วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

บันทึกเหตุการณ์ “หน้าบ้านเปรม” ในสายตาผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศ


บันทึกฉบับนี้ นิก นอสติตซ์ (Nick Nostitz) ช่างภาพและผู้สื่อข่าวอิสระเขียนลงในเว็บไซต์นิวมันดาลา (New Mandala) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2551 เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 โดยนิกได้ลงพื้นที่ในวันนั้นและประสบเหตุการณ์ด้วยตนเอง รวมถึงได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับบทบาทของทหาร สื่อไทย และสื่อต่างชาติในวันนั้นอีกด้วย

ทั้งนี้ ยูดีดีนิวส์ มิได้มีความประสงค์ที่จะคัดค้านคำตัดสินของศาลฎีกาแต่แกนนำ นปก. ในคดีดังกล่าว เพียงแต่ต้องการนำเอาทัศนะและมุมมองของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์มาบอกเล่าแก่ผู้เข้าชมสื่อออนไลน์เท่านั้น

…………………………….

กรุงเทพมหานครประสบกับความรุนแรงบนท้องถนนในวันที่ 22 กรกฎารม 2550 จากเหตุการณ์ที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) ชุมนุมข้างหน้าที่พักของประธานองคมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นยังคงถูกยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของความรุนแรงของคนที่สนับสนุนทักษิณจนถึงทุกวันนี้ สื่อไทยหลายฉบับเสนอข่าวในวันนั้นว่าผู้ชุมนุมทำร้ายร่างกายตำรวจและพยายามที่จะบุกบ้านพลเอกเปรม ในขณะที่สื่อต่างชาติส่วนมากไม่ได้เข้าไปทำข่าวในวันนั้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ข่าวในสื่อต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในวันนั้นส่วนมากมาจากการแปลจากข่าวไทย ยกเว้นการเสนอข่าวของเอเซียเซนทิเนล (Asia Sentinel) ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์และได้นำเสนออีกมุมมองที่ต่างออกไปจากสื่อไทย สำหรับผมแล้วการรายงานข่าวของเอเซียเซนทิเนล (Asia Sentinel) ในวันนั้นให้ภาพที่ตรงกับความเป็นจริงมากกว่า

ก่อนหน้านั้น นปก.พยายามที่จะไปประท้วงที่หน้าบ้านพลเอกเปรมเพราะพวกเขาคิดว่า พลเอกเปรมคือบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารในปี 2549 แต่ทางตำรวจได้ห้ามไว้ หลังจากนั้นทาง นปก. ได้วางแผนใหม่โดยที่จะนำกลุ่มคนประมาณ 15,000 20,000 คน เดินทางไปชุมนุมที่สนามหลวงแทน

ระหว่างการเดินทางได้มีกลุ่มผู้ชุมนุม นปก.กลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งเดินทางผ่านไปที่ถนนเทเวศร์เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ถูกตำรวจสกัดกั้นไว้ ที่ผ่านมาส่วนมากจะมีการเจรจาซึ่งใช้เวลานานแต่คราวนี้ผู้ชุมนุมใหญ่ได้เดินหน้าผ่านด่านสกัดกั้น โดยอาศัยกลุ่มคนซึ่งเยอะกว่าผ่าด่านแรกไปเลยโดยไม่มีการเจรจา และฝ่ายตำรวจได้มีการถอยร่นส่วนผู้ชุมนุมก็ยังเดินหน้าต่อไปโดยมีความรุนแรงเกิดขึ้นบ้างจากผู้ชุมนุมบางคนแต่ผู้ชุมนุมส่วนมากได้มีการห้ามปรามไว้

ประมาณ 15:00 น.  ผู้ชุมนุมได้เดินทางถึงหน้าบ้านพลเอก เปรม และนั่งลงเพื่อฟังการปราศรัยจากผู้นำการชุมนุมซึ่งอยู่บนเวทีที่เคลื่อนไหวได้โดยรถบรรทุก ในระหว่างนั้นผมก็ได้ยินว่าได้มีการสั่งการให้ตำรวจสลายผู้ชุมนุม นอกจากนั้นผมยังได้ข้อมูลเรื่องเวลาที่สลายการชุมนุมอีกด้วย

หลังจากที่กลับไปพักที่บ้าน ผมได้เดินทางกลับไปที่ถนนเทเวศร์ เหตุการณ์แรกที่ผมเห็นเมื่อไปถึงคือกองกำลังตำรวจกำลังดำเนินการสลายผู้ชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมสู้กลับ จนกองกำลังตำรวจต้องถอยออกไป หลังจากที่ทางฝั่งตำรวจถอยหลังไป กลุ่มผู้ชุมนุมก็ช่วยกันห้ามปรามพรรคพวกผู้ชุมนุมมิให้สู้กับตำรวจต่อ

หนึ่งในรูปที่ผทถ่ายได้ในวันนั้นคือ รูปของผู้ชุมนุมคนหนึ่งซึ่งออกมายืนขวางไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมคนอื่นโยนก้อนหินใส่ตำรวจ 

รูปโดย นิก นอสติตซ์ / นิวมันดาลา

ส่วนอีกภาพเป็นรูปกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเข้าไปไหว้กองกำลังตำรวจ 

รูปโดย นิก นอสติตซ์ / นิวมันดาลา

แต่แล้วหลังจากเหตุการณ์เงียบสงบพักหนึ่งความรุนแรงก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง เมื่อกองกำลังตำรวจเดินหน้าเพื่อพยายามสลายกลุ่มผู้ชุมนุมในรอบที่สองและสามติด ๆ กัน ก่อนที่กองกำลังตำรวจต้องถอยเข้าไปอยู่ในที่พักของพลเอกเปรม ข่าวส่วนมากที่ออกมาว่ามีการโจมตีที่พักของพลเอกเปรม แท้จริงแล้วคือความพยายามของผู้ชุมนุมที่จะสกัดกั้นไม่ให้กองกำลังตำรวจออกมาจากบริเวณที่พักของพลเอกเปรม โดยนำสิ่งของมาวางกั้นทางเข้าออกไว้ ในขณะเดียวกันก็มีกองกำลังตำรวจกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่หลงเหลืออยู่ข้างนอกตรงมุมถนนเทเวศร์ แต่ตำรวจกลุ่มนี้ไม่ได้ทำอันตรายผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมก็เลยละเว้นการเผชิญหน้ากับตำรวจกลุ่มนี้


ไม่ช้านานนักกองกำลังตำรวจที่อยู่ข้างในบริเวณที่พักของพลเอก เปรม ก็จู่โจมกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นรอบที่สี่ ซึ่งเริ่มมีการขว้างระเบิดแก็สน้ำตาห่าใหญ่ ทำให้ผู้นำการชุมนุมตัดสินใจถอย หลังจากนั้นก็มิได้มีการปะทะกันอีก ขณะที่สังเกตการณ์ผมคาดว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 5,000 คน ในระหว่างที่มีการปะทะและในตอนจบก็เหลือประมาณ 2,000 คนที่เดินทางกลับไปที่สนามหลวง

ในวันถัดมาผมได้คุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งระดับชั้นผู้น้อยและระดับสูงที่เข้าร่วมการปะทะในวันนั้น รวมถึงตำรวจนอกเครื่องแบบด้วย ทุกคนบอกว่าทหารบกเป็นหน่วยงานที่สั่งการให้สลายผู้ชุมนุมโดยทางตำรวจไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังสลายผู้ชุมนุม เพราะทางตำรวจคิดว่าอย่างไรเสียทางผู้ชุมนุม นปก. ก็จะออกไปเอง เพราะทางผู้ชุมนุมก็ไม่มีกำลังคนพอที่จะอยู่ขวางทางเข้าที่พักของพลเอกเปรม ได้ทั้งคืนแบบที่กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคยปิดทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาลก่อนการรัฐประหาร (ผู้เขียนระบุถึงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ได้เคลื่อนไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 13 มกราคม และวันที่ 14-28 มีนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 – ผู้แปล)

