การแสดงความคิดเห็นต่อองค์กรนปช. ซึ่งเป็นองค์กรประชาธิปไตยต้องมีทัศนะมวลชน ต้องทำให้ความคิดเห็นของประชาชนได้มีส่วนและปรากฎขึ้นมา อาจารย์ไม่ทะเลาะกับใคร แต่จะทำอย่างไรเพื่อรักษาหัวใจของพี่น้องประชาชนเพราะเขาเป็นเจ้าของการต่อสู้ทั้งหมด
ยูดีดีนิวส์ : เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 64 อ.ธิดา
ถาวรเศรษฐ ได้กล่าวในการทำเฟซบุ๊คไลฟ์
โดยกล่าวว่าขณะนี้บรรยากาศทางการเมืองและสถานการณ์โควิดก็ยังอยู่ในความร้อนพอสมควร
อันเนื่องมาจากบทบาทของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ต่อต้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ยกเลิก
ม.112 ดังนั้นความเข้มข้นทางการเมืองในปัจจุบันก็สูง ในขณะเดียวกันการติดเชื้อโควิดก็สูงขึ้น
แต่ที่สำคัญในฐานะกลุ่มก้อนของนักต่อสู้มาสิบกว่าปีก็เกิดความร้อนแรงขึ้นมา เมื่อมีการจุดประเด็นว่าควรจะ "ยุบองค์กรนปช." หรือใช้คำว่า "ปิดฉากองค์กรนปช." ซึ่งก็เป็นเครื่องหมายคำถาม
อ.ธิดากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเราก็ยังต้องพูดเรื่องของเรา เพราะว่าดิฉันก็เห็นใจพี่น้องประชาชนซึ่งส่งความคิดเห็นแบบสำรวจมามากมาย ไม่ว่าจะผ่านทางเฟซบุ๊ค, Line Ovvicial ยูดีดีนิวส์, แฟนเพจของกลุ่มต่าง ๆ มาเป็นจำนวนมาก และเขียนด้วยความกระตือรือร้นในแง่ของความคิดเห็นอย่างอิสระ หรือกระทั่งตอบคำถามในลิ้งค์ของ Google Forms ก็ตาม ดิฉันคำนึงถึงหัวใจของท่านเหล่านั้นและคนที่กำลังอยู่ในระหว่างส่งข้อมูลเข้ามา
ฉะนั้นวันนี้ดิฉันก็จะคุยในประเด็น "วิเคราะห์แบบสำรวจความคิดเห็นต่อนปช. ณ ปัจจุบัน"
อ.ธิดากล่าว่า ก่อนอื่นท่านผู้ชมก็คงทราบแล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อมีการจุดพลุเรื่องยุบองค์กรนปช. แล้วมีคำถามจากสื่อ จากประชาชน เข้ามาที่ยูดีดีนิวส์และที่อ.ธิดาอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่เราจะแสดงความคิดเห็นเรื่องยุบ ในทัศนะของเราก็คิดว่าองค์กรประชาธิปไตยก็ต้องมีทัศนะมวลชน ก็ต้องทำให้ความคิดเห็นของประชาชนได้มีส่วนและปรากฎขึ้นมา นี่ก็เป็นเรื่องที่เราได้พูดมาแล้ว
ดังนั้นเราจึงมีการออกแบบสำรวจหลังจากที่ประชาชนมีความคิดเห็นโดยอิสระ ไม่มีใครชี้นำ ไม่มีใครพูดเรื่องการยุบองค์กรนปช. ก็มีเฉพาะประธานนปช.คนเดียวเท่านั้น ดิฉันเองไม่อยากให้พี่น้องประชาชนมองว่านี่เป็นเรื่องความขัดแย้งหรือทะเลาะ อาจจะมองเป็นความขัดแย้งก็ได้ แต่จริง ๆ มันยังไม่ใช่!
