ยูดีดีนิวส์ : 20 ก.ย. 62 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้กล่าวในการทำเฟสบุ๊คไลฟ์วันนี้ว่า เมื่อวานนี้ (19 ก.ย.) ก็คือวันครบรอบ 13 ปี การทำรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 มาในปีนี้ดิฉันได้พิจารณาเพื่อที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่โดยการมองย้อนเหลียวหลังไปในวิธีประวัติศาสตร์และลักษณะของสังคมไทย โดยในวันนี้ดิฉันจะพูดในประเด็น
"13 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 : ฐานะทางประวัติศาสตร์"
ฟังดูอาจจะเป็นทฤษฎี คือ ฐานะทางประวัติศาสตร์ของการทำรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 แต่ฐานะทางประวัติศาสตร์อันนี้ได้บ่มเพาะความคิดของดิฉันมา อย่าลืมว่าเราผ่านมาตั้ง 13 ปี ถ้า 13 ปีนี้ไม่ได้บอกอะไรเราเลย ก็หมายความว่าประชาชนไทยไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย
ฐานะทางประวัติศาสตร์ของ 19 ก.ย. 2549 หลายคนบอกดูเหมือนว่าไม่สำคัญอะไร เพราะว่าไม่มีใครชนะแท้จริง เนื่องจากพอมีการทำรัฐประหารและล้มรัฐบาลไปได้ มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่ แต่หลังจากนั้นเมื่อมีการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญ 50 พรรคไทยรักไทยซึ่งอวตารมาใหม่เป็นพรรคพลังประชาชนก็สามารถเอาชนะเลือกตั้งได้ นี่ก็อาจจะเป็นมุมหนึ่งในฐานะประวัติศาสตร์ว่า เป็นการทำรัฐประหารที่ "ล้มเหลว"
โดยทั่วไปวิธีคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็จะคิดเช่นนี้ คือเขาประเมินการทำรัฐประหาร 2549 ว่าเป็นการทำรัฐประหารที่ล้มเหลว และแน่นอนมันไม่ใช่เรื่องดี น่าชื่นชมสำหรับฝ่ายประชาธิปไตย แต่เราจะสามารถสรุปออกมาให้มีลักษณะเป็นบทเรียนที่มีประโยชน์สำหรับประชาชนได้หรือไม่?
ในทัศนะของดิฉัน ฐานะทางประวัติศาสตร์ของการทำรัฐประหาร 2549 มันคือการเริ่มต้นบทใหม่ทางประวัติศาสตร์ในการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายจารีตนิยมที่ใช้การทำรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ และช่วงชิงอำนาจกลับมาโดยใช้อำนาจของกองทัพ
จารีตนิยมในอดีตที่เคยทำเช่นนี้แล้วประสบความสำเร็จ เราเทียบได้กับยุคสมัยไหนได้ ในทัศนะของดิฉันก็คือ 19 ก.ย. 2549 เทียบเคียงได้กับการทำรัฐประหารเมื่อปี 2490 ประมาณว่าฐานะทางประวัติศาสตร์ใกล้เคียงกัน
ฐานะทางประวัติศาสตร์การทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 คืออะไร?
