บทบรรยาย ยุทธการขอคืนพื้นที่ เมษา 53 ตอนที่ 1
(เหตุการณ์ 13 มีนาคม 2553 ถึง 9 เมษายน 2553)
การได้ขึ้นครองอำนาจของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปลายปี 2551 โดยวิธีการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และใช้วิธีการปล้นเอาส.ส.จำนวนหนึ่งจากพรรคพลังประชาชน จนได้เป็นเสียงข้างมากแทนที่พรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นรัฐบาลในขณะนั้น ได้สร้างความเจ็บปวดให้กับประชาชนที่ได้เลือกรัฐบาลของตัวเอง การขึ้นครองอำนาจของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามเจตจำนงตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น ได้สร้างความปวดร้าวให้กับประชาชนผู้รักในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และได้เรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยุบสภาแล้วลาออกเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่
ท่ามกลางการยกระดับการต่อสู้ของกลุ่มนปช. ในปี 2552 แม้ว่าจะต้องถูกปราบปรามไปในระดับหนึ่งในเหตุการณ์สงกรานต์เลือดในเดือนเมษายน 2552 แต่ก็ยังมุ่งมั่นในการที่จะทวงอำนาจประชาชนคืนมา จากนั้นนปช. จึงได้จัดประชุมใหญ่เพื่อกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี และเปิดโรงเรียนการเมืองตั้งแต่ปลายปี 2552 มาจนถึงต้นปี 2553 และมีการพิจารณาแล้วว่าสมควรแก่เวลาที่ประชาชนจะต้องทวงอำนาจของประชาชนกลับคืนมา โดยใช้วิธีสงบสันติและไม่คิดที่จะใช้ความรุนแรง ดังนั้น คำขวัญของการต่อสู้ครั้งนี้จึงได้ถูกกำหนดขึ้นมาว่า "ยุบสภา...คืนอำนาจให้กับประชาชน"
13 มีนาคม 2553 เป็นการนัดหมายการชุมนุมทั้งในกรุงเทพมหานครและการเคลื่อนขบวนจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ สำหรับกรุงเทพมหานครได้เริ่มการรวมพลที่อนุสาวรีย์ปราบกบฎ หลักสี่ จากนั้นขบวนประชาชนผู้ชุมนุมนปช. ได้เคลื่อนพลเข้ากรุงเทพฯ เหมือนสายน้ำสีแดง มีการตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้าฯ และเต๊นท์ผู้ชุมนุมจากสี่แยกคอกวัวไปถึงราชดำเนินนอกจนถึงลานพระบรมรูปทรงม้าและวัดเบญจมบพิตร
16 มีนาคม 2553 กลุ่มผู้ชุมนุมนปช. ก็ได้คิดกิจกรรมเพื่อเป็นการสร้างกระแสการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ เพื่อเป็นการส่งสารไปยังรัฐบาลอำมาตย์ด้วยการระดมเลือดไปเทยังทำเนียบรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ โดยเริ่มเจาะเลือดตั้งแต่เวลา 08.30 น. บนเวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศ นำโดย นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานกลุ่มเสื้อแดง ตามด้วยนายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง ตามด้วยผู้ชุมนุมอาสาสมัครคนอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีบรรดา ส.ส. พรรคเพื่อไทยร่วมเจาะเลือดสมทบกับกลุ่มเสื้อแดงด้วย ในช่วงบ่ายแกนนำนปช. นำกลุ่มผู้ชุมนุมไปยังทำเนียบรัฐบาล เริ่มจากประตู 3 วนไปจนครบทั้ง 5 ประตู โดยก่อนเทเลือดมีหมอพราหมณ์สวดทำพิธีทุกประตู จากนั้นเวลา 16.50 น. กลุ่มเสื้อแดงเทเลือด 3 แกลลอน เทราดประตู 4 ทำเนียบ แล้วไปเทที่ประตู 1 โดยมีนายจตุพรและนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท แกนนำนปช.เป็นผู้ทำการเท ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของทหารที่มีการปิดกั้นรั้วลวดหนามมิดชิด เพื่อป้องกันการบุกเข้าทำเนียบ นายณัฐวุฒิกล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงว่า
