วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล : เมษา-พฤษภา 53 และคนเสื้อแดง


เมษา-พฤษภา 53 และคนเสื้อแดง
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

(1)

พฤษภาคม 2553
ผมอายุ 14 ปี ตอนนั้นอยู่บ้านซึ่งเป็นบ้านฝั่งข้างแม่ จำได้ว่า
คุณอามักเปิดโทรทัศน์ช่อง NBT ทุกวัน พิธีกรรายการนำเสนอคนเสื้อแดงที่ออกไปชุมนุม เรียกร้อง ในฐานะคนต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียกร้องโดยถูกจ้างมา คนเสื้อแดงเป็นคนไม่มีเหตุผล กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่แสนจะมีเหตุมีผล เป็นสุภาพบุรุษ และในบางครั้งก็มีสารคดีสั้น ๆ ระทึกใจในโทรทัศน์ให้ดูด้วย ท่านเองเปิดโปงว่า คนเสื้อแดงมีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรบ้าง ใครจ้าง กำลังสื่อถึงใครอยู่ และต่อต้านสถาบันกษัตริย์

ตอนนั้นผมเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 2

ครูที่โรงเรียนบางคนก็เอาความไม่พอใจต่อคนเสื้อแดงมาพูดในห้องเรียน เรียกพวกเขาว่า พวกเผาบ้านเผาเมือง คนหนักแผ่นดิน แม้จะมีครูบางคนที่ใจรักความเป็นธรรมให้กับคนเสื้อแดง แต่วาทกรรมเผาบ้านเผาเมือง แพร่หลายมากกว่าจะแก้ต่างได้ ทั้งในที่บ้านและในโรงเรียน

ผมเองยังไม่ประสีประสากับการเมืองสักเท่าไหร่ในเวลานั้น พึ่งสนใจก็ว่าได้ และด้วยความรักษาตัวรอดเป็นยอดดียังไม่แกร่งกล้าพอ เมื่ออ่านหนังสือนอกตำรา ซึ่งบางครั้งทำให้ได้ความเห็นไม่เหมือนกับในห้องเรียนที่ครูสอน ก็มักจะเอาไปโต้แย้งกับครู ผมยังทำหนังสือขึ้นมาเล่น ๆ ในห้องเรียนด้วย มาภายหลังผ่านไปหลายเดือนแล้ว ผมจึงรับรู้ว่าผมเองก็ถูกมองว่าเป็น "คนเสื้อแดง" ด้วยเช่นกัน ทั้งที่ผมยังไม่รู้เลยว่า "คนเสื้อแดง" มีความหมายลบขนาดไหนในตอนนั้น

นี่ไม่ได้มาจากแค่ที่ครูประจำชั้นในตอนนั้นให้เพื่อนผมคนหนึ่งมาตีสนิทกับผมและรายงานให้ครูทราบว่าผมมีทัศนคติทางการเมืองอย่างไร แต่ระดับผู้อำนวยการก็ยังส่งคนไปสืบว่าบ้านผมอยู่ไหน และครอบครัวมีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร
ความกลัวคนเสื้อแดง ของคนกลุ่มในสังคมและชนชั้นนำนั้นมากเหลือคณา
การถูกแปะป้ายเป็น "คนเสื้อแดง" แทนคนคิดเห็นแตกต่างจากคนอื่น ทำงานได้ผลได้ดี ชีวิตในโรงเรียนผมไม่เคยสงบอีกเลย ผมกลายเป็นคนที่ครูและนักเรียนล้วนระวังตัว เหมือนกลัวจะถูกแพร่เชื้อ และแม้อาจจะไม่เคยคุยกันเลย แต่แค่ได้ยินชื่อผมก็อคติกับผมไปแล้ว

(2)

ผมเริ่มรู้จักคนเสื้อแดงจริง ๆ และได้ไปร่วมงานชุมนุมด้วยก็คือ หลังจากได้ไปฟังปาฐกถาที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ และงานเสวนาวิชาการต่าง ๆ แรกสุดก็แปลกใจอยู่เหมือนกันว่า ทำไมกลุ่มคนเหล่านี้ที่ถูกนำเสนอว่าไม่มีการศึกษา ถูกหลอก ถึงมากันเต็มงานเสวนาเลยนะ แทนที่จะมีนักศึกษาจำนวนมาก กลับเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง ป้า ๆ ลุง ๆ ที่มาฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ และตอนช่วงถามตอบ คำถามที่พวกเขาถามมักสะท้อนความไม่เป็นธรรมทางสังคม หรือเป็นในลักษณะเชิงผิดหวังและอยากหาทางออกจากสังคมที่อยุติธรรม ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่ผมเองและหลาย ๆ คนก็รู้สึกเหมือนกันมิใช่หรือ

หรือว่าผมถูกหลอกให้สนใจสังคมที่เป็นธรรมงั้นหรือ?

