภาได้
การต่อสู้เวทีรัฐสภาที่มีข้อมูลและมีเรื่องที่น่าสนใจ นอกเวทีรัฐสภาก็สามารถขยายผลแล้วจับต่อเนื่อง
เพราะทั้งหมดนี้มันคือการเสื่อมทรุดของระบอบเก่า ของระบอบที่เป็นเผด็จการทหารจารีตนิยม
มันไม่ใช่เป็นการรบประจัญบานของผู้ถืออาวุธ
เป็นปัญหาความชอบธรรมที่เราต้องทำอย่างไรให้สังคมไทยและสังคมโลกมองเห็นปัญหาของประเทศ
เพราะคนไทยจำนวนมากก็ยังไม่เข้าใจ คนต่างประเทศจำนวนมากยิ่งไม่เข้าใจ
เขาบอกเข้าใจยากที่สุดก็คือการเมืองไทย อย่างในพม่ายังเข้าใจง่ายกว่า
เพราะฉะนั้นการต่อสู้ในเชิงข้อมูลและองค์ความรู้ประสานระหว่างสองเวที
เหมือนอย่างวันนี้ที่จะไปเรื่อง “ตั๋วช้าง” ทั้ง ๆ
ที่ตำรวจก็กลายเป็นเครื่องมือของผู้บริหารและของรัฐ บางครั้งก็เลยเกิดปัญหาอยู่จำนวนมาก
ดิฉันเองก็ไม่ได้อยากจะถือว่าตำรวจมีปัญหาทั้งหมด ถ้าเราจำได้ในแต่ละครั้งที่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล
ไม่ได้สามารถที่จะมีทหารเข้ามาดูแล ก็ใช้ตำรวจ ในเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ
ถ้าพวกคุณจำได้ว่าในช่วงหนึ่งของของกปปส.นั้นมีอาวุธเต็มไปหมด
กระทั่งตำรวจก็ต้องบาดเจ็บ
แล้วก็มีตำรวจคนหนึ่งที่ต้องเตะระเบิดที่ขว้างมาจนต้องตัดขาอยู่รพ.ตำรวจ
ก็มีพวกเราไปดูแล
มันก็มีตำรวจที่ต้องทำตามคำสั่ง
นั่นก็ส่วนหนึ่ง แล้วก็ตำรวจที่โดนมวลชนจารีตนิยมจัดการ
หรือกลุ่มอนุรักษ์นิยมจัดการ ก็มีส่วนหนึ่ง
เพราะฉะนั้นทำอย่างไรที่จะให้ทั้งทหารและตำรวจส่วนใหญ่นั้นเขาเข้าใจหลักการประชาธิปไตย
และพร้อมที่จะต่อสู้ร่วมกับประชาชนอย่างมีเหตุผล อย่างมีขั้นตอน
อย่างมีความเป็นไปได้ อันนี้ก็เป็นการช่วยอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้นการประสานทั้งสองขา
(ขารัฐสภาและขาภายนอก) นับจากนี้ไปดิฉันดูว่าจะมีความสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ซึ่งในขณะนี้มันก็จะออกหวยสองอย่างก็คือ แก้ไม่ได้เลย เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะออกมาว่าแก้ไม่ได้
แบบเดียวกับในอดีตที่เราพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญ 50 แน่นอน! คือร่างแก้ไขฉบับของประชาชนนั้นตกไปแล้ว
(ที่ iLaw เสนอ)
มาตอนนี้ตกลงว่ามีสสร.200
ซึ่งเหมือนกับที่นปช.สมัยอ.ธิดาเป็นผู้เสนอ แล้วก็บอกตรง ๆ ว่าพรรคเพื่อไทยไม่เอา ปัดตก
มาถึงนาทีนี้ที่เสนอเหมือนของอ.ธิดาเปี๊ยบ ก็คือสสร.ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง
แต่ถามว่ามันจะเป็นไปได้หรือ เพราะว่าดูหน้าตาและดูท่วงทำนองของผู้ที่มาประท้วงคือ
“พวกสุดโต่ง” จะเป็นนายไพบูลย์ นิติตะวัน วุฒิสมาชิกทั้งหลาย นายสมชาย แสวงการ
และรวมทั้ง “พวกสุดโต่ง” ซึ่งไม่ได้นั่งในสภา แต่นั่งอยู่ที่องค์กรอิสระต่าง ๆ
เหล่านี้ ก็คือกว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาเกือบตายว่างั้นเถอะ ต้องตั้งม้อบ
ต้องจัดการเกือบตาย ซึ่งยังไม่รู้ว่าคุณสุเทพกับพวกรวม 39 คน ในคดีกบฎ!
