วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

วีระกานต์ มุสิกพงศ์ : วาระครบรอบ 10 ปี เมษา-พฤษภา 53



วาระครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์เมษา - พฤษภา 53

ยูดีดีนิวส์ : 19 พ.ค. 63 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมศูนย์ข่าวยูดีดีนิวส์ ได้จัดให้มีการทำบุญถวายสังฆทานพระสงฆ์ จำนวน 4 รูป เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตในยุทธการ "ขอคืนพื้นที่" เมื่อ 10 เมษายน 2553 และยุทธการ "กระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์" เมื่อ 13 - 19 พฤษภาคม 2553

ท้้งนี้ก่อนพิธีสงฆ์จะเริ่มขึ้น "นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์" อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้กล่าวว่า
ท่ามกลางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 เลยมาจนถึงบัดนี้ มันทำให้บุคคลเปลี่ยนไป ผมเองก็เปลี่ยนไปมาก จนพูดเองฟังแล้วก็จำไม่ได้ว่าตัวเองพูด

สำหรับผมในระหว่างที่หยุดพักการเคลื่อนไหวไปประมาณ 4-5 ปีมานี้ ก็เผชิญกับปัญหามากมายก่ายกองจนลืมชีวิต ลืมอะไรเกือบทั้งหมด มันอยู่ในภาวะสับสนทั้งเป็นโรคขึ้นมาแทรกซ้อนขึ้นมา เริ่มต้นจากเสียงแหบเมื่อตอนหยุดปราศรัยใหม่ ๆ เสียงแหบไปเลย หายไป แล้วก็ค่อยคืนมา ๆ ผมเป็นโรคหลายโรคในช่วงระยะเวลาที่หยุดการเคลื่อนไหว ไม่ทราบว่าเป็นเพราะว่าหยุดการเคลื่อนไหวไปถึงเป็นโรค หรืออย่างไร มันอาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเคลื่อนไหวไม่หยุดก็คงตายไปแล้วแหละป่านนี้  เพราะมันจะเหนื่อย เหนื่อยมาก

ผมมาคิดถึงว่าถ้าเราจะมาพูดกันถึงเรื่อง 10 ปี รำลึก 19 พฤษภา 2553 ผมก็ตั้งหัวข้อไว้อย่างนี้ ก็ลองทบทวนดูว่าในชีวิตของผม ตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบันมันมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ อะไรในเมืองไทยเกิดขึ้น แล้วก็ทำให้คนเปลี่ยนไป ผมพยายามนึกย้อนไปถึงปี พ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นปีที่ผมเกิด แต่ว่าผมนึกย้อนไปนะครับ ถ้านึกย้อนไปจำได้ก็อัจฉริยะแล้ว แต่ว่าจำไม่ได้หรอก

แต่ที่รู้มาตอนโตแล้วก็รู้ว่า 2491 เป็นยุคที่บ้านเมืองของเราไม่เป็นประชาธิปไตย ก็หมายความว่าเกิดมาในท่านกลางความไม่เป็นประชาธิปไตยนั่นเอง จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2500 เป็นปีกึ่งพุทธกาล ตอนนั้นก็รู้ความแล้ว จำได้ จอมพล ป. เป็นนายกฯ จำได้อยู่คนเดียว นอกนั้นจำใครไม่ได้