เมื่อมีการแสดงความคิดเห็นเข้ามาในเรื่องยุบองค์กรนปช. มันจะต้องมีคำตอบจากทุกฝ่าย ดังนั้น ถ้าประธานนปช.พูดไปแล้วและพูดอยู่คนเดียว แกนนำคนอื่น ๆ ก็ไม่ได้พูดเลย เมื่อเขามาถามอาจารย์ เราก็ต้องมีทัศนะที่ว่า เราอยากรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน แล้ววิเคราะห์ความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ เพราะว่าพวกเรามีส่วนเป็นเจ้าของทั้งหมด
นี่จึงเป็นเรื่องที่ยูดีดีนิวส์ได้ทำโครงการนี้ และโครงการนี้ไม่ได้คิดจะเชือดใครแบบที่สำนักข่าวที่สัมภาษณ์อาจารย์ แล้วไปพาดหัวว่า "เชือด" ถ้าได้อ่านหรือฟังที่ดิฉันพูดก็จะพบว่ามันไม่มีเลยเรื่องเชือดใคร และกำลังจะทำให้เป็นทางออกขององค์กรนปช.อย่างที่มีเหตุผลและอย่างที่น่าชื่นชมด้วย ไม่ว่าองค์กรจะอยู่หรือไปก็ตาม อ.ธิดากล่าว
และเมื่อปรากฎผลว่ามีความคิดเห็นจำนวนมากที่ว่าไม่อยากให้ยุบ ซึ่งตอนนี้มีคนตอบแบบสำรวจมา 700 กว่า (ไม่นับรวมที่ตอบอย่างเสรีในเฟสที่ 1 ซึ่งได้ประมาณพันกว่าความคิดเห็น) ขณะที่พูดอยู่นี้คือ 667 ความเห็น คำถามว่าควรยุบไหม เขาบอกว่าไม่ควรยุบ 92.1% และที่คิดว่าควรยุบ 7.9% และใน 7.9% นี้ กลับบอกว่าให้ปรับองค์กร
หรือคำถามที่ว่าควรเปลี่ยน "คณะนำ" หรือไม่? คำตอบว่า ควรปรับเปลี่ยนก็เกือบ 90% เหมือนกัน
คำถามที่ว่า เห็นด้วยกับเป้าหมายยุทธศาสตร์และนโยบายของนปช.หรือไม่? คำตอบว่าเห็นด้วยก็ 90 กว่าเปอร์เซ็น
อ.ธิดากล่าวว่า อันนี้เรารออยู่นะ ถ้าผ่านไปอีกสิบกว่าวัน ผลสำรวจนี้อาจจะมีการเปลี่ยนไปบ้างไม่มากก็น้อย แต่นี่นับจากต้นปีมาจนกระทั่งบัดนี้ ในส่วนของความคิดเห็นอิสระพันกว่าความคิดเห็นก็สูงกว่านี้คือ 90 กว่าเปอร์เซ็นไม่ให้ยุบ เอาอันนั้นก่อนก็ได้ ยังไม่พูดถึงเรื่องแบบฟอร์ม
อ.ธิดาเน้นย้ำว่า ดิฉันอยากจะให้พี่น้องเข้าใจว่านี่ไม่ใช่เรื่องทะเลาะ และอ.ธิดาจะไม่ทะเลาะกับพี่น้องเราหรือแกนนำ หรือคนที่คิดต่าง เพราะสิ่งที่เรามีความคิดเห็นนั้นจะเป็นเรื่องของหลักการ เป็นเรื่องจุดยืนของประชาชน และเป็นเรื่องของความจริง ไม่ใช่เรื่องการโจมตีตัวบุคคล อันนี้เราถือมาตลอด เพราะฉะนั้นดิฉันขอร้องพี่น้องว่า "อย่าพูดว่าทะเลาะกัน" นี่กำลังเป็นเรื่องที่เมื่อมีเรื่องราวเกิดขึ้นเราจะแก้ปัญหาหรือหาทางออกอย่างไร?
