วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

“ปิยบุตร” โพสต์ พายุ “นิติสงคราม” รอบใหม่ทยอยกวาดให้หมดกอง ตามเป้าประสงค์ของ “นักสร้างสุญญากาศทางการเมือง” แนะรักษาการนายกฯยุบสภาเลือกตั้งใหม่ คืนอำนาจประชาชนกำหนดทิศทางปท. ทวง “ประชาธิปไตย” คืนจาก “รัฐพันลึก”

 


“ปิยบุตร” โพสต์ พายุ “นิติสงคราม” รอบใหม่ทยอยกวาดให้หมดกอง ตามเป้าประสงค์ของ “นักสร้างสุญญากาศทางการเมือง” แนะรักษาการนายกฯยุบสภาเลือกตั้งใหม่ คืนอำนาจประชาชนกำหนดทิศทางปท. ทวง “ประชาธิปไตย” คืนจาก “รัฐพันลึก”


วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กโดยระบุว่า พายุ “นิติสงคราม” ก่อตัวระลอกใหม่ ลูกนี้ รอบนี้ มีโอกาสทยอยกวาดหมดกองเพื่อให้เกิด “สุญญากาศทางการเมือง” ตามเป้าประสงค์ของ “นักสร้างสุญญากาศทางการเมือง” 


ยังพอมีเวลา ยังพอมีโอกาส 


รักษาการนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจใช้อำนาจ ยุบสภาผู้แทนราษฎร ผ่าทางตันวิกฤตการเมือง คืนอำนาจให้ประชาชน ตัดสินใจกันใหม่ 


ป้องกัน มิให้เกิด “สุญญากาศทางการเมือง” 


ให้ “ประชาชน” ผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ กลับมาเป็นผู้กำหนดชะตากรรม 


ก่อร่างสร้างรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ที่มีกำลังวังชาใหม่ ผ่านอาณัติของประชาชน 


การต่อสู้กับ “นิติสงคราม” และพวก “รัฐพันลึก” ไม่มีวันสำเร็จได้ด้วยการเจรจา วิงวอน ร้องขอ เจ้าของ “ใบอนุญาตที่ 2” เต็มที่ ก็ได้แค่เพียง ยื้อลมหายใจออกไปชั่วครู่ชั่วยาม 


แต่การต่อสู้กับ “นิติสงคราม” และพวก “รัฐพันลึก” ได้ ต้องกล้าหาญใช้อำนาจในแดนของตนโต้กลับไป 


ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยถูกลดทอนคะแนนนิยมและความเชื่อมั่นไปมาก 


สู้สักครั้งเถิดครับ ทวงคืนเอาสายสะพาย และมงกุฎ “ประชาธิปไตย” กลับมา


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คณะก้าวหน้า

"เท้ง ณัฐพงษ์" ไม่เห็นด้วย #นิติสงคราม ชวนร่วมลบผลพวงรัฐประหาร เสนอรัฐบาลรักษาการคืนอำนาจประชาชน จัดเลือกตั้งใหม่ได้รัฐบาลที่มีความชอบธรรมทางการเมือง เป็นทางออกดีที่สุดฝ่าฟันวิกฤตประเทศ

 


"เท้ง ณัฐพงษ์" ไม่เห็นด้วย #นิติสงคราม ชวนร่วมลบผลพวงรัฐประหาร เสนอรัฐบาลรักษาการคืนอำนาจประชาชน จัดเลือกตั้งใหม่ได้รัฐบาลที่มีความชอบธรรมทางการเมือง เป็นทางออกดีที่สุดฝ่าฟันวิกฤตประเทศ


วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงกรณี ศาลรัฐธรรมนูญ มติเอกฉันท์รับสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และมติ 7 : 2 เสียง สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ระบุว่า


ในสภาวการณ์ทางการเมือง ณ ปัจจุบัน หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว รวมถึงการจัดคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการจัดสรรบนการต่อรองกันของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองเพื่อความอยู่รอดทางการเมือง มากกว่าการจัดสรรบนพื้นฐานของความรู้ความสามารถ ผมเห็นว่าสิ่งที่ประเทศและประชาชนต้องการมากที่สุดตอนนี้ คือรัฐบาลที่