"เราไม่ประสงค์จะบุกยึดทำเนียบ เรามาในฐานะชาวไพร่ เพราะลูกหลานทหาร ตำรวจ เป็นลูกหลานไพร่เหมือนกัน เรามาทำพิธีเพื่อสาปแช่งรัฐบาลอำมาตย์และพวกที่ได้อำนาจจากรัฐมาโดยมิชอบ เราจะไม่สาดรุนแรง แต่จะราดลงพื้นปฐพี ให้พระแม่ธรณีรู้ว่าเลือดนี้คือเลือดของชาวไพร่"
18.30 น. ของวันนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมนปช.หลายพันคน นำโดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายวิภูแถลง, นพ.เหวง และนายอริสมันต์ เคลื่อนขบวนมาถึงถนนเศรษฐศิริ ตำรวจใช้เครื่องขยายเสียงเจรจาเพื่อส่งตัวแทนเข้ามาบริเวณหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่ผู้ชุมนุมไม่ยินยอม ฝ่าแนวเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาประชิด จากนั้นพราหมณ์และนายวิภูแถลงนำคนเสื้อแดงขนแกลลอนเลือดกว่า 20 แกลลอน มาที่บริเวณหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นผู้ชุมนุมบางส่วนได้นำเลือดที่เตรียมไว้มาเททางเข้าพรรค, ใต้ถุน และต้นเสาของอาคารพรรค จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมนปช.ก็ได้เคลื่อนขบวนกลับไปยังพื้นที่ชุมนุมโดยสงบ
20 มีนาคม 2553 หลังการชุมนุมของกลุ่มนปช.ได้เริ่มขึ้นมาสักระยะบริเวณสะพานผ่านฟ้า ก็ได้มีแนวคิดที่จะเคลื่อนขบวนไปรอบ ๆ กรุงเทพฯ แบบดาวกระจาย เพื่อแสดงจุดยืนของการชุมนุมในครั้งนี้ พร้อมกับมีการระดมแจกสติ๊กเกอร์รูปหัวใจ และเป็นการเชิญชวนคนกรุงเทพฯ เข้าชุมนุมกับกลุ่มนปช. การเคลื่อนพลของกลุ่มผู้ชุมนุมนปช.ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. ของวันที่ 20 มีนาคม 2553 นำโดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. โดยได้มีการตั้งขบวนบริเวณถนนหลานหลวง ประกอบด้วยรถบรรทุกเครื่องขยายเสียงกว่า 10 คัน พร้อมรถกระบะและรถจักรยานยนต์จำนวนมาก โดยในรถบรรทุกแต่ละคันจะมีแกนนำนปช. ประจำรถ โดยคันที่ 1 คือนายณัฐวุฒิ และคันที่ 10 ซึ่งเป็นคันสุดท้ายจะเป็นของนักวิชาการและพระสงฆ์ โดยแกนนำได้แจ้งผ่านเครื่องขยายเสียงให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางโดยสงบ ซึ่ง นพ.เหวง โตจิราการ หนึ่งในแกนนำนปช. บอกว่าจะใช้สูตร 3 ไม่ คือ ไม่โกรธ, ไม่ตอบโต้, ไม่รุนแรง และ 3 ส่ง คือส่งยิ้ม, ส่งความรัก และส่งความสุข การเคลื่อนพลของกลุ่มผู้ชุมนุมตลอดการเดินทางเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นไปด้วยมิตรภาพ มีการโบกไม้โบกมือให้กำลังใจของประชาชนระหว่างทาง พร้อมกับการแสดงรอยยิ้มให้กันและกันทั่วกรุงเทพฯ รวมไปถึงพื้นที่ในย่านเขตเศรษฐกิจสำคัญอย่างสีลม ก็มีภาพการตอบรับของประชาชนที่ตอบรับการแรลลี่ของกลุ่มผู้ชุมนุมและให้กำลังใจจากผู้คน รวมถึงพนักงานของหน่วยงานและบริษัทต่าง ๆ บนตึกสูง มีการเตรียมน้ำดื่ม, อาหาร และรอยยิ้มให้กันและกันอย่างน่าชื่นชม และเนื่องจากขบวนที่ยาวมาก จึงมีการตกลงกันทำการแยกสาย ทำการแรลลี่ครั้งนี้เป็น 2 เส้นทาง ขณะที่นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำนปช. ได้รับมอบหมายให้อยู่เฝ้าเวทีชุมนุมใหญ่ โดยมีการปราศรัยเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนอย่างสันติ
