Facebook
Live อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ
วันอังคารที่
1 กันยายน 2563
เล่าข่าวหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ประเด็น
: รัฐสภาหรือภาคประชาชน จะเป็นผู้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อ.ธิดากล่าวว่า
ในส่วนของเรือนจำนั้น ดิฉันอยากจะเรียนว่าบรรดาแกนนำนปช.และประชาชนจำนวนมากได้รับพระราชทานอภัยโทษ
ก็จะมีส่วนหนึ่งที่ได้รับการปล่อยตัว บางส่วนก็จะได้รับการลดโทษและพักโทษ
ดังนั้นญาติพี่น้องและผู้ที่รอคอยคนที่อยู่ในเรือนจำก็จะได้รับข่าวดีเป็นระยะ ๆ
ตอนนี้ก็ทราบว่าอยู่ในช่วงเวลาของการจำแนก การคัดตัว การอบรม
ก็หวังว่าจะได้ทยอยกันออกมาเป็นลำดับ อันนี้ก็เป็นข่าวดี!
ทีนี้หันกลับมาในเรื่องนอกเรือนจำ
ในวันนี้ที่ดิฉันจะคุยก็ตั้งชื่อประเด็นว่า
ใครควรจะเป็นผู้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“พรรคการเมืองในรัฐสภา” หรือ “ภาคประชาชน”
ดิฉันขอเริ่มด้วยว่าบทเรียนของภาคประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอดีต
เอานปช.โดยตรงเลย
นปช.และนปก.
ได้พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ และได้ยื่นมาแล้วอย่างน้อย 2 ฉบับ
ฉบับแรกก็คือหลังรัฐประหารปี 2549
การขับเคลื่อนของเราก็คือหลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว
ขณะนั้นซีกประชาธิปไตยก็มีรัฐบาลของพลังประชาชน (ไทยรักไทยถูกยุบไปแล้ว)
เราได้มีการลงชื่อกว่าห้าหมื่นชื่อเพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แล้วในขณะนั้นต้องยอมรับว่าแม้จะมีการลงชื่อจริง แต่พรรคการเมืองอยู่ในฐานะนำ
อย่างไรก็ตามเราลงชื่อมาหมดแล้ว ปรากฏว่าในสภา
ญัตติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนไม่ได้ขึ้นมาสักที อยู่ในอันดับสองตลอดเลย
นั่นก็คือครั้งแรก
ต่อมาครั้งหลังซึ่งขณะนั้นดิฉันเป็นประธานนปช.
เนื่องจากนโยบายนปช.ใน 6 ข้อ มีข้อหนึ่งชัดเจนเลยว่า
เราจะยกเลิกไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 50
ต้องการเปลี่ยนแปลงให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนมากกว่านี้
เพราะรัฐธรรมนูญ 50 เมื่อเปรียบกับ 40 มันคนละเรื่องกันเลย
แต่ว่ายังไม่รุนแรงเท่ากับ 60
ยกตัวอย่างเช่น วุฒิสมาชิก
50 นั้น คือวัดครึ่ง กรรมการครึ่ง นั่นก็คือมีการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง
มีการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง แต่มาตอนนี้แต่งตั้ง 100% เลย
ขณะนั้นดิฉันเป็นประธานนปช.และได้ประชุมที่ปรึกษาคือมีการขอความเห็นนักวิชาการจำนวนมาก มีที่ปรึกษาหลายท่าน ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์คณิน บุญสุวรรณ (เสียชีวิตแล้ว),
อาจารย์พนัส ทัศนียานนท์, ท่านอดีตผู้พิพากษา อุดม มั่งมีดี เป็นต้น
เราร่างในการที่จะต้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้มี สสร. แล้ว สสร. ของเรา 100
คน มาจากการเลือกตั้ง 100% ให้ตามสัดส่วนจังหวัด จังหวัดไหนที่ประชาชนมากก็มี สสร.
จำนวนมาก ไม่ใช่ สสร. จังหวัดละ 1 คน
เพราะฉะนั้นของเราก็คล้าย
ๆ กับเจตจำนงที่ภาคประชาชนนำเสนอ เราไม่ได้ล็อคว่าหมวดไหนแก้ไขได้หรือไม่ได้
ก็คือให้เลือก สสร. 100 คน เลือกตั้งทั้งหมด แล้ว สสร.
