ผศ.ดร.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อาเลกซานเดอร์ |
รัฐบาลไม่ได้สูงส่งกว่าประชาชน นักภาษาศาสตร์มาเอง!!! #เลื่อนแม่มึงสิหยาบคายไม่ใช่ประเด็น ‘ดร.เสาวนีย์’ ชี้สะท้อนความคับข้องของผู้คน แนะมองแก่นสารความจริง ดีกว่าฟังแต่คำไพเราะที่เป็นเท็จ หยุดหมกมุ่นความสุภาพ - เทียบแฮชแท็กดัง #ประเทศกูมี เน้นสื่อสารอย่างไร้ระยะห่างผู้รับ-ผู้ส่งสาร
5 ม.ค.62 ผศ.ดร.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันตก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์แฟนเพจ ‘ยูดีดีนิวส์ - UDD news’ ถึงปรากฏการณ์แฮชแท็ก #เลื่อนแม่มึงสิ ซึ่งเกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย ภายหลังจากมีแนวโน้มว่าวันเลือกตั้งอาจต้องเลื่อนไปหลังวันที่ 24 ก.พ. 2562
โดยผศ.ดร.เสาวนีย์ กล่าวว่า ‘ในกรณีที่มีผู้ใช้สื่อออนไลน์จำนวนมากใช้แฮชแท็กดังกล่าวต่อข่าวที่ตัวแทนรัฐบาลออกมาพูดเรื่องเลื่อนการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นความคับข้องใจในระดับที่คนจำนวนมากไม่ให้ความสำคัญต่อความสุภาพอีกต่อไป ต่อให้มีผู้วิจารณ์ว่า #เลื่อนแม่มึงสิ หยาบคาย ก็เชื่อว่าคนจำนวนมาก ก็อาจใช้ต่อไปอยู่ดี และอาจมากขึ้นด้วย เพื่อระบายความอึดอัดต่อแรงกดดัน
การเลือกใช้คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นสิ่งที่น่าสนใจ 2 ประการเป็นอย่างน้อย คือ
1. การที่พวกเขาไม่ได้มองว่ารัฐบาลมีฐานะทางสังคมสูงส่ง ห่างจากพวกเขาซึ่งเป็นประชาชน จึงใช้ภาษาโดยไม่ต้องคำนึงถึงความสุภาพ
2. การที่ประชาชนรู้สึกคับข้องใจจนถึงจุดที่ไม่ต้องรักษามารยาททางภาษา แสดงให้เห็นความอัดอั้นตันใจในวงกว้าง จากการที่รัฐบาลกล่าวถึงการเลือกตั้งในโอกาสต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่การพยายามเลื่อนออกไป ทำให้คนเกิดความรู้สึกไม่พอใจ เหมือนฟังคำโกหกซ้ำซากเป็นเวลาหลายปี
ส่วนตัวในฐานะศึกษาภาษากับสังคม มองว่าคำกล่าวดังกล่าว เป็นการระบายอารมณ์ ต่อสภาวะและความเป็นไปทางการเมืองที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้สนับสนุนประชาธิปไตย เป็นปรากฎการณ์ทั่วไปที่พบเห็นได้ในการเมืองหลายๆ ประเทศ
การตั้งคำถามว่า คำกล่าวนี้หยาบคายหรือไม่ เป็นเพียงการกล่าวถึงเปลือกนอกที่เคลือบภาษาอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นที่ควรถามต่อคือ การแสดงออกทางภาษาดังกล่าว มีบริบทและเหตุผลรองรับที่ทำให้เราเข้าใจถึงความอัดอั้นตันใจของประชาชนหรือไม่? อะไรคือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาพร้อมใจกันใช้คำกล่าวนั้น?