-มีเสถียรภาพและสมาธิในการทำงาน

-มีความชอบธรรมทางการเมืองและได้รับความไว้วางใจจากประชาชน

-มีคณะผู้บริหารที่มีศักยภาพในการรับมือกับความท้าทายเฉพาะหน้าของประเทศ เช่น การแก้ไขความขัดแย้งไทย-กัมพูชา, การเจรจากำแพงภาษีสหรัฐอเมริกา ฯลฯ


ประเทศเราจะไม่สามารถมีรัฐบาลที่มีคุณสมบัติทั้งหมดข้างต้นนี้ได้ หากไม่มี “การเลือกตั้งใหม่” ซึ่งจะเป็นทางออกดีที่สุดในการฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ โดยคืนอำนาจการตัดสินใจให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ


ณ วันนี้ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ หากรักษาการนายกรัฐมนตรี ตอบรับข้อเสนอของพรรคประชาชน โดยตัดสินใจยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน แต่หากรัฐบาลยังคงเลือกที่จะไม่ยุบสภาด้วยตนเอง พรรคประชาชนจะใช้ทุกกลไกและทุกกระบวนการของสภา เพื่อทำให้เราได้เปลี่ยนรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งครั้งใหม่โดยเร็วที่สุด


ท้ายที่สุด ผมและพรรคประชาชนยืนยันว่าพวกเราไม่เห็นด้วยกับกระบวนการนิติสงคราม ที่กำจัดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกไปโดยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะการใช้ข้อหาเกี่ยวกับจริยธรรม ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของตุลาการเท่านั้น 


ดังนั้น อีกหนึ่งโจทย์ที่สำคัญยิ่งของรัฐบาลชุดถัดไปในการแก้ไขปัญหานี้ คือการล้มล้างผลพวงรัฐประหาร ลบล้างมรดก คสช. ที่ฝังกลไกอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สร้างกลไกการตรวจสอบรัฐบาลโดยประชาชนมีส่วนร่วม 


ผมเชื่อว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่มีทางตัน ยกเว้นว่ามีคนบางกลุ่มต้องการทำทุกวิถีทางให้มันไปสู่ทางตัน เพื่อนำไปสู่การใช้กลไกอประชาธิปไตย ยึดอำนาจการตัดสินอนาคตประเทศไปจากมือประชาชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #ศาลรัฐธรรมนูญ #ยุบสภา

ศาลรัฐธรรมนูญ มติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องกล่าวหา “กกต.-ภูมิใจไทย-เนวิน-เครือข่าย” เอี่ยว “ฮั้ว สว.”

 


ศาลรัฐธรรมนูญ มติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องกล่าวหา “กกต.-ภูมิใจไทย-เนวิน-เครือข่าย” เอี่ยว “ฮั้ว สว.”


วันนี้ (1 ก.ค. 2568) ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดี เรื่องพิจารณาที่ 16/2568 กรณีนายณฐพร โตประยร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ "กกต." (ผู้ถูกร้องที่ 1) และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 2) จัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญและกุฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และเอื้อประโยชน์ให้พรรคภูมิใจไทย (ผู้ถูกร้องที่ 3) กรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย (ผู้ถูกร้องที่ 4) สมาชิกวุฒิสภา รายชื่อปรากฏตามสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 5) นายเนวิน ชิดชอบ (ผู้ถูกร้องที่ 6) นางกรุณา ชิดชอบ (ผู้ถูกร้องที่ 7) นายทองเจือ ชาติกิจเจริญ กับพวก (ผู้ถูกร้องที่ 😎นายศุภชัย โพธิ์สุ (ผู้ถูกร้องที่ 9) นางสาววาริน ชิณวงศ์ (ผู้ถูกร้องที่ 10) นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ (ผู้ถูกร้องที่ 11) และนายสุบิน ศักดา (ผู้ถูกร้องที่ 12)