จะมาตั้งกรรมาธิการหรือตั้งอนุกรรมาธิการอะไรก็ทีหลัง
แต่ปรากฎว่านี่เป็นครั้งที่เราไปได้ผู้คนมาภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน เราได้ชื่อมา 7
หมื่นกว่าชื่อซึ่งเป็นทั้งคนในกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัดด้วย ดังนั้นก็ใช้เวลาในการตรวจสอบตัวตนและที่อยู่
จำนวนคนที่ลงชื่อและผ่านการตรวจสอบไม่เป็นปัญหาของภาคประชาชน
แต่ว่าในอดีตนั้นไม่ประสบความสำเร็จ
ด่านแรกคือรัฐสภา ของเรานี่เจอด่านแรกเลย ยังไม่ต้องไปด่านไหนเลย
ครั้งแรกเขาไม่เอาเสนอในรัฐสภา ครั้งที่สองสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าร่างของเรา
(เหมือนที่ iLaw พยายามจะทำขณะนี้) มันไม่ตรงกับร่างของพรรคการเมือง
(พรรคเพื่อไทยในขณะนั้น) ก็มีการร่างอีกแบบหนึ่ง สสร. เหมือนกัน
แต่ว่ามีคณะกรรมการต่างหาก ที่คล้าย ๆ ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ แต่ของเขา สสร.
200 คน มี ส.ส.เลือกมา 20 คน มีอธิการบดีเลือกมา 20 อะไรอย่างนี้
อันนี้เป็นชุดใหม่
แต่ความหมายดิฉันจะบอกว่าร่างของภาคประชาชนจะไม่เหมือนกับร่างของพรรคการเมือง
ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าฝ่ายค้านก็ส่วนหนึ่ง ฝ่ายรัฐบาลก็ส่วนหนึ่ง
แล้วก็ยังมีบางพรรคก็ไม่เหมือนกัน นี่คือด่านแรกที่จะเจอ
แล้วในครั้งนั้นปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยเขาก็ต้องโหวตให้ร่างของเขา
เขาไม่เอาร่างของนปช. ดิฉันไม่อยากจะพูดลำเลิกนะว่า
ถ้าวันนั้นเห็นด้วยกับร่างของนปช. เราอาจจะไม่ยิ่งใหญ่เท่าพรรคการเมือง
ในทัศนะของอาจารย์นะ จะบอกว่าเราคุยโตโอ้อวดหรือเปล่าไม่รู้? แต่เราเข้าใจการเมืองไทย
เข้าใจประชาชนไทย มากกว่าพรรคเพื่อไทยและแกนนำพรรคเพื่อไทยตอนนั้นแหละ
เรารู้อยู่แล้วว่ามีความขัดแย้ง
ถ้าคุณพยายามจะเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นแบบที่คุณต้องการมากที่สุด คนอื่นเขาก็ไม่ยอม
เอาแฟร์ที่สุดเลย เลือกให้หมดเลย 100%
แล้วแน่นอน
ไม่ใช่
the winner takes all คุณเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ดิฉันพูดถึง
พปชร. ปัจจุบันนี้ด้วย คุณอาจจะมีส.ส.มาก คุณอาจจะมีเสียงมาก
คุณอาจจะผ่าน...แล้วไง? มันแก้ปัญหาได้มั้ย
ถ้าคุณพยายามจะดึงดันเขียนรัฐธรรมนูญตามแบบของคุณโดยตั้งคณะที่คุณเชื่อมั่นว่าเขาจะฟังคำสั่งคุณ
เขียนตามที่คุณต้องการ
ในอดีตดิฉันไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทยคิดอย่างไร
แต่ว่าไม่ตรงกับนปช. และเขาก็ทิ้ง!
ถ้าวันนั้นเราเข้าใจตรงกันว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น
มันไม่มีวันนี้สำหรับพรรคเพื่อไทยแน่นอน ในทัศนะของดิฉัน ก็คือ แฟร์ ๆ ไปเลย
แข่งกันเลย มันไม่มีข้อแก้ตัวให้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมในการทำลายล้าง
ก็คุณลงมาโหวตซิ คุณลงมาสมัครซิ แล้วก็ไม่ได้ล็อคเอาไว้ล่วงหน้า
ไม่มีการล็อคตำแหน่ง ไม่มีการล็อคโจทย์เอาไว้ล่วงหน้า แฟร์ ๆ เลย
เอาแบบนั้นเลย แต่มันผ่านไปแล้ว...
