ธิดา
ถาวรเศรษฐ :
จากข้อเรียกร้อง “หยุดคุกคามประชาชน” สู่สัญลักษณ์ “ค้อนเคียว”
ยูดีดีนิวส์
: 9 ธ.ค. 63 วันนี้ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้มาสนทนาผ่านการทำเฟสบุ๊คไลฟ์
หลังจากเข้าเยี่ยม “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดย อ.ธิดา
กล่าวว่า เราได้ตั้งความหวังว่าคุณณัฐวุฒิน่าจะได้ออกจากเรือนจำภายในปีนี้จะเป็นไปได้หรือเปล่า?
หรืออาจจะเป็นต้นปีหน้า เพราะได้ผ่านการพระราชทานอภัยโทษมาสองรอบ ได้ลดโทษไปสองรอบ
และเข้าใจว่าหลายคนคงจะได้รับการปล่อยตัว เช่น จ่าประสิทธิ์ เป็นต้น
ซึ่งครั้งนี้เป็นพระราชกฤษฎีการอบที่สอง
นี่คือเรื่องราวของแกนนำนปช.ในอดีตซึ่งยังมีคดีความมากมาย
นี่เป็นคดีชุดแรกคือปี 2551 เราก็ยังมีปี 2552, 2553
ที่ยังต้องเรียกร้องความยุติธรรม ยกตัวอย่างเช่นในปี 2553
ที่มีการนำเสนอไปว่าคนที่อยู่ในเรือนจำไม่ได้รับหมายที่ศาลอุทธรณ์แจ้งมา
จึงไม่ได้รับการขยายคำอุทธรณ์ ดังที่คุณณัฐวุฒิได้แจ้งไปแล้ว
นี่ก็เป็นเรื่องราวชะตากรรมของนักต่อสู่
ถ้าเทียบกับปัจจุบันก็ถือว่าเป็นนักต่อสู้รุ่นก่อน
แต่ชะตากรรมของนักต่อสู้ในปัจจุบันซึ่งเป็นเยาวชน ดูท่าว่าก็ไม่น้อยหน้ากว่านักต่อสู้ในอดีตทีเดียว แม้กระทั่งเป็นเยาวชน
เพราะเท่าที่ทราบคดีความทั้งหมดร้อยกว่าคดี อัพเดตล่าสุด 119 คดี เป็นการฟ้องเยาวชนที่ต่ำกว่าอายุ
18 ปี 7 คดี ส่วนของผู้ใหญ่ 112 คดี มันมีแต่จะมากขึ้นและเพิ่มโทษมากขึ้น
ดังนั้นเราจึงมีปรากฏการณ์ของเรื่องราวระหว่างสองฟากฝ่าย
คือฟากฝั่งรัฐบาลกับฟากฝั่งประชาชน ฟากฝั่งของรัฐบาลที่บอกให้ถอยคนละก้าว จริง ๆ
ไม่มีการถอยเลย มีแต่การเดินไปข้างหน้า
คือจับกุมคุมขังและเพิ่มคดีอย่างไม่บันยะบันยัง ในส่วนฝั่งประชาชนก็มีการยกระดับความเข้มข้นในการเรียกร้องไปเรื่อย
ๆ ดังนั้นวันนี้ที่ดิฉันจะคุยก็คือ
จากข้อเสนอ
“หยุดคุกคามประชาชน” มาสู่สัญลักษณ์ “ค้อนเคียว”
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่น่าเชื่อว่าเพียงครึ่งปี ข้อเสนอของฝ่ายเยาวชน (เยาวชนปลดแอก) ถ้าท่านผู้ชมจำได้ว่าข้อเสนอครั้งแรกของเขาเป็นข้อเสนอที่ต่ำเตี้ยที่สุดซึ่งควรจะทำได้ คือ
1) หยุดคุกคามประชาชน
2) แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยึดโยงกับประชาชน
3) ยุบสภาเลือกตั้งใหม่
สามข้อนี้เป็นข้อเสนอซึ่งเรียบร้อยมาก
ใคร ๆ ก็ชมบอกว่าอยู่ตรงนี้นะ หลายคนเป็นห่วง ถ้าเสนอยึดตามสามข้อนี้มันควรจะเป็นไปได้
แต่ปรากฏว่าสามข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการดูแล การเข้าใจและการปรับปรุงแม้แต่น้อย
หยุดคุกคามประชาชนเหรอ...ทั้งหมดคดีเป็นร้อยแล้ว จับทุกวัน พูดง่าย ๆ ว่า
