ยูดีดีนิวส์
: 18 พ.ย. 63 ที่เฟสบุ๊คแฟนเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้มีการทำเฟสบุ๊คไลฟ์
โดยประเด็นสำคัญที่สนทนากับท่านผู้ชมเป็นกรณีสืบเนื่องจากสถานการณ์การนัดชุมนุมของ
“คณะราษฎร” หน้ารัฐสภา เกียกกายเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา โดย อ.ธิดา
ได้กล่าวว่า
วันนี้มาเฟสบุ๊คไลฟ์หลังสถานการณ์วันที่
17 พ.ย. อันเนื่องมาจากปัญหาของการยื่นร่างฯ ขอแก้ไขรธน.ฉบับประชาชน
สืบเนื่องมาจากการที่ภาคประชาชนพยายามที่จะใช้สิทธิของประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศนี้
หนึ่งในข้อเรียกร้องจึงเป็นการขอแก้ไขรธน. และเป็นการยื่นร่างรธน.ฉบับประชาชนที่มีโอกาสเข้ารัฐสภาเป็นครั้งแรก
เพราะของนปช.ทำมาสองรอบไม่ได้เข้ารัฐสภา บางทีก็อยู่ที่ลำดับ บางครั้งก็โหวตตกเลย
ดังนั้นส่วนภาคประชาชน
“คณะราษฎร” เราจึงเห็นภาพเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่มีการไปรอรับฟัง
ใครอาจจะตีความว่ากดดันหรือเปล่า? ก็มีทั้งสองข้างในการที่ไปให้กำลังใจ
อีกด้านหนึ่งด้านมองด้านบวกก็ไปให้กำลังใจฝ่าย iLaw
ที่เข้าไปพูดคุยในรัฐสภาเพื่อประกอบร่างฯ ที่นำเสนอเข้าไป แต่ฝ่ายที่ไม่พึงพอใจก็อาจจะมองว่าเป็นการกดดันก็ได้
แต่ก็ปรากฏว่ามีทั้งสองส่วนคือส่วนที่มีการเข้าไปให้กำลังใจวุฒิสมาชิกและฝ่ายที่ไม่รับร่างแก้ไขรธน.
พูดง่าย ๆ ว่าฝ่ายจารีตนิยมในรัฐสภาและนอกรัฐสภาก็แสดงบทบาทเมื่อวานนี้ และฝ่ายเสรีนิยมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นประชาธิปไตยที่อำนาจอยู่ที่ประชาชนแท้จริงทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภาก็แสดงบทบาท
เพราะฉะนั้นวันนี้ที่จะพูดก็คือว่า
มันก็เปิดปรากฏการณ์ของการปราบปรามประชาชน
ดิฉันมองว่าประเด็นที่เราจะพูดวันนี้ก็คือ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐตั้งใจปราบปรามประชาชน
และก็มีการใช้ม็อบชนม็อบเป็นอาวุธอย่างหนึ่งในการปราบปรามประชาชนหรือเปล่า?