ร่วมกันกระทำการโดยทุจริตในกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ผู้ถูกร้องที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 เป็นผู้ดำเนินการวางแผนและควบคุมกระบวนการทุจริตการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ทำให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 138 คน และสำรองอีก จำนวน 2 คน อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


ผู้ถูกร้องที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 12 เป็นผู้ดำเนินการตามแผนการทุจริตการเลือกสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าว อันเป็นผลให้ผู้ถูกร้องที่ 5 ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วยความไม่เป็นกลางทางการเมือง ไม่ซื่อสัตย์สุจริต และไม่เป็นไปตามกฎหมายการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงที่ 12 มีความเชื่อมโยงกันและร่วมกันทำเป็นขบวนการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เพื่อใช้อำนาจปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมีได้เป็นไปตานวิถีทางที่บัญญัติไว้ไปรัฐธรรมนูญ


ผู้ร้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 แต่อัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว และสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 5 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย (รายชื่อตามสำนวนการสอบสวนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง) หยุดปฏิบัติหน้าที่นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย


ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบปรากฏว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริตการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เป็นการกล่าวอ้างว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาและความผิดทางอาญา การกระทำดังกล่าวอยู่ภายใต้การตรวจสอบและดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49


ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ศาลรัฐธรรมนูญ #ภูมิใจไทย

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 9 - 0 ให้รับคำร้อง กรณีคลิปเสียงฮุนเซน และมีมติ 7 - 2ให้ แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา โดยแพทองธาร ยังไปต่อ รมว.วัฒนธรรม ครม.ใหม่!

 


ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 9 - 0 ให้รับคำร้อง กรณีคลิปเสียงฮุนเซน และมีมติ 7 - 2ให้ แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา โดยแพทองธาร ยังไปต่อ รมว.วัฒนธรรม ครม.ใหม่!


วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ กรณี ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 18/2568)


สมาชิกวุฒิสภา รวม 36 คน เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่า ปรากฏคลิปเสียงการสนทนาระหว่างนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้อง) กับสมเด็จ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาแห่งกัมพูชา เผยแพร่ทางสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2568 ซึ่งผู้ถูกร้องแถลงข่าวยอมรับว่าเป็นเสียงการสนทนาของตนกับสมเด็จ ฮุน เซน จริง แม้ผู้ถูกร้องจะแถลงข่าวในเวลาต่อมาว่าเป็นการพูดคุยทางโทรศัพท์แบบส่วนตัวโดยมีเจตนาที่จะเจรจาต่อรองอย่างนุ่มนวลเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบสุขและอธิปไตยของไทยก็ตาม แต่ผู้เข้าชื่อเสนอคำร้องเห็นว่า ผู้ถูกร้องแสดงออกถึงความนิ่งเฉยและไม่ปฏิบัติหน้าที่โต้ตอบหรือกำหนดมาตรการรวมถึงการเจรจาระหว่างประเทศด้วยตนเองให้เป็นที่ประจักษ์ตามหน้าที่ความรับผิดชอบที่บุคคลผู้อยู่ในสภาวะ วิสัย และพฤติการณ์แห่งความเป็นนายกรัฐมนตรีพึงกระทำ เพราะเหตุแห่งความสัมพันธ์ส่วนตัวในลักษณะเป็นฝั่งเดียวกันกับกัมพูชา พร้อมที่จะทำตามหรือจัดการตามที่ฝ่ายกัมพูดชาต้องการมาโดยตลอด ส่วนแม่ทัพภาคที่ 2 ผู้ถูกร้องเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม ผู้ถูกร้องไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย


ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย แจ้งผู้ร้องทราบ และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54


สำหรับคำขอให้สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) เห็นว่า ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคสอง มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แจ้งให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องทราบ


ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 2 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องยังไม่ยุติชัดเจน ให้ปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคสอง แต่เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง ให้ใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 71 ห้ามมิให้ผู้ร้องใช้หน้าที่และอำนาจด้านความมั่นคง ด้านการต่างประเทศ และด้านการคลัง จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #แพทองธาร #ศาลรัฐธรรมนูญ