มาจนถึงปี 2511 มีรัฐธรรมนูญฉบับเรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับจอมพลถนอม” ก็แล้วกัน เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างกันยาวนานที่สุด ที่จริงมันร่างกันมาตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรื่อยมาจนกระทั่งถึงพ.ศ. 2511 ก็ไม่ใช่ว่ามันจะเสร็จแล้วออกมาให้ประชาชนได้ชื่นชมนะครับ มันออกมาได้ก็เพราะประชาชนบีบบังคับ ร้องขอ เสียงระงมไปทั่วทั้งบ้านทั้งเมือง อยากจะมีประชาธิปไตย อยากจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากว่าต้องมีรัฐธรรมนูญเสียก่อน แต่ว่าการที่มีรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเพราะว่าจอมพลถนอมได้ใช้เวลาในร่างรัฐธรรมนูญมานานเกินสมควรแล้ว จากปี 2500 ก็มาเจอเหตุการณ์สำคัญในปี 2511 ก็มีการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งนั้นมาจากการบังคับของประชาชน แล้วจอมพลถนอมแกไม่ได้เต็มใจให้ประกาศใช้หรอก แต่ทนเสียงเรียกร้องไม่ไหว ก็ยอมให้มีรัฐธรรมนูญขึ้น พวกเราที่เป็นนักศึกษา (ตอนนั้นผมขึ้นมหาวิทยาลัยแล้ว) ก็ได้พบกับการเลือกตั้ง มีความประทับใจที่มันมีการเลือกตั้ง เป็นผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง เป็นนักสังเกตการณ์เลือกตั้ง คือสังเกตจริง ๆ แล้วก็สังเกตปลอม ๆ

สังเกตจริง ๆ นั้นก็คือมีเหตุมาจากนักศึกษาตั้งขบวนการที่เรียกว่า “สังเกตการณ์ประชาธิปไตย” นักศึกษารวมกันจัดตั้งขบวนการของตนขึ้นมา มีธรรมศาสตร์ จุฬาฯ เกษตรฯ ศิลปากร รวมแล้ว 6-7 สถาบัน ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยตอนนั้น ลงเทศบาลนครกรุงเทพก่อนมาลง ส.ส. ปราศรัยกันสนุกสนาน พวกผมเป็นเด็กก็คอยจ้องดูเขา เขาก็ปราศรัยกันสนุกล่ะพวกนักศึกษารุ่นพี่ แล้วก็มาสังเกตการณ์การเลือกตั้งจริง ๆ ก็คือขบวนการที่ควบคุมการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ก็มีพวกนักศึกษานี่แหละเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นเหมือนกัน เรียกว่าสังเกตการณ์เลือกตั้ง ก็เฝ้าดูการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ทำได้ในกรุงเทพฯ อย่างเดียว สมัยก่อนทำอะไรที่บ้านนอกไม่ได้ อันตราย ผมก็เป็นผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งบ้านช่างหล่อ ฝั่งธนบุรี ก็ตื่นเต้นสนุกสนานดี เพราะหน่วยเลือกตั้งที่พวกผมไปสังเกตการณ์มันค่อนข้างจะเรียบร้อยด้วย

ไม่เหมือน 2500 สมัยนั้นเขาว่ามีการเลือกตั้งสกปรกกัน (จอมพล แปลก) แล้วก็มีนิสิตจุฬาฯ นักศึกษาธรรมศาสตร์เดินขบวนประท้วงที่ว่าบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือโกงการเลือกตั้งกัน มันเนื่องมาจากสาเหตุว่านับคะแนนกันข้ามวันข้ามคืนแล้วก็ยังไม่เสร็จ จนกระทั่ง 7 วัน ถึงจะนับคะแนนกันเรียบร้อย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ผิดวิสัย คนก็เลยตั้งข้อสังเกตว่ามันเป็นการเลือกตั้งที่ทุจริต 2511 เราสังเกตการณ์การเลือกตั้ง รัฐบาลก็ร่วมมือด้วย คือตั้งงบไปซื้อข้าวห่อมาเลี้ยง ก็เลือกตั้งไปด้วยดี

จากปี 2511 ทีนี้ผมก็โจนเข้าคลุกกับการเมืองเลย คลุกคือหมายความว่าเข้าไปยุ่งทุกเรื่องที่มีในสังคม เขาขึ้นราคารถเมล์จาก 50 สตางค์ เป็น 75 สตางค์ ก็ไปเดินขบวนประท้วงกับเขา ซึ่งก็มีผู้คนชุมนุมกันมากมายพอสมควร จนกระทั่งได้รับชัยชนะ ก็คือรถเมล์ไม่ขึ้นราคา แต่ว่าประชาชนนั่นแหละที่ต้องรับผิดชอบทางอ้อม หมายความว่ารัฐต้องจัดสรรงบประมาณมาชดเชยความขาดทุนของ ขสมก. ซึ่งถ้ามองในปัญหาให้ทะลุก็จะเห็นว่าประชาชนทั้งนั้นที่เดือดร้อน