พรุ่งนี้ผลจะออกมายังไง? ก็ติดตามดูกันต่อ
คือต้องมีคนมาทำการกบฏ
แล้วในสุดท้ายต้องมาทำรัฐประหาร แล้วต้องมาเขียนรัฐธรรมนูญตั้งกี่ตลบ
ดังนั้นที่เขาจะให้มีการเกือบจะเขียนใหม่ทั้งฉบับ มันคงยากที่ “พวกสุดโต่ง” เหล่านี้จะรับได้
ดังนั้นเตรียมตัวเอาไว้เถิดว่ากรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันจะกลายเป็นศึกใหญ่ต่อไป
นี่ก็คือการสามารถประสานกันได้ระหว่างสองขาคือเวทีรัฐสภาและภายนอก
ส่วนรูปแบบมีหลากหลาย
ขณะนี้มันเป็นเรื่องดีมาก รูปแบบอยู่บนท้องถนนก็ได้ อยู่บนโลกออนไลน์ก็ได้
ในทวิตเตอร์ ในเฟซบุ๊ค และขณะนี้ที่กำลังโด่งดังมากคือ Clubhouse อย่างที่คุณทักษิณพูดเมื่อวานนี้ (22 ก.พ. 64) เข้าใจว่ามีคนดูเป็นแสน
ก็ไม่ต้องชุมนุมบนถนนให้มีใครมายิง มันก็เป็นเหมือนการชุมนุมแล้วก็มีผู้พูด
แต่มีผู้พูดหลายคน แล้วก็มีผู้ถามได้
ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนฝ่ายประชาธิปไตย
แน่นอน! อย่างกรณีคุณทักษิณหรือแม้กระทั่งคุณปวิน
ถ้าหากว่าไม่พร้อมสำหรับคำถาม ก็อาจจะเป็นจุดอ่อนก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันคำตอบตรงไปตรงมาหรือคำตอบที่ไม่ได้เตรียมไว้ก่อน
มันก็เป็นการให้ความรู้กับสังคมด้วยเหมือนกัน
แต่ที่ดิฉันอยากจะบอกก็คือมันไม่มีใครที่ดีพร้อม 100%
คุณทักษิณก็คงจะเตรียมเรื่องเศรษฐกิจหรือเรื่องอื่น ๆ (แบบนักธุรกิจคือมองไปข้างหน้า)
แต่พวกที่คอยจับผิดจับถูกหรืออะไรต่าง ๆ นี่ดิฉันไม่ได้ว่านะว่าการตั้งคำถามนั้นไม่ถูก
ก็ดี แล้วมันก็ไม่มีปัญหาถ้าคุณทักษิณยังพูดไม่เคลียร์ในวันนี้ ก็มาพูดใหม่ก็ได้
ถ้าท่านเข้าไปดูในเพจยูดีดีนิวส์
หรือในเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ก็จะมียูทูปอันที่คุณทักษิณตอบในรายการตอบโจทย์
อยากให้เข้าไปฟัง นั่นคือเวลานั้น
คุณทักษิณก็ยอมสารภาพว่าในตอนนั้นก็มีความคิดหลายอย่างที่ไม่ถูกต้องเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นนักต่อสู้ฝ่ายประชาธิปไตย
เราอยู่บนความเป็นจริง เราต้องยอมรับความเป็นจริงได้ บรรดาพวก “ติ่ง” ทั้งหลาย
สมมุติว่าถ้าเป็น “ติ่งส้ม” ก็ต้องบอกว่าฝั่งที่ตัวเองเชียร์นั้นก็คือเป็นเทพ หรือ
“ติ่งของคุณทักษิณ” คุณทักษิณก็กลายเป็นเทพ คล้าย ๆ จะไม่มีที่ติ
มันคิดอย่างนั้นไม่ได้ ก็คือมันมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน
มันเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเข้าใจได้ ถ้าคุณไม่ยึดติดกับบุคคล
คุณยึดติดกับการต่อสู้ของประชาชนว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนได้ผลประโยชน์ที่สุด
คุณจะไม่รู้สึกเดือดร้อนกับว่า ทำไมตอบคำถามแบบนี้? ก็คือเอาความจริงมาพูดกัน
ไม่มีใครที่เก่งหมดและทำถูกทุกอย่าง ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดปัญหาในประเทศไทย
ฝ่ายต่อสู้ทั้งหลายตั้งแต่ยุคอาจารย์ปรีดี
ยุคจอมพล ป. ก็ล้วนมีปัญหาและมีความผิดพลาด เราจึงมาถึงวันนี้ เวลานี้ 14 ตุลา 16
ก็มีปัญหา ดูเหมือนชนะ แต่ผู้ตัดสินคือใคร ผู้ตัดสินก็คือพระมหากษัตริย์ ร.9
ในยุคนั้น มาถึงพฤษภา 35 ก็ดูเหมือนชนะ (พรุ่งนี้ก็จะครบรอบการทำรัฐประหารปี 2534
มีการทำรัฐประหารในปี 34 แต่การต่อสู้มันเกิดในปี 35 คือเว้นไป 1 ปี