"พริษฐ์" ย้ำพรรคประชาชนไม่เคยเกรงใจใคร และไม่เคยไว้วางใจรัฐบาลแพทองธาร แต่การเปลี่ยนรัฐบาลต้องไม่แลกกับการบ่อนทำลายหลักการประชาธิปไตย

 


"พริษฐ์" ย้ำพรรคประชาชนไม่เคยเกรงใจใคร และไม่เคยไว้วางใจรัฐบาลแพทองธาร แต่การเปลี่ยนรัฐบาลต้องไม่แลกกับการบ่อนทำลายหลักการประชาธิปไตย


วันนี้ (1 กรกฎาคม 2568) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน โพสต์ขอควาวระบุว่าประชาชน พรรคประชาชนไม่เคยเกรงใจใคร และไม่เคยไว้วางใจรัฐบาลแพทองธาร แต่การเปลี่ยนรัฐบาลต้องไม่แลกกับการบ่อนทำลายหลักการประชาธิปไตย


ในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ที่ไม่เคยหวังจะร่วมรัฐบาลหรือต้องอกหักจากการร่วมรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยในสภาชุดนี้ ผมยืนยันว่าพรรคเราทำงานเต็มที่ในการตรวจสอบรัฐบาลและปกป้องผลประโยชน์ประชาชน ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล


เมื่อเราเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน พรรคเราเห็นตรงกัน ว่าอาวุธที่เราเลือกใช้ในการตรวจสอบรัฐบาล จะต้องมุ่งสู่การป้องกันความเสียหายและการเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลต่อความผิดพลาด แต่อาวุธดังกล่าว จะต้องไม่หันกลับมาทำลายหลักการประชาธิปไตย หรือสร้างความชอบธรรมให้กับอาวุธที่เสี่ยงจะถูกใช้ตามอำเภอใจอย่างไม่เสมอภาคกับทุกฝ่าย


ในส่วนของสภา คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเราได้พยายามใช้ทุกกลไกตรวจสอบของสภามาโดยตลอดและจะยังคงใช้ต่อไป ทั้งกลไกกระทู้สด กลไกกรรมาธิการ และรวมถึงกลไกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เราจะมีการเตรียมใช้อย่างแน่นอน


ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ แม้เราเห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระควรมีกระบวนการได้มาและกลไกถอดถอนที่ยึดโยงกับประชาชนมากกว่าปัจจุบัน แต่เราไม่เคยปฏิเสธกลไกตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหมด


- หากเป็นเรื่อง “การทุจริต” ซึ่งมีนิยามที่ชัดเจน ทางเราเห็นว่าผู้มีอำนาจจะต้องมีความรับผิดรับชอบทางกฎหมาย และการใช้อาวุธของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เป็นช่องทางที่เราต้องดำเนินการ - เช่น การยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีที่มีการแทรกแซงการจัดสรรงบประมาณเพื่อประโยชน์ส่วนตน (เช่น การตรวจสอบ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน กรณีงบสภา) / การยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจากการถือหุ้น (เช่น การตรวจสอบ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ กรณีหุ้นบุรีเจริญ) / การยื่น ป.ป.ช. เรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ (ซึ่งอาจเป็นปลายทางของการตรวจสอบ แพทองธาร ชินวัตร เรื่องตั๋ว PN หลังจากที่เราได้ยื่นเรื่องไปที่กรมสรรพากรไปเรียบร้อยแล้วตามประมวลรัษฏากร)


