จบใน 5 นาที ฟังจุดเริ่มต้น 'ส.ว.ลากตั้ง' ย้อนหลัง 72 ปีที่แล้ว จาก 'รัฐประหาร 2490' ค้ำจุนให้เผด็จการอยู่ต่อ ขณะ 250 เสียงโหวต 'ประยุทธ์' นั่งนายกฯ ปัจจุบัน เปรียบพาสังคมไทยถอยหลังลงคลองแสนแสบไปเป่าขลุ่ยขี่ควายเล่นบท 'ไอ้ขวัญ-อีเรียม' แห่งทุ่งบางกะปิ 'ดร.ธำรงศักดิ์' ชี้ทัศนะ 'ชนชั้นนำ' มองคนไทยยังโง่อยู่ ไม่ปล่อยให้ส.ส.มีอำนาจในรัฐสภา อ้างข้าราชการฉลาดกว่าต้องตั้งมาเป็นพี่เลี้ยง
แฟนเพจ 'ยูดีดีนิวส์ - UDD News' สัมภาษณ์ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักประวัติศาสตร์ผู้ค้นคว้าและเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง ‘บทบาททางการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจร พ.ศ. 2506-2516’ และเป็นผู้เขียนหนังสือ '2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ (1932 Revolution and Aftermath)' พิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่มาของ ส.ว.แต่งตั้ง ภายหลัง 250 เสียง ส.ว.ในปัจจุบัน โหวตพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 โดยสมัยแรกนั่งนายกฯ จากการยึดอำนาจในปี 2557
ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า 'สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งหรือที่เราเรียกว่า 'ส.ว.ลากตั้ง' เริ่มปรากฏตัวครั้งแรกจากการรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2490 ดังนั้น เมื่อคิดถึงคำว่า ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง เราย้อนกลับไปได้ทันที 72 ปี
เมื่อเปรียบเทียบ 72 ปีที่แล้ว เราคงคิดถึง ไอ้ขวัญและอีเรียมเล่นน้ำในคลองแสนแสบ เป่าขลุ่ย นั่งควาย (หัวเราะ) ซึ่งตอนนี้ทุ่งบางกะปิก็เปลี่ยนไปหมดแล้วนะครับ
มันเหมือนกับว่า คุณพยายามจะฟรีซสังคมไทยให้อยู่ใน ‘สังคมเกษตร’ ที่ไม่มีเครื่องมือสื่อสารกัน มีแต่ควายลุยน้ำ คนนั่งเป่าขลุ่ย มันเป็นไปไม่ได้
ฉะนั้น ส.ว. ที่มีอยู่ตอนนี้เป็นภาพสะท้อนว่า กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอำนาจ ได้พยายามที่จะรักษาอำนาจไว้อย่างไม่เสื่อมคลาย โดยได้พยายามฝืนสังคมไทยให้ย้อนยุคกลับไปถึง 72 ปี สะท้อนความตกรุ่น สะท้อนความคิดที่โบราณมากในทางการเมือง
ป็นความพยายามรักษาอำนาจไว้กับชนชั้นนำ ที่เคยเป็นชนชั้นนำในรอบ 70 กว่าปีที่ผ่านมา
ทีนี้ แล้วบทบาทอำนาจส.ว. ในปี2562 แตกต่างจาก ส.ว.นับแต่จุดเริ่มต้นไหม คำตอบคือ ไม่ได้แตกต่างนะครับ เพราะว่าการที่คณะรัฐประหาร ออกแบบรัฐธรรมนูญ ขึ้นมา
เหตุที่ออกแบบให้มีสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) มาจากการเลือกตั้ง แต่มี ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง
เนื่องจากการรัฐประหาร 2490 เป็นการรัฐประหารหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกระแสโลกในขณะนั้น คือกระแสฟื้นฟูประชาธิปไตย
ประเทศเอกราชในโลกที่เพิ่งต่อสู้ได้เอกราชมาจากประเทศอาณานิคมก็พยายามที่จะแสวงหาระบอบทางการเมืองใหม่ๆ ซึ่งแนวทางระบอบที่เลือกกันทั้งหมดก็คือระบอบประชาธิปไตย
คราวนี้ คณะทหารที่ทำการรัฐประหาร ซึ่งร่วมด้วยช่วยกันกับกลุ่มที่สูญเสียอำนาจไปใน 2475 กลุ่มอนุรักษ์นิยมก็พยายามจะฟื้นกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่สามารถแต่งตัวเป็นเผด็จการทหารแบบฮิตเลอร์เข้ามาได้ คุณต้องปลอมหรือแปลงร่างให้คนยอมรับว่า คุณดูเหมือนเป็นประชาธิปไตย เพราะกระแสของโลกคือกระแสประชาธิปไตย
ดังนั้น การออกแบบรัฐธรรมนูญชั่วคราวในการรัฐประหารปี 2490 ก็คือการออกแบบว่า เราต้องการสร้างประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยนั้น เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนยังโง่
ดังนั้น เราต้องมีคนฉลาด คนฉลาดเป็นใคร ก็คือคนที่จะมาเป็นส.ว.