27 มีนาคม 2553 หนทางการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มนปช.ที่ยืนหยัดด้วยสันติ ซึ่งเป็นไปตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับอย่างชัดเจนมาโดยตลอด ห้วงเวลาของการเริ่มชุมนุมที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 นั้น กลับเป็นฝ่ายรัฐบาลอภิสิทธิ์และทหารที่ได้ใช้กลอุบายหลากหลายวิธีในการหาทางที่จะทำลายสลายการชุมนุมและใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนมาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในวิธีที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เคารพความยุติธรรมและมนุษยชนของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ หลังการเคลื่อนขบวนแบบดาวกระจายในวันที่ 20 มีนาคม 2553 ซึ่งได้ผลตอบรับจากประชาชนชาวกรุงเทพฯ เป็นอย่างดี ก็มีกระแสข่าวของการเคลื่อนขบวนแบบดาวกระจายอีกครั้ง แต่หลังจากมีการประเมินแล้วว่าอาจจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนส่วนรวมมากเกินไปในการสัญจรไปมา และความสะดวกในด้านต่าง ๆ ของชาวกรุงเทพฯ แต่จะขอเปลี่ยนเป็นการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้ทหารที่ทำการซ่องสุมกำลังและซ่อนตัวในพื้นที่วัดต่าง ๆ รอบพื้นที่ชุมนุมและส่วนราชการต่าง ๆ ออกจากสถานที่ต่าง ๆ ที่ซ่องสุมกำลังอยู่ ภาพที่ปรากฎตามหน้าสื่อมวลชนจึงเป็นภาพของกลุ่มผู้ชุมนุมนปช.เดินไปสถานที่ต่าง ๆ เพื่อขอร้องและเชิญให้ทหารออกจากสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการซ่องสุมกำลังทหารอยู่ เช่น วัดตรีทศเทพ, วัดมกุฎกษัตริยาราม, วัดแคนางเลิ้ง, วัดโสมนัสวรวิหาร, เขาดินวนา, สนามม้านางเลิ้ง และมหาวิทยาลัยวิทยาเขตพาณิชยการพระนคร ภาพของการแสดงความยินดีโบกไม้โบกมือให้กันระหว่างผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงและทหารที่เคลื่อนตัวออกจากที่ซ่อนพร้อมอาวุธประจำกาย คงเป็นสิ่งที่บอกได้ถึงแนวทางการต่อสู้ในแบบสัติวิธีที่ผู้ชุมนุมกลุ่มนปช.ให้การยึดมั่นมาโดยตลอดการชุมนุมเรียกร้อง
แต่กลับมีการเขียนรายงานของเหตุการณ์นี้ไปในทางลบของผู้ชุมนุม โดยรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ออกมาในปี 2556 นั้น กลับได้เขียนรายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมนปช.นั้น ได้เคลื่อนขบวนเพื่อขับไล่เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่บริเวณวัดและสถานที่ต่าง ๆ โดยไม่ได้แยแสกับหลักฐานต่าง ๆ ทั้งภาพถ่าย, คลิปเหตุการณ์ที่แสดงหลักฐานชัดเจน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกลับไม่มีความเห็นเชิงลบใด ๆ ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่ทางรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ประกาศออกมา
