ธิดา
ถาวรเศรษฐ :
รัฐจารีตไทยไม่ยอมรับข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ!
ยูดีดีนิวส์
: 10 พ.ย. 63 (เมื่อวานนี้) อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้สนทนากับท่านผู้ชมด้วยการทำเฟสบุ๊คไลฟ์
พร้อมกับ Youtube Live ซึ่งเผยแพร่ทางช่อง UDD news
Thailand โดยปกติหลังจากที่เข้าเยี่ยม “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ”
ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครแล้ว อ.ธิดา
ก็จะมาเล่าข่าวจากคนข้างในถึงคนข้างนอกให้เข้าใจว่ายังมีแกนนำนปช.ที่ยังอยู่ในเรือนจำอันเนื่องมาจากการต่อสู้ของประชาชน
อ.ธิดา
กล่าวว่า อย่างคุณณัฐวุฒิที่อยู่ในเรือนจำขณะนี้ก็เป็นคดีปี 2550 นับมาก็ 13
ปีแล้ว กระทั่งบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ไม่เหลือแล้ว
ถูกทุบไปเรียบร้อยหมดแล้ว แต่คุณณัฐวุฒิก็เป็นคนเดียวในคณะที่อายุไม่ถึง 60 ปี
จึงไม่ได้อานิสงฆ์จากพระราชกฤษฎีกา อันนี้ก็เป็นธรรมนะ ไม่ใช่ว่าเขาจงใจแกล้ง
ดิฉันก็หวังว่าคุณณัฐวุฒิก็จะได้รับการพักโทษและลดโทษในไม่ช้า หวังอย่างนั้น!
นอกจากนี้ก็ยังมีคดีปี
2552 ที่พัทยาซึ่งตัดสินไปเร็วมาก ในคดีนี้ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งไปอยู่ต่างประเทศ
(หลบหนีคดี) และมีส่วนหนึ่งที่อายุเกิน 60 ปี ก็ได้รับอานิสงส์ออกมาก่อนแล้ว เช่น คุณพายัพ
ปั้นเกตุ เป็นต้น แต่ส่วนที่ยังอยู่ในเรือนจำก็เป็นอดีต ส.ส. เช่น คุณศักดา
นพสิทธิ์, คุณสิงห์ทอง บัวชุม แล้วก็คุณสำเริง ประจำเรือ, คุณหมอวัลลภ ยังตรง
อ.ธิดากล่าวต่อไปว่า แล้วก็ยังมี จ่าประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ซึ่งมีคนพูดถึงอยู่จำนวนหนึ่ง ดิฉันก็ต้องเรียนตรง ๆ ว่าจ่าประสิทธิ์นั้นไม่ใช่ว่าเขาติดคุกคดีการเมืองธรรมดาอย่างที่มีการพูดถึงนะคะ เขาถูกคดี 112 ซึ่งศาลตัดสิน 2 ปีกว่า แล้วก็ได้ลดโทษเพราะสารภาพก็เหลือ 1 ปีกว่า หลังจากนั้นก็ต้องเข้าเรือนจำอีกในกรณีข้อกล่าวหาว่าเป็นการรับของโจร ซึ่งก็คือเสื้อเกราะและหมวกของตำรวจ ก็มีการอ้างว่าของดังกล่าวถูกคนในม็อบไปขโมยจากตำรวจมา ความจริงดิฉันก็ไม่แน่ใจเพราะอย่าลืมว่าจ่าประสิทธิ์ก็เป็นตำรวจมา และเพิ่งมาร่วมกับนปช.ในปี 2552 ดังนั้นขณะนี้จ่าประสิทธิ์จึงถูกติดคุกในคดี “รับของโจร”
ดิฉันก็อยากจะเรียนว่า “จ่าประสิทธิ์” ก็ไม่ได้ถูกคดีธรรมดานะ
คือจากการขึ้นพูดแล้วตีความว่าเป็นคดี 112 และในข้อหา “รับของโจร”
อันเกี่ยวเนื่องจากปี 2553
ดังนั้นชะตากรรมของแกนนำเหล่านี้