ในส่วนของยูดีดีนิวส์และส่วนของอาจารย์ ก็พยายามจะหาทางออก ซึ่งทางออกของเราก็คือรับฟังให้มาก พอมารับฟังอย่างนี้แล้ว บอกว่าไปเชือดคุณจตุพร (ประธานนปช.) ถ้าฟังให้ดีจะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องเชือด ตรงกันข้าม เป็นเรื่องหาทางออกด้วยความเข้าใจ แน่นอนว่าแกนนำก็อาจจะมีความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่ถ้ามีข้อมูลทั้งส่วนของประชาชนและส่วนอื่นให้มากดีกว่ามั้ย มันก็ต้องดีกว่า อ.ธิดากล่าว
ดิฉันอยากรู้ว่าการฟังความคิดเห็นประชาชนมันผิดตรงไหน
มันเลวตรงไหน?
มันไม่ดีตรงไหน? สำหรับขบวนประชาธิปไตย
เพราะฉะนั้น ใครที่มองว่าเป็นเรื่อง "เชือด" หรือตั้งใจทำลาย ดิฉันว่า
ต้องไปปรับทัศนคติใหม่นะ นั่นแปลว่า คุณมองไม่เห็นประชาชนอยู่ในสายตา...หรือเปล่า?
มันออกมาแบบนี้ซึ่งตัวดิฉันเองยังคิดไม่ถึง ก็ยังนึกว่าอาจจะมีครึ่ง ๆ นะ คือครึ่งหนึ่งบอกว่าให้ยุบ ไม่เห็นทำอะไรเลย อาจจะคิดอย่างนั้นก็ได้ และอีกครึ่งไม่ให้ยุบ ให้ทำงานตามบทบาทที่เหมาะสม ส่วนมากก็บอกเขาไม่ได้ต้องการให้รุกไปเป็นกองหน้า แต่เลือกบทบาทที่เหมาะสม แต่เขาไม่เห็นด้วยที่ให้ยุบ เราก็ต้องมานั่งวิเคราะห์
ดิฉันเองนอกจากคิดด้วยตัวเองแล้ว ก็ยังคุยหารือในทีมทำงานว่ามันเป็นเพราะอะไร? ดิฉันก็คิดว่าเท่าที่การตอบมา และประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะมีการชุมนุม ไม่ว่าจะมีการแรลลี่ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโรงเรียนการเมือง ดิฉันไปเปิดโรงเรียนซึ่งแต่ละโรงเรียนมีนักเรียนเป็นพัน ๆ คน เรียกว่านับหลายสิบโรงเรียนทั่วประเทศ ทำมาตั้งแต่ปี 2552 และมาทำอีกทีก็ 2554, 2555, 2556 และ 2557
ดิฉันก็เริ่มกลับมานั่งทบทวนและสัมผัสได้ว่าทำไมเขาถึงไม่อยากให้ยุบ มันเป็น "ความภาคภูมิใจ" ดิฉันสัมผัสได้จากสายตา ความยิ้มแย้มแจ่มใส ความสุขสดชื่นยามที่เขามาเข้าฟังในโรงเรียน ยามที่เขาแรลลี่ ความภาคภูมิใจที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ เขาเป็นส่นหนึ่งของนักเรียน ตอนนั้นเป็นโรงเรียนนปช.นี่แย่งกันเรียนเลยนะ ต้องถามคุณอดิศร เพียงเกษ ที่บอกว่ามีการพยายามมาเล่นเส้นว่าขอให้ได้เข้าเรียน เพราะเรารับได้ไม่หมด ให้เรียนทางทีวีก็ยังอยากจะมีส่วนร่วมได้นั่งอยู่ในห้องเรียนทีเ่ปิดจริง
ความภาคภูมิใจที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการประชาธิปไตยของนปช. ดิฉันคิดว่าเขามีอยู่สูงมาก ความผูกพันที่เขาเริ่มต้นการต่อสู้ บางคนอาจจะมาเริ่มต้นในปี 2552 บางคนเริ่มตั้งแต่ 2549 บางคนก็มาเริ่มปี 2553 บางคนก็หลังปี 2553 แต่ว่ามันเป็นความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่ง แปลว่าเขาภูมิใจในตัวเขา