ดิฉันในฐานะที่ผ่านการปราบปรามของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมายาวนานตั้งแต่
14 ตุลา ผ่านวิธีคิดของฝ่ายความมั่นคงซึ่งมองเห็นผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเป็นปฏิปักษ์และเป็นศัตรูต่อความมั่นคงของประเทศนี้
ผ่านการปราบปรามทุกรูปแบบ และรูปแบบที่รุนแรงที่สุดในกรณีปี 53
ก็คือที่พูดว่าทำตามมาตรฐานสากลที่เถียงกันเวลานี้
ถ้าย้อนกลับไปในอดีตเรียกว่าไม่ต้องพูดมาก มาถึงก็เปรี้ยง ๆ ๆ เลย
ไม่ต้องพูดถึงการใช้แก๊สน้ำตาหรืออะไรก็ตาม
แต่ว่าเมื่อมาถึงยุคนี้
ฝ่ายที่ต้องการต่อสู้ในระบบเพื่อเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยโดยการยื่นร่างรธน.เข้าไปในเวทีรัฐสภา
และการรวมตัวกันเป็น “คณะราษฎร” จุดแข็งของเขาอยู่ที่เขาเป็นเยาวชน เขาเป็นปัญญาชนชนชั้นกลาง
มีข้อเรียกร้องอย่างเป็นระบบ เป็นเอกภาพ เป็นขั้นตอนมาเป็นลำดับ
อาจจะชอบหรือไม่ชอบข้อเรียกร้องของเขาบางข้อหรือทุกข้อ
แต่ข้อแก้ไขรธน.นี้เป็นข้อที่อ่อนที่สุดในบรรดาข้อเรียกร้อง 3 ข้อ
ตามความเชื่อของดิฉัน
ดิฉันคิดว่าคนทั้งประเทศเห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 60 นี้ จะต้องถูกแก้
แก้มากแก้น้อยจะต้องถูกแก้ ต่อให้เป็นอำนาจนิยมหรือว่าเป็นว่าอนุรักษ์นิยมที่สุดก็ต้องยอมรับว่ามันต้องแก้
แต่จะแก้แค่ไหน
สำหรับความฝันของเยาวชนเขาต้องการแก้เพื่อที่จะให้เป็นตามมาตรฐานของค่าย
เสรีประชาธิปไตย (ใช้คำว่า “ค่าย” เพราะไม่ได้มีประเทศเดียว)
ของฝ่ายเสรีประชาธิปไตยที่ให้อำนาจเป็นของประชาชนไทยแท้จริง สำหรับฝั่งจารีตหรืออนุรักษ์นิยมอาจจะดูมากหรือล้นไปก็ตาม
แต่ในทัศนะของดิฉันยังอยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
แต่เขาใช้คำว่า “ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งอันที่จริงคำว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็มาเติมเอาทีหลัง
(หลังจากรัฐประหาร 2490) สมัย 2475
ไม่ต้องเขียนว่าระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ดังนั้นเราจะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นหมวดไหนพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรธน.
ไม่ว่าจะเป็นของเสรีนิยมหรืออนุรักษ์นิยมก็มีการแก้ไขทุกมาตรามาเป็นลำดับ
ไม่ได้มีการจำกัดว่ามาตราไหน ๆ การนำเสนอนี้ก็นำเสนอโดยเวทีฐสภา
ถ้าเวทีรัฐสภาสามารถเป็นทางออก
นั่นก็คือรับร่างฯ ทุกร่างฯ แล้วก็มีเวลาแปรญัตติกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล แล้วทำให้ประเทศไทยดีเบตกันด้วยความรู้และใช้ข้อมูลทุกด้าน
อันนี้มันเป็นทางบวก
เมื่อเวทีรัฐสภาไม่ใช่ทางออก
นั่นก็คือฝ่ายจารีตนิยมตั้งป้อม
กระทั่งข้อเสนอของกลุ่มเยาวชนที่ต่ำที่สุดคือแก้ไขรธน. ยังไม่ยอมรับ!
แล้วปรากฏการณ์ที่เห็นเมื่อวาน
(17 พ.ย.) ก็คือ นอกจากออกมาพูดว่านี่เป็นร่างของเขยฝรั่งเศส ลูกอังกฤษ
แล้วก็ไม่รู้ว่าพ่อเป็นอเมริกาด้วยหรือเปล่าอะไรประมาณนั้น ซึ่งเหลวไหล
เลอะเทอะสิ้นดี
แล้วที่ดิฉันอยากจะพูดในช่วงนี้ที่เน้นก็คือ
กระบวนการปราบปราม คือด้านหนึ่งเวทีรัฐสภาปัดแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้ (18 พ.ย.)