หลายคนก็ไม่ได้เป็นแกนนำ ว่ากันตรง ๆ ที่เอ่ยชื่อนี่ (ยกเว้นคุณณัฐวุฒิ) ก็เป็นผู้ร่วมในขบวนอย่างเช่นที่พัทยาเพื่อต้องการจะไปยื่นจดหมายให้กับประมุขต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องความไม่ถูกต้องประเทศไทย
(รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
อีกเรื่องหนึ่งที่ดิฉันจะแจ้งก็คือว่าวันที่
12 พ.ย. นี้ ก็จะมีคดีปี 2552 ซึ่งศาลนัดจำเลยและคุณณัฐวุฒิ
ก็จะถูกเบิกตัวไปขึ้นศาลในวันนั้น นอกจากนี้นพ.เหวง โตจิราการ, คุณวีระกานต์
มุสิกพงศ์ ก็จะเดินทางไปศาลอาญา รัชดาภิเษก ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นถ้าใครคิดถึงคุณณัฐวุฒิก็สามารถไปพบได้ที่ศาลฯ
ทั้งหมดนี้ก็คือชะตากรรมของแกนนำที่ต่อต้านเผด็จการ
เรียกร้องประชาธิปไตย เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นคณะแรกที่ถูกจัดการ
เพราะว่าก่อนหน้านี้ผู้ที่ต่อต้านรัฐประหารหรือไม่เห็นด้วยกับการชิงอำนาจไปจากประชาชนก็ล้วนมีชะตากรรมถึงแก่ชีวิตและถูกจับกุมคุมขังมากมายนับตั้งแต่
2475 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็กวาดนักเขียน
นักหนังสือพิมพ์ เข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นจำนวนมากและเป็นเวลานาน
เพราะฉะนั้นชะตากรรมของการต่อต้านรัฐประหาร
ต่อต้านรัฐเผด็จการ มันก็มีมายาวนาน ดังนั้นแกนนำนปช.ไม่ใช่ชุดแรก แล้วก็ไม่ใช่ชุดสุดท้าย
เพราะขณะนี้การคุกคามของรัฐต่อกลุ่มเยาวชนที่ออกมา มีข้อเรียกร้องต่าง ๆ
คดีแต่ละคน บางคนหลายสิบคดีมากเลย เพราะกลไกอำนาจรัฐยังอยู่ในมือของกลุ่มเผด็จการและกลุ่มที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร
หลายคนบอกว่าจะเป็น
นปช. หรือกลุ่มก่อน ๆ สู้ไม่จริง จึงพ่ายแพ้!
ดิฉันอยากจะเรียนว่าคนเหล่านั้นก็ได้พยายามทำ
แต่แน่นอนต้องพูดว่าประชาชนยังไม่มีอำนาจจริง แม้จะมีการเลือกตั้ง
แต่การเลือกตั้งก็ถูกจัดการโดยรัฐประหารมาเป็นลำดับ
แต่ถ้าถามว่าทางการเมือง
แพ้ หรือ ชนะ!
พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยรวมกันแล้วได้รับชัยชนะมาโดยตลอด โดยเฉพาะในทศวรรษหลัง แต่ก็ถูกจัดการโดยตลอดเช่นกัน!
รัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจประชาชนก็ถูกจัดการ
พรรคการเมืองที่มาจากประชาชน
นายกรัฐมนตรีที่มาจากประชาชนก็ล้วนถูกจัดการ
แกนนำม็อบที่ออกมาเรียกร้องก็ถูกจัดการ
จะเรียกว่าพ่ายแพ้ก็ได้ (ทางการทหาร) พ่ายแพ้ทางการที่ประชาชนไม่ได้มีอำนาจ แต่ถ้าถามว่าการเมืองแพ้หรือเปล่า ดิฉันว่าไม่แพ้!
