วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ธิดา ถาวรเศรษฐ : สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษา เป็นสถานการณ์ที่ก้าวหน้าของการต่อสู้ของประชาชนเพื่อระบอบประชาธิปไตย

 



สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษา เป็นสถานการณ์ที่ก้าวหน้าของการต่อสู้ของประชาชนเพื่อระบอบประชาธิปไตย ถ้าอำนาจรัฐจัดการปัญหาข้อเสนอของเยาวชนไม่ถูก ภาวะ “ไม่ทนอีกต่อไป” นี้ จะลุกลามขยายตัวแน่นอน!


จากการติดตามปรากฏการณ์การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนที่พัฒนารูปแบบ เนื้อหา ข้อเรียกร้องของเยาวชนกลุ่มต่าง ๆ และการที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกได้ออกแถลงการณ์ล่าสุด ยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาลและรัฐสภา คือ


1. หยุดคุกคามประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพตามหลักการระบอบประชาธิปไตย

2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

3. ยุบสภา


โดยมี 2 จุดยืนหลักคือ ต้องไม่มีการทำรัฐประหารและไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ


ที่เพิ่มเติมคือ 1 ความฝัน คือการมีระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ


ที่ผ่านมาข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เป็นเอกภาพในการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาทุกกลุ่ม ส่วน 2 จุดยืนและ 1 ความฝัน เพิ่งจะเติมเข้ามา เป็นการนำเสนอเพิ่มข้อเรียกร้องที่ต้องใช้วิธีการที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา รวมถึงเป้าหมายระยะยาว เป็น 1 ความฝัน


ข้อเสนอเหล่านี้ ดิฉันคิดว่าจะมีความเป็นเอกภาพเกิดขึ้นในกลุ่มต่าง ๆ ของเยาวชนดังที่ได้เกิดขึ้นกับ 3 ข้อเสนอหลักที่ผ่านมา


ทั้งหมดนี้เป็นข้อเรียกร้องเพื่อระบอบประชาธิปไตยโดยแท้ ไม่ควรจะเป็นเรื่องที่ฝ่าฝืนกฎหมายและรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะเป็นข้อเสนอที่จริงใจ สุจริต และปรารถนาดีต่อประเทศชาติ เพื่ออนาคตร่วมกันของประชาชนไทยทั้งมวล รวมทั้งของพวกเขาเอง


ส่วนประเด็นที่มีข้อเสนอ 10 ข้อ ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1 ซึ่งมีผู้ห่วงใย กระทั่งต่อต้านการแสดงออกที่มีข้อเสนอ 10 ข้อ ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์นั้น ล้วนเป็นข้อเสนอที่ยังอยู่ในบริบทของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ อาจมองได้ว่าเป็นข้อเสนอสุดโต่ง น่ากังวล หรือมองว่าเป็นข้อเสนอที่พยายามทำให้การอภิวัตน์ประชาธิปไตย (ปฏิวัติประชาธิปไตย) 2475 ได้บรรลุเป้าหมายจริง


แต่ข้อสรุปในแถลงการณ์ล่าสุดของกลุ่มเยาวชนปลดแอกซึ่งเปิดตัวนำร่องตั้งแต่ต้นว่า นี่เป็นความฝันที่อยากให้เป็นจริง ก็เป็นคำกล่าวที่น่าประทับใจและทำให้มองเห็นความก้าวหน้า ทั้งรูปแบบ เนื้อหา ทั้งนำเสนอต่อสาธารณชนอย่างกล้าหาญ ซื่อ ๆ ตรง ๆ คนในสังคมอาจเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่นี่เป็นเรื่องที่ดีสำหรับฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั้งหลายได้รับรู้เข้าใจเยาวชนว่าเขาก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างบุคคล ระหว่างพรรคการเมือง ไปสู่ความขัดแย้งระหว่างระบอบการเมืองการปกครอง โดยที่ถือว่าปัจจุบันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแท้จริง


ข้อเสนอของเขามุ่งนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย (ในฝัน) ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยแท้จริง ไม่ใช่ระบอบที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ซึ่งอาจถือะเป็นระบอบเผด็จการหรืออัตตาธิปไตย (Autocracy) หรืออภิชนาธิปไตย (Aristocracy) ในเสื้อคลุมประชาธิปไตย


ความห่วงใยความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นแบบ 6 ตุลา 19 ควรพุ่งเป้าไปยังฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐที่ใช้ความรุนแรงปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนและเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ใช้ความรุนแรงกระทำต่อประชาชนและเยาวชนมาตลอด ด้วยความกลัวว่าอำนาจจะหลุดจากมือชนชั้นนำจารีตนิยมไปสู่ประชาชน


การที่เยาวชนและประชาชนแสดงความคิดเห็นโดยเปิดเผย แต่ถ้ายังอยู่ในหลักการ เหตุผล บนกรอบของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย นอกจากไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎบัตรกติการะหว่างประเทศของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางการเมืองแล้ว ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องนำเสนอที่ก้าวหน้า เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองให้ดีขึ้น และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง


อย่าไปจับผิด ข่มขู่ คุกคาม จับกุม คุมขัง หรือลอบทำร้าย อุ้มไป ควรใช้การนำเสนอความคิดเห็นที่ต่างกันอย่างมีหลักการ เหตุผล และได้ประโยชน์แก่ประเทศชาติประชาชน เพราะการปราบปรามด้วยอาวุธและกฎหมายไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการหมักหมม ทำให้ความเน่าเสียขยายตัวลุกลามไปทั่ว การระเบิดออกมาของเยาวชนไทยคราวนี้ สะท้อนถึงปัญหาที่ถูกกดทับไว้ด้วยการใช้อำนาจรัฐและอาวุธ ซึ่งจะกดได้ชั่วคราวเท่านั้น ถ้าอำนาจรัฐจัดการปัญหาข้อเสนอของเยาวชนไม่ถูก


ดิฉันเชื่อว่า ภาวะ “ไม่ทนอีกต่อไป” นี้ จะลุกลามขยายตัวแน่นอน!


ธิดา ถาวรเศรษฐ

13 ส.ค. 63