- แต่หากเป็นเรื่อง “จริยธรรม” ซึ่งต่างคนต่างตีความไม่เหมือนกัน ทางเราเห็นเหมือนกับประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ว่าผู้มีอำนาจควรจะต้องแสดงความรับผิดรับชอบทางการเมือง แทนที่จะกำหนดในบทกฎหมายให้มีใครบางกลุ่มผูกขาดการตีความเรื่องจริยธรรมและเสี่ยงจะใช้เรื่องจริยธรรมมากลั่นแกล้งกันทางการเมือง - ดังนั้น ตั้งแต่เราทำหน้าที่แกนนำฝ่ายค้าน เราจึงตัดสินใจหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธดังกล่าว แม้หลายครั้งอาจเป็นประโยชน์ทางการเมืองสำหรับเรา เพราะเราเห็นว่าการสร้างสังคมที่เสพติดการใช้อาวุธดังกล่าว มีแต่จะบั่นทอนหลักนิติรัฐ ซึ่งจะมั่นคงได้ต่อเมื่อเรามีการตีความกฎหมายที่มีความชัดเจนแน่นอนและการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม-เสมอภาค


ดังนั้น แม้เราเห็นต่างกันได้ ว่าพรรคประชาชนควรเลือกใช้อาวุธใดในการตรวจสอบรัฐบาล ที่จะส่งผลดีที่สุดสำหรับประเทศทั้งในเชิงผลลัพธ์เฉพาะหน้าและการสร้างบรรทัดฐานในระยะยาว แต่การตัดสินใจของเราในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ไม่เคยมีครั้งไหนที่เราออมมือหรือเกรงใจใคร แต่เราใช้ “มาตรฐานเดียวกัน” ในการตรวจสอบผู้มีอำนาจทุกคน


สิ่งที่พรรคประชาชนไม่เคยทำคือ:

- วันหนึ่งเลือกไม่เดินหน้านโยบายสำคัญๆเพียงเพราะต้องรักษาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม แต่อีกวันหนึ่งก็เดินหน้าเต็มที่เมื่อตัดสินใจแยกทางกัน

- วันหนึ่งปิดตาข้างเดียวต่อการทุจริตและความไม่โปร่งใสของฝ่ายเดียวกัน แต่อีกวันหนึ่งก็ตรวจสอบเขาเต็มที่เมื่อกลับมาอยู่กันคนละฝ่าย

- วันหนึ่งส่งเสียงสนับสนุนกลไกและกลุ่มคนที่ทำให้รัฐบาลข้ามขั้วตั้งได้สำเร็จ แต่อีกวันหนึ่งก็มาพยายามผูกขาดความเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไว้กับตนเอง


ทางผมและพรรคประชาชนยีนยันว่าคุณแพทองธารไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ทางผมและพรรคประชาชนยีนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ควรได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศต่อไป ทางผมคาดว่านายกฯแพทองธารและรัฐบาลชุดนี้กำลังจะเจอจุดจบทางการเมืองในเร็วๆนี้


แต่ทางผมเห็นว่าการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เกิดขึ้นได้ และควรเกิดขึ้น โดยไม่ต้องแลกมากับ “ราคาที่ประชาชนต้องจ่าย” ในรูปแบบของหลักการประชาธิปไตยที่ถูกบ่อนทำลาย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน

โปรดเกล้าฯ ครม.แพทองธาร 1/2 แล้ว

 


โปรดเกล้าฯ ครม.แพทองธาร 1/2 แล้ว

 

วันนี้ (1 กรกฎาคม 2568) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีรายละเอียดดังนี้

 

เช็กรายชื่อ: https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/76849.pdf

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ครมแพทองธาร





จับตาศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำร้องถอดถอน “แพทองธาร” นายกรัฐมนตรี ลุ้นถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่


จับตาศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำร้องถอดถอน “แพทองธาร” นายกรัฐมนตรี ลุ้นถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่


วันนี้ (1 กรกฎาคม 2568) เวลา 09.30 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดประชุมปรึกษาคดีสำคัญประจำสัปดาห์ โดยหนึ่งในวาระที่คาดว่าจะถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาคือ คำร้องของ ส.ว. 36 คน ที่ยื่นผ่านนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กระทำการฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) และมาตรา 82