อย่าไปแปลกใจถ้าสมมุติว่าไม่มีการรับร่าง iLaw คือถูกปัดตกไม่ต้องแปลกใจ
เพราะว่าในเวทีรัฐสภาก็ได้พูดออกมาอย่างชัดเจน
แสดงว่าเวทีรัฐสภาจะไม่ใช่ทางออกของประเทศ นอกจากไม่ใช่ทางออกแล้วยังมาปิดทางนอกรัฐสภา
แล้วกระบวนการที่ทำ แน่นอน! ในฐานะที่เขาเป็นเยาวชน
เป็นปัญญาชน ชนชั้นกลาง เขาใช้สันติวิธี นี่เป็นจุดแข็งของเขา
ดังนั้นฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายรัฐจารีตอำนาจนิยมจะปราบปรามเขาแบบปราบปรามคนเสื้อแดงก็คงทำไม่ได้
เพราะว่าถูกประณาม เพราะคนที่ถูกกระทำมีตั้งแต่เด็กอนุบาล เด็กประถม เด็กมัธยม
ไล่มาจนถึงนักเรียนอาชีวะและนิสิต นักศึกษา
เพราะฉะนั้นจุดแข็งที่เขาเป็นเยาวชนและไม่ได้มีการผูกพันกับพรรคการเมืองใด
ไม่มีใครอยู่ในฐานะครอบงำ พลังของเขานำด้วยเนื้อหาอย่างเป็นเอกภาพ (เห็นด้วยกัน) เป็นพลังที่มีจำนวนมาก
ตอบได้เลยว่าในทัศนะดิฉัน
90% ของเยาวชนในมหาวิทยาลัย “เห็นด้วย” กับการเคลื่อนไหว อาจจะไม่เห็นด้วย
100% เหมือนคนเสื้อแดงบางคนให้สัมภาษณ์ว่าเห็นด้วย 2 ข้อ
แต่นั่นคือด้านหลัก ข้อที่ 3 ก็คุยกันได้ถ้าคิดว่าเป็นทางสร้างสรรค์ก็โอเค นี่ยกตัวอย่าง
ดิฉันเชื่อว่าเยาวชนในรั้วมหาวิทยาลัย
ในโรงเรียนมัธยม 90%เขาอยากให้ประเทศนี้เป็นประเทศที่สดใสสำหรับเขาในอนาคต ดังนั้นเขาจึงต้องการลงมือเปลี่ยนแปลง
เพราะคนรุ่นก่อนรวมถึงรุ่นดิฉันยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศให้เขามีความหวังได้ว่าเขาและลูกหลานเขาจะอยู่ในประเทศที่ทำให้เขามีความสุข
มีสิทธิเสรีภาพ มีความยุติธรรม และสามารถไปแข่งขันในเวทีโลกได้ เขามีความเชื่อมั่น
ดังนั้นเขาต้องลงมือทำ นี่คือจุดแข็งของเขา ทั้งสันติวิธี ทั้งในฐานะเยาวชน
แต่สิ่งที่รัฐทำก็คือ
ตั้งป้อมปราการแน่นหนาและใช้ความรุนแรงพอสมควร เพราะว่าแก๊สน้ำตาไม่ใช่ไม่รุนแรงนะคะ