ที่ดิฉันต้องพูดเพื่อเป็นบทเรียนกับน้อง
ๆ ลูกหลานรุ่นหลังว่า ปัญหาคนเซ็นไม่ใช่ปัญหา กระทั่งเข้าไปในรัฐสภาก็เข้าได้
แต่เมื่อเวทีรัฐสภาเป็นผู้นำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาก็คว่ำร่างของคุณ
เขาก็เอาร่างของเขา อันนี้เป็นสิ่งที่มันเคยเกิดขึ้นแล้ว ขนาดเป็นพันธมิตรเดียวกัน
เพราะพรรคเพื่อไทยบอกว่าไม่เอานะของนปช. ยังไม่พอ...ยังทำร่างประชาชนมากมาย
ในการที่จะทำให้ประชาชนสับสนหรือเปล่า? แล้วก็ตัดกำลังนปช.ในการหาคนมาเซ็นชื่อ
แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา จะตัดยังไง นปช.ก็หาคนได้
ก่อนหน้านี้ตอนคุณวีระให้เอาคนมาถวายฎีกา
5 ล้านกว่าที่คนมาลงชื่อ
ตอนที่แก้รัฐธรรมนูญในยุคที่อาจารย์เป็นประธาน
7 หมื่นกว่าก็ใช้เวลาไม่นาน
เพราะฉะนั้นคนไม่ถึง
5 หมื่นหรือเกิน 5 หมื่น ไม่ใช่ปัญหา!
แต่ปัญหาด่านอันแรกเลยก็คือรัฐสภา!
ครั้งที่แล้วเมื่อพรรคการเมืองนำ
เขาผ่านด่านรัฐสภาได้เพราะเป็นเสียงส่วนใหญ่ อันนี้ พปชร. ฟังไว้นะ
เสร็จแล้วเป็นไง? ไปไม่ถึงฝัน วาระ 3 ไม่กล้าลง เจอศาลรัฐธรรมนูญ
นั่นคือด่านที่ฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายที่ไม่ใช่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะต้องเผชิญ
คุณชนะในรัฐสภา แต่คุณไม่สามารถฝ่าด่านขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญได้
ไม่กล้าโหวตวาระ 3
ตอนนั้นนปช.บอกโอเค
คุณไม่เอาร่างของเราก็ได้ ไล่โหวตไปเลยวาระ 3 ไม่เอา!!! ก็ได้รับคำแนะนำว่าให้โหวตแก้เฉพาะบางมาตรา
เรียบร้อยเลยค่ะ ขอแก้ ส.ว. จบเห่เลย!!!
ดังนั้นบทเรียนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ถ้าในส่วนของภาคประชาชนนั้น ถ้านำด้วยรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภาฝ่ายไหน
มันก็จบเห่ได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นพวกเดียวกับเสียงข้างมากในรัฐสภา
หรือคุณจะเป็นคนละพวก หรือคุณจะมีเฉพาะบางประเด็นที่ต่างกัน
ต่อให้คุณผ่านด่านรัฐสภาไปแล้วก็ตาม แต่ถ้าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย
คุณก็ไม่ผ่านด่านองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี อันนี้หมายความว่าเป็นการแก้ไขตามรัฐธรรมนูญแท้
ๆ
บทเรียนอันนี้เราก็ขอฝากลูกหลานและน้อง
ๆ เอาไว้ว่า ถ้าถามอาจารย์ธิดาว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้
แน่นอน...ถ้าทำตามรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจะต้องมีบทบาทด้านหลัก แต่ดังที่ดิฉันได้บอก
ต่อให้คุณมีเสียงข้างมากในรัฐสภา คุณก็ไม่พ้นด่านศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ยังไม่มีข่าว
คุณไม่พ้นองค์กรอิสระ คือคุณอาจจะเจอตั้งแต่ยุบพรรคก่อนยุบพรรคทีหลัง คุณเจอแน่
อันนี้เป็นการแก้ไขตามกติกาตามรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางรัฐสภา
ดังนั้นมาถึงเที่ยวนี้
รัฐธรรมนูญ 60 มันยิ่งแย่กว่า 50 หลายเท่า เขียนแบบไม่ให้แก้ ล็อคหมดเลย ล็อคซ้าย
ล็อคขวา ล็อคหน้า ล็อคหลัง รัฐธรรมนูญ 50 ยังดูเหมือนแก้ง่ายกว่า
เขาก็ยังลดเลี้ยวเคี้ยวคดเอาจนกระทั่งแก้ไม่ได้
ในทัศนะของดิฉันก็คือ
ถ้าคุณจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนแปลง
การใช้ให้พรรคการเมืองและรัฐสภานำ อาจารย์มองไม่เห็นการบรรลุเลย
เพราะว่าต่อให้คุณผ่านเสียงข้างมาก คุณก็จะต้องไปเจอด่านอื่น
หรือมิฉะนั้นถ้าคุณจะไม่เจอด่านอื่นขององค์กรอิสระ
คุณก็ต้องเขียนรัฐธรรมนูญตามใจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยม
คำถามคือประชาชนจะยอมไหม? ประชาชนไม่ยอม!!!