นอกจากคุกคามโดยการปราบปรามโดยการใช้แก๊สน้ำตาแม้กระทั่งกับเด็ก ๆ แล้วก็ยังใช้กฎหมาย
เด็กอายุไม่ถึง 18 ปี โดนมาตรา 116 ซึ่งไม่น่าเชื่อ แปลว่าไม่สนใจที่ชาวบ้านธรรมดาเขาพูดกันว่าเป็นผู้ใหญ่รังแกเด็กไม่ได้
แต่นี่เป็นงานทางการเมือง เด็กมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพแล้วกลายเป็นว่ามาเจอข้อหา
มาตรา 116 มาตรา 112
อะไรที่เราไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดมันก็เกิดขึ้น
เราไม่เคยคิดว่าเยาวชนและเด็กมัธยมตัวเล็ก ๆ
จะออกมาเรียกร้องกันอย่างเป็นขบวนการใหญ่โต แล้วก็มีผู้คนมาร่วมนับแสนคน
และแต่ละครั้งนับหมื่นคน เราไม่เคยคิดว่าภาวะการนำของเยาวชนจะสามารถเรียกผู้คนได้ขนาดนี้
ทั้งหมดเป็นเพราะว่าอำนาจรัฐจารีตนิยมกับอำนาจนิยมนี่แหละสร้างพวกเขาขึ้นมา
แทนที่จะมีการสำเหนียก
และถ้าคุณเป็นพุทธศาสนิก คุณต้องเริ่มต้นว่าเหตุที่เกิดขึ้นคืออะไร ทำไมเขาต้องออกมาเรียกร้อง
แทนที่เขาจะไปเรียนหนังสือ สอบให้ได้ทุนแล้วไปเรียนต่อต่างประเทศ แล้วได้ทำงาน
แทนที่จะหาความสุขความบันเทิง ทำไมเขาต้องออกมาอย่างนี้ นี่เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่
ผู้มีอำนาจปัจจุบันควรจะคิดได้ แล้วทำไมคนถึงตอบสนองจำนวนมาก ทำไมเด็กตัวเล็ก ๆ
ก็ยังออกมาแล้วก็ได้รับการชื่นชม
แต่นี่ไม่สำเหนียกอะไรเลย
ปรากฏว่าใช้วิธีการแบบดั้งเดิม ปราบ! จับ! ดำเนินคดี! ขัง! แล้วด้วยวิธีที่น่าเกลียดด้วย
จนกระทั่งมีการนำเสนอไปสู่กรรมาธิการ ดิฉันก็เศร้าใจ คือความเป็นจริงประเทศไทยนั้น
จารีตนิยมกับอำนาจนิยมครองอำนาจมานาน โดยวิธีแบบที่คุณเรียกกันเองว่า แบบไทย ๆ
และพุทธศาสนิก มันไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น นี่แปลว่าหน้ามืดตามัวถึงขนาดว่าเด็กมาสอนมวย
พยายามชี้ทางรอดของประเทศก็ยังไม่ยอมที่จะปรับปรุง กลับไปจัดการเด็ก
มันก็ไม่รู้จะพูดยังไงละ!
ก็พยายามจะคิดว่ามีคนมาครอบงำ
มีคนมาชี้นำ อเมริกามาครอบงำ พรรคการเมืองบางพรรค นายทุนบางคนมาครอบงำ
จากข้อเรียกร้อง
“หยุดคุกคามประชาชน” แล้วก็ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” แล้ว “ยุบสภา” เรียบ ๆ คุณไม่ถอยเลย
(ที่บอกถอยคนละก้าว)
ในประเด็นหยุดคุกคาม
ไม่ได้หยุดคุกคาม กลับรุกหนัก!
ในประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ
กลายเป็นว่าขณะนี้รัฐธรรมนูญที่พยายามจะแก้ ม.256 นั้นแก้ยากกว่ารัฐธรรมนูญ 60
อีกนะ ต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ยิ่งหนักไปกว่าเดิมอีก พูดง่าย ๆ
ว่าไม่มีจิตสำนึกเลยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้าและดีกว่า 60
ที่ยึดโยงกับประชาชนดีกว่า 60 ที่รับฟังเสียงฉบับประชาชนแล้วปรับปรุง
อย่างน้อยก็ระดับหนึ่ง ไม่มีเลย!
จากนั้นกลุ่มเยาวชนก็นำเสนอชุดที่สองก็คือ
ประยุทธ์ออกไป - แก้ไขรัฐธรรมนูญ - ปฏิรูปสถาบันฯ
เห็นมั้ยว่าบันไดมันขึ้นแล้ว เพราะข้อเสนอสามข้อแรกไม่ได้รับการตอบสนอง
พอข้อเสนอชุดที่สองนี้ ประยุทธ์ออกไปมั้ย ไม่ออก! ทำท่าจะอยู่นาน
แก้ไขรัฐธรรมนูญก็พยายามจะขยับ แต่ในเนื้อแท้จริง ๆ ร่างฯ
แม้กระทั่งของรัฐบาลก็ยังถูกตกแต่งให้ล้าหลังยิ่งกว่า 60 ปีก ยิ่งหนักเข้าไปอีก ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่มีความหวัง
เพราะปฏิเสธร่างฯ ฉบับประชาชนที iLaw นำเสนอ
และปัจจุบันเป็นเหมือนการแสดงละคร พวกสุดโต่งทั้งหลายก็เข้าไปเป็นกรรมาธิการ
เหล่านี้ไม่มีทางเลยว่ารัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้าจะเกิดขึ้นได้กับรัฐบาลและการเมืองการปกครองยุคนี้
ส่วนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งหลายคนก็เป็นห่วง ไม่อยากให้เยาวชนนำเสนอ
แต่ดิฉันมองแล้วว่า เขามาสู่จุดนี้ได้ก็เพราะว่ารัฐบาลไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องง่าย
ๆ ไม่จริงใจที่จะให้มีการปฏิรูปการเมืองการปกครอง
การปฏิรูปการเมืองการปกครองมันก็เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ
นั่นแหละ
เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า
นั่นแหละ
ถ้าคุณไม่คุกคามประชาชน
ถ้าคุณจริงใจในการที่จะทำให้รัฐธรรมนูญก้าวหน้า มันคือการปฏิรูปประเทศ
การปฏิรูปสถาบันฯ ก็อยู่ในนี้หมด
เพราะข้อเรียกร้องของเยาวชนนั้นก็คือให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
มันก็ควรจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี รัฐธรรมนูญที่อำนาจอธิปไตยยึดโยงและเป็นของประชาชน
ไม่ใช่อำนาจอธิปไตยเป็นของคณะบุคคลคณะหนึ่งซึ่งมีทั้งผู้ถืออาวุธ
มีทั้งผู้ถืออำนาจรัฐอย่างอื่น
แต่ห่างไกลจากประชาชนจนไม่สามารถให้ความยุติธรรมกับผู้คนอย่างเท่าเทียมกันได้ อยากให้เข้าใจว่า
ความล้มเหลว หรือความไม่ต้องการจะปรับปรุง ความไม่ต้องการจะปฏิรูปประเทศ
และไม่ต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนี่แหละเป็นที่มา
ปัจจุบันนี้ในเพจ
เยาวชนปลดแอก – Free
YOUTH เข้าไปดูแล้วตกใจกันใหญ่! เพราะว่ามันมีพื้นสีแดงและมีสัญลักษณ์ตัว
RT ซึ่งเขาหมายความว่า RESTART แต่ว่าพอมองไป
มันคล้าย “ค้อนกับเคียว” ก็ตกอกตกใจกันใหญ่ มันก็มีวิธีคิดได้หลายแนว
แนวหนึ่งก็มีคนจำนวนมากที่เข้าใจเยาวชนและเข้าใจการต่อสู้ประชาชน
ก็พยายามจะอธิบายว่า อันนี้เป็นการพยายามจะขยายให้เห็นว่าผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นผู้ถูกกดขี่ก็จะต้องมาสามัคคีด้วยกันกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก
คือเยาวชนปลดแอกตอนแรกเขาตั้งชื่อ
“เยาวชนปลดแอก” ตอนหลังเขาเปลี่ยนเป็น “ประชาชนปลดแอก”
ก็หมายความว่าเขามีความคิดที่จะขยายให้ประชาชนทุกส่วนมาร่วม
เราก็จะเห็นภาพว่ามีการเชิญชวนประชาชนทุกฝ่าย รวมทั้งคนเสื้อแดงซึ่งเคยต่อสู้ในสิ่งเดียวกันในอดีตมาร่วมการต่อสู้
ดิฉันก็เข้าใจว่าตอนแรกคนเสื้อแดงจริง ๆ ก็เกรงใจและเป็นห่วงว่าถ้าเข้ามาร่วมจะทำให้น้อง
ๆ เขามีปัญหาหรือเปล่า?
