ถาม : “ประชาชน” เป็นห่วง “เยาวชน” ที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ”
เนื่องจากมีข่าวแพร่สะพัดไปว่ากลุ่มของ “ไผ่ ดาวดิน” ถูกซ้อมในเรือนจำ อ.ธิดา กล่าวว่า คณะราษฎรที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำมีหลายส่วน คือ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เป็นคณะของ “ไผ่ ดาวดิน” ที่เชียงใหม่ก็เป็น “คุณอานนท์” ที่ธัญบุรีก็น่าจะเป็น “เพนกวิน” และมีอีกจำนวนหนึ่งก็อยู่ที่ ตชด. (ปทุมธานี)
อ.ธิดา
กล่าวว่า เยาวชนชุดที่อยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะนี้อยู่แดนเดียวกับคุณณัฐวุฒิ
ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ครบรอบการกักตัวในสถานการณ์โควิด-19 (14 วัน
หลังจากถูกเบิกตัวไปขึ้นศาล) ของคุณณัฐวุฒิ จึงสามารถเยี่ยมได้
สำหรับในเรือนจำทุกแห่งในประเทศ
เรายังอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19
ดังนั้นผู้ที่เข้าใหม่หรือผู้ที่ถูกเบิกตัวไปขึ้นศาล
ทุกคนเมื่อกลับเข้ามาจึงต้องถูกกักตัว 14 วัน และเป็นเหตุให้ไม่สามารถให้เยี่ยมได้
ยกเว้นทนายความ
ส่วนกรณีข่าวลือว่า
“ไผ่ ดาวดิน” ถูกซ้อมนั้น ไม่เป็นความจริง! เพราะ อ.ธิดา ได้สอบถาม “ณัฐวุฒิ” แล้ว
ยืนยันว่าไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว และในฐานะรุ่นพี่ “ณัฐวุฒิ”
ก็ได้ดูแลกันตามอัตภาพเท่าที่ทำได้ ดังนั้นจึงไม่ว้าเหว่จนเกินไป
และอ.ธิดาเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่ทางเรือนจำจะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นได้
อีกหนึ่งที่คือ
ตชด. ปทุมธานี ซึ่ง อ.ธิดา
มีประสบการณ์เคยเข้าไปเยี่ยมแกนนำซึ่งปกติเขาดูแลผู้ต้องขังฝ่ายการเมืองดี
คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเขารู้ว่านี่เป็นคดีทางการเมือง ไม่ใช่อาชญากร
ส่วน “เชียงใหม่” นั้นก็มีพี่น้องประชาชนคอยจับตาดูอยู่มาก
ก็น่าจะใช้กติกาเดียวกันกับเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คือ 14 วันแรกอาจจะเยี่ยมไม่ได้
(ยกเว้นทนายความและญาติสนิท)
อ.ธิดากล่าวต่อว่า
สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือมีหมายจับอยู่เยอะ ซึ่งอาจารย์ไม่เห็นด้วย
การแก้ปัญหาโดยจับคนเข้าเรือนจำมันไม่มีประโยชน์อะไร รวมทั้งการประกาศ
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การใช้อำนาจโดยการสลายการชุมนุม อาจารย์ว่าเป็นเรื่องน่าขายหน้า
ไม่ดีต่อคนจับ ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา
เรามักจะพูดกันว่า
“แก้ปัญหาด้วยการเมือง ไม่ใช้การทหาร”
แต่อันนี้คิดว่า
“แก้ปัญหาโดยการใช้กฎหมาย” และเป็นกฎหมายที่ถามว่าเป็นหลักนิติธรรมไหม?
คนยอมรับไหม?