ส่วนคำถามว่าหยาบคายหรือไม่ หากเราไปเปิดพจนานุกรมดู ก็น่าจะมีการระบุว่า คำกล่าวนี้ มี “คำหยาบ” อยู่ แต่การประเมินเพียงแค่นั้น ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจความเป็นจริงในสังคมมนุษย์ที่ใช้ภาษาในลักษณะต่างๆ เพื่อสื่อสารและเจตนาตามที่ตนต้องการ
คำถามที่สำคัญคือ การใช้ภาษาที่หยาบหรือไม่หยาบ มีความเหมาะสมในสถานการณ์นั้นๆหรือไม่ ความเหมาะสมที่ว่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือมุมมองของทั้งผู้ส่งและรับสาร และบริบทของคำกล่าวนั้น ๆ
ยกตัวอย่าง เช่น ในระหว่างการประชุมอย่างเป็นทางการระหว่างตัวแทนบริษัทกับลูกค้าเกี่ยวกับโครงการระดับพันล้านที่ต้องดำเนินการให้เสร็จอย่างเร่งด่วน หากตัวแทนบริษัทกล่าวขึ้นมาว่า “เรามีความจำเป็นต้องเลื่อนการเปิดตัวโครงการนะคะ ต้องขอโทษด้วยค่ะ” แล้วลูกค้ากล่าวตอบว่า “เลื่อนแม่มึงสิ” แน่นอนว่าในบริบทนี้ลูกค้าแสดงความไม่พอใจอย่างมากผ่านภาษา ผู้รับสาร คือ ตัวแทนบริษัทอาจตกใจและรู้สึกไม่พอใจที่ลูกค้าใช้คำกล่าวที่ “หยาบคาย” ในกรณีนี้ เพราะบริบทนี้คาดหวังให้ทุกคนมีความสุภาพ แต่หากใช้คำกล่าวเดียวกัน ในพูดคุยหยอกล้อระหว่างเพื่อนที่มีความสนิทสนมกันมากๆ ผู้ร่วมสนทนาก็อาจไม่มองว่าเป็นคำหยาบคาย
จะเห็นว่า “ระยะห่างทางสังคม” (Social distance) ระหว่างผู้ร่วมสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินว่า คำกล่าวดังกล่าวหยาบคาย หรือไม่หยาบคาย ในสายตาของพวกเขา (หรือคนใดคนหนึ่งในบทสนทนานั้นๆ) ยิ่งระยะห่างมาก ความคาดหวังให้ภาษามีความสุภาพก็มากตาม ยิ่งระยะห่างน้อย ความคาดหวังให้มีความสุภาพก็ลดน้อยลงจนถึงระดับหยาบคาย (เช่น การใช้คำสรรพนาม กู มึง) เช่น ในกลุ่มเพื่อนสนิท เพื่อแสดงความเป็นกันเอง หรือแม้แต่กลุ่มคนที่เป็นอริกันและมองอีกฝ่ายว่ามีฐานะทางสังคมไม่ห่างจากตน ไม่ได้สูงส่ง ห่างเหิน ในกรณีหลังนี้ ต่อให้ผู้ฟังมองว่าหยาบคาย ก็อาจไม่มีผลให้ทำผู้ใช้ปรับภาษาแต่อย่างใด เพราะเป็นการใช้โดยเจตนา
นอกจากพจนานุกรม (ที่เป็นผลผลิตของมุมมองของ “ผู้เชี่ยวชาญ”ในการนิยามคำ)และมุมมองของปัจเจกแต่ละคนจะเป็นตัวตัดสินว่าคำใดหยาบ ไม่หยาบแล้ว
บริบททางสังคมในแต่ละยุคก็น่าจะมีส่วนด้วย เพราะภาษามีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ด้วยความที่มนุษย์มีความสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์คำ ให้นิยาม ตีความ หรือแม้แต่ ตีความใหม่
เช่น คำว่า “สะตอ” ในภาษาปาก ที่มาจากคำว่า “สตรอเบอรี่” ซึ่งวัยรุ่นปัจจุบันมักใช้เป็นสำนวนปาก แทนคำว่า “ตอแหล” เมื่อใช้บรรยายพฤติกรรมใคร
แต่อย่างไรก็ตาม การพยายามระบุว่าคำใดหยาบหรือไม่หยาบ มีประโยชน์เพียงระดับหนึ่งในการวิเคราะห์การสื่อสาร เพราะเราจะเห็นเพียง อารมณ์ ความรู้สึก และทัศนคติของผู้พูด ซึ่งจริงอยู่ว่ามันช่วยสะท้อนตัวตนของคนนั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือ “แก่น” หรือ “สาร” ทั้งที่ปรากฏชัดหรือซ่อนอยู่ภายใต้คำพูด
เพราะในสังคมเรา มีคนจำนวนมากพูดจาด้วยถ้อยคำไพเราะ สุภาพ เป็นทางการ แต่เนื้อหาของสิ่งที่พูดกลับส่งผลลบต่อผู้อื่น เช่น กล่าวเท็จ หรือเสียดสี ในขณะที่บางคนอาจพูดจาด้วยถ้อยคำ น้ำเสียงไม่เพราะ แต่หากเขาพูดความจริง ก็ต้องรับฟัง ดังนั้นการวิพากษ์การใช้ภาษาที่มีประโยชน์ คือการที่ไม่หมกมุ่นกับความสุภาพหรือไม่สุภาพของภาษาเท่านั้น แต่วิเคราะห์สาระและบริบทการใช้ด้วย’ ผศ.ดร.เสาวนีย์กล่าว
ผศ.ดร.เสาวนีย์ กล่าวถึง สองแฮทแท็กดังในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ #เลื่อนแม่มึงสิ และ #ประเทศกูมี ว่า ‘สองกรณีนี้มีความคล้ายกัน คือมีคำว่า “มึง” กับ “กู” ซึ่งไม่สุภาพในสายตาของบางคน แต่การที่คนจำนวนมาก ยกคำกล่าวทั้งสองนี้มาใช้เพื่อวิพากษ์ สะท้อนให้เห็นความคับข้องใจของประชาชน การใช้สรรพนามที่ไม่สุภาพ “ลด” ระยะห่างทางสังคมของผู้ส่งสารและรับสาร ทั้งในกรณี #เลื่อนแม่มึงสิ และ #ประเทศกูมี คือการใช้ภาษาแบบไม่ปรุงแต่งให้ไพเราะ แต่เน้นความจริงใจในสารที่อยากสื่อ’นักภาษาศาสตร์ผู้นี้กล่าว
(สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)