วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ธิดา ถาวรเศรษฐ : 13 ปี การต่อสู้ของ นปช. (2)



องค์กรนำการเคลื่อนไหวของประชาชนที่เป็นรูปการ มีนโยบาย มีการนำการเคลื่อนไหวทั่วโลกและในประวัติศาสตร์นั้น โดยทั่วไปจะดำรงอยู่ระยะสั้น ต่อสู้เป็นเรื่อง ๆ  ถ้าไม่ชนะก็แพ้แล้วเลิกราไป  ในเรื่องใหม่ ๆ วาระใหม่ ๆ ก็จะเกิดขบวนการใหม่ ชื่อใหม่ และผู้นำใหม่

นปช. จัดว่าเป็นองค์กรเคลื่อนไหวมวลชนที่มีอายุนานมาก (ค่อนข้างผิดธรรมชาติการต่อสู้ของประชาชน ยกเว้นขบวนการปฏิวัติที่มีพรรคปฏิวัตินำ) 13 ปี การต่อสู้ของ นปช. กับระบอบอำมาตยาธิปไตยที่มีการทำรัฐประหารจากกองทัพช่วยเปิดทางและค้ำจุนระบอบ ถือว่ายาวนาน

พรรคนายทุนที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบอำมาตย์อำนาจนิยมก็มีอายุยาวนาน ผลัดเปลี่ยนชื่อ ไม่มีทีท่าว่าจะตาย กลับจะผลัดใบแตกกิ่งแตกสาขา นี่ต้องถือว่าเป็นคู่ต่อสู้กับระบอบอำมาตย์ที่แข็งแรง ไม่แพ้ ไม่เลิกรา ในทางยุทธศาสตร์

ทบทวนว่าการเติบโตจากเครือข่ายต้านรัฐประหารปี 2550 พัฒนาไปสู่องค์กรที่มีหลักนโยบาย มีการนำระดับต่าง ๆ มียุทธศาสตร์ มีการบ่มเพาะมวลชนและสร้างแกนนำการนำทั่วประเทศ เกิดเป็นขบวนการใหญ่โต

การถูกปราบปี 2552 มาสรุปบทเรียนความไม่เป็นเอกภาพ พัฒนาในปี 2553 จนเกิดการชุมนุมขนาดใหญ่ยาวนานร่วม 2 เดือน มีขบวนแรลลี่เสื้อแดงเต็มท้องถนนในกรุงเทพฯ เอาเป็นว่าคนมาเรียกร้องสันติวิธี มามากเท่าไหร่...รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและระบอบอำมาตย์ฯ ก็ไม่แยแส

เมื่อผ่านการปราบปรามเข่นฆ่าในปี 2553 อย่างโหดเหี้ยม มีคนตายบาดเจ็บมากที่สุดในประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้ทางการเมือง ตั้งแต่ในปี 2554 ก็มีการชุมนุมเคลื่อนขบวนกดดันตั้งแต่ปลายปี 2553 จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ยอมยุบสภาก่อนวาระ  และการขับเคลื่อนในวาระครบรอบโศกนาฏกรรม 10 เมษา ถึง 19 พฤษภา จากทุกเดือนจนถึงทุกปี ก็มีคนมารำลึกเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่โดย ไม่มีการหนุนช่วยจากพรรคการเมือง คนไม่ได้น้อย เพราะเป็นการชุมนุมโดยคนในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล มาร่วมรำลึกไว้อาลัยเป็นหลัก เมื่อมีการเปิดโรงเรียนการเมือง นปช. ทั่วประเทศ ประชาชนก็มากันคับคั่ง แม้จะเป็นบทเรียนซ้ำ ๆ เดิม แต่เพราะเขาต้องการผ่าน.....โรงเรียน นปช.

การตรวจสอบการเลือกตั้งในปี 2554 เราใช้คนนับแสนคนตรวจสอบการเลือกตั้งทุกเขตเกือบทุกหน่วย ยังมีการลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ นปช. ซึ่งต่างจากพรรคเพื่อไทย ก็สามารถได้รายชื่อร่วมแสนภายใน 1 เดือน (รวมสำเนาบัตรประชาชนและกรอกข้อมูลเสนอร่างรัฐธรรมนูญ) ทั้งการถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญ  ประชาชนยังกระตือรือร้นร่วมทำงานการเมืองทุกรูปแบบ  นี่เป็นด้านบวกและด้านเข้มแข็งของ นปช. ในเวลาที่ดิฉันเป็นประธานจากปี 2553 – 2556 สิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดงานการเมือง งานปราศรัย และการเกิดองค์กรนำในแต่ละจังหวัดดำเนินไปคักคักมาก ส่วนกลางต้องขึ้นเวทีคืนละ 2-3 เวที เป็นต้น

นี่คือคำตอบที่ว่าหลังเหตุการณ์ เมษา – พฤษภา 2553 นปช. และมวลชนยังเข้มแข็ง อาจมากกว่าเดิมในแง่การนำ การสร้างผู้ประสานงาน สร้างเครือข่ายแกนนำ นปช. ทั่วประเทศและในต่างประเทศ รวมทั้งสื่อสารในเวทีโลก

แล้วด้านลบ ด้านอ่อนล่ะ มีแน่นอน!