1) กำจัดคณะราษฎร ส่วนรัฐประหาร 2549 นั้นเป้าหมายเหมือนกันแต่ไม่ใช่คณะราษฎร แต่เป็นการกำจัดระบอบทักษิณหรือทุนสามานย์ รวมทั้งพรรคการเมือง เราจะเห็นการเกิด คตส. เกิดกระบวนการยึดเงิน เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบพรรคการเมือง นี่คือสิ่งที่จารีตนิยมคิดได้เมื่อปี 2549
เมื่อ 2490 ก็เปรียบเหมือนล้างคณะราษฏร และทหารขณะนั้นก็คือสายจอมพล ผิน จอมพล ป. ซึ่งเคยเป็นส่วนของคณะราษฎรมาร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมจารีตนิยม เป็นยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ เป็นการเริ่มต้นยุทธศาสตร์ใหม่ในการจัดการกับคณะราษฎร เพราะถ้าไม่สามารถดึงกองทัพฝ่ายที่เป็นของคณะราษฎรมา ก็ไม่มีทางที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะชนะ
การพ่ายแพ้เมื่อครั้งกบฎบวรเดชเป็นอะไรที่เรียกว่าทำให้หมดขวัญและกำลังใจ คือกองทัพฝ่ายอนุรักษ์นิยมพ่ายแพ้แก่กองทัพของคณะราษฎร เพราะฉะนั้นการทำให้กองทัพในคณะราษฎรแตกแยก แล้วทหารมาร่วมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม จึงเป็นยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่สำคัญของฝ่ายจารีตนิยมอนุรักษ์นิยมในการทำลายจัดการคณะราษฎร
2) เอาทหารมาเป็นพวกตัวเอง หลังจากนั้นก็พยายามสร้างความมั่นคงให้กับฝ่ายจารีตนิยมซึ่งตกต่ำโดยสิ้นเชิง เพราะอย่าลืมว่าคณะราษฎรครองอำนาจมาตั้งแต่ 2475 มาจนถึง 2490 เป็นเวลา 15 ปี มันจึงนานไม่ใช่น้อย จึงเป็นการฟื้นคืนของฝ่ายอนุรักษ์นิยมและทำลายคณะราษฎร และที่สำคัญก็คือ ทำลายการเมืองและความก้าวหน้าในระบอบประชาธิปไตย โดยเอาทหารมายึดอำนาจ มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะจารีตนิยม อะไรก็ตามที่เป็นอนุรักษ์นิยม จารีตนิยม ก็เริ่มตั้งแต่ 2490 เป็นต้นมา รวมทั้งรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า "ฉบับใต้ตุ่ม" และ 2492 ที่ทุกวันนี้ยังเถียงกันเรื่องถวายสัตย์ เรื่องระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อะไรต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามันไม่ดีทั้งหมดนะคะ แต่ว่าลักษณะที่เป็นอนุรักษ์นิยมนั้นเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรในรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องของกองทัพ, จารีตประเพณี ถูกฟื้นกลับมาในปี 2490
ดิฉันอาจจะให้การทำรัฐประหารปี 2549 มีฐานะทางประวัติศาสตร์สูงไปหรือเปล่า...ก็ได้ แต่อย่าลืมว่าหลังจาก 2490 ทหารอยู่ในอำนาจยาวนานจนถึง 2516 จอมพล ป. ถูกขับไล่ในปี 2500 นั่นก็คือจอมพล ป. อยู่ในอำนาจ 10 ปี และ 2490 เป็นการเริ่มต้นศักราชของการต่อสู้กับฝ่ายคณะราษฎรและการดึงอำนาจให้กองทัพมีอำนาจเพื่อหนุนช่วยฝ่ายอนุรักษ์นิยม จะคิดถูกหรือคิดผิด เพราะในที่สุดฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ต้องมาสู้กับกองทัพร่วมกับประชาชนในปี 2516
ถ้านับยุคจอมพล สฤษดิ์ เอามาเทียบกับ 2549 ก็เป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ของการต่อสู้ของฝ่ายจารีตนิยมต่อพรรคไทยรักไทย ซึ่งได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย ดังนั้นฝ่ายจารีตนิยม ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม และรวมทั้งกองทัพ ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ระดับสูง จึงเป็นเหมือนคนละขั้วกับนักการเมืองที่ได้ขึ้นมามีอำนาจเพราะอำนาจประชาชน
"อำนาจประชาชน" กับ" อำนาจอภิชน" จึงถูกคานกัน
ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจประชาชนต้องชนะ
ทหารและข้าราชพลเรือนต้องขึ้นกับอำนาจประชาชน
แต่เมื่อทหารและข้าราชการเลือกขึ้นอยู่กับอภิชน มันก็เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2490 และในที่สุด สิ้นสุดในช่วงแรกก็คือ การต่อสู้ของประชาชนในปี 2516 ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ข้าราชการ และอภิชนจำนวนหนึ่งต้องมาร่วมกับประชาชนและปัญญาชนเพื่อล้มอำนาจทหารซึ่งอยู่มายาวนานเกินไป นี่คือบทเรียนของเหตุการณ์ยึดอำนาจ 2490!!!