แต่ในที่สุดเยาวชนเขาก็เข้าใจว่าลำพังพวกเขาจะทำให้การเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นมันไม่ได้
ดังนั้นหลักเกณฑ์ของการขยายฐานแนวร่วมและประชาชนก็ยังเป็นหลักเกณฑ์ที่เหมือนกันอยู่ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดง
แบบที่นายกฯ มาพูด “ปวดหัว ทีแรกก็คนเสื้อแดง ตอนนี้ค้อนเคียว”
มันไม่เห็นต้องงงเลย เพราะเขาต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ
เขาจะทำด้วยมือของเขาจำนวนหนึ่งมันไม่ได้ มันต้องอาศัยมือของประชาชนส่วนต่าง ๆ
ทุกฝ่าย แม้กระทั่งคนที่เคยเป็นฝ่ายจารีตนิยม หลายคนก็เปลี่ยนใจ
เพราะเขาทนไม่ได้กับรัฐบาลนี้ ทนไม่ได้กับคุณประยุทธ์ เพราะเขากลัวประเทศชาติจะพัง! หลายคนก็เข้ามาร่วม
ดังนั้นการขยายฐานแนวร่วมเพื่อจะทำให้เปลี่ยนแปลงประเทศนั้น
ควรจะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้
คำถามต่อมาว่าแล้วทำไมต้องเป็น
“ค้อนเคียว”
“ค้อน”
หลายคนก็รู้ว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ใช้แรงงานทางกาย คือ กรรมกร
“เคียว”
ก็เป็นสัญลักษณ์แต่โบราณของชาวนา
แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันมันก็คือผู้ถูกกดขี่ที่เป็นคนชั้นล่างซึ่งเป็นคนจนอยู่ในเมือง
คนจนอยู่ในชนบท
ดิฉันตามเข้าไปดูในเพจ
ก็ต้องยอมรับความจริงว่า “ค้อนเคียว” ไม่ได้ทำสวย ๆ เขาหมายอย่างนั้นจริง ๆ หมายอย่างที่ดิฉันพูดคือ
“ผู้ใช้แรงงาน” เขาก็มีความพยายามจะอธิบายเรื่องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจริง ๆ
ถ้าเป็นฝ่ายซ้ายรุ่นเก่าก็อธิบายได้ว่ากรรมกร มันก็มีกรรมกรปกขาว ปกน้ำเงิน
คือผู้ใช้แรงงานสมอง กับแรงงานกาย ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามที่จะขยายฐาน
ในทัศนะของดิฉันนะ ขอให้เข้ามาร่วมในการต่อสู้โดยมองไปที่ผู้ที่ถูกกดขี่ เพราะในขณะนี้เราจะเห็นว่าเขาขยายไปในส่วนผู้พิการ
LGBT เยาวชนต่าง ๆ ตอนนี้ต้องการเน้นในส่วนของผู้ใช้แรงงานทุกส่วนด้วย
ซึ่งความจริงในประเทศไทยดิฉันอยากจะบอกและฝากไปถึงเยาวชนด้วยว่า
จะเป็นชาวนาหรือกรรมกร ในอดีตนั้นอาจจะแยกกัน แต่ในปัจจุบันนี้ในสังคมไทย
คนที่เป็นมวลชนพื้นฐานเหล่านี้ถ้าพูดตรง ๆ ในอดีตมันก็คือ “เสื้อแดง” นั่นแหละ
ในเสื้อแดงแต่ละพื้นที่มีทั้งกรรมกร ชาวนา ผู้ค้ารายย่อย และกลุ่มส่วนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นมันผ่านการต่อสู้ที่หล่อหลอมจากยุค
14 ตุลา ซึ่งพยายามจะให้สหภาพแรงงาน
พยายามจะให้กลุ่มของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่เข้ามามีส่วนร่วม
การต่อสู้ตั้งแต่รัฐประหารปี 49 ของคนเสื้อแดงและนปช. มันได้หลอมรวมคนจนเมืองและคนชนบทเป็นคนเสื้อแดงในพื้นที่ต่าง
ๆ เรียบร้อยแล้ว และมันมีการร่วมส่วนในการต่อสู้ของพรรคการเมืองด้วย
อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ดิฉันอยากจะเพิ่มเติมว่า คำว่ากรรมกรและชาวนานั้น ในปัจจุบันในประเทศไทยมันได้หลอมรวมเป็นคนจนเมืองกับคนจนชนบท
แต่เราเข้าใจได้ว่าสิ่งที่มีการนำเสนอในเพจเยาวชนปลดแอกซึ่งดิฉันตามไปดูก็มีกลุ่มที่เป็นพวกศึกษาลัทธิมาร์กซ์จำนวนหนึ่ง
อย่าตกใจ หลายคนเห็นสัญลักษณ์ค้อนเคียว ตกใจ! ไม่ต้องตกใจ มันเป็นสัญลักษณ์คลาสสิกที่หมายถึงผู้ใช้แรงงาน
ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีจริง
และในประเทศไทยตอนนี้มันหลอมรวมเป็นเสื้อแดงในส่วนต่าง ๆ แล้ว นั่นก็ส่วนหนึ่ง เพราะว่ากรรมกรเขาไม่ได้มาในลักษณะสหภาพ
แต่เขามาในนามประชาชนผู้รักประชาธิปไตย อันนี้เป็นพัฒนาการของการต่อสู้ในสังคมไทยที่ได้มีการหลอมรวมกันแล้วระดับหนึ่ง
อีกอันหนึ่งก็คือว่า
ก็ยังมีความวิตกกังวลว่าคนเหล่านี้จะเอาลัทธิคอมมิวนิสต์มาหรือเปล่า? ดิฉันอยากจะเรียนว่าถ้าเราศึกษาประเทศต่าง
ๆ โดยเฉพาะประเทศตะวันตกและประเทศยุโรปเหนือ
คืออย่าไปกังวลว่าเด็กเหล่านี้จะไปเอาลัทธิคอมมิวนิสต์มา
คือกลุ่มที่เอามาเขียนอาจจะสนใจลัทธิมาร์กซ์ ซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมดา
ถ้าคุณเรียนรัฐศาสตร์ คุณเรียนประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งวรรณกรรม คุณก็ต้องศึกษาปรัชญาต่าง
ๆ และวิธีคิดของเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนในอดีต
มันยังมีส่วนที่เป็นประโยชน์เขาก็เอามาใช้
ปัจจุบันประเทศไทยไม่มี
พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ เลิกไปนานแล้ว สงครามเย็นมันจบไปแล้ว ดังนั้นสัญลักษณ์ “ค้อนเคียว”
มันเป็นสัญลักษณ์ที่คลาสสิก แสดงให้เห็นถึงการสนใจคนชั้นล่างและมวลชนพื้นฐานมากกว่า
แล้วต้องการชี้ให้เห็นว่าปัญหาของผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่นั้น เป็นเรื่องที่ผู้ถูกกดขี่ต้องสามัคคีกัน
และกรอบของมันไม่ใช่สงครามปฏิวัติแบบประเทศจีน, เวียดนาม มันเลยไปแล้ว
อย่าลืมว่าเยาวชนเหล่านี้ ณ ปัจจุบันเขาก็ยังเข้มงวดกับการต่อสู้ “สันติวิธี”
ดังนั้น
คำว่า “ปฏิวัติ” ก็ไม่ต้องกลัว มันเป็นการต่อสู้ทางความคิดมากกว่า
เป็นการนำเสนอเพื่อที่จะให้มีการถกกันทางความคิด ให้มีคนคุยกัน แต่มันไม่ใช่สงครามที่ต่อสู้ด้วยอาวุธแบบที่
พคท. หรือพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเดี๋ยวนี้รัฐบาลก็นิยมชมชื่น
เพราะฉะนั้นเห็น “ค้อนกับเคียว” แล้วกลัวทำไม คุณเจออยู่เกือบทุกวัน
ตอนนี้คุณจะได้เลิกคิดว่าอเมริกาหนุนหลัง
เพราะถ้าอเมริกาหนุนหลังมันจะมีสัญลักษณ์ “ค้อนเคียว” ได้อย่างไร?
แล้วประเทศจีนก็จะได้เลิกวิตกกังวลว่าเป็นพวกฮ่องกงมาหนุนหลังหรือเปล่า?
เพราะถ้าฮ่องกงหนุนหลังแล้วจะมี “ค้อนเคียว” ได้อย่างไร?