เพราะว่ารัฐธรรมนูญ
60 เป็นผลิตผลที่สุดยอดที่สุดแล้วของฝ่ายอำนาจนิยมกับอนุรักษ์นิยม
ถ้ามันเป็นปฏิมากรรมนะ หรือเป็นงานปั้นอะไร
มันก็ต้องสุดยอดฝีมือของฝ่ายจารีตนิยมและอำนาจนิยมในการประดิษฐ์รัฐธรรมนูญ 60
ขณะนี้ฝ่ายจารีตนิยมอำนาจนิยมยังมีอำนาจสูงเด่น
พร้อมกับมีฐานในฐานะพรรคการเมืองซึ่งพยายามแย่งชิงมวลชนโดยใช้วิธีการลดแลกแจกแถม
ใช้วิธีการประชารัฐ ประชานิยม ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญ 60
มันจึงยิ่งยากกว่าหลายเท่า เพราะฉะนั้นการแก้รัฐธรรมนูญ 60
อาจจะกลายเป็นยุทธวิธีของฝ่ายอำนาจนิยมจารีตนิยมที่ใช้รับมือกับการออกมาต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยของเยาวชน
มันอาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ ดังที่เราเข้าใจว่ามันอาจจะใช้เวลาถึง 2 ปี
กล่าวได้ว่า
มีอย่างเดียวก็คือภาคประชาชนต้องแข็งแกร่ง คุณต้องสามารถนำทั้งเนื้อหา
นำทั้งวิธีการ ให้ได้ ถ้าปล่อยให้รัฐสภาและกลไกของจารีตนิยมดำเนินไป
อย่าหวังเลยว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ก้าวหน้าขึ้นและเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีกว่าของประชาชนได้
รัฐธรรมนูญ 17, รัฐธรรมนูญ 40 กระทั่งรัฐธรรมนูญ 2489 ยังไม่ใช่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดนะ
เพียงแต่ว่ามันดีหลังจากมีการต่อสู้ของประชาชน
บทเรียนแรกก็คือ
ความล้มเหลวในการใช้รัฐสภาและกลไกรัฐในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอดีต
บทเรียนที่สองก็คือ
เราพบว่ารัฐธรรมนูญที่ดีมันจะเป็นผลพวงจากการต่อสู้ของประชาชนอย่างหนักหน่วง
89
เป็นผลพวงของ 2475 โดย อาจารย์ปรีดี
17
ดีขึ้นเหมือนกัน เป็นผลพวกจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชน 14 ตุลา 16
40
เป็นผลพวงจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชนปี 2535
คำถามว่ารัฐธรรมนูญ
60 แล้วคุณจะแก้ไข ถ้าไม่มีการนำการต่อสู้ของประชาชนที่โดดเด่น ที่แข็งแรง
ที่ยิ่งใหญ่ อย่าหวังว่ารัฐธรรมนูญที่ดี ที่ก้าวหน้า มันจะเกิดขึ้นได้ เพราะขนาดปี
17 ยังอยู่ไม่ทน ปี 40 ก็ยังอยู่ไม่ทน ยังถูกรัฐประหาร
ถ้าคุณจะแก้โดยประชาชนนำและแข็งแรงเท่านั้น
จึงจะสามารถได้รัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า ที่อำนาจมาเป็นของประชาชนได้
แม้กระนั้นก็ยังไม่แน่ว่าจะอยู่ยืนยาวแบบในอดีต
เพราะฉะนั้นบทเรียนในอดีตโดยสรุปก็คือ
มันสอนว่ามีแต่ความเข้มแข็งและการนำของภาคประชาชนเท่านั้น
จึงจะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนที่แท้จริง
ก็ขอให้การต่อสู้ของประชาชนในรอบนี้เข้มแข็ง
นำมาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดีให้ได้ เป็นกำลังใจค่ะ.