แต่ 2549 มาจนบัดนี้ไม่ใช่น้อยแล้วนะคะ 13 ปี ถ้าเทียบกับยุคก่อนก็คืออยู่ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าผู้นำยุคนี้เคยชินกับการใช้อำนาจแบบจอมพลสฤษดิ์หรือเปล่า? เพราะท่านพูดอยู่บ่อย ๆ วาจาและท่วงทำนองของท่านมันก็เหมือนการขู่กันโดยกลาย ๆ
อ.ธิดากล่าวต่อว่า เมื่อเราเปรียบเทียบฐานะทางประวัติศาสตร์ 2549 ก็นำมาสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยที่ยาวนาน และสถาปนาอำนาจของอนุรักษ์นิยมและฝ่ายกองทัพมากขึ้น ถ้ามองวิถีประวัติศาสตร์ ถ้าคุณจะดูว่าประเทศไทยจะเดินต่อไปอย่างไร? เราย้อนถอยหลังไปดูที่ 2490 อำนาจทหารอาจจะมีการเปลี่ยนมือจากจอมพล ป. มาเป็น จอมพลสฤษดิ์ มาเป็นจอมพลถนอม มันยาวนานมาก
ดิฉันไม่รู้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ปัจจุบันกับคณะคิดจะมีอำนาจยาวนานในประเทศไทยแบบรุ่นพี่หรือเปล่า?
เราไม่สามารถจะบอกได้ว่าท่านอยากจะอยู่ไปถึง 20 ปี
แต่ท่านเขียนยุทธศาสตร์ 20 ปี
ตอนนี้นับจาก 2549 มา 13 ปีแล้ว ดิฉันจึงมองว่า 2549 มีฐานะประวัติศาสตร์แบบเดียวกับ 2490 คือเป็นศักราชใหม่ของการยึดอำนาจและการต่อสู้ในช่วงเวลาใหม่ของฝ่ายจารีตนิยม
ต่อสู้กับใคร?
ต่อสู้กับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองเดิมที่ท่านคิด ที่คิดว่าจะกลายเป็นเผด็จการรัฐสภาเพราะได้เสียงมากเกินไป ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ พรรคการเมืองที่ชนะในการเลือกตั้งเขาจะไม่เรียกว่าเผด็จการรัฐสภา เขาจะเรียกว่ารัฐบาลเสียงข้างมาก
ดิฉันจะให้เทียบพฤติกรรม เวลา และผลที่จะเกิดขึ้น ปฏิปักษ์ในการต่อสู้ไม่ใช่คณะราษฎร ไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์ แต่เป็นพรรคการเมืองนายทุน และท่วงทำนองในการต่อสู้นั้นก็เป็นการต่อสู้เพื่อที่ในที่สุดแล้วมันก็เหมือนกับการต่อสู้กับอำนาจของประชาชนหรือเปล่า? เพราะท่านเป็นตัวแทนของอำนจอภิชน จารีตนิยม (คือชนชั้นนำจารีตนิยม อนุรักษ์นิยม)
ท่านไม่ได้มาจากประชาชน แต่ท่านกำลังสู้กับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชน นี่เป็นระบอบประชาธิปไตยเสี้ยวใบหรือ 25% (ครึ่งใบคือ 50%) ในขณะนี้เมื่อมีวุฒิสมาชิกอยู่เช่นนี้ (250 คน) ดิฉันมองว่านี่คือเสี้ยวใบ ยังไม่นับถึงเรื่องรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้น ฐานะทางประวัติศาสตร์ของ 2549 มันคือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ และเมื่อต่อสู้ 2549 ไม่สำเร็จ (เสียของ) มันจึงต้องเกิดรัฐประหาร 2557 ช่วงเวลาจาก 2549 มาจนถึงปัจจุบันมันจึงเป็นห้วงเวลาของความพยายามของสงครามระหว่างฝ่ายจารีตนิยมกับฝ่ายเสรีนิยมและระบอบประชาธิปไตยแบบสากล ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
แม้กระทั่งในสภา การพูดเรื่องถวายสัตย์ นี่คือตัวอย่างที่มันยังอยู่ในสงครามระหว่างอภิชนจารีตนิยมกับประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เพราะว่าท่านบอกว่าเป็นเรื่องระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์
ท่านเอาประชาชนไปอยู่ที่ไหน?