นี่ดิฉันประเมินความคิดเขานะ
ก็คือต้องการจะสามัคคีผู้ถูกกดขี่ ผู้ที่เป็นมวลชนพื้นฐานมากกว่า ก็ไม่อยากให้ตกอกตกใจ
อย่าตกใจมาก และก็มองว่าลัทธิมาร์กซ์ โดยเฉพาะปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธี
ปรัชญาวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ในส่วนของปรัชญามันยังเป็นวิทยาศาสตร์
แต่นี่คือความพยายามของแต่ละวิธีคิด ชุดความคิด ในการที่จะแก้ปัญหาคนยากจน
ทำอย่างไรไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำ ทำอย่างไรให้มีความยุติธรรมถ้วนหน้า
มันก็ต้องมีวิธีคิดหลายวิธี
ดังนั้น
การที่มีการชูสัญลักษณ์ “ค้อนเคียว” ไม่ควรจะตกใจจนประสาทเสีย
นี่แสดงให้เห็นว่าในหมู่เยาวชนนั้นเขาเป็นเสรีชน เขาก็มีความคิดหลากหลาย
แต่ตราบใดที่การหลากหลายยังอยู่บนเส้นทางของการต่อสู้แบบสันติวิธี แล้วใช้กลยุทธอยาจจะแตกต่างกันไป
มันก็พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีใครครอบงำเขา ไม่มีใครสั่งเขา เขาจึงมีวิธีคิดที่หลากหลายได้
ให้มองในแง่ดีเหมือนกับปัญหาปฏิรูปสถาบันฯ ก็คือว่า นำปัญหาเหล่านี้มาถกเถียง
มาขบคิด แล้วทำให้ความคิดนั้นพัฒนา
เพราะฉะนั้น
“รัฐบาล” คุณไม่ต้องมาตกใจ!
วันก่อนมีเรื่อง “คนเสื้อแดง” ตกใจว่าตอนนี้มี “ค้อนเคียว”
ตกใจทำอะไร? ไปหาอ่านหนังสือเสียบ้าง อาจารย์ก็ต้องอยากลงท้ายด้วยแบบของอาจารย์ศิลป์
พีระศรี ว่า “ถ้านายไม่อ่านหนังสือ นายจะไปรู้อะไร” เพราะฉะนั้น นายกลัวค้อนเคียวทำไม?
ไม่เห็นต้องกลัวเลย แล้วทุกวันนี้คุณก็ต้องต้อนรับประเทศจีนอยู่ตลอดเวลา
จะได้หายประสาทว่าอเมริกาหนุนพวกนี้ นี่ก็คือข้อดีเหมือนกันนะ นี่คือความหลากหลาย
ดิฉันก็คิดว่าไม่มีอะไรดีเท่ากับว่าเราเอาไฟฉายส่องไปในทุกมุมมืด
แล้วนำปัญหาทุกอย่างมาถกแถลงกัน แล้วทำให้คนไทยมีสติปัญญา แทนที่จะแอบซุบซิบกันมืด
ๆ ดังที่ดิฉันเคยบอกแล้วว่า ถ้าคุณยอมให้เขา “ปฏิรูป” คุณก็ไม่ต้องกลัวคำว่า “ปฏิวัติ”
แล้วก็ไม่ต้องไปคิดถึงเลยคำว่า “สาธารณรัฐ” เลิกพูดได้ แม้กระทั่งรัฐสวัสดิการ
ในประเทศยุโรปเหนือก็เป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ แต่เขาจะแก้ปัญหาคนยากจน
แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไร มันก็มีชุดทฤษฎี ในวันนี้ดิฉันพูดแล้วมันก็ยาวแต่เห็นได้ชัดว่าเขาพยายามที่จะตอบโจทย์อีกอย่างหนึ่งว่า
ประเทศไทยนอกจากมีระบอบศักดินา มีเผด็จการทหาร
แต่มีทุนนิยมที่เป็น "ลัทธิเสรีนิยมใหม่" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
อันนี้เป็นสิ่งที่เขาเติมเพิ่มขึ้นมา เพื่อให้ทำความเข้าใจเรื่องของนายทุนหรือระบอบทุนนิยมที่เผด็จการไทยและจารีตนิยมไทยใช้
ก็คือ “ลัทธิเสรีนิยมใหม่” ที่ทำให้ความแตกต่างระหว่างคนจนกับคนรวยยิ่งห่าง
ดิฉันคิดว่าอย่าไปวิตกมากกับเรื่องสัญลักษณ์
“ค้อนเคียว” ก็มาลองคุยกันดู ก็ให้กำลังใจว่าความรู้กับข้อมูลเป็นอาวุธที่ดีที่สุด
เปลี่ยนแปลงประเทศโดยการ “ปฏิรูป” ยอมเสียดี ๆ อย่าให้มีการยกระดับที่มากไปกว่านี้
อันนี้น่าจะเป็นคำตอบ อ.ธิดากล่าวในที่สุด.