แต่ว่าประชาชนยังยึดมั่นใน “สันติวิธี”
สงครามแบบนี้มันจะต้องเดินต่อไปจนเมื่อวันไหน
ไม่ใช่ 60%
หรือ 70% ของประเทศที่เห็นด้วยว่าจะต้องลุกมาต่อต้านการรัฐประหาร
มันต้อง 90% หรือ 100%
แล้วจะต้องมีแกนนำที่เสียสละเช่นนี้มาเป็นเวลายาวนานตลอด
ดังนั้นคำว่า
แพ้ หรือ ชนะ อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงว่าประชาชนยังไม่ได้อำนาจรัฐ
การที่ไม่ได้ถูกคุมขังในวันนี้ไม่ได้หมายความว่าวันหน้าจะไม่ได้ถูกคุมขังจองจำ
หรือชนะจากการเลือกตั้งก็ไม่ได้แปลว่าเป็นชัยชนะที่แท้จริง ชัยชนะที่แท้จริงก็คือประชาชนได้อำนาจรัฐ
อ.ธิดากล่าวว่า
เราต้องร่วมด้วยช่วยกันว่าทำอย่างไรให้การเรียกร้องประชาธิปไตยนั้นสัมฤทธิ์ผล สังคมทั้งหมดเข้าใจและมองเห็นว่าประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้
สังคมไทยจะมีอนาคตได้ก็ต่อเมื่อระบอบการเมืองการปกครองที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ มีความเท่าเทียม
และมีความรักกัน ก็คือสามนิ้วนั่นแหละ
ซึ่งเป็นกติกาที่สำคัญที่สุดในข้อเรียกร้องของระบอบประชาธิปไตย
สำหรับประเด็นหลักที่
อ.ธิดา ตั้งไว้ในวันนี้ก็คือ
“รัฐจารีตไทยไม่ยอมรับข้อเรียกร้องทั้ง
3 ข้อ”
สำหรับดิฉันมองว่าทั้งสองฝ่าย
ทั้งมวลชนคณะราษฎรที่เป็นผู้นำอยู่ในเวลานี้ หรือฝั่งรัฐจารีต ที่บอกว่า “ถอยคนละก้าว”
นั้น ไม่ได้ถอยจริง โดยเฉพาะรัฐจารีตและนายกฯ บอกว่า “ถอยคนละก้าว”
แต่สิ่งที่กระทำต่อประชาชน การคุกคามด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ ด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ และโดยใช้กฎหมายนั้นไม่ได้ลดราวาศอกเลย
ทั้ง ๆ ที่กลุ่มเยาวชนแสดงให้เห็นว่าไม่มีอาวุธ ไม่ใช่เป็นม็อบยืดเยื้อ
แต่ละม็อบเขาตั้งใจจะบอกอะไรให้กับสังคมและบอกกับรัฐจารีตอย่างเป็นทางการ
แสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้คิดคนเดียว หรือ 4-5 คน หรือคิดอยู่ 20-30 คน แต่ว่ามีมวลชนรองรับข้อเรียกร้องของเขาอย่างเป็นทางการทุกครั้ง
มันควรจะเป็นเรื่องดีเพื่อให้ฟัง นอกจากคุณไม่ฟังยังจับเขาอีก
สำหรับปรากฏการณ์ของฝั่งรัฐจารีตเราจะเห็นเลยว่า
ในด้านมวลชนก็มีการยกกระแส มีการสร้างมวลชนยั่วยุ ต่อต้าน
แม้กระทั่งไปยุให้รัฐทำรัฐประหาร ทั้ง ๆ ที่แบบนี้มันผิดกฎหมาย มีการไปบอก ผบ.ทบ.
เขาคงคิดว่าได้ผลมั้ง เหมือนอย่างปี 49 คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เดินไปบอก ผบ.ทบ.
อีกไม่กี่วันก็ทำรัฐประหารเลย
ในวันนี้
ผบ.ทบ. บอกว่ายังเป็นลบอยู่ แต่ว่าวันนี้เว้นเอาไว้ ผมยังไม่รู้
ในอดีตมีหลายคนบอกผมไม่ทำรัฐประหาร ผมไม่เป็นนายกฯ เป็นปรากฏว่าไม่ใช่ ต้องเรียกว่าโกหกทั้งเพ!
นั่นก็คือฝั่งรัฐจารีตไม่ถอย
ทั้งในเรื่องคุกคามประชาชน ถ้าจำได้ข้อเรียกร้องเขาง่าย ๆ “หยุดคุกคามประชาชน-แก้ไขรัฐธรรมนูญ-ยุบสภาเลือกตั้งใหม่” ยังไม่ได้ไล่
พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยนะ แต่พบว่ามันเป็นไปไม่ได้ เขาจึงบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์
คือตัวอุปสรรค ฝั่งคณะราษฎรก็มีการยกข้อเรียกร้องคือ “ประยุทธ์ออกไป” แล้วจากความฝันที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญก็เอามาเป็นข้อเรียกร้องในข้อที่
3
ดังนั้น
3 ข้อแรกซึ่งต่ำ ๆ เตี้ย ๆ ง่าย...แต่ไม่ทำ ก็กลายมาเป็น 3 ข้อปัจจุบัน!