อ.ธิดา
กล่าวว่า ยิ่งใช้กฎหมายยิ่งอันตราย! เพราะมันเกี่ยวข้องกับความยุติธรรม
และความยุติธรรมมักจะเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ของความอดทนของประชาชน ยิ่งกว่าอดข้าวอีกนะ
ดังนั้นผู้ปกครองที่ฉลาดเขาจะไม่เลือกวิธีนี้
การที่พยายามจับแกนนำ
(คือเขาอาจจะไม่กล้าปราบเพราะเป็นเด็ก ๆ ทั้งนั้น) เท่าที่ทราบมีนักเรียนด้วยนะ
(กลุ่มนักเรียนเลว) ถามว่ามันโก้ตรงไหน มันไม่เข้าท่า
แล้วมีคนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุผลที่ไม่ให้ประกันตัวเหมือนกันเลยทั้งหมด ทำให้สาธารณชนแปลกใจว่าทำไมถึงเหมือนกัน
และนี่เป็นข้อสังเกตประกอบกับการที่แกนนำคณะราษฎรถูกจับมากขึ้นเรื่อย ๆ
ถามว่ามันสมควรมั้ยที่จะเอาคนเข้ามาในเรือนจำ
เป็นการแก้ปัญหาที่แย่สิ้นดี!
ในทัศนะอาจารย์คิดว่าเหมาะสมแล้วที่เยาวชนทั้งหลายเขาจะมองว่าประเทศนี้ไม่มีอนาคต
ขนาดมีปัญหาแทนที่จะแก้ให้เหมาะสมกับผู้เรียกร้อง (เยาวชน)
กลับใช้วิธีการทางกฎหมายจัดการ เอาเข้าคุก ซึ่งมันเป็นการคุกคามทางเสรีภาพ อิสรภาพ
ซึ่งสำคัญมากกับเยาวชน ปัญญาชน
ถาม : มุมมอง อ.ธิดา ต่อพัฒนาการการขับเคลื่อนการชุมนุมของเยาวชน
อาจารย์ว่าเขาพยายามจะทำตามที่เขาได้สัญญาไว้กับประชาชน
เท่าที่ดูเขารักษาคำพูด เริ่มต้นเขาค่อย ๆ ยกระดับ
แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ม็อบขยายตัวลงถนน ในทัศนะของอาจารย์มันเนื่องมาจาก รัฐสภาไม่ใช่ทางออกของปัญหา คือถ้าวันนั้นรัฐสภามีการโหวตให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ อาจารย์ว่าอารมณ์ของการลงท้องถนนมันจะลดลง
เมื่อรัฐสภาไม่ใช่ทางออก เขาก็พูดชัด ๆ เลย
ประชาชนก็ต้องลงถนน!
ดังนั้นสาเหตุของการลงถนน
คุณจะไปโทษเยาวชนไม่ได้นะ มันเป็นเรื่องเพราะผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาล
ทั้งพรรครัฐบาล ทั้งตัวนายกรัฐมนตรี ส.ว. แล้วก็ ส.ส. ไม่ทำหน้าที่
คือมองไม่เห็นว่าปัญหากับประเทศชาติมันใหญ่ขนาดไหน
อาจารย์ฟังเยาวชนบางคนที่ให้สัมภาษณ์ เขาโกรธมาก! ตรงนั้นจึงบีบให้เขาต้องลงถนน
เพราะว่าปัญหามันต้องแก้ ไม่ใช่ปัญหามีเอาไว้แล้วซุก เมื่อเขาต้องลงถนนเราจะเห็นว่ามันก็มีการยกระดับขึ้นมาเป็นลำดับ
ส่วนข้อเรียกร้องของเขานั้น
อาจารย์มองว่าเขามองระยะยาว ระยะปานกลาง และระยะเฉพาะหน้า แล้วเขาก็มีการปรับเปลี่ยน
ยกตัวอย่างเช่น 3 ข้อหลังก็จะเห็นว่าให้นายกฯ ออกไป, เปิดให้มีการประชุมวิสามัญรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
คือเขายังอยากให้รัฐสภาเป็นทางออก เขาไม่ได้อยากลงถนนหรอก! เมื่อคุณปิดกั้นทำให้รัฐสภาไม่เป็นทางออก
รัฐบาลก็ทำเหมือนประเทศไทยไม่มีปัญหาอะไร ทั้งที่มีปัญหามาก ดังนั้นเราจึงเห็นการยกระดับในเชิงปริมาณและคุณภาพ
คนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเขารักษาคำพูด ยกตัวอย่างเช่น เขาจะไปรื้อกระถางต้นไม้เปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นเชิงสัญลักษณ์
หรือเขาจะไปประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล เขาก็ไปจนถึงแล้วประกาศยุติการชุมนุม
แต่ประกาศชุมนุมวันรุ่นขึ้นต่อที่ราชประสงค์ ซึ่งที่ราชประสงค์ (15 ต.ค.)
