วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565

ศาลอุทธรณ์ มีคำสั่ง ไม่ให้ประกันตัว "สมบัติ ทองย้อย" หลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา คดี ม.112 และพ.ร.บ.คอมฯ

 


ศาลอุทธรณ์ มีคำสั่ง ไม่ให้ประกันตัว "สมบัติ ทองย้อย" หลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา คดี ม.112 และพ.ร.บ.คอมฯ


วันนี้ (30 เม.ย. 65) เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว "สมบัติ ทองย้อย" อดีตการ์ดเสื้อแดง หลังศาลอาญากรุงเทพใต้ มีความเห็นสั่งฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา กรณีโพสต์ข้อความสาธารณะในเฟซบุ๊กส่วนตัว "เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจ"


ศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรืออาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง


ทั้งนี้ ทางศูนย์ทนายฯ จะยื่นเรื่องขอประกันตัวใหม่ภายในวันอังคารนี้


#มาตรา112

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์

“เบนจา” โพสต์ครบรอบ 1 ปี กิจกรรมปล่อยเพื่อนเราและโปรยกระดาษบันไดศาล โดนคