การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนจาก 2552 ถึง
2562
อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ
26 มิ.ย. 62
กลายเป็นว่าความโด่งดังของการประชุมอาเซียนซัมมิทปี
2562 คนมาพูดกันเรื่องภาษาอังกฤษของนายกฯ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศไม่พอใจ
ถูกแยกห้องออกไปและฟังไม่รู้เรื่อง
แต่ที่โด่งดังยิ่งกว่าคือ
ผู้ถูกกล่าวหาจากการประชุมปี 2552
คนหนึ่งหลุดจากการถูกฟ้องร้องเพราะคดีความหมดอายุ ต่างจากคนอื่น ๆ ที่เป็นแกนนำ
หลังจากเวลาผ่านไป 8-9 ปี ก็มาถูกฟ้องร้องทั้งที่กรุงเทพฯและพัทยา
มองปรากฎการณ์นี้อย่างไร?
1) เวลาล่วงเลยผ่านมาเกือบ 10 ปี
แกนนำนปช.ถูกดำเนินคดีปี 51, 52, 53 และคดีอื่น ๆ อีกมากมาย
ตั้งแต่ยังไม่มีสโลแกนเผาบ้านเผาเมือง, ล้มเจ้า
จนมาบัดนี้สโลแกนนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง แม้แต่ต่างจังหวัด
ด้วยใจจริงดิฉันอยากรื้อฟื้นคดีเพราะเชื่อว่าแดงนปช.ไม่ได้เผาและไม่ได้บุกรุกสถานที่ราชการแน่นอน
แต่เป็นไทยมุงยืนดู
คนเผาจริงคือมือลึกลับที่คุ้นเคยสถานที่ราชการแล้วหายตัวไปแล้ว...ใช่หรือไม่?
ชะตากรรมจึงตกที่ผู้ถูกกล่าวหา ที่เป็นปัญหากระบวนการยุติธรรมเริ่มต้นจากพนักงานสอบสวนจนอัยการสั่งฟ้องร้อง
ดังนั้นควบคู่กันไปกับการยึดอำนาจประชาชนด้วยการทำรัฐประหารและสลายอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ก็พยายามลงโทษด้วยคดีความสำหรับผู้เกี่ยวข้อง ผู้สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง
แกนนำ มวลชน ล้วนประสบชะตากรรมและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่อาจถือว่ามีนิติธรรม (Rule
of Law) ได้จริง...ใช่หรือไม่?
ล่าสุด ปรากฎการณ์ “สุภรณ์ อัตถาวงศ์”
ที่ย้ายพรรค บังเอิญว่าหลุดคดีได้คนเดียว ก็เป็นเรื่องที่กล่าวขวัญไปทั่วถึงกระบวนการยุติธรรมตอนต้นว่าทำตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจหรือไม่?
ในขณะที่พยายามออกหมายจับณัฐวุฒิตั้งแต่ปี
60 แต่ศาลไม่อนุมัติ และการพยายามดำเนินคดีฟ้องร้องโดยเลือกปฏิบัติหรือไม่?
จนบางคนสามารถหลุดพ้นคดีได้เพราะขาดอายุความ ... น่าแปลกจริง ๆ
2) ย้อนกลับไปดูการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนปี
2552 มีประมุขสำคัญจากประเทศใหญ่ ๆ เช่น จีน, ญี่ปุ่น ฯลฯ
มาร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก รัฐบาลขณะนั้นประกอบด้วยพรรคการเมืองสำคัญคือ
ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย และพรรคอื่น ๆ
ปี 2562 การประชุมนี้ไม่มีผู้นำจากประเทศใหญ่
ๆ มา อาจตีความได้ว่ายังกลัวเหตุการณ์ปี
2552
หรือไม่อยากมาร่วมประชุมกับประเทศที่ยังไม่พร้อมจะเป็นประชาธิปไตยเช่นประเทศไทย
3) ปรากฎการณ์มวลชนในปี 2552
ความจริงไม่ใช่การต่อต้านการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน
แต่มวลชนต้องการไปยื่นจดหมายถึงผู้นำประเทศต่าง ๆ
ถึงความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลขณะนั้นที่ตั้งขึ้นในค่ายทหาร
และส.ส.แปรพักตร์จากพรรคเดิมในการหาเสียงที่มวลชนสนับสนุนพรรคเดิม
ไปตั้งพรรคใหม่และเข้าร่วมรัฐบาลกับฝ่ายตรงข้าม
ทำให้รัฐบาลขณะนั้นไม่อาจบอกได้ว่ามาจากประชาชน
แต่การพยายามหยุดยั้งมวลชนโดยการใช้ความรุนแรงในการใช้อาวุธจริง
และชายฉกรรจ์กลุ่มเสื้อสีน้ำเงินที่ออกมาปะทะกับมวลชนเสื้อแดง ทำให้เหตุการณ์บานปลาย
มวลชนเสื้อแดงไม่พอใจที่ถูกใช้ความรุนแรง
เรื่องจึงเปลี่ยนจากการจะไปยื่นจดหมายถึงผู้นำอาเซียน
กลายเป็นขึ้นไปถึงโรงแรมที่ประชุม ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นถ้ารัฐบาลขณะนั้นให้ไปยื่นจดหมายโดยไม่ขัดขวางและใช้ความรุนแรงกับประชาชนก่อน
สุดท้ายรัฐบาลขณะนั้น เหมือนกับปี 2553
ที่ปราบปรามประชาชนด้วยกำลังทหาร ตำรวจกว่า 6 หมื่น ใช้อาวุธจริง ทั้งปี 2552,
2553 ก็ไม่ผิด ความผิดมาตกอยู่กับประชาชนและแกนนำนั่นเอง
สำหรับปรากฎการณ์มวลชนในปี 2562
ต่อการประชุมอาเซียนซัมมิท
มีจดหมายเปิดผนึกจากนักศึกษาชาวไทยจำนวน
400 คน ถึงผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน
ความจริงก็คล้ายกับปี 2552
แค่ไม่มีม็อบมวลชนขนาดใหญ่ และไม่มีการปะทะใช้ความรุนแรงแบบปี 2552
ก็ไม่เกิดเรื่องบานปลาย
เพราะจริง ๆ
แล้วไม่มีใครคิดต่อต้านการประชุมสุดยอดอาเซียน ไม่ว่าปีไหน ๆ ก็ตาม
ประชาชนที่จะต่อต้านการประชุมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
ความกลัวของรัฐบาลต่อการเรียกร้องของประชาชนแล้วใช้การปราบปรามรุนแรงคือเหตุแห่งปัญหาปี
51, 52, 53 ที่แท้จริง!!!