ส.ว.เป็นใคร ส.ว.เกือบทั้งหมดนั้น ก็คือ ทหาร ทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจและข้าราชการเกษียณ พวกนี้คือข้าราชการทหารและพลเรือน
ทำไมกลุ่มนี้จึงเป็นผู้ที่ดูเหมือนฉลาด เพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนที่ได้รับการศึกษาชั้นสูง
มันคือทัศนะในการอธิบายว่า 'ประชาชนโง่ ข้าราชการฉลาด'
แต่ที่จริงแล้วระบอบรัฐทหาร ระบอบของการรัฐประหารนั้น จะมีอำนาจได้ก็ด้วยการที่ใช้กลไกของระบบราชการ
ดังนั้น ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้ง เกือบทั้งหมดของสภา คือ ทหาร อีกส่วนหนึ่งนิดหน่อย ค่อยให้เป็นข้าราชการพลเรือน แล้วค่อยให้เป็นประชาชนที่มาจากหลากหลายอาชีพไม่กี่คน
บทบาทของส.ว.ทั้งหมดจะถูกสร้างวาทกรรมว่า เนื่องจาก ส.ส.ในสังคมไทย ไม่ค่อยมีความรู้ ชอบแสวงหาประโยชน์ คือเราจะถูกทำให้มองส.ส.แบบโจมตีว่า แสวงหาประโยชน์
ดังนั้น ส.ว. ก็จะมาจากกลุ่มหลากหลายอาชีพ เพื่อมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับส.ส. เพราะส.ส. ไม่มีความรู้ ขณะที่ส.ว. มีความรู้
ผมก็ไม่รู้นะว่า ทหารที่เรียนจากโรงเรียนทหาร เขามีความรู้มากกว่าพวกส.ส.กันได้ยังไงนะครับ (หัวเราะ)
แต่พอบอกว่า เป็นพี่เลี้ยงเพื่อเป็นตัวที่คอยตรวจสอบกระบวนการออกกฎหมายของส.ส. มันก็เลยทำให้คนรู้สึกว่า เออ มันน่ามีกระบวนการกลั่นกรอง
ส.ว.จึงกลายเป็นกระบวนการกลั่นกรองกฎหมายของส.ส. ซึ่งกลายเป็นวาทกรรมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ความหมายที่แท้จริงก็คือ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งนั้น คือกระบวนการกำกับกีดกันเป็นปราการการทำงานของส.ส. เพราะเป้าหมายของส.ส. ก็คือต้องตอบต่อประชาชน แต่เมื่อตอบต่อประชาชนแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ มันจะไม่ตอบต่อระบบราชการ จะไม่ตอบต่อพวกข้าราชการ ทหาร กองทัพต่าง ๆ
บทบาทของส.ว. ที่สร้างวาทกรรมว่าเป็นพี่เลี้ยง คอยกลั่นกรองกฎหมายให้กับส.ส.