2511 เลือกตั้งแล้วก็มีสภาที่ทำหน้าที่ แต่จอมพลถนอมแกไม่คุ้นเคยกับการทำหน้าที่เป็นรัฐบาลให้กับสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นแกก็ทนเดือดร้อนรำคาญไม่ไหว ตั้งงบประมาณ 2512 เสร็จ เขียนโดยสำนักงบประมาณเล่มหนึ่ง แล้วก็ต้องมาตั้งงบประมาณให้กับสมาชิกสภา พรรคสหประชาไทย (สปท.) คนละ 2.5 ล้าน จัดให้กับ ส.ส. เรียกว่างบพัฒนาจังหวัด แต่ว่า ส.ส.ฝ่ายค้านไม่ได้นะ ได้แต่สมาชิกพรรครัฐบาลเอาไปพัฒนาจังหวัด แต่จะพัฒนารูปแบบไหนก็อย่างที่เราทราบ ๆ กัน

พัฒนามาหลายปีถึง 2512 – 2513 – 2514 พวก ส.ส. เขาก็ปฏิวัติขึ้นมา คือบอกจอมพลว่างบพัฒนาจังหวัดจะต้องจัดให้ฝ่ายค้านด้วย ถ้าอย่างนั้นเขาไม่ยอม เขาจะยกมือคว่ำงบประมาณแผ่นดินของจอมพลถนอม เขาเกิดความเป็นมิตรกันขึ้นในระหว่างผู้แทนราษฎรแล้วเขาเอื้อเฟื้อใจมาสู่ฝ่ายค้าน บังคับรัฐบาลให้จัดให้ฝ่ายค้านด้วย จอมพลแกก็ไม่มีความสุข ก็ไม่ยอมจัดให้ เพราะว่าแกก็อ้างว่าไม่มีงบประมาณด้วยแหละความจริง ก็จัดให้แต่รัฐบาลอยู่นั่น เข้าไปในสภาก็ยกมือกัน ก็ถูกคว่ำ ไม่ใช่พระราชบัญญัติงบประมาณนะ กฎหมายอื่น แต่ว่าเขาต้องการลองดีรัฐบาล เขาก็คว่ำกฎหมายของรัฐบาลสักครั้งหนึ่ง จอมพลถนอมก็ตาเหลือกซิ เพราะว่าเสียงข้างมากพรรค สปท. แต่ว่ายกมือแล้วแพ้ฝ่ายค้าน จอมพลถนอมก็เดือดร้อนใจ

พอดีกับเหตุการณ์สำคัญขึ้นในขณะนั้นก็คือเกิดที่จังหวัดเลย  พ่อค้าของเร่นั่งรถยนต์จะเอาของเร่ไปขาย แต่ถูกตำรวจตรวจค้นจับกุมแล้วก็ไปฆ่าตายหมด จำได้ว่า 7 คน แล้วเอาศพไปฝังไว้ที่กกจำปา พอเรื่องแดงขึ้นมาก็บอกว่าพวกพ่อค้าเร่นี้เป็น ผกค. ฉะนั้นต้องฆ่ามัน แต่ใน 7 คนนี่แหละผมจำได้ว่ารอดชีวิตมาได้ 1 คน เหตุที่รอดเพราะโดนยิงก่อนเพื่อนแล้วล้มลงไปยังไมตาย คนที่โดนยิงทีหลังก็ล้มทับ ก็รอดตายแล้วก็คลานออกมา เมื่อพบผู้คนก็แสดงตัว ก็กลายเป็นว่า “7 ศพที่กกจำปา” พวกผู้แทนราษฎรที่อยู่ฝ่ายประชาชนก็เอะอะโวยวายเสียงดังลั่นตอนนั้นว่าต้องเอาคนทำมาลงโทษให้ได้ สภาก็จะเปิดแล้ว ถ้าหากไม่จัดการเรื่องนี้ ก็จะเอาเข้าสภา แล้วเรื่องจะลามไปใหญ่