และ
3 ข้อเรียกร้องปัจจุบัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ทำเลย
ข้อ 1
แน่นอน! คุณประยุทธ์ไม่ออก เขาบอกว่าไปหามาว่ามีใครเก่งกว่าผม?
มีใครซื่อสัตย์กว่าผม? อ.ธิดากล่าวว่า อันนี้เป็นความหลงตัวเองอย่างยิ่ง
หลงในความสามารถ หลงว่าตัวเองเป็นคนดี เป็นความหลงที่น่ากลัวมาก
2
แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือ? ครั้งที่แล้วเห็นชัด ส.ว. ยื้อ (ขอ 1 เดือนก็ยังดี)
ตั้งคณะขึ้นมาใหม่
ครั้งนี้กลายเป็นว่ามีการยื่นข้อเสนอให้ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าการให้ สสร.
มาร่างผิดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า?
ซึ่งปรากฏการณ์อันนี้แสดงให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ด้านหนึ่งดูเหมือนว่าทำท่าว่าจะแก้ได้ (อย่างน้อยเอาร่างรัฐบาล)
แล้วไปคุยกันในวาระ 2 และ 3 ว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร
การให้ตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญ
หรือการพยายามเล่นงาน iLaw ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนว่าเขารับเงินจากต่างประเทศ รับแผนการจากต่างประเทศ
ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แล้วไม่ต้องพูดถึงข้อที่
3 เรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะเอาเข้าจริงข้อไหน ๆ ก็ไม่รับทั้งหมด!
มีแต่การยกระดับ ไม่ได้ถอย มีแต่รุกไปข้างหน้าตลอด
ขณะนี้มีตัวละครบางคนเพิ่มขึ้นมา เช่น คุณสนธิญาณ ชื่นถทัยในธรรม
ไปแสดงตัวที่หน้ารามฯ อันนั้นแปลว่าด้านม็อบไม่ลดนะ
“พุทธะ
อิสระ” ไปควงแขนกับ “อานนท์ แสนน่าน” (หรือเปล่า?) คิดว่าหมู่บ้านเสื้อแดงเต็มไปหมด
ก็เป็นความพยายามที่จะยกระดับ ดิฉันไม่อยากจะบอกว่าเรื่องหมู่บ้านเสื้อแดงมันเป็นเรื่องของกลุ่มและคณะบางคณะซึ่งทำตามความคิดของเขา
หวังจะให้ “นาย” พอใจ ก็คือจากที่ให้ “นายเก่า” พอใจ ก็มาให้ “นายใหม่” พอใจ
ก็โอเค
อ.ธิดายืนยันว่า
แต่ถ้าเป็นคนเสื้อแดงจริง ๆ มันไม่ได้มีอยู่ที่ “ป้ายหมู่บ้าน” มันอยู่ที่ใจ
และไม่มีใครจะไปสั่งการเขาได้ มาถึงทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าแกนนำนปช.จะไปสั่งการได้นะ
เขาก็เป็นเสรีชนที่มีความเข้าใจ ถ้าเขาเห็นด้วยกับการต่อต้านรัฐประหารเขาก็ไปร่วม
ดิฉันเห็นบางคนเขาก็พูดชัด ๆ ว่าเขาเห็นด้วย 2 ข้อ ข้อ 3 เขาไม่เห็นด้วย (จาก The Reporters ไปสัมภาษณ์) แต่เขาจะมา เพราะเขาถือด้านหลักเป็นการต่อต้านรัฐประหาร
นี่เป็นการพูดโดยสุจริตของมวลชน ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน หรือมวลชนคนเสื้อแดง
หรือคนที่เป็นสลิ่มกลับใจ อาจจะมีจำนวนหนึ่งก็ได้
แต่ว่าทั้งหมดนี้ดิฉันมองว่ามันเป็นการยกระดับทั้งสองด้าน
ในฝั่งอำนาจรัฐจารีตทำทีว่ารัฐสภาจะเป็นทางออก แต่ดิฉันมองแล้วว่ามันคงไปไม่รอดหรอกถ้าเป็นแบบนี้
เพราะ ส.ส. กับ ส.ว.