โดยสรุปแล้ว ถ้าวิเคราะห์อย่างเป็นกลาง ผมคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีเพราะตำรวจก็ไม่ได้ใช้อาวุธที่ทำให้เสียชีวิตได้และก็ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือพิการจากเหตุการณ์นั้น มากสุดคือตำรวจที่ขาหัก ผู้นำการชุมนุมก็ควบคุมผู้ชุมนุมได้ดีและสามารถหยุดการชุมนุมเมื่อมีความเสี่ยงที่จะเกิดการยกระดับความรุนแรง

เหตุการณ์ประท้วงเกิดขึ้นได้ในทุกประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่และส่วนมากก็มีความรุนแรงอย่างเช่นการประท้วงต่อต้าน WTO ที่เกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือเหตุการณ์ประท้วงคราวนี้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถควบคุมได้โดยไม่ใช้อาวุธที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต แทนที่จะต้องเผชิญหน้ากันอย่างเต็มรูปแบบด้วยการใช้ปืนยิงผู้ชุมนุมอย่างที่เคยทำบ่อย ๆ ในอดีต (รวมถึงใน พ.ศ. 2553 - ผู้แปล)

ในเหตุการณ์นี้ ตำรวจเลือกที่จะใช้แก็สน้ำตาทั้งในรูปแบบระเบิดขว้างและสเปรย์พริกไทย กระบองตำรวจ และสิ่งของเช่นขวดและก้อนหิน ขว้างใส่ผู้ชุมนุม ผมเกือบโดนขวดที่ขว้างจากในที่พักของพลเอกเปรมเข้าที่หัว และหนึ่งในรูปที่ผมเก็บได้คือรูปผู้ชุมนุมสูงวัยคนหนึ่งที่โดนสิ่งของที่ขว้างออกมาจากที่พักของพลเอกเปรมเข้าที่หัวจนหัวแตกจนต้องมีผู้ชุมนุมอีกสองคนช่วยกันหิ้วปีกออกมา 

รูปโดย นิก นอสติตซ์ / นิวมันดาลา

ผู้ชุมนุมก็พยายามหาทุกอย่างที่หาได้ทั้งขวด ก้อนหิน ไม้ หรือ เหล็ก นำมาเขวี้ยงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สำหรับผมแล้วผมถือว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เทเวศร์มีพัฒนาการที่สำคัญตรงที่ไม่มีการใช้อาวุธที่สามารถปลิดชีวิตผู้ชุมนุมในการสลายการชุมนุม แต่ผมก็เห็นว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงถ้ารัฐบาลที่ทหารตั้งขึ้นไม่สั่งการให้สลายผู้ชุมนุมและใช้หนทางอื่นที่เบากว่านั้น

และแน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ในวันนั้นคือการนำเหตุการณ์นั้นมาขยายผลทางการเมืองทั้งสองฝ่าย เหตุที่ข่าวจากสื่อไทยนำเสนอข่าวไปเอนเอียงทางด้านเดียวและมีอคติก็เพราะในช่วงนั้นมีนายทหารไปนั่ง “เซ็นเซอร์”สื่อที่สำนักงานสื่อทุกแห่ง ส่วนสื่อต่างชาติส่วนมากก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ บางสำนักที่อยู่ในเหตุการณ์ก็อยู่แค่ช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
……………

แปลจากบทความภาษาอังกฤษ “Revisiting the Prem compound clash by Nick Notitz, New mandala. 12 August 2008. (https://www.newmandala.org/revisiting-the-prem-compound-clashes/)