ขณะนี้ก็มีคนถูกกระสุน ซึ่งเรายังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามาจากคนเสื้อเหลือง มาจากประชาชนที่มีความคิดไม่ตรงกัน
หรือมาจากเจ้าหน้าที่รัฐ อันนี้ดิฉันก็แฟร์พอที่จะให้เวลาพิสูจน์
ที่น่าเกลียดมากก็คือ
ที่แยกเกียกกาย เมื่อตำรวจถอยไป (ไม่รู้ว่าอยู่ ๆ ก็ถอยไป) ถ้าดูคลิปแล้วเห็นว่าฝั่งเสื้อเหลืองมาโจมตีฝั่งคณะราษฎร
แล้วมีคนไปเห็นคลิปของสำนักข่าวบางสำนักที่ดูประหนึ่งว่ามีการ์ดไปรุมคนเสื้อเหลืองหนึ่งคน
แต่ตามที่ดิฉันดูนั้นเขาอยู่ในลักษณะหมอบ ยังไม่ได้สามารถที่จะมีการใช้อาวุธ
แต่ในฝั่งเสื้อเหลืองนั้นเห็นมีมีด เห็นก้อนอิฐที่ขว้างมาอย่างรุนแรง
ส่วนปืนนั้นเรายังไม่ทราบ ต้องพิสูจน์กัน
ภาพเฉพาะมุมนี้ในเวลานั้นเห็นว่าตำรวจจงใจถอยไปแล้วให้ม็อบเสื้อเหลืองเข้ามา
การที่เอาสังกะสีหรือเมทัลชีทมาบังตั้งแต่ต้นดิฉันก็มองแล้วว่ามันผิดปกติ
ดังกับว่ามีอะไรที่จะต้องมาปิดบัง คุณมีลวดหนามหีบเพลง มีแบริเออร์ มีรถตู้ รถเมล์
แต่ทำไมคุณต้องมีแผ่นอะไรมาปิดกั้น ซึ่งแผ่นที่มากั้นนั้นไม่ได้กั้นคนในการบุก
แต่มันกั้นสายตาเพื่อไม่ให้มองเห็น อันนี้ก็เป็นการแสดงถึงการไม่บริสุทธิ์ใจ
คือปกติมันต้องโปร่งใส คนเขาเห็นมีรถน้ำ โอเค เห็นเจ้าหน้าที่
มีอาวุธหรือไม่มันจะได้โชว์ได้
แล้วเอาคนเสื้อเหลืองมาก็เห็นได้เหมือนเมื่อตอนที่สนามหลวง เราก็เห็นเสื้อเหลืองที่เป็นหัวเกรียน
เขาก็ตอบชัดว่าเป็นทหารแต่ใส่เสื้อเหลืองมา ตอนนั้นก็ทำให้เข้าใจได้แล้วว่าแทนที่จะเอาทหารแต่งเครื่องแบบ
ก็เปลี่ยนเป็นทหารใส่เสื้อเหลือง แต่ครั้งนี้ดิฉันมองแล้วก็มวลชน ในทัศนะดิฉันนะ
เพื่อทำลายความชอบธรรมของกลุ่มเยาวชนและคณะราษฎร
ก็จงใจในการที่ให้มีม็อบให้ประชาชนกับประชาชนปะทะกัน
อันนี้ก็เป็นวิธีการในการที่จะสร้างเป็นเหตุผลว่าที่ตีกันไม่ใช่ผมนะ
แต่สร้างเป็นเงื่อนไขหรือเปล่า?