เหตุของคำร้องดังกล่าวมาจากคลิปเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ ระหว่างนางสาวแพทองธาร กับสมเด็จฮุนเซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ซึ่งพูดคุยเกี่ยวกับข้อพิพาทชายแดนไทย–กัมพูชา


แนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจดำเนินการมี 4 แนวทางหลัก ดังนี้


1. รับคำร้อง และมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ หากศาลมีมติรับคำร้องและสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ น.ส.แพทองธารจะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดี อย่างไรก็ตาม หากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอื่นร่วมด้วย อาจยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนั้นได้ เช่นเดียวกับกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยถูกศาลสั่งให้หยุดทำหน้าที่นายกฯ แต่ยังดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหมต่อได้


2. รับคำร้อง แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ศาลอาจรับคำร้องไว้พิจารณาโดยไม่มีคำสั่งระงับหน้าที่ น.ส.แพทองธารยังสามารถปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ได้ตามปกติระหว่างพิจารณาคดี


3.ไม่รับคำร้อง หากศาลมีมติไม่รับคำร้อง จะถือว่าคดีสิ้นสุด และไม่มีเหตุให้พิจารณาระงับการปฏิบัติหน้าที่ นายกรัฐมนตรีสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ยกเว้นจะมีพยานหลักฐานใหม่เสนอในอนาคต


4. ยังไม่พิจารณาคำร้อง กรณีศาลยังไม่พิจารณาคำร้องในวันนี้ อาจเกิดจากการพิจารณาคดีอื่นลำดับก่อน หรือเหตุผลทางสารบบคดี โดยต้องติดตามผลการประชุมในครั้งถัดไป


ทั้งนี้ การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะมีการแถลงผ่านเอกสารข่าวหลังสิ้นสุดการประชุมในวันนี้ และแนวทางทั้ง 4 ข้างต้นเป็นการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ตามกรอบรัฐธรรมนูญ มิใช่การชี้นำคำวินิจฉัยของศาลแต่อย่างใด


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #แพทองธารชินวัตร #ศาลรัฐธรรมนูญ 

"ทักษิณ" มาศาลสืบพยานโจทก์นัดแรกคดี ม.112 - พ.ร.บ.คอมฯ “วิญญัติ” เผย “ทักษิณ” ตั้งใจมาฟังการสืบพยานทุกนัด ยัน เจ้าตัวต้องการปรากฏตัวศาลทุกนัด เพื่อพิสูจน์ความน่าเชื่อถือ ด้าน “สมชาย-เสริมศักดิ์” มาด้วย

 


"ทักษิณ" มาศาลสืบพยานโจทก์นัดแรกคดี ม.112 - พ.ร.บ.คอมฯ “วิญญัติ” เผย “ทักษิณ” ตั้งใจมาฟังการสืบพยานทุกนัด ยัน เจ้าตัวต้องการปรากฏตัวศาลทุกนัด เพื่อพิสูจน์ความน่าเชื่อถือ ด้าน “สมชาย-เสริมศักดิ์” มาด้วย


วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง หมายเลขดำ อ.1860/2567 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิด ฐานดูหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ม.112 และความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเมื่อปี 2558


โดยบรรยากาศแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา เมื่อเวลา 08.30 น. นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายทักษิณ ให้สัมภาษณ์ถึงการนัดสืบพยานโจทย์นัดแรกว่า ศาลได้นัดสืบพยานแบบต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน คือ วันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 โดยฝั่งโจทก์มีพยานทั้งหมด 10 ปาก จำเลย 14 ปาก ซึ่งการสืบพยานมีทั้งหมด 7 นัด แต่สามารถเสร็จก่อน 7 นัดได้ ขึ้นอยู่กับกระบวนการของศาล และนัดสุดท้ายในการสืบพยานคือวันที่ 23 กรกฎาคม


