วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : 10 ปี เมษา - พฤษภา 53 บางเรื่องที่ต้องอธิบายซ้ำ


10 ปี เมษา - พฤษภา 53 บางเรื่องที่ต้องอธิบายซ้ำ

หลายคนที่คัดค้านการรำลึกเหตุการณ์ เมษา - พฤษภา 2553 ยกอ้างหลักฐานสำคัญ 3 ประการเพื่อชี้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความชอบธรรมของรัฐบาล ที่ใช้กำลังปราบปรามประชาชนผู้ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง

1. รายงานคอป.
2. คำพิพากษา ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา
3. คำวินิจฉัยของปปช.

จึงขอใช้ความจริงเป็นอาวุธทะลวงกำแพงอคตินี้อีกครั้ง

1. คอป. คือ คณะกรรมการค้นหาความจริงที่ตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นคู่กรณีและถูกกล่าวหาว่าปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน
ในประเทศที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว และมีการตั้งกรรมการค้นหาความจริงนำไปสู่กระบวนการปรองดองจนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ เช่น ชิลี กัวเตมาลา อาร์เจนตินา ฯลฯ ไม่มีประเทศใดให้รัฐบาลคู่กรณีเป็นผู้ดำเนินการ บางประเทศ เช่น เอลซัลวาดอร์ ถึงขั้นให้สหประชาชาติตั้งคนต่างชาติเป็นกรรมการและเจ้าหน้าที่ทั้งหมด รวม 23 คน

การสั่งยิง สั่งเปิดเขตกระสุนจริงเอง แล้วตั้งกรรมการค้นหาความจริงเองด้วย มีความชอบธรรมเพียงพอจะกล่าวอ้างเป็นข้อยุติหรือ ?

รายงานคอป.ที่ขัดแย้งในสาระสำคัญกับคำวินิจฉัยของศาลจากการไต่สวนสาเหตุการตาย เช่น กรณี 6 ศพวัดปทุมวนาราม คอป.รายงานว่ามีชายชุดดำยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่แต่ศาลชี้ว่าไม่มี ไม่เชื่อว่ามีการซุกซ่อนอาวุธในวัด และ 6 ชีวิตคนมือเปล่าตายเพราะกระสุนจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ เราจะเชื่อใคร ?

2. คำพิพากษาทั้ง 3 ศาล ไม่ได้ยกฟ้องให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ”พ้นผิด”จากข้อกล่าวหาบงการฆ่าโดยเจตนาเล็งเห็นผล แต่เป็นเพียงข้อวินิจฉัยว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจพิจารณาคดีเนื่องจากทั้ง 2 คนกระทำในฐานะนายกฯและรองนายกฯ จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดนเริ่มต้นที่ปปช.ในฐานะพนักงานสอบสวน

3. พวกเราตามแล้วตามเล่า ปปช. ก็ชี้แล้วชี้อีกว่าทั้ง 2 คนไม่ผิด การใช้ดุลยพินิจต่างโดยสิ้นเชิงกับกรณีชี้มูลความผิดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ ในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเมื่อ 7 ตุลาคม 2551

กรณีดังกล่าวอัยการสั่งไม่ฟ้อง ตั้งกรรมการร่วมอัยการ - ปปช. แล้วก็ยังมีข้อเห็นต่าง แต่ปปช.จ้างทนายฟ้องเอง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้องแล้ว ปปช.ยังยื่นอุทธรณ์ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว จำเลยอีกคนหนึ่ง

แรงกระหายความยุติธรรมของปปช.ในคดี 7 ตุลาคม 2551 ต่างกันลิบลับกับคดี เมษา - พฤษภา 2553 จะให้ยอมรับว่าเป็นธรรมเที่ยงแท้ได้อย่างไร

วันที่เลขาธิการปปช.แถลงเรื่องนี้รอบล่าสุด ผมตั้งคำถามง่ายๆว่าผู้แถลงเชื่อหรือไม่ว่านี่คือความยุติธรรม กลับไม่มีคำตอบ มีแต่การบ่ายเบี่ยงไม่ยอมตอบ

ผมเขียนและพูดเรื่องเหล่านี้มาแล้วหลายครั้ง และเขียนอีกครั้งเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของผู้ต้องการความจริงเพื่อความยุติธรรม

24 พ.ค. 63