3 เมษายน 2553 เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมนปช. ได้พิจารณาแล้วถึงความเหมาะสมในการยกระดับการชุมนุม เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่ได้มีปฏิกิริยาใด ๆ ต่อกระแสของประชาชนที่ชุมนุมเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นมีจุดยืนเพียงแค่ยุบสภาแล้วลาออก คืนอำนาจให้กับประชาชนเป็นผู้เลือกว่าต้องการใครมาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ ประกอบกับจำนวนผู้ชุมนุมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากคนในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำให้พื้นที่ชุมนุมสะพานผ่านฟ้านั้นไม่สามารถรองรับได้ จึงมีมติเลือกพื้นที่ราชประสงค์ ซึ่งมีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และกลุ่มผู้ชุมนุมนปช.มองว่า พื้นที่ราชประสงค์นั้นเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของการต่อสู้ของชนชั้นที่แตกต่าง เพราะในแถบพื้นที่นี้มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ และมีผู้คนที่มีความแตกต่างกันในด้านชนชั้นทางสังคม เป็นพื้นที่ที่รวบรวมเอาความหลากหลายในหลาย ๆ ด้านเข้าไว้ และบริเวณใกล้เคียงเป็นละแวกของคนจนเมืองอาศัยอยู่มากมาย สะดวกกับผู้ที่จะเดินทางมาชุมนุมที่มาจากด้านตะวันออก จึงเห็นชอบให้มีการเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมนปช. มาปักหลักชุมนุมยังบริเวณพื้นที่ราชประสงค์อีกหนึ่งเวที
โดยในวันเคลื่อนขบวนมราปักหลักบริเวณแยกราชประสงค์ ก็ได้มีภาพของกลุ่มผู้ชุมนุมนปช.จำนวนมากกระจายกันอยู่เต็มบริเวณผิวจราจรตั้งแต่แยกประตูน้ำด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด ต่อเนื่องไปจนถึงถนนราชดำริ และในระหว่างการเคลื่อนขบวนมาถึง พิธีกรบนเวทีก็ได้แจ้งให้กับผู้ชุมนุมว่าคืนนี้จะปักหลักชุมนุมข้ามคืนที่แยกราชประสงค์ มีการปักหลักเป็นเวทีคู่ขนานกับเวทีสะพานผ่านฟ้าจนมาถึงช่วงหลังสงกรานต์ 2553 ก็ได้ย้ายผู้คนมาชุมนุมที่เดียว คือเวทีราชประสงค์เพียงเวทีเดียวจนถึง 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นวันสลายการชุมนุม ณ บริเวณราชประสงค์
7 เมษายน 2553 ท่ามกลางการเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากเดือนมีนาคม ซึ่งเหตุการณ์เป็นไปด้วยความสงบและสันติวิธี มีการเจรจาระหว่างแกนนำและรัฐบาล โดยฝ่ายของนปช.เอง มีจุดยืนเพียงแค่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์นั้นยุบสภาแล้วลาออกและให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่การเจรจานั้นต้องล้มเหลวเพราะรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่ได้แยแสต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มนปช. และการเจรจาครั้งนั้นล้มเหลวเพราะเป็นการพูดโชว์หน้าโทรทัศน์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากการเจรจาที่ล้มเหลว นายอภิสิทธิ์ก็ยังดำเนินการตามแผนทุกวิถีทางเพื่อจัดการปราบปรามผู้ชุมนุมนปช. จนนำมาสู่เหตุการณ์การปราบปรามประชาชนในวันที่ 10 เมษายน 2553