ก็ไปเซ็นชื่อร่วมกันในการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ทำประชามติก่อนหรือให้ตีความว่าทำได้หรือไม่ได้
ก็แปลว่าไม่ยอมแก้ในสิ่งที่ง่ายและคนเห็นด้วยมากที่สุด แม้กระทั่งตัวนายกฯ ลาออก
ข้อนี้ก็ไม่ยอมทำ แล้วจะไปทำข้อไหน?
ในขณะที่ฝั่งเยาวชนถอยไหม?
ดิฉันคิดว่าเขามีการปรับยุทธวิธี
การยกระดับที่สำคัญที่สุดก็คือการแสดงให้รัฐรู้ว่าไม่จำเป็นต้องมีแกนนำ
ไม่จำเป็นต้องมีเวที ไม่จำเป็นต้องมีรถนำ เขาใช้ภาษามือส่งกัน ใช้ใจส่งใจ
มือส่งมือ เขาก็ไปด้วยกันได้ อันนี้เป็นการยกระดับที่สำคัญมากซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในการชุมนุมในอดีต
ดิฉันมองว่าในฝั่งประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร
ที่นำเสนอข้อเรียกร้อง หลายคนอาจจะมองว่ามากไป ทะลุเพดานอะไรหรือเปล่า
แต่ว่ามีข้อเรียกร้องลักษณะเหมือนความฝัน มันดูไกล ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้
แต่อย่างน้อยเขาก็ซื่อ ๆ ตรง ๆ ที่เขาบอกให้รู้ว่าเขาอยากได้อะไร
เหมือนที่นปช.เคยบอก
“เราอยากได้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง” มันแรงกว่าที่บอกว่า “อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”
นะ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญชุ่ย ๆ ใคร ๆ ก็ไม่ควรจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญชุ่ย ๆ ทั้งสิ้น
ในส่วนของกลุ่มเยาวชนดิฉันมองว่าเป็นการยกระดับ
เมื่อบางคนบอกว่าภาษาไม่น่าฟัง ดิฉันเข้าใจเอาเองหรือเปล่าไม่รู้ก็เรียกว่าดีกรีของคนที่ฟังไม่ได้
ภาษาไพร่อาจจะดูว่ามันหยาบคาย เขาก็ลด ๆ ลงไป แล้วก็มีลักษณะจัดเป็นอีเว้นท์
มีกลุ่ม LGBT มีกลุ่มหลายกลุ่ม
และการที่พระสงฆ์มาเรียกร้องเกี่ยวกับพ.ร.บ.สงฆ์ก็มีเหตุผลที่ทำได้
ทั้งหมดนี้ถ้ามองแล้วจะพบว่า
การแสดงออกทำทีว่าถอย แต่ในความเป็นจริงนั้นกลายเป็นการยกระดับทั้งคู่
เราต้องคิดว่าทางออกประเทศไทยจะเป็นอย่างไร คุณจะเลือกยกระดับแล้วสามารถเจรจาและสามารถที่จะมีบางข้อตกลง
ซึ่งดิฉันคิดว่าต้องมีข้อตกลงที่มีลักษณะก้าวหน้า เช่น
-
รัฐธรรมนูญต้องมีตารางเวลาชัดว่าสามารถแก้ไขให้มีลักษณะก้าวหน้าได้
-
วาระที่ชัดเจนของผู้นำรัฐบาลที่จะอยู่
-
มีการขยับให้รู้ว่าในวาระของการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปัญหาเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น
สามารถมีพื้นที่คุยกันได้
แต่ถ้าไม่มี
3 อย่างนี้ (ที่จะคุยกันใน 3 ประเด็นนี้) แล้วคุณจะเลือกอะไร เลือกรัฐประหาร
หรือเลือกให้ประชาชนไม่ “ปฏิรูป” แล้วเปลี่ยนเป็นการ “ปฏิวัติ” โดยประชาชน
น่าหวาดเสียวทั้งคู่เลยค่ะ! อ.ธิดากล่าวในที่สุด.