ปิดทางม็อบชนม็อบ ‘ภราดร’ มองจุดเปลี่ยนเกมมวลชนฝ่ายหนุนคสช. อ่อนกำลัง เหตุยึดอำนาจแล้วไม่ทำตามสัญญา ส่งผลขาดแนวร่วม อีกปัจจัยหลายคนถอนตัว หันหลังกลับเข้าพรรคการเมืองสู้ศึกเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 62 พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย (พท.) และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์แฟนเพจ ‘ยูดีดีนิวส์ - UDD News’ ถึงความเสี่ยงที่จะมีการปะทะกันระหว่างประชาชนที่เรียกร้องความชัดเจนของการกำหนดวันเลือกตั้งกับกลุ่มที่คิดแตกต่าง
จากกรณีการนัดหมายชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งต่อมามีการแสดงตัวคัดค้านโดยกลุ่มสามัคคีก่อนเลือกตั้งนัดหมายชุมนุมในบริเวณใกล้เคียงกัน คืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 62 ส่งผลให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ย้ายสถานที่ชุมนุมจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไป มธ.ท่าพระจันทร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการปะทะ
- ปรากฏการณ์กลุ่มมวลชนแสดงตัวว่ามีความคิดเห็นแตกต่าง มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์นองเลือดหรือไม่
ปรากฏการณ์ในสถานการณ์นี้ มีความเชื่อสูงว่า จะไม่มีการนองเลือด เพราะประสบการณ์ของพี่น้องประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตย มีบทเรียนและความเข้าใจดีขึ้น
ประกอบกับการที่มีสื่อโซเชียลฯ ทำให้การชี้แจง การรายงาน การแจ้งเตือนกันรวดเร็วและทันกับสถานการณ์ ฉะนั้น ก็จะเป็นมาตรการป้องกันป้องปรามก่อนที่จะเกิดเหตุได้
- การปลุกข้อกล่าวหาของฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งเคยทำสำเร็จในสมัยก่อน แต่ทำไมตอนนี้จึงมีผลแตกต่างจากเดิม
น้ำหนักเห็นชัดเจน เพราะว่าพี่น้องประชาชนเห็นสภาพความเป็นจริง จากการที่ปลุกปั่นมาในอดีต แต่สุดท้ายแล้วสภาพการณ์ที่จะมาทำให้เกิดผลงานเป็นข้อเท็จจริงต่างๆ สุดท้ายไม่มีข้อเท็จจริงนั้นปรากฏเลย
ฉะนั้น พี่น้องประชาชนเข้าใจแล้วสิ่งที่ผ่านมา เป็นเรื่องการปฏิบัติการข่าวสารเพื่อให้เกิดเหตุ ทำให้พี่น้องประชาชนต้องมาเผชิญเหตุกัน แต่ ณ ตรงนี้ พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะฝ่ายประชาธิปไตยมีความเข้าใจชัดเจน
แม้กระทั่งฝ่ายที่เขาจะไปเชื้อเชิญมาปลุกเพื่อการปฏิบัติการข่าวสาร ก็จะสังเกตเห็นว่าจะมีกลุ่มน้อย
และคนที่เป็นกลุ่มเดียวกันก็ถอนตัว ถอยออก เริ่มเข้ามาอยู่ในพรรคการเมืองที่จะมาต่อสู้ตามครรลองต่อไปแล้ว
ฉะนั้น ประเด็นตรงนี้คงไม่มีข้อน่ากังวลแต่ประการใด
- การใช้คำว่า ‘สามัคคีก่อนเลือกตั้ง’ จะสามารถคัดค้านการชุมนุมของ ‘คนอยากเลือกตั้ง’ ได้หรือไม่
ตรงนี้เกิดผลยากเพราะก่อนหน้านี้เขามีการสื่อสารมาตลอดเวลาว่าประสงค์จะมีการปฏิรูป แต่เนื่องจากความเป็นรูปธรรมมันไม่เกิดขึ้น
ฉะนั้น คนก็รู้สึกว่า ถ้าจะทำ ทำไมไม่ทำตั้งแต่เนิ่น ตั้งแต่แรก ซึ่งสามารถมีกระบวนการ มีอำนาจ มีขั้นมีตอนที่จะทำให้เกิดความสัมฤทธิ์ผลได้ แต่ไม่ทำ