เป็นอะไรที่เกินความคาดหมาย อาจารย์ก็ไม่นึกว่าคนจะมากขนาดนั้น
การที่คนออกมาขนาดนั้น
แล้วเป็นเยาวชน เป็นปัญญาชนทั้งหมด อาจารย์คิดว่านี่คือการเริ่มต้นของความเสื่อมทรุดอย่างรุนแรง
เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไม่สามารถยับยั้งประชาชนได้!
ถาม : ถ้ามีการทำรัฐประหาร ทำอย่างไรจะสู้ได้?
ในขณะนี้เราต้องยอมรับว่า
“การนำ” บนท้องถนนเป็นการนำของ “เยาวชน”
คำถามนี้เป็นคำถามที่กลุ่มเยาวชนเขาต้องคิด
แต่โดยทั่วไปวิธีการที่เราเคยนำเสนอกันเป็นวิธีการของคนที่ไม่มีอาวุธทั้งนั้น
เป็นเชิงสันติวิธี (เสนอโดย ยีน ชาร์ป นักวิชาการด้านสันติวิธี) ซึ่งทำยาก ไม่ว่าจะเป็นการออกมาขัดขวางการเดินทาง
การถอนเงินจากธนาคาร ให้ออกมาในที่ชุมชนให้มาก ๆ พูดง่าย ๆ
ว่าไม่ยอมรับการรัฐประหาร
อย่างเมื่อวานที่เขามาที่ราชประสงค์
ในทัศนะอาจารย์ การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ครั้งนี้มันเหมือนการทำรัฐประหารเกินครึ่งตัวแล้ว แต่เขายืนยันต่อต้าน พ.ร.ก. นี้
ก็คือออกมาชุมนุมโดยไม่มีอาวุธ นี่ก็คือการต่อต้านรัฐประหารที่เห็นชัดเจน ไม่ยอมรับการรัฐประหาร
ไม่ยอมรับการปกครอง ไม่ยอมรับกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง
อาจารย์คิดว่าให้มันเป็นหน้าที่ของเยาวชนหรือผู้นำเขาคิดก็แล้วกัน
เพียงแต่ว่าโดยหลักการมีคนชื่อ ยีน ชาร์ป เขาเคยเสนอไว้
แต่การที่เราเคยผ่านรัฐประหารมาหลายรอบ
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าที่แล้วมาไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดงหรือคนรุ่นเก่า ไม่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้รัฐประหารจริง
ๆ นี่คือคำสารภาพ คือบอกว่าถ้ามีรัฐประหารให้ออกมา มันก็ไม่มี
นั่นก็คือเราถูกทำให้จำนนด้วยอาวุธ ด้วยกฎหมาย
แต่นี่คนรุ่นใหม่ไม่เหมือนเดิมแล้วนะ อาจารย์ว่า การทำรัฐประหารครั้งต่อไป
มันไม่ง่าย!
“คนรุ่นใหม่”
เมื่อวานนี้เขาแสดงให้เห็นว่า ขนาดว่าไม่ได้ทำรัฐประหารนะ แค่ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
พวกเขาก็ท้าทาย อาจารย์ก็คิดว่าถ้ารัฐประหารเที่ยวนี้ สิ่งที่พูด ๆ
เอาไว้มันคงเกิดผลจริง!
ถาม : การที่นักศึกษาออกมามาก อาจารย์คิดอย่างไร?