ท่ามกลางการชุมนุมเคลื่อนมวลชนขนาดใหญ่ มีการสนับสนุนจากส่วนต่าง ๆ ทั้งฟากการเมือง ฟากแนวร่วม และฟากมวลชน นั้น

1. มีความหลากหลายในหมู่แกนนำและวิธีคิด วิธีทำงาน ต่อให้มีหลักนโยบายและมีการนำค่อนข้างเป็นระบบ ก็มีการแตกแถว มีเสรีชนที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางนโยบายในส่วนที่ร่วมด้วยช่วยนำกันเอง มีนักการเมือง พรรคการเมือง และผู้หวังดีที่มีความคิดแตกต่างไป ทำให้เกิดปัญหาในยามวิกฤต การต่อสู้ก็ทดสอบภาวะการนำ ทำให้สับสนในการขับเคลื่อนมวลชนและทิศทางการต่อสู้ ทั้งเฉพาะหน้าและระยะต่อ ๆ ไป เกิดมีภาวะไร้วินัยอยู่มาก

2. การขับเคลื่อนขบวนการต่อสู้ของประชาชนขนาดใหญ่ที่ร่วมทางกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่เช่นกัน จึงไม่ง่ายเลย เพราะเป้าหมายทางการเมืองกับเป้าหมายการต่อสู้ของประชาชน บางทีไม่ตรงกัน หลายครั้งข้อดีที่หนุนช่วยกันและข้ออ่อนที่เห็นแตกต่างกันในบางระยะ จะมีผลสะเทือนใหญ่โตทั้งสิ้น เช่น
- ปัญหา ICC
- ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ
- ปัญหานิรโทษสุดซอย

สามปัญหานี้ นปช. ยืนแตกต่างกับพรรคเพื่อไทยตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 100% ตามสัดส่วนประชาชน  ปัญหานิรโทษกรรมสุดซอย ซึ่ง นปช. และคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ (เกือบทั้งหมด) ไม่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทย และปัญหาการเซ็นรับรองเขตอำนาจศาลโลก ICC เฉพาะกรณี 10 เมษา – 19 พฤษภา ที่รัฐมนตรีต่างประเทศของพรรคเพื่อไทยไม่ยอมเซ็นอนุมัติให้ ICC เข้ามาดำเนินการ

เมื่อยอมรับด้านบวกได้ ก็ต้องยอมรับว่าจะมีด้านลบได้เช่นกัน

3. ด้านลบอีกด้านคือ ขนาดใหญ่ของมวลชนที่ขับเคลื่อน ทำให้ นปช. เป็นเป้าหมายสำคัญที่ฝ่ายจารีตนิยม อำนาจนิยม ต้องการทำลาย แกนนำก็ถูกควบคุม จับกุมคุมขัง คดีความมากมาย เพราะแต่ละครั้งแกนนำต้องมอบตัว ยุติการชุมนุม เพราะทนเห็นประชาชนถูกฆ่ามากมายไม่ได้  แล้วที่สุดแกนนำก็ประสบชะตากรรม มีคดีความ ต้องเข้าคุกกันเป็นลำดับ โดยฝ่ายผู้กระทำลอยนวล

นอกจากแกนนำสำคัญ ๆ ถูกจ้องจัดการโดยฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ในฝ่ายเดียวกันก็มีความพยายามแย่งชิงมวลชน แย่งชิงการนำ โดยสร้างวาทกรรม “สู้แล้วรวย” “สู้ไปกราบไป” ฯลฯ ในส่วนผู้เขียนก็ถูกปรามาสว่าเป็นผู้หญิง (แก่แล้ว) เป็นนักวิชาการ ไม่มีประสบการณ์ขึ้นเวทีชุมนุม และขับเคลื่อนโดยเรียกร้องวินัย และนโยบาย นปช. ก็ถูกข้อหาเผด็จการเพิ่มด้วย (โดยเฉพาะการแย่งขึ้นเวทีปราศรัยเมื่อเห็นมีมวลชนมาก ๆ)

4. ด้านลบอีกอย่างคือปัญหาพรรคการเมืองที่คนเสื้อแดงสนับสนุน ถ้ามีปัญหาการเป็นรัฐบาล การดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่มวลชนคาดหวัง มวลชนจะไม่พอใจทั้งพรรคและลามมา นปช. เพราะมีแกนนำเข้าร่วมในรัฐบาล

26 พ.ค. 63


ยังมีต่อ...