ดังนั้น พอบอกว่า "ปิดฉาก" พอเกิดบอกว่า "ยุบ" มันก็เกิดความรู้สึกที่เสียใจ รับไม่ได้ หรือเปล่า? ส่วนหนึ่งดิฉันคิดว่าอันที่หนึ่ง นี่เป็นความภาคภูมิใจที่ว่าตัวเองได้เป็นส่วน เป็นสมาชิก และไม่ต้องการทำลายสิ่งนี้ ดังนั้นจึงไม่อยากให้ยุบ หรือเปล่า? ดิฉันได้ถามทีมงานที่เขาได้อ่านความคิดเห็นด้วย เขาก็บอกว่าเป็นอย่างนั้น คือ เสียใจ
อันที่สอง หลายคนนอกจากภาคภูมิใจแล้ว ยังมีความรู้สึกว่ามีบาดแผลของการถูกปราบปราม การเข่นฆ่า ซึ่งดิฉันได้ตอบคำถามของ Way Magazine เขาถามว่าบาดแผลนี้ยังมีอยู่ไหม? ดิฉันบอกว่า "มี" และตัวนี้แหละอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาไม่อยากยุบนปช. นั่นก็คือยังต้องมีองค์กรที่ตามทวงถามความยุติธรรม ติดตามกลุ่มคนที่ต้องรับผิดชอบและเป็นจุดที่มีสายสัมพันธ์ของคนที่ถูกกระทำจากเหตุการณ์เหล่านี้ เขาอาจจะมองว่ายุบไปแล้วจะมีใครที่จะมาทวงถาม เพราะงั้นถอเขาถามว่ามีบาดแผลมั้ย ดิฉันก็บอกไปว่า "มี" และมันยังสดนะ ภาพเหล่านั้นมันยังอยู่ มิฉะนั้นจะไม่มีพี่น้องประชาชนออกไปขับเคลื่อนร่วมกับเยาวชน ไม่ต้องมีใครไปส่งมอบมรดกอะไร เขาไปของเขาเอง เพราะคนเหล่านี้ ถ้าเป็นการศึกษาการต่อสู้ ดิฉันคิดว่าเขาเลยประถม มัธยม จนบางคนอาจจะจบมหาวิทยาลัย บางคนเหมือนกับจบปริญญาเอกไปแล้วด้วย คือได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง
ดังนั้น ด้านหนึ่งมีความภาคภูมิใจ ด้านหนึ่งยังมีความเจ็บปวด สองอย่างนี้กระมังที่จะเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาไม่อยากยกเลิกองค์กรนปช. และยอมรับได้ว่าองค์กรนปช. ไม่ใช่องค์กรรุกในทางการเมือง ด้วยขีดจำกัด ไม่ว่าจะเป็นแกนนำที่มีปัญหาเรื่องคดีความ ด้วยขีดจำกัดของสุขภาพแต่ละคน (อ.ธิดาก็แก่ลงไปทุกวันเหมือนกัน) ความร่วงโรยไม่ใช่แต่เฉพาะแกนนำ พี่น้องประชาชนก็ด้วย แต่เราก็ยังเห็นผู้สูงอายุต่าง ๆ อย่างเมื่อวานนี้กรณีที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือสามย่านมิตรทาวน์ หรือสมุทรปราการ เราไม่ได้เห็นเฉพาะเยาวชนนะ แต่เราจะเห็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ซึ่งคนเหล่านั้นก็คือคนเสื้อแดง ที่มีองค์กรนปช.นำหรือไม่มีก็ตาม แต่ว่าทุกคนได้เรียนรู้การต่อสู้จนมากพอที่สามารถจะตัดสินใจเองว่าควรและไม่ควรทำอะไรทางการเมือง
เพราะฉะนั้น เขาไม่ต้องการให้ยุบองค์กรนปช. ไม่ใช่ว่าเขาต้องการพึ่งพาให้แกนนำไปชี้ว่าเขาต้องทำอะไร อาจารย์คิดอย่างนั้นนะ แต่มันเป็นสัญลักษณ์ของความภูมิใจและสัญลักษณ์ของความเจ็บปวด ใช่หรือเปล่าไม่รู้ ใครมีความคิดดีกว่านี้ช่วยบอกอาจารย์ที และเพื่อจะให้รู้ แม้กระทั่งคนที่คิดต่าง อาจารย์ต้องมานั่งคิดว่าทำไมเขาถึงไม่อยากให้ยุบ อันนี้เป็นการแสดงอย่างจริงใจว่า ไม่ใช่ว่าอยู่กันคนละที่ทำงานแล้วจะต้องขัดแย้งหรืออะไร ไม่ใช่!