เขาไม่สามารถที่จะยอมรับประเทศไทยปัจจุบันและอนาคตที่อยู่ในมือของผู้ใหญ่ปัจจุบันได้
เขาจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคตด้วยมือเขาเอง
พูดง่าย
ๆ ว่าเหมือนถ้าเราเป็นบ้าน เป็นครอบครัว ก็คือพ่อแม่หรือคนที่อยู่ในบ้าน
มันไม่ได้เป็นบ้านที่พร้อมจะอยู่อย่างมีความสุขและมีความก้าวหน้า
ดังนั้นเขาก็ต้องลุกขึ้นเปลี่ยนในบ้านเองถึงแม้เขาจะเป็นเยาวชนก็ตาม
เพราะว่าความรู้เขาและเทคโนโลยีทำให้เขามองไปทั้งในอดีต เข้าใจปัจจุบัน
และมองไปอนาคตว่า เป็นอนาคตที่ไม่สวยสำหรับเขาแน่ ถ้าเขาไม่ทำตอนนี้ อนาคตเขาข้างหน้า
ลูกหลานเขาข้างหน้า พังพินาศแน่!
ความล้มเหลวของคนในอดีตจำเป็นที่ทำให้คนรุ่นใหม่ปัจจุบันลุกขึ้นมาสู้!
ถาม : กระแสลบต่อ “จตุพร” ตำแหน่งประธานนปช.มีผลอย่างไร? องค์กรนปช. ยังมีอยู่หรือไม่?
เป็นคำถามที่ตอบยาก
อาจารย์ก็คิดว่าเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการรู้ คือปัญหาของเราที่เกิดขึ้นก็คือว่า
เมื่อองค์กรและแกนนำของเราควบคู่กับงานการเมือง ทีนี้เวลาในช่วงไม่มีการต่อสู้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังทำรัฐประหารมา 6-7 ปี ไม่ได้มีการต่อสู้ของประชาชนสักเท่าไร
น้ำหนักของแกนนำและประชาชนจำนวนหนึ่งก็ไปเทให้กับความหวังของพรรคการเมือง
แกนนำจำนวนหนึ่งก็สนใจงานพรรคการเมือง แล้วก็แยกย้ายกันไปทำคนละพรรค
สำหรับอาจารย์ไม่มีพรรคไหน
เพราะอาจารย์สนใจปริมณฑลการต่อสู้ประชาชนมากกว่าพรรคการเมือง
เวลาแกนนำอยู่ควบคู่กับพรรคการเมือง
เวลาแยกพรรคจำได้ว่าบางส่วนก็ไปอยู่ “ไทยรักษาชาติ” บางส่วนก็ “เพื่อไทย”
บางส่วนก็ไปอยู่ “เพื่อชาติ” ก็ไม่ได้มีการพบปะกันเลย
สำหรับอาจารย์มองว่าใครจะอยู่พรรคไหนก็ได้แต่ขอให้เป็นฝ่ายประชาธิปไตย
เพราะเราจะไม่ไปละเมิด เขารักพรรคไหนก็ไปอยู่พรรคนั้น
เขาอยากจะไปตั้งพรรคใหม่ก็ได้ แต่ถ้าไปอยู่ฝั่งเผด็จการมันก็ไม่ใช่ นปช.
หลักใหญ่สำคัญอยู่ที่ตรงนี้ว่า ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม
ถ้าคุณยังต่อต้านเผด็จการและสนับสนุนประชาธิปไตย คุณคือ นปช.
อยากให้เอาตัวนี้มาประเมินว่าแกนนำคนไหนยังอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยบ้าง?