สถานการณ์ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายนนั้น มีมูลเหตุของเหตุการณ์และลำดับความรุนแรงมาโดยลำดับจากวันที่ 7 เมษายน 2553 ซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอ้างว่าได้มีผู้ชุมนุมบางส่วนของกลุ่มนปช. ได้บุกรุกเข้าไปในรัฐสภา ซึ่งมูลเหตุที่แท้จริงนั้นเกิดจากการที่ผู้ชุมนุมที่ปราศรัยด้านหน้าประตูรัฐสภาพนั้นได้ถูกขว้างกระป๋อง, ระเบิดเพลิง ใส่ผู้ชุมนุม และปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมนั้นเข้าไปในรัฐสภา และเป็นการเข้าไปเพียงเพื่อหาคำตอบจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ สิ่งที่ผู้ชุมนุมได้พบเห็นคือ การ์ดส.ส.และเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งถืออาวุธสงครามคุ้มกันนายสุเทพปืนกำแพงรั้วรัฐสภาเพื่อขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกไป
หลังเหตุการณ์ กลุ่มผู้ชุมนุมนปช.ก็ได้ออกจากรั้วรัฐสภาอย่างสงบไร้ความรุนแรงใด ๆ ทั้งสิ้น ต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมนปช.ก็ได้เคลื่อนไปยังสถานีดาวเทียมไทยคม เพราะว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์นั้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปยึดและตัดสัญญาณการออกอากาศของสถานี PEOPLE CHANNEL นับเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข่าวสารของประชาชน รวมถึงสั่งการให้ปิดสถานีวิทยุชุมชน จนเป็นเหตุของการเคลื่อนกำลังของกลุ่มผู้ชุมนุมนปช.ไปที่สถานีดาวเทียมไทยคม และนี่คือมูลเหตุเพียงอย่างเดียวที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ดได้ใช้ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ศอ.รส. ถูกยกระดับไปเป็น ศอฉ. เพื่อใช้เป็นความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจต่อไป
ขอบคุณภาพจากมติชน |
หลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายสาธิต วงศ์หนองเตย ได้ให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลจะดำเนินการเคลียร์พื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์, ปิด PEOPLE CHANNEL, จับกุมแกนนำนปช. และเพิ่มมาตรการเข้มข้นป้องกันการก่อวินาศกรรม
หลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเช้าวันต่อมาคือวันที่ 8 เมษายน 2553 ก็ได้มีการออกหมายจับแกนนำนปช. ที่นำมวลชนไปบุกรัฐสภา 7 คน และต่อมาก็ได้ออกหมายจับแกนนำเพิ่มเติมอีก 7 คน และ ศอฉ.ยังสามารถตัดสัญญาณสถานีโทรทัศน์ PEOPLE CHANNEL ซึ่งเป็นสื่อเพียงช่องทางเดียวที่เหลืออยู่สำหรับให้ประชาชนได้รับรู้ความจริงในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มนปช.
ผลพวงจากการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน การยกระดับให้ศูนย์อำนวยความสงบเรียกร้อยหรือ ศอ.รส. เป็นศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการ ดำเนินงานด้วยงบประมาณถึง 3,700 ล้านบาท และดำเนินงาน 2 เดือน พบว่าใช้งบประมาณไปกว่า 5,000 ล้านบาท และได้ตัดกำลังทหารเพื่อเข้าร่วมภารกิจครั้งนี้ถึง 54,000 นาย ซึ่งประกอบไปด้วยทหารจากกองพลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. พล.1 รอ. จำนวน 21 ร้อย.รส. โดยมีทหารจาก มทบ.11 จากกองทัพภาคที่ 3 เข้าร่วมจำนวน 11 ร้อย.รส. ควบคุมพื้นที่แยกจปร. แยกเทวกรรม ไปยังสะพานมัฆวานรังสรรค์ และรักษาแนวที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ
2. พล.ร.2 รอ. จำนวน 14 ร้อย.รส. โดยมี พล.ร.9 จำนวน 10 ร้อย.รส. และพล.ม. 2 รอ. จำนวน 1 ร้อย.รส. ขึ้นควบคุมททางยุทธการกับ พล.ร.2 รอ. ควบคุมพื้นที่แยกคอกวัวไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และจากรายงานข่าวพบว่ามีการนำรถบัส รถน้ำ และรถจี๊บที่ใช้ในราชการของกองทัพมาจอดขวางทางขึ้นสะพานปิ่นเกล้าจากฝั่งธนบุรี ระบุได้ว่า ร.29 พัน 1 และทหารราว 5-6 กองร้อยจาก (เป็นหน่วยในสังกัดของ พล.ร.9) บนถนนอรุณอัมรินทร์ ทางที่จะมุ่งหน้าไปโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง จึงคาดเดาได้ว่าน่าจะมาจาก ร.29 พัน 1 เช่นกัน
3. ทหารจากทางด้านสะพานพระราม 8
4. นปอ. จำนวน 18 ร้อย.รส. ควบคุมพื้นที่แยกการเรือน, แยกอู่ทอง, แยกวังแดง, แยกวัดเบญจมบพิตร, แยกอุทัย, แยกเสาวนีย์, แยกเทวกรรม
5. นปพ.ทบ. จัดชุดปฏิบัติการพิเศษ ปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยบินเฉพาะกิจ ศอฉ. ในการตรวจการและการใช้แก๊สน้ำตาทางอากาศ เพื่อสนับสนุนภารกิจของ ทภ.1/กกส.รส.ทภ.1 บริเวณพื้นที่ชุในุมตามขั้นตอนของกฎการใช้กำลัง
6. สยก.ศอฉ. และ สกร.ศอฉ. จัดชุดปจว.ทางอากาศปฏิบัติภารกิจโปรยเอกสารคำชี้แจงของศอฉ. สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่กลุ่มผู้ชุมนุม
การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงฉบับนี้ ทำให้แสดงถึงเจตนาของรัฐบาลที่จะใช้ความรุนแรงสูงสุดปราบปรามประชาชนอย่างไร้เหตุผลพอสมควร เพราะยังไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงใด ๆ เกิดขึ้นในเวลานั้น การเข้าไปในรัฐสภาของกลุ่มผู้ชุมนุมนปช.จำนวนหนึ่ง ก็ไม่มีเรื่องความรุนแรงใด ๆ นอกจากนี้ประชาชนยังได้ขาดความเชื่อมั่นต่อองค์กรอิสระหลายองค์กร โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ละเลยที่แสดงบทบาทคัดค้านอำนาจรัฐที่ประกาศพระราชบัญญัติความมั่นคงตั้งแต่ 9 มีนาคม และกรณี 7 เมษายน 2553 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ไม่มีปฏิกิริรยาใด ๆ ต่อการออกพ.ร.บ.และพ.ร.ก.ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ออกมาในขณะเหตุการณ์นั้น มีเพียงคำพูดที่ออกมาจากปากประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพียงสั้น ๆ ที่บอกว่ายังงง ๆ อยู่ เมื่อถูกถามว่าทำไมไม่คัดค้านพ.ร.บ.ความมั่นคงและพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นี่คือข้อแก้ตัวที่ต่อมาภายหลังก็ได้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมและความลำเอียงกับกลุ่มผู้ชุมนุมนปช. กับรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ชื่อว่า รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มนปช. ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งถือว่าเป็นจุดยืนและทัศนคติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดนี้ ซึ่งได้มาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 เน้นการกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง มีชายชุดดำ รัฐบาลจึงมีความชอบธรรมในการใช้กำลังปราบปราม เป็นการปกป้องรัฐบาล เป็นทัศนะที่อคติ เลือกข้างฝ่ายการเมืองอย่างชัดเจน จนนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างตามมาต่อรายงานฉบับนี้