สิ่งที่ทำสำหรับ อ.ธิดา ก็คือ
1. ความจริง
2. หลักการ
3. ทุกอย่างที่เป็นผลประโยชน์ประชาชน
ดังนั้น ไม่ทะเลาะใคร ไม่ขัดแย้งในเรื่องส่วนตัวใคร และไม่เกี่ยวกับเรื่องตำแหน่งประธานหรือไม่เป็นประธาน แต่ว่าเราจะทำอย่างไรที่จะรักษาหัวใจพี่น้องประชาชน รักษาผลประโยชน์ของการต่อสู้ประชาชน และคนที่ต่อสู้ทั้งหมดต้องมีที่ยืน ได้รับการเคารพ แม้นเขาจะเป็นประชาชนธรรมดา และเขาก็เป็นเจ้าของการต่อสู้ทั้งหมด แกนนำก็เหมือนเม็ดกรวดเม็ดทราย ที่สำคัญก็คือ ถ้าแกนนำล้าหลัง ประชาชนเขาก็วิพากษ์ได้
ดังนั้น ตัวอ.ธิดาไม่ขัดแย้งกับใคร เพราะว่าพี่น้องประชาชนก็จะเป็นคนที่ตัดสิน ในอดีตอาจารย์ยังเคยถูกวาดเป็นการ์ตูน ทำเป็นรูปสวมมงกุฎหนาม เพราะว่าอาจารย์ถูกแกนนำมาโจมตีด่าทอเป็นจำนวนมาก (ขึ้นหน้าหนึ่งไทยรัฐ) แล้วตอนหลังบางคนก็มาขอขมาด้านหลังเวที แต่อาจารย์ก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร และก็ไม่ไปทะเลาะกับใคร ก็ชี้แจง แล้วคนที่เข้าใจจริง ๆ คือประชาชน อ.ธิดากล่าว
แต่ถ้าประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นต่อการปฏิบัติงาน อย่างตอนนั้นอาจารย์เป็นประธานนปช. อันนี้สำหรับอาจารย์ไม่ได้เลยนะ เราต้องมีทัศนะมวลชน เราต้องสำรวจ ก็คือ สำหรับประชาชนนั้นต้องเรียกว่า "ผู้พูดไม่ผิด ผู้ฟังพึงสังวร" หมายความว่าประชาชนโจมตี เขาไม่ผิด ผู้ฟังก็หมายถึงแกนนำ เป็นผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้ต้องรับผิดชอบ ต้องรับฟัง พึงสังวร ไปด่าเขาไม่ได้ (ด่าประชาชนไม่ได้)
แต่ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติงานหรือเป็นแกนนำด้วยกัน เวลาคุยอะไรก็ตาม เขาเรียกว่า "ถ้าไม่สำรวจข้อมูล ไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็น" ก็คือถูกเรียกร้องมาอีกระดับหนึ่ง สำหรับคนที่เป็นแกนนำ เป็นผู้ประสานงาน คือไม่ใช่ฟังแล้วพูดตามคน จะต้องเก็บข้อมูลและสำรวจ ซึ่งอาจารย์ผ่านการต่อสู้ที่ถูกบ่มเพาะมาแบบนี้ คือ ถ้าไม่สำรวจ ไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็น ก็แปลว่าคุณพูดเอาเอง
นี่ก็คือ วิเคราะห์แบบสำรวจความคิดเห็นเพื่อตอบข้อสงสัย อาจารย์ได้มาแค่สองข้อ คือความภาคภูมิใจกับความเจ็บปวด ถ้าใครได้มากกว่านี้ก็ช่วยบอกมา อ.ธิดากล่าวในที่สุด.