แล้วดิฉันก็ไม่รู้ว่าเมื่อสร้างเป็นเงื่อนไขมาก
ๆ ขึ้น แล้วมาถึงตอนรอบกลางคืน (ที่มาจากถนนทหารตรงแยกเกียกกาย)
มีการนำคนเจ็บซึ่งเข้าใจว่าถูกอาวุธปืนด้วยในเวลานั้นออกมาเป็นระยะ ๆ จำนวนมาก
ตอนนั้นสองทุ่มกว่าใกล้สามทุ่ม เพราะว่าคนมากและการ์ดอาจจะดูแลได้ไม่ทั่วถึง
ดิฉันก็ชมนะ เพราะว่าคำขวัญเขาก็คือ การ์ดมีหน้าที่ปกป้องประชาชน
ไม่ได้มีหน้าที่ไปปะทะ
เพียงแต่อำนวยความสะดวกให้ม็อบสามารถเคลื่อนตัวผ่านสิ่งกีดขวางได้อย่างปลอดภัย
เพราะฉะนั้นสถานการณ์จึงไม่บานปลาย และข้อดีเมื่อแกนนำบอกให้ยุติ ก็คือสภาเลิก 4
ทุ่ม ก็เลิกตามสภา (ปกติเดิมเลิก 2 ยามหรือตี 1) ซึ่งก็ถูก
เพราะไม่รู้จะพูดกับตึกหรืออะไร ขนาดคนยังฟังไม่รู้เรื่อง ตึกรัฐสภาที่สวยงามแพง ๆ
ก็คงฟังไม่รู้เรื่องหรอก
เพราะผู้คนที่อยู่ที่นั่นก็กลายเป็นประหนึ่งเทวดาที่ดูแลคัมภีร์เทวดา (รัฐธรรมนูญ
60) ไม่ยอมสูญเสีย เรียกว่านี่เป็นการปะทะระหว่างคนสองพวก และคัมภีร์ 2 คัมภีร์
ก็คือรัฐธรรมนูญ 60 กับการที่พยายามจะแก้ไขให้ได้รัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนและมาจากประชาชน
ยังดีที่เมื่อวาน
(17 พ.ย.) ผ่านไปได้ทั้ง ๆ ที่มีการยั่วยุของพลังจารีต ของฝ่ายรัฐที่พยายามเพราะไม่รู้จะใช้วิธีไหน
ใช้ความรุนแรงก็โดนสังคมโลกและสังคมในประเทศเล่นงาน
เหมือนอย่างกรณีแยกปทุมวันรอบที่แล้ว เพราะฉะนั้นก็เลยใช้วิธีเอา “ม็อบชนม็อบ” มาเป็นอุปกรณ์อีกอย่างหนึ่งเท่าที่พวกเขาคิดออกและทำมาอยู่เป็นประจำ
วันนี้
(18 พ.ย.) เราก็คงต้องดูอีกทีหนึ่งว่าเมื่อมีการบอกว่าจะเคลื่อนไปที่ราชประสงค์ ครั้งที่แล้วเขาก็ใช้กลยุทธ์ปิดเหมือนกัน
ก็ไม่รู้ว่ารัฐจะใช้กลยุทธ์อะไร แต่ดิฉันขอประณามว่าถ้ายังคิดจะใช้แบบ “ม็อบชนม็อบ”
แบบที่เคยทำกับคนเสื้อแดง กรณีเอาคนเสื้อสีน้ำเงินมาตี คืออยู่ดี ๆ
ตอนนั้นคนเสื้อแดงไปยื่นหนังสือกับฝ่ายต่างประเทศในการประชุมอาเชียน
มันจะไม่มีเรื่องเลยถ้าหากว่าไปยื่นแล้วก็กลับ พอเกิดมีคนเสื้อน้ำเงินมาตีก็มีเหตุ
เที่ยวนี้ตั้งใจจะเอาคนเสื้อเหลืองมาเพื่อให้โกรธแล้วเป็นเหตุให้บุกรัฐสภา นี่ดีแต่ว่าพวกเขาไม่หลงกลและเขาไม่ได้ทำ
ดิฉันขอบอกมายังฝ่ายจารีตและฝ่ายความมั่นคงทั้งหลายว่าเลิกใช้วิธีนี้
เพราะสิ่งที่คุณทำมันทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย ทำให้ผู้คนยิ่งแตกแยก แต่คุณจะมาทำให้ความชอบธรรมของเยาวชนลดลงโดยอ้างว่าไปตีกันเองแล้วคุณจะเข้ามาปราบปรามหรือมาดูแลทั้งสองข้าง