ฉะนั้น พอมาพูดตอนนี้ ความน่าเชื่อถือจึงไม่เกิดขึ้น หมายความว่า แม้กระทั่งกับฝ่ายเดียวกัน ซึ่งเป็นกลางๆ ก็เห็นแล้วว่า เอ๊ะ ไม่ใช่นี่ มาหลอกกัน ฉะนั้น ก็ไม่มาร่วมมือกัน
จึงมีแต่กลุ่มฮาร์ดคอร์เท่านั้น ที่พยายามจะจุดประเด็นเหล่านี้กลับขึ้นมาอีก แต่กลุ่มที่เป็นแนวร่วมส่วนใหญ่เห็นข้อเท็จจริงแล้วว่า ตอนคุณมีอำนาจ หรือตอนคุณจะทำการปฏิรูปได้ คุณก็ไม่ทำ
แล้วตอนนี้คุณบอกว่า ต้องมาทำตอนนี้ให้สามัคคีก่อน ทั้งที่เรื่องนี้ เป็นเรื่องแรกที่คุณต้องทำเลยนะหลังจากยึดอำนาจ เพราะคุณใช้เหตุผลตอนคุณยึดอำนาจว่า มันไม่สามัคคี
ฉะนั้น พอพูดตรงนี้มันสายเกินแก้แล้ว และพี่น้องประชาชนเมื่อมีความเข้าใจตรงกัน โอกาสจะเกิดความรุนแรงก็ถอยออกแล้ว เพราะเข้าใจแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องมาปะทะกัน ไม่จำเป็นต้องมาต่อสู้กัน
ดังนั้น กลับไปสู่เวทีประชาธิปไตยดีกว่า คือการเลือกตั้ง และให้รัฐบาลที่มาจากพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่มาหาทางแก้ปัญหาตามครรลองต่อไป
- ถ้าสถานการณ์เดินไปถึงขั้นที่มีการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มมวลชนที่คิดต่างกัน มีข้อแนะนำอย่างไรต่อประชาชน
ข้อแนะนำก็คือหลีกเลี่ยงการปะทะเลย แต่ตอนนี้เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ แตกต่างจากเมื่อก่อน ซึ่งเมื่อก่อนดูคล้ายๆ ไม่ค่อยอยู่ตรงกลางมากนัก แต่สถานการณ์ตอนนี้ เจ้าหน้าที่รัฐก็มีความเข้าใจแล้วล่ะว่าจะให้เป็นแบบนั้นไม่ได้
ฉะนั้น เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐ มีความเข้มงวดไม่ให้ทุกคนมาเกินเส้นแบ่งที่จะมาปะทะกัน ตรงนั้น ก็คงจะไม่มีทางได้เกิดขึ้น เพราะว่ากลุ่มคนไม่ได้ใหญ่มากจนเกินที่จะควบคุม เจ้าหน้าที่รัฐมีขีดความสามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ได้
- จุดเปลี่ยนที่เกมมวลชนแตกต่างไปจากก่อนหน้านี้ซึ่งมีโอกาสจะปะทะระหว่างความคิดต่าง แต่กลายเป็นมีพลังน้อยลง
เพราะสภาพความเป็นจริง สิ่งที่พูดไม่เคยเกิดขึ้นในสภาพความเป็นจริง จึงขาดความเชื่อมั่น การไม่ดำเนินการให้เป็นตามสัจจะวาจา ก็ปิดโอกาสที่จะดึงมวลชนให้มาเป็นแนวร่วม ดึงมาไม่ได้
แล้วเราต้องยอมรับ พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่จะมีคนที่อยู่ตรงกลางๆ มากกว่าคนที่สุดโต่งทั้ง 2 ข้าง
ฉะนั้น คนที่อยู่ตรงกลางๆ ได้เห็นข้อเท็จจริงปรากฎแล้ว ต้องกลับไปสู่ประชาธิปไตย
โอกาสที่จะมาปะทะกันอีก สามารถพูดได้เลยว่าปิดประตูไปแล้ว
- ท่าทีกองทัพต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ควรจะเป็นอย่างไร?
ทหารเพียงแต่ทำตามอำนาจหน้าที่ อยู่ตรงกลาง และสิ่งที่สำคัญท่านต้องให้ความรู้ความเข้าใจกับพี่น้องกำลังพล ให้ทุกคนกลับไปสู่จิตสำนึกประชาธิปไตย ถ้าทุกคนมีจิตสำนึก เหตุการณ์ที่คิดว่าจะเกิดความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นเลย
(สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)