ความจริงไม่ใช่ ความจริงก็คือ บทบาทที่คอยกำกับไม่ให้ส.ส.ตัดงบประมาณที่กองทัพต้องการ
ไม่ให้ตัดงบฯ ที่กลุ่มซึ่งมีอำนาจต้องการ และไม่ประสงค์ให้พรรคการเมืองและส.ส.สามารถออกกฎหมายสิ่งใหม่ๆ ที่ระบบอำนาจแบบดั้งเดิมไม่ต้องการ
ดังนั้น ส.ว.รุ่นปี 2490 เขาจึงให้มีจำนวนเท่ากับส.ส.ที่ประชาชนเลือก (หัวเราะ) คณะทหารที่ทำการรัฐประหาร สามารถแต่งตั้งส.ว. ได้เท่ากับจำนวนที่ประชาชนเลือกตั้งทั้งประเทศ
เรามาถึงตอนนี้ ผ่านไป 72 ปี มีคนกี่คนที่ได้เลือกส.ว. 250 คน ในขณะที่ประชาชน 67 ล้านคนสามารถเลือกตั้งส.ส. ได้ 500 คน
คนกลุ่มหนึ่งสามารถเลือก ส.ว. ได้ครึ่งหนึ่งของส.ส. เท่ากับว่ามีอำนาจครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
ประเด็นต่อมา บทบาทส.ว.ที่ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อ 72 ปีที่แล้ว นอกจากกำกับบทบาทของส.ส. ไม่ให้ส.ส.ออกกฎหมายได้แล้ว ก็เป็นเครื่องมือค้ำจุนอำนาจรัฐบาลทหาร
เวลาคณะทหารยึดอำนาจ ประโยคแรกที่เขามักจะพูดก็คือ พวกเราไม่ได้ประสงค์อำนาจ พวกเรากระทำเพื่อชาติ แต่พอยึดอำนาจไปแล้ว พวกนี้ต้องการเป็นรัฐบาล
อาจจะทิ้งระยะไว้สักพักหนึ่งแล้วขึ้นเป็นรัฐบาล หรือ ถ้าอายหน่อยก็ทิ้งไว้ 1 ปี แล้วหาทางเป็นรัฐบาล บางคนก็ทิ้งไว้สัก 5 ปี แล้วก็เป็นรัฐบาล
คือ อยากเป็นรัฐบาลต่อ ดังนั้น ส.ว.มีขึ้นเพื่อสนับสนุนการเป็นรัฐบาลของคณะทหาร และผู้นำคณะรัฐประหาร
สนับสนุนอย่างไร อย่างเช่นเมื่อ 72 ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่ระบุว่า ส.ว.สามารถโหวตเลือกนายกฯ เพราะว่า ประธานวุฒิสภา เป็นประธานรัฐสภา
รัฐธรรมนูญปี 2490 เขาออกแบบให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา ดังนั้น ประธานรัฐสภาจึงเป็นผู้เสนอชื่อนายกฯ
แล้วใครเป็นประธานวุฒิ ก็ประธาน ส.ว. นั่นเอง ดังนั้น การเสนอชื่อนายกฯ จึงอยู่ในกำมืออยู่แล้ว
อย่างที่ 2 ช่วงที่สำคัญที่สุดก็คือการอภิปรายนโยบายของรัฐบาล มันจะเป็นประเพณีว่าจะต้องมีการโหวตในการอภิปรายนโยบายของรัฐบาล ซึ่งถ้าให้ ส.ส.โหวต รัฐบาลทหารก็จะไม่ผ่าน
ดังนั้น เขาจึงมีปริมาณของส.ว. แล้วบอกว่า ให้มีการโหวตร่วมกันระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. ซึ่งจำนวนของส.ว.ทำให้นโยบายที่มาจากรัฐบาลทหารผ่านอยู่แล้ว
ดังนั้น พัฒนาการมาถึงตอนนี้ เขาจึงไม่คิดมาก เขาจึงบอกว่า ให้ 'ส.ว.แต่งตั้ง' โหวตนายกฯ ไปเลย ก็จบกัน คือพูดง่ายๆ ว่า 72 ปี บทบาทของส.ว.แต่งตั้ง ไม่ได้แตกต่าง ไม่ได้เปลี่ยนแปลง คือ
1) ขัดขวางการทำงานการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ของส.ส. และรักษาสถานภาพกลุ่มอำนาจฝ่ายข้าราชการทหารและพลเรือน
2)เป็นพลังอำนาจในการค้ำจุนรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร' ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว
(สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)