สำหรับ อัยการที่เป็นโจทก์ฟ้องนายทักษิณนั้น ถือว่าวันนี้เป็นนัดแรก ใน 3 นัด ที่โจทก์นำพยานหลักฐานขึ้นสืบพยานในข้อหาความผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยฝ่ายโจทก์จะนำพยาน 3 ปากที่ได้นัดไว้จาก 10 ปากมาขึ้นเบิกความ และทนายฝ่ายจำเลยถามค้าน ส่วนกระบวนการพิจารณาก็มีเพียงเท่านี้ เพราะยังไม่ถึงเวลาที่นายทักษิณจะขึ้นมาเบิกความ


ส่วนนายทักษิณจะต้องเดินทางมาที่ศาลอาญาทุกรอบเลยหรือไม่ นายวิญญัติ ระบุว่า คดีนี้ เป็นคดีที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณา ซึ่งนายทักษิณจะต้องมาปรากฏตัวต่อศาล เพราะในวันนี้เป็นนัดแรก ส่วนหลังจากนี้จะต้องดูว่าศาลจะออกข้อกำหนดในการพิจารณาคดีว่าอย่างไร เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และราบรื่นต่อการพิจารณาคดี


เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการพิจารณาลับหลังจำเลยหรือไม่ นายวิญญัติ กล่าวว่า ตามประมวลกฎหมายพิจารณาคดีอาญา การจะขอสืบพยานลับหลัง จะต้องมีอัตราโทษไม่เกิน 10 ปี แต่คดีนี้สูงกว่า 10 ปี และอาจเป็นข้อยกเว้น แต่ถ้าหากจำเป็น และจำเลยมีทนายอยู่แล้ว ก็ขอพิจารณาลับหลังได้ พร้อมยืนยันว่า เบื้องต้นนายทักษิณจะขอรับเข้าการพิจารณาคดีทุกรอบ หากไม่ติดภารกิจ


ส่วนที่ก่อนหน้านี้ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ประเด็นที่ติดใจคือเรื่องการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติว่า อาจจะมีการแปลผิด ยังคงติดใจในประเด็นนี้อยู่หรือไม่ นายวิญญัติ กล่าวว่า ภายใน 1-2 วัน จะมีการพิจารณาเรื่องคลิปการสัมภาษณ์อย่างแน่นอน และจะทำให้เห็นว่าคลิปวิดีโอดังกล่าวน่าเชื่อถือหรือไม่ และมีการเก็บพยานหลักฐานมาได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นขั้นตอนในการพิสูจน์หลักฐาน ที่เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และอิเล็กทรอนิกส์


เมื่อถามว่าศาลจะให้น้ำหนักในเรื่องใดในการพิจารณาคดี นายวิญญัติ เผยว่า ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของท่าน ไม่สามารถก้าวล่วงท่านได้ ดังนั้นการพิจารณาคดีอาญามีหลักสำคัญ หลักเดียว จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง หรือไม่มีพยานหลักฐาน มีน้ำหนัก เพียงพอหรือไม่


ต่อมา เวลา 09.10 น. มีรายงานว่า นายทักษิณเดินทางมาถึงที่ศาล โดยเข้าประตูด้านข้างเพื่อขึ้นไปยังห้องพิจารณาคดี ก่อนที่รถ Mercedes-Maybach สีดำ - เงิน ทะเบียน ธศ 267 กทม. ของนายทักษิณจะเข้ามาจอดบริเวณด้านข้างของศาล ที่มีสื่อมวลชนปักหลักรอทำข่าวอยู่


นอกจากนี้ ยังมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางมาที่ศาลอาญา ด้วยเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้มีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า บริเวณด้านหน้าทางขึ้นศาลอาญา มีประชาชนจำนวน 4-5 คน สวมเสื้อยืดลายธงชาติไทย และเขียนคำว่า “คนไทยไม่ขายชาติ” มายืนรอเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการสอบถามจากกลุ่มบุคคลดังกล่าว ตอบว่า “ตั้งใจเดินทางมาที่ศาลอาญาหลังจากรู้กำหนดการว่านายทักษิณจะเดินทางมาฟังการสืบพยานในนัดแรก หวังว่านายทักษิณ จะเห็นข้อความที่อยู่บนเสื้อ”

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ทักษิณชินวัตร #มาตรา112