เอาแค่ไม่ใช่ก่อน ส่วนใช่มาก ใช่น้อยแค่ไหน อันนี้มันเป็นเฉดเหมือน “แดง”
บางคนก็แดงอ่อน แดงแก่ แดงอมส้ม ฯลฯ
ส่วนที่ยังอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยเราก็ต้องมองนาน
ๆ มองด้วยความเข้าใจและเห็นใจว่าแต่ละคนอยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ปัญหาก็คือความเป็นองค์กรจะดำรงอยู่ได้ก็เมื่อมีกิจกรรม
มีการประชุม มีมติร่วมกัน แต่บัดนี้มันไม่ได้มีมานานแล้ว ถ้าพูดกันตรง ๆ
ความเป็นองค์กรจะพูดว่าดำรงอยู่นั้น พูดได้ไม่เต็มที่ หรืออาจจะพูดไม่ได้เลยก็ได้
ขอให้พวกเราประเมินตามความเป็นจริง
ทีนี้ความคิดเห็นเวลา
“จตุพร” พูด อยากให้เรามองว่ามันเป็นความคิดเห็นส่วนตัว เพราะนี่ไม่ได้มาจากการประชุม
ไม่ได้มาจากการลงมติ อย่างที่บอกว่าคนเป็นนปช. คนเป็นแดง มันก็มีเฉด
ที่มาที่ไปก็ไม่เหมือนกัน เพื่อนที่คบก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นสิ่งที่คิดเองแล้วพูดออกมาต้องรับผิดชอบเอง
อาจารย์ที่พูดอยู่ทุกวันนี้ก็พูดส่วนตัวนะ ไม่ได้ผ่านการประชุมที่ไหน
แต่อาจารย์จะพูดอย่าง
“ภววิสัย” ว่า “คน” ถ้าอยู่ในที่ต่างกัน มีกลุ่มคนที่ห้อมล้อมต่างกัน
มีประสบการณ์ต่างกัน พูดออกมาจะไม่เหมือนกัน เรื่องอดีตก็คืออดีต
แต่นี่คือปัจจุบัน สิ่งที่น่าหนักใจก็คือ
อย่างเด็กเขายังไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง มันก็ง่ายว่าอยู่ที่สู้แค่ไหน
สู้หรือไม่สู้ หรือถอย แต่พอเป็นแกนนำ นปช. มันไปสัมพันธ์กับพรรคการเมือง
ก็เลยมีโจทย์ใหม่ขึ้นมาด้วยว่าเพียงแต่อยู่คนละพรรค แต่ไม่ได้อยู่คนละฟากการต่อสู้
ก็ยังต้องถือว่าอยู่ในฝั่งเดียวกัน แต่พูดถูกหูหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อาจารย์ยอมรับความจริงว่าภาวะของความเป็นองค์กรมันพูดไม่ได้แล้ว
เพราะไม่ได้มีกิจกรรม แต่อาจารย์ก็ขอเรียกร้องว่า “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”
เวลาเราประณามหรือเล่นงานเราควรใช้กับฝั่งศัตรู
ไม่จำเป็นที่เราจะต้องมาใช้เชือดเฉือนเพื่อนฝั่งเดียวกัน
คิดได้แต่อย่าให้บั่นทอนกำลังของเรา เราอาจจะรักน้อยลง หรือคุยกันน้อยลง
แต่อย่าให้ถึงกับมองเป็นศัตรูกันเลย นี่เป็นความคิดอาจารย์
ถาม : คำแนะนำถึงรัฐบาล และคณะราษฎร
สำหรับรัฐบาล คุณทำผิดอย่างใหญ่หลวงที่คุณไม่ให้รัฐสภาเป็นทางออกของประเทศ
ถ้าคุณให้แก้รัฐธรรมนูญป่านนี้ในถนนไม่ออกมาเป็นแสน
ๆ อย่างนี้หรอก ดังนั้น ทำอย่างที่นักศึกษาเขาเสนอก็คือรีบเปิดและผลักดันให้เปิดการประชุมวิสามัญให้เร็วที่สุด แต่นี่คุณกลับทำตรงข้าม
เอาทหารเข้าไปอยู่ในรัฐสภาและบอกว่าห้ามประชุมทางการเมือง
แปลว่าคุณจะยืนยันให้รู้ว่าพวกนิติบัญญัติไม่มีความหมาย
นี่เป็นการกระทำที่เลวร้ายมาก แปลว่ารัฐสภานอกจากไม่ใช่ทางออกแล้วยังไม่ได้อยู่ในสายตาด้วย
เพราะฉะนั้นสำหรับรัฐบาล...พูดยาก!