ท่านเอารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในระบอบประชาธิปไตย ยืนยันความเป็นนิติรัฐ...ไปไว้ที่ไหน?
แปลว่าประชาชนไทยไม่ได้มีอำนาจอะไร...ใช่หรือเปล่า?
และนี่เป็นวิธีคิดของอภิชนจารีตนิยมที่ยังอยู่ในสงครามการต่อสู้กับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยนั่นเอง และนี่คือความจริง!!!
แต่ว่าเมื่อกองทัพขึ้นกับอภิชน เมื่อกองทัพอยู่กับจารีตนิยม ก็สามารถควบคุมประชาชนได้ เพราะประชาชนไม่มีอาวุธ ไม่มีอำนาจใด อภิชนที่อยู่ในองค์กรอิสระ อภิชนที่อยู่ในระบบราชการ ทหาร พลเรือน และอภิชนที่ควบคุมการยึดอำนาจ แน่นอนว่ายังอยู่ในฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าประชาชน แต่ถ้าย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ เมื่อใดที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยกันทนอำนาจนิยมไม่ได้ คุณอยู่มานานเกินไปแล้ว (แบบเดียวกับคณะทหารที่ครองอำนาจยาวนาน 2490-2516) มีการเปลี่ยนตัวละคร แต่รวมกันแล้วเป็น 20 กว่าปี
คำถามว่า : ฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยกันเองนั่นแหละ จะทนกับอำนาจนิยมที่ครองอำนาจด้วยทหาร โดยเฉพาะ 3 ป. ตอนนี้ ทนได้หรือไม่? แต่ประวัติศาสตร์บอกเราว่าในที่สุดก็จะต้องถึงวันที่ในกลุ่มอนุรักษ์นิยมด้วยกันนั้นรับไม่ได้ จะต้องถึงวันที่ปัญญาชน ชนชั้นกลาง ซึ่งเคยไปยืนข้างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและเชียร์รัฐบาลก็ทนไม่ได้ และประชาชนส่วนใหญ่ก็ทนไม่ได้
ดิฉันอาศัยว่าเอาประวัติศาสตร์หันมามองปัจจุบันเพื่อดูไปในอนาคต ใครจะอยู่ตรงไหนในประวัติศาสตร์ของประเทศ และจะสร้างประวัติศาสตร์ของตัวเอง จะอยู่จุดไหนนั้นตัวเองเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ดิฉันตัดสินใจมานานแล้วว่ายืนอยู่กับฝ่ายประชาชน ยืนอยู่กับอำนาจของประชาชน ไม่ว่าจะต้องยากลำบาก เรามีคดีความมากมาย ต้องติดคุกกันสาหัส ที่ตายก็ตายไป ที่ติดคุกก็ติดไป แต่มีอยู่อย่างหนึ่งก็คือ จุดยืนของเราที่สำคัญที่สุดยังต้องยืนอยู่กับทิศทางที่ก้าวหน้า ก็คืออำนาจเป็นของประชาชนค่ะ ส่วนคนอื่นก็แล้วแต่ ท่านมีสิทธิ์ที่จะเลือกจุดยืนของท่าน ท่านมีสิทธิ์ที่จะภาคภูมิใจตามแบบฉบับของท่าน
แต่ดิฉันและคณะภาคภูมิใจที่เราอยู่กับประชาชน แม้ว่าเรายังไม่ได้รับชัยชนะก็ตาม อ.ธิดากล่าวในที่สุด