จอมพลก็ร้อนใจ “งบประมาณแผ่นดิน” ก็จ่ออยู่ “7 ศพที่กกจำปา” ก็จ่ออยู่ แกเลยตัดสินใจยึดอำนาจตัวเอง จอมพลถนอม ยึดอำนาจ จอมพลถนอม ความจริงเรื่องนี้น่าสนใจกว่าสมัยนี้นะ สมัยนี้มันยึดคนอื่นทั้งนั้น ยึดตัวเองไม่ทำกัน สมัยนั้นจอมพลถนอมยึดสภาเสร็จแล้วก็บริหารประเทศแบบเผด็จการเต็มรูป คือไม่ฟังเสียงประชาชนทั้งสิ้น ปี 2511 – 2514

ปี 2514 นิสิต นักศึกษาก็ร่วมคิดอ่านกันที่จะเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ก็ทำเหมือนนักศึกษาสมัยนี้ แต่ว่าถูกจับไม่เหมือนกันนะ เรียกร้องรัฐธรรมนูญก็เป็นผลให้เกิด เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็นำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนคือรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ปี 2517 แล้วก็มีการเลือกตั้ง ตอนนั้นผมเรียนหนังสือจบแล้ว แต่ขาข้างหนึ่งยังอยู่ในมหาวิทยาลัย อีกข้างหนึ่งอยู่ข้างนอก ทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐ (ทำตั้งแต่ 2514)

14 ตุลาคม 2516 เกิดมาจากกลุ่มนักศึกษาที่หัวก้าวหน้าหลายมหาวิทยาลัย ประมาณ 10-20 คน ประวัติศาสตร์จะเขียนตอนนี้ว่ากลุ่มสำนักงานธรรมรังสี ซึ่งเป็นสำนักงานทนายความที่ ส.ส. ที่ถูกยึดอำนาจไปจัดตั้งขึ้น (แต่ไม่ได้ว่าความเลย) คุยกันแต่เรื่องก้าวหน้าทั้งนั้น ผมก็ไปอยู่ในสำนักงานนี้ด้วย จนในที่สุดก็ทำเป็นจดหมายเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ให้คนที่มีบทบาทสำคัญในสังคมเซ็นชื่อ ก็มีคนเข้าเซ็นกัน 100 ชื่อ ยื่นเข้าไป แล้วก็เขียนคำแถลงการณ์ของนักศึกษาบอกกล่าวและแจกประชาชน แจกได้ไม่กี่จุด พอไปถึงประตูน้ำ ก็โดนตำรวจสันติบาลเชิญตัว
13 คนที่แจกใบปลิวไปตรวจสอบ

ทำให้นักศึกษาทั้งหลายก็สนใจกันมาก พอดีกับ ส.ส.ไขแสง สุกใส ส.ส.นครพนม เจ้าของญัตติที่จะอภิปรายเรื่อง “7 ศพที่กกจำปา” ได้เดินเข้ามามอบตัวเอง ตำรวจจึงจับกุมตัวทำให้ยิ่งตึงเครียดใหญ่ทั้งวงการการเมืองและวงการการเมืองที่หลบลงมาใต้ดิน

สรุปว่าเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 จากกลุ่มนักศึกษากลุ่มนั้น ผมก็อาศัยที่เป็นนักข่าวเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ คนก็ได้รู้จัก ได้อ่านอยู่บ้าง ก็กลายเป็นคนมีชื่อเสียงไป ก็ลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้แทนในปี 2517 แต่เขามีเลือกตั้งในปี 2518 และได้เป็นผู้แทนราษฎรครั้งแรก ในปี 2519 ได้เป็นผู้แทนราษฎรอีกครั้งพร้อมทั้งได้เป็นโฆษกรัฐบาลด้วย

ต่อมา 6 ตุลา 19 เขามีการทำแผนการกลับมาของจอมพลถนอม มีนักศึกษาออกมาประท้วงกันใหญ่โต ตอนนั้นผมเป็นผู้แทนอยู่ ก็เป็นปากเป็นเสียงไปพูดในสภาฯ การพูดครั้งนั้นทำให้ผลมีบทบาทสำคัญขึ้นมา เพราะเป็นการพูดอภิปรายรัฐบาลตัวเองและนายกฯ ลาออก (ผมก็ถือว่าผมสำคัญแล้ว ล้มรัฐบาลได้)