แต่
“รัฐสภา” ก็คือพรรคการเมือง พรรคที่ไม่ใช่ พปชร.
คุณจะไปเซ็นร่วมกับเขาไหมที่ให้เปิดประชุมวิสามัญ เพียงพรรคเดียวก็เปิดได้แล้ว
คุณต้องตอบคำถามว่าคุณเป็น ส.ส. เพื่ออะไร? เพื่อกินเงินเดือนแสนกว่าเหรอ?
เวลามีปัญหาขนาดนี้แล้วคุณไม่ได้อยู่ในสภาพ ส.ส. เลย อย่าเป็นดีกว่า
ไม่มีเกียรติภูมิเลย แก้ปัญหาประเทศไม่ได้!
ส่วนคณะราษฎร
ให้เข้าใจว่าขณะนี้เขาอาจจะใช้การทหารหรือใช้กฎหมายมาจัดการ
เราเคารพการตัดสินใจของเยาวชนเหล่านี้ กลุ่มป้า ๆ น้า อา ลุง ๆ ทั้งหลายก็มีกำลังใจในชีวิตจากการที่มีเยาวชนออกมา
อันนี้ก็ขอขอบคุณ
แต่เราก็เป็นห่วง
การเดินทางของคุณขอให้ระมัดระวัง
กล้าแต่ระมัดระวัง ไม่ใช่กลัว คือคนรุ่นเก่าเวลามีรัฐประหารไม่ได้โผล่มา
ต้องยอมรับว่ากลัวมากกว่ากล้า แต่รุ่นนี้เขากล้ามากกว่ากลัว
การปราศรัยสมัยนี้มันดูโพยได้
ไม่เหมือนสมัยอาจารย์เท้าสะเอวพูด พูดปากเปล่า ดังนั้นใช้โพยเลย คือ “คิด”
ก่อนที่จะพูด เพราะต้องรู้ว่าเขากำลังใช้กฎหมายกับเราทุกอย่าง
สิ่งที่พูดและสิ่งที่ทำ นอกจากเราทำด้วยความกล้า ก็ศึกษาเสียหน่อยแล้วเตรียมสักหน่อย
แล้วให้มีคนจำนวนมาก ถ้าเขาจะจับก็ยังมีแกนนำเต็มไปหมด
(พูดอย่างนี้ไม่ได้อยากให้จับนะ) ไม่ถูกจับได้เป็นเรื่องที่ดี
แต่ถ้าถูกจับไปต้องมีแกนนำใหม่ขึ้นมาให้มากที่สุด ไม่จำเป็นต้องเด่นดัง เอาเนื้อหา
เพราะมวลชนขณะนี้เขามีความสามารถ เขาแยกแยะได้ไม่ยึดติดบุคคล
เขายึดติดกับเป้าหมายและเนื้อหามากกว่า
ให้ตระเตรียมเอาไว้เลย ดูซิว่าเขาจะจับเท่าไหร่ ถ้าเขาไม่อาย ไม่ขายหน้าประเทศต่าง ๆ และคนในประเทศ ที่จะจับเด็ก อีกหน่อยก็ต้องจับเด็กประถม (ตอนนี้จับเด็กมัธยมแล้ว) ก็ให้เป็นเรื่องของเขา เราทำให้ดีที่สุดคือคิดเสียก่อน ตระเตรียมสักหน่อยเพื่อให้เสียหายน้อยที่สุด แต่ก็ต้องวัดกันระหว่างเยาวชนที่ก้าวหน้ากับผู้ใหญ่ที่มีอำนาจที่ล้าหลัง อาจารย์คิดว่าคนรุ่นใหม่ได้เปรียบมากกว่ากันเยอะ ไม่ใช่แต่เพียงอายุ แต่หมายถึงสติปัญญาด้วย.