หลังจากที่เสียสัตย์ว่าจะไม่มาเป็นนายกฯ)
และนักต่อสู้ในสมัยราษฎร
2475 ผู้นำการต่อสู้ทั้งยุค 2475 ผู้นำการต่อสู้ 14 ตุลา 2516 และผู้นำการต่อสู้ในพฤษภา
35 ทั้งหลายทั้งหมด ไม่ใช่เป็นคนก้าวหน้าทั้งหมดนะ คือก้าวหน้าเฉพาะเวลานั้น
ในเรื่องนั้น ๆ ครั้งนั้น แต่สุดท้ายมันจะพิสูจน์จุดยืนว่าคุณก้าวหน้าจริง
คุณทำเพื่อประชาชนหรือทำเพื่อตัวคุณเอง
เวลาที่ผ่านมามันก็จะมองเห็นมาเป็นลำดับจนกระทั่งถึงบัดนี้
ดังนั้น
การต่อสู้ของเรามันเหมือนสู้แล้วได้หยุดพักนิดหนึ่ง แล้วก็ต้องสู้ต่อ แล้วก็หยุดพักนิดหนึ่ง
มันก็ไม่เหมือนกับพม่าเสียทีเดียว ซึ่งถูกกดยืดยาวตลอด เขาทำรัฐประหาร 2-3 ครั้ง
ครั้งสุดท้ายนี้เป็นครั้งที่ 3 แต่นั่นแปลว่าเขากดหัวมาเป็นสิบ ๆ ปี
จนประชาชนทนไม่ไหว
แต่ว่าอนุรักษ์นิยมไทยเก่งกว่า
ก็คือ อันนั้นมันมีแต่เผด็จการทหาร แต่ของเรามันมีอนุรักษ์นิยมพลเรือนและจารีตนิยมที่เป็นชนชั้นนำซึ่งสมคบกันกับทหาร
มันจึงซับซ้อนกว่า ยากกว่าตรงที่ว่าสามารถแบ่งแยกประชาชนได้ด้วย
ดิฉันก็คิดว่าไม่อยากให้เสียกำลังใจ
ดิฉันมองในแง่ว่า รัฐสภาก็ยกระดับ มีงูเห่าเกิดขึ้นก็ดี จะได้รู้ว่าเป็นงูเห่า
ยังไง ๆ ก็เป็นฝ่ายค้านอยู่แล้ว แล้วงูเห่าเหล่านี้ถ้าเป็นรัฐบาลมีอำนาจจะไม่รู้นะว่าเป็นงูเห่า
เป็นฝ่ายค้านนี่แหละดี (ฝ่ายประชาธิปไตย) เวลาเป็นรัฐบาลแล้วบางทีก็ไม่สนใจการต่อสู้ของประชาชน
มองเห็นว่าเขาเป็นรัฐบาลแล้ว มันตั้งแต่ยุคประชาธิปัตย์ หลังปี 35
นายกรัฐมนตรีของประชาธิปัตย์บอกอ.ธิดาว่า
ให้บอกพวกสมาพันธ์ประชาธิปไตยและหมอเหวงให้เลิกได้แล้ว ไม่ต้องมาข้างถนนแล้ว
ประมาณว่าฝ่ายประชาธิปไตยได้เป็นรัฐบาลแล้ว
มาตอนยุคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล
ตำรวจจำนวนหนึ่งก็มาถามอีกว่าทำไมยังต้องมีม็อบก็ในเมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว
ตัวดิฉันเองก็เลยบอกว่ามันมันเกี่ยวที่ไหน นี่เรารู้ว่าเราสู้เรื่องอะไร เพื่ออะไร
เราไม่ได้สู้เพื่อพรรคการเมืองเป็นใหญ่ นั่นเขาก็เป็นตัวแทนประชาชนในเวทีรัฐสภา
แต่ประชาชนที่ออกมาต่อสู้เป็นการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
ไม่ใช่ของพรรคการเมือง ดังนั้นประชาชนไม่สามารถล้มเลิกการต่อสู้ได้ แต่ภาวะการนำอาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อย
ๆ ดังที่ดิฉันได้บอกมา มันก็คัดกรองคน ก็เหมือนแกนนำนปช.นั่นแหละ
ก็มีการคัดกรองกันมาเป็นลำดับ จนสุดท้ายเยาวชนเข้ามานำ ซึ่งแต่ละคนก็ไม่ได้ไปไหน
ก็ยังเห็นกันอยู่ บางคนก็ไปอยู่คนละฟาก มาจัดการกับคดี 112 อะไรอย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น
สายธารการต่อสู้ของประชาชนมันก็ยังสืบเนื่องต่อมา เราก็มองว่าพม่าก็คือตัวอย่าง
เป็นตัวอย่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยว่า ถ้าคุณทำให้ประชาชนจนตรอก เวทีรัฐสภาไปไม่รอด
มันก็เหลือทางเดียวคือประชาชนเหลือเวทีบนท้องถนนและการต่อสู้ด้วยอาวุธเท่านั้น
แต่ถ้าเวทีรัฐสภายังเป็นไปได้
ทำให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ระดับหนึ่ง การต่อสู้ประชาชนก็ยังมีอยู่นะ
ไม่มีใครเลิกหรอก แล้วก็ยังควบคู่กับเวทีรัฐสภา แต่มันจะไม่ใช่แบบพม่า หรืออยากจะให้เป็นเหมือนพม่าก็ลองดู! ลาไปก่อนนะคะ
สวัสดีค่ะ