สรุปว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กึ่งพุทธกาล (2500) มาถึง 2517 มันเกิดขึ้นตั้งแต่ผมเรียนชั้นประถม (ไม่รู้ความ) จะกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย (รู้ความแล้ว) แล้วก็เข้าไปคลุกกับความเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำเดิมตลอดเวลา ซ้ำกับของเก่า ไม่มีอะไรคืบหน้าไปแม้แต่นิดเดียว ไม่มีอะไรดีขึ้น เผด็จการยังไงก็เผด็จการอย่างนั้น กี่ครั้ง ๆ ก็เหมือนเดิม ถ้าลืมซะได้ก็ลืมไป ผมอยากให้มันลืม แต่ว่าอย่างที่ลูกสาวของจอมพล แปลก ท่านเขียนหนังสือไว้ว่า “ที่อยากลืมกลับจำ ที่อยากจำกลับลืม” ก็เป็นความจริงแล้ว เพราะว่าผมจำเหตุการณ์ที่ผมเข้าไปคลุกคลีอยู่ได้ จนกระทั่งมาถึงยุคปฏิวัติยุคใหม่ ปฏิวัติกันหลายครั้งหลายหนก็ไม่มีอะไรใหม่ เหมือนเดิมทุกอย่าง

จนในที่สุดมาถึง 2563 มาถึงโควิดนี่แหละ จากเหตุการณ์ทางการเมืองมากลายเป็นเรื่องโควิด ซึ่งผมอยากจะย้ำอีกทีนะอยากจะพูดซ้ำคำนี้ไอ้โควิดนี่ คือผมอยากจะเรียกว่า “ควายขวิด” เป็นยุคควายขวิดมากกว่า คนไทยถูกควายขวิด ไม่มีอะไรดีขึ้น

คือมันเป็นเรื่องน่าอัปยศอดสูไม่มีอะไรมีค่าที่ควรแก่การจดจำเลยแม้แต่น้อยในปัจจุบันนี้เมื่อมองย้อนหลังไป แม้กระทั่ง 2553 ที่ผมบอกว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในยุคที่ผมเจริญวัยขึ้นมา คือผมเข้าไปมีบทบาทอยู่ด้วย พวกเราทุกคนก็มีส่วนรู้เห็นในเหตุการณ์นั้นอย่างดี ก็จะเห็นว่าวันนั้นก็เกิดวิกฤตและก็ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไป แต่ว่ามันก็ไม่ได้เปลี่ยนไปในทางก้าวหน้าแม้แต่น้อย มันเปลี่ยนรูปแบบไปเฉย ๆ แต่ในเนื้อหาสาระไม่มีความก้าวหน้าเลย เท่าที่ผมเห็นมีความก้าวหน้าอย่างเดียวเท่านั้นคือความรู้สึก ความสำนึก ในสิทธิเสรีภาพ ในเรื่องประชาธิปไตย ในเรื่องควรเสมอภาค เรื่องภารดรภาพ เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ใน 2553 มากที่สุด กระจายไปในหมู่รากหญ้าแล้วก็เจริญงอกงามมาจนกระทั่งบัดนี้

สรุปว่า “ถ้าจะสรุปเอาเปรียบกันหน่อยก็คือว่า ผมว่าเหตุการณ์ต่อจากนั้นก็คือเหตุการณ์เดียวกันกับที่มันเกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เมื่อมันเกิดแล้ว มันก็แพร่กระจายไปทั่วประเทศ และไปอยู่ในความรู้ ความสำนึก ของประชาชน ผมเห็นว่าประชาชนเติบโตขึ้นแล้วในทางวุฒิภาวะทางการเมือง ทั้งหมดนี้ก็ให้ยกเป็นความดีความชอบของรัฐบาลชุดนี้ไปก็แล้วกัน ขอบคุณครับ นายวีระกานต์กล่าวในที่สุด