ดิฉันว่าขอให้เลิก เพราะว่ากลุ่มเยาวชนเหล่านี้เขาไม่อยากเล่นด้วย
และดิฉันก็ขอชมเชย
“การ์ด” ของคณะราษฎร และ “อาชีวะ” ทั้งหลาย ที่เขาสามัคคีกันและใช้คำขวัญ “ปกป้องประชาชน”
ไม่ใช้วิธี “ลุย” โดยไม่ดูตาม้าตาเรือ และไม่หลงกล ก็เรียกร้องมายังฝั่ง “คณะราษฎร”
ว่าทำดีต่อไปแล้วก็อย่าหลงกล เพราะฝ่ายจารีตจะทำทุกอย่างเพื่อที่จะทำลายความชอบธรรมของเยาวชน
จุดแข็งนี่รักษาเอาไว้ และต้องทำให้จุดแข็งมีมากยิ่งขึ้น
ส่วนจุดอ่อน
ไม่ว่าจะเป็นท่วงทำนองที่ก้าวร้าว บุ่มบ่ามบ้างบางคน หรือหยาบคาย
อันนี้ถ้าปรับปรุงได้ก็โอเค มันก็ไม่ได้มีปัญหาเพราะว่านั่นทำให้คนยอมรับได้มากขึ้น
เพราะว่าพวกพลังอนุรักษ์นิยมส่วนหนึ่งเรื่องมาก มาจุกจิกว่าทำไมพูดไม่เพราะ
พูดจาหยาบคาย เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในส่วนที่เป็นจุดอ่อน ปรับได้ก็ปรับ! แต่หลักการในการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประเทศที่มีการเมืองการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนจริงก็ยังเป็นความฝันที่ไม่ควรจะทิ้งไป
และรัฐธรรมนูญ
60 มันเป็นกติกาของเทวดาที่กว่าเขาจะได้มันยาก ดังนั้นเขาจะรักษาไว้อย่างสุดชีวิต
เพราะเขาก็ย่ามใจที่เขาได้รับชัยชนะมาในช่วงทศวรรษกว่านี้อย่างมั่นคง
คุณจะเห็นพวกสุดโต่งหัวดื้อทั้งหลายโวยวายอยู่ในเวทีรัฐสภา นั่นแหละใช่เลยทั้งหมด
มันก็ดีอย่างหนึ่งก็คือเป็นอะไรที่เปิดเผยให้ประชาชนรู้ทั้งหมด
ก็ดูกันต่อไปนะคะ แต่ดิฉันคิดว่ายุคสมัยมันเปลี่ยน
ถ้าหากว่ากลุ่มสุดโต่งนี้ยังดื้อดึงและคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศ
ดิฉันก็ไม่รู้ว่าสติและปัญญาจะมีอยู่บ้างหรือเปล่าในการที่จะเลือกทำการในสิ่งที่ผลดี
ยกตัวอย่างเช่น แค่ข้อเดียว แก้ไขรัฐธรรมนูญ คุณยังไม่ยอม! ถ้าเป็นอย่างนี้เยาวชนก็ไม่มีความหวัง
ดังที่ดิฉันเคยพูดว่า
คุณจะให้เขา “ปฏิรูป” หรือคุณจะให้เขา “ปฏิวัติ” ดิฉันไม่อยากเห็นอย่างหลัง
ยังอยากเห็นการปฏิรูป แต่เป็นปฏิรูปจริง ๆ ไม่ใช่ปฏิรูปปลอม ๆ แบบที่ กปปส.
อ้างเป็นเงื่อนไขในการล้มรัฐบาลชุดก่อน
สุดท้าย ในวันที่ 19 พ.ย. แกนนำก็ต้องไปศาล ส่วนวันที่ 23 พ.ย. เราก็ต้องไปที่ศาลพัทยา นี่คือชะตากรรมของแกนนำรุ่นก่อนซึ่งผ่านมาสิบกว่าปีเราก็ต้องวนเวียนอยู่เช่นนี้ แต่หัวใจเราก็เป็นกำลังใจให้กับเยาวชนและแกนนำรุ่นใหม่เสมอค่ะ อ.ธิดากล่าวในที่สุด.