เนื่องจากขณะนี้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ประกาศใช้ราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 62 ซึ่งพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็อยู่ในระหว่างการเสนอนโยบายออกมาให้ประชาชนทราบ ล่าสุดรัฐมนตรี 4 คนได้ลาออก แต่นายกรัฐมนตรียังไม่ลาออกแต่บอกว่าจะอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหนึ่ง ดูเหมือนเป็นฤดูกาลที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้งจริง ซึ่งตามกำหนดการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.
ดังนั้นมีเวลาไม่ถึง 2 เดือนดีก็จะถึงวันเลือกตั้งแล้ว อ.ธิดา จึงได้กล่าวในการทำ Facebook Live วันนี้ (30 ม.ค.) ถึงบทบาทภาคประชาชนในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งแบ่งได้ 2 ส่วน คือ 1) ตรวจสอบอำนาจรัฐปัจจุบันที่จะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง 2) ตรวจสอบพรรคการเมืองและผู้ที่จะเข้าสู่เวทีการเลือกตั้งในฐานะนักการเมือง คือตรวจสอบทั้งนโยบายและตัวบุคคลด้วย
การตรวจสอบชุดที่ 1 คือ ประการแรกตรวจสอบอำนาจรัฐปัจจุบัน ซึ่งอ.ธิดามองว่าสำคัญมาก การใช้อำนาจรัฐหรือกลไกรัฐเข้ามาแทรกแซงหรือทุจริตหรือให้คุณให้โทษหรือเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง มันต้องอยู่ในสายตาประชาชน เพราะขณะนี้ด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญและระบอบรัฏฐาธิปัตย์ ทำให้รัฐขณะนี้มีอำนาจสูงมาก ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการแบบที่มีมาในอดีต มีมาตรา 44 สั่งการอะไรก็ได้!!!
ประชาชนต้องตรวจสอบอำนาจรัฐและฟ้องร้องสู่สังคมหรือจะส่งข้อมูลไม่ว่าจะเป็นการทำ Facebook Live หรือบันทึกเป็นวีดีโอส่งให้ "ยูดีดีนิวส์" ก็ได้ เพราะขณะนี้ไปถามใคร ๆ ดูก็เชื่อว่าอำนาจรัฐต้องแทรกแซงแน่นอน เพราะพรรคการเมืองบางพรรคขณะนี้ใช้โครงการที่ผ่านมาของรัฐบาลเป็นชื่อพรรค ดูได้จากโลโก้หลังเสื้อ ไม่มีแม้กระทั่งคำว่า "พรรค" มีแต่คำว่า "ประชารัฐ" แม้กระทั่งการใช้หน่วยงานความมั่นคง, กองทัพ, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, หรือโครงการของรัฐในการเข้าไปหาเสียงเนียน ๆ ทั้งหมดนี้ประชาชนต้องตรวจสอบและฟ้องร้องสู่สังคม ซึ่งขณะนี้ช่องทางที่เห็นผลก็คือช่องทางโซเชียลมีเดีย
ประการต่อมาก็คือประชาชนต้องตรวจสอบองค์กรอิสระและกกต.ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง
การตรวจสอบชุดที่ 2 คือ การตรวจสอบพรรคการเมือง เริ่มจากดูที่อุดมการณ์และจุดยืนของพรรคการเมือง ซึ่งมีอยู่ 2 ฝ่าย (ประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ กับ เผด็จการ สนับสนุนการทำรัฐประการและสืบทอดอำนาจ) ประชาชนมีสิทธิตัดสินใจเต็มที่ให้ชัดไปเลย
ต่อมาต้องดูนโยบายของพรรคการเมืองที่ออกมาเสนอเรื่องเศรษฐกิจมีสวัสดิการแห่งรัฐ จะทำอย่างโน้นอย่างนี้ ประชาชนต้องดูจากผลงานพรรคการเมืองที่ผ่านมาว่านโยบายต่าง ๆ เขาทำได้หรือไม่ พรรคการเมืองที่ทำตามนโยบายได้นั้นมาจากอุดมการณ์ของพรรคที่แน่วแน่ ซึ่งก็คือพรรคสังคมประชาธิปไตยหรือพรรคฝ่ายซ้ายถึงจะมีสวัสดิการแห่งรัฐได้
ในส่วนของนปช.มีนโยบาย 7 ข้อ ซึ่งในข้อที่ 4 คือ ผนึกการต่อสู้ทางเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความยากจนเข้ากับการต่อสู้ทางการเมือง โดยชี้ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและทางรอดของประเทศชาติ ประชาชนไทยนั้น ต้องมาจากการเมืองที่อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน อ.ธิดากล่าวว่า ถ้าอำนาจเป็นของประชาชน การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจก็จะสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชน และที่อ.ธิดาพูดเสมอก็คือ "นโยบายเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากการเมืองที่ก้าวหน้า"
การเมืองที่ล้าหลัง ยังสนับสนุนเผด็จการรัฐประหาร แล้วมาเสนอนโยบายเศรษฐกิจเป็นของประชาชน ถามว่ามันฟังเข้าท่าไหมและจะเป็นไปได้ไหม? สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนจริง ๆ ได้ไหม? เพราะว่าตัวเองในทางการเมืองไม่ได้สนับสนุนอำนาจของประชาชน
เหมือนปัจจุบัน ถมเงินลงไปตั้งเท่าไหร่เพื่อหวังให้ประชาชนรากหญ้าพอใจ ทุ่มลงไปในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น แต่ในทางการเมืองคุณทำลายอำนาจประชาชน ดังนั้นเศษเงินที่แจกไปมันจะไม่ได้ผลเลย
นโยบายข้อ 5 ของนปช. คือ ต่อสู้เพื่อให้ประเทศไทย "เป็นนิติรัฐที่มีนิติธรรมอย่างแท้จริง" ดังนั้นนโยบายที่เป็นการล้มล้างผลพวงของการทำรัฐประหาร หรือการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชน จึงยังเป็นเรื่องสำคัญ
นโยบายข้อ 7 ของนปช.คือ ร่วมกับประชาชนไทยทุกภาคส่วนต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตามกติการะหว่างประเทศและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
อ.ธิดากล่าวว่า พรรคการเมืองที่ก้าวหน้าก็จะทำ 3-4 อย่างที่นโยบายของนปช.ได้นำเสนอ การเมืองต้องก้าวหน้า กฎหมายก็ต้องก้าวหน้า มีความเท่าเทียมกัน และสุดท้ายต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
การตรวจสอบพรรคการเมืองนอกจากจุดยืนไม่เอาสืบทอดอำนาจเผด็จการแล้ว นี่คือหลักการที่ อ.ธิดา ถือว่าสามารถเอานโยบายนปช. 3 ข้อดังกล่าวข้างต้นมาตรวจสอบพรรคการเมืองได้
สรุปก็คือ 1) ตรวจสอบอำนาจรัฐปัจจุบันว่าจะทำให้เกิดการเลือกตั้งที่ฟรีและแฟร์ไหม? 2) ตรวจสอบองค์กรอิสระ - กกต. และเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจ แต่ที่สำคัญคือ 3) ตรวจสอบพรรคการเมือง จุดยืน - อุดมการณ์ เพราะฉะนั้นนโยบายเศรษฐกิจที่ออกมาพูดกันนั้นจะกลายเป็นลมปาก ถ้าหากจุดยืนของพรรคการเมืองนั้น ๆ ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน และไม่ได้มองเห็นประชาชนเท่าเทียมกัน