ดังนั้นคำว่าคนเสื้อแดงถูกหลอก น่าจะเป็นพวกเรามากกว่าที่ถูกหลอก จนในที่สุดพวกเราก็เมินเฉยและชาชินกับสังคมอยุติธรรมให้คงอยู่ต่อไป

หลังจากที่ได้ไปงานเสวนาอย่างบ่อยครั้ง ก็ได้เริ่มรู้จักพี่ ๆ หลายคนที่เป็นเสื้อแดง เริ่มเรียนรู้ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงนั้นคิดยังไง เขาเคลื่อนไหวอะไรกันบ้าง ผมได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่า ขบวนการคนเสื้อแดงมีความหลากหลาย บางคนสนับสนุน ทุนนิยม บางคนสนับสนุนสังคมนิยม เห็นแย้งเห็นต่างในแนวทางอยู่ แต่ก็ยังเรียกรวมกันว่าเป็นคนเสื้อแดง นี่เป็นอะไรที่ไปไกลกว่าความใจทั่ว ๆ ที่มองว่าขบวนการนี้เป็นขบวนการของแค่คนบางคนเท่านั้น เมื่อมองกลับไปยังในโรงเรียนหรือที่บ้านซึ่งอคติให้เราเกลียดกลัวการชุมนุมประท้วงและคนเสื้อแดง เราเริ่มเห็นว่าใครกันแน่ที่ไร้เหตุผลและโลกแคบ

จริง ๆ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เป็นที่รับรู้ในแวดวงวิชาการและในสังคมที่ชอบกระซิบกระซาบอยู่แล้วว่าไม่เป็นผลดีกับใครเลย และยังมักถูกนำมาเสริมบารมีและหยามหมิ่นคนที่คิดแตกต่างด้วย แต่สังคมไทยมีคนปากว่าตาขยิบอยู่จำนวนมาก หลาย ๆ คนไม่ได้ผลกระทบอะไรโดยส่วนตัว และอาจจะได้ประโยชน์จากการอ้างสถาบันด้วยก็เลยไม่ได้ทำอะไร ลอยตัว กลุ่มคนเสื้อแดงนอกจากจะกล้าพูดออกมา พวกเขาไม่น้อยก็ถูกจับดำเนินคดีเพราะข้อกล่าวหานี้ ขณะที่สังคมไทยก็ยังปากว่าตาขยิบ รู้ปัญหาแต่ก็แสร้งไม่พูดต่อไป

ผมเองได้เคยไปร่วมรณรงค์ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับพวกเขาในการชุมนุมหลายครั้งด้วย ทุกวันนี้เวลาน่าจะพิสูจน์แล้วว่า คนเสื้อแดงต่อสู้ถูกต้อง มาตรา 112 สมควรได้รับการยกเลิก

(3)

กลับมากล่าวถึงเหตุการณ์เมษา - พฤษภาคม 2553

ซึ่งมีการสังหารประชาชนเสียชีวิตจำนวนมากกลางกรุงเทพมหานคร
ตอนนั้นผมพึ่งจะรับรู้การเมืองแล้ว แต่ผมก็สมควรจะต้องรู้สึกผิดไปอีกยาวนาน จากที่แม้คนเสื้อแดงจะเป็นคนร่วมชาติเดียวกัน แต่ความตระหนักต่อความตายของพวกเขาด้วยกระสุนของทหารกลับมีน้อยนิด ผมไม่ได้ตกใจและออกมาปกป้องในสิ่งที่ควรตกใจและปกป้อง ผมยังดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างปกติ โดยหารู้ไม่ว่า อีกไม่กี่เดือนถัดมาผมก็กลายเป็น "คนเสื้อแดง" ของโรงเรียนไปแล้ว

จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาผ่านไปหลายปีแล้ว

การมองย้อนกลับไปหลังเหตุการณ์ทำให้เราเห็นอะไรที่กระจ่างชัดมากขึ้น สิ่งที่คนในเหตุการณ์ตอนนั้นเรียกร้องยังคงเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากมายเรียกร้องอยู่ในเวลานี้

เหตุการณ์เมษา - พฤษภาคม 2553
ไม่ได้เป็นความเจ็บปวดเฉพาะกลุ่มอีกแล้ว
ตอนนี้มันได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ระดับชาติ
เป็นภาพแทนการถูกกดขี่ของคนทั่วประเทศ ที่รอวันสะสาง
และในไม่ช้า วันนั้นย่อมมาถึง