การต่อสู้ของกลุ่มนปช.นั้น แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้แบบสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรงใด ๆ ดังจะเห็นได้จากกรณีของการรับข่าวสารว่ามีทหารได้มีการแทรกแซงเข้าไปซ่อนตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร และซุกซ่อนอาวุธตามวัดและสถานที่ราชการต่าง ๆ ในรอบ ๆ บริเวณพื้นที่ชุมนุม และได้มีการขอเข้าไปตรวจค้นจากคนเสื้อแดง ซึ่งนำโดยนพ.เหวง โตจิราการ และก็ได้มีการขัดขวางการเข้าไปขอตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ หลังศอฉ.ได้ทำการตัดสัญญาณสถานีโทรทัศน์ PEOPLE CHANNEL ได้สำเร็จและส่งทหารเข้าควบคุมสถานีไทยคมที่ลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี
9 เมษายน 2553 แกนนำนปช. มีมติให้เคลื่อนขบวนนปช.นับหมื่นคน เพื่อไปยังสถานีดาวเทียมไทยคมที่ลาดหลุมแก้ว ตลอดทางการเคลื่อนขบวนก็ได้มีการสกัดกั้นจากกองกำลังทหารเป็นระยะ และมีการสกัดกั้นทุกรูปแบบ รวมไปถึงการซุกซ่อนอาวุธสงครามร้ายแรงเพื่อสกัดกั้นการเคลื่อนขบวนของกลุ่มนปช. และมีภาพของการยึดอาวุธสงครามจำนวนมากจากทหารที่ซุกซ่อนเอาไว้ในรถ แต่กลุ่มนปช. ซึ่งสามารถยึดอาวุธจากทหารเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาวุธปืนที่ถูกยืดนั้นเป็นปืนแบบสไนเปอร์ด้วย เป็นการยืนยันว่ารัฐบาลจงใจที่ใช้พลซุ่มยิงเพื่อปราบปรามประชาชน ในภายหลังเมื่อได้มีการส่งมอบคืนอาวุธที่ยึดมาทั้งหมดให้ทหาร เพื่อเป็นการยืนยันในแนวทางต่อสู้แบบสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง
กลุ่มนปช.ได้เคลื่อนขบวนไปจนถึงสถานีดาวเทียมไทยคมลาดหลุมแก้ว และได้ปรากฎภาพคนเสื้อแดงร่วมหนึ่งหมื่นคน ล้อมทหารที่ควบคุมสถานีดาวเทียมเอาไว้ ทหารมีการใช้แก๊สน้ำตาอย่างหนัก แต่ก็ไม่สามารถทำให้ขบวนกลุ่มผู้ชุมนุมต้องถอยร่นแต่อย่างใด และไม่นานกลุ่มผู้ชุมนุมก็สามารถฝ่าการสกัดกั้นของทหารจนสามารถผลักดันทหารออกจากสถานีดาวเทียมไทยคมได้สำเร็จ โดยทหารยอมแพ้พร้อมมอบอาวุธให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมก็มีการแสดงความดีใจโห่ร้องยืนต้อนรับจับมือเป็นกำลังใจให้ทหาร เป็นภาพที่ปรากฎขึ้นแทนความตึงเครียดของในช่วงเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น และนั่นเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้แบบสันติของกลุ่มนปช. ที่ได้ยึดมั่นมาโดยตลอดของการเรียกร้องประชาธิปไตย จากนั้นมีการนำอาวุธที่ยึดมาได้จากทหารเพื่อนำมาแสดงให้สื่อมวลชนได้บันทึกภาพ ก่อนที่จะส่งมอบให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้รับไว้
ต่อมาในตอนเย็น ฝ่ายนปช.ได้สลายการชุมนุมที่ลาดหลุมแก้วก่อนที่กำลังหลักของ พล.ร2.รอ. จะกลับเข้ายึดคืนในช่วงค่ำ เหตุการณ์ที่ลาดหลุมแก้วนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ทางศอฉ.ภายใต้การนำของรัฐบาลอภิสิทธิ์และทหาร มองว่ารู้สึกเสียเกียรติเป็นอย่างมาก เพราะทหารหลายพันคนต้องยินยอมให้กลุ่มผู้ชุมนุมนปช.มือเปล่าปลดอาวุธ โล่ และกระบอง ยอมแพ้ และถูกไล่ต้อนเดินแถวออกสู่ทุ่งนาอย่างหมดสภาพ และด้วยความรู้สึกนี้ เป็นความรู้สึกที่ผิดพลาดโดยสิ้นเชิง เพราะการที่ทหารยินยอมปลดอาวุธแต่โดยดีนั้น นับเป็นเกียรติยศและศักดิ์ศรีของชายชาติทหารที่ไม่ต้องการปราบปรามประชาชนมือเปล่า และนี่จะเป็นมูลเหตุสำคัญของ "ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่" เพื่อกู้ศักดิ์ศรีคืนมา จนทำให้เกิดเหตุกาณ์ 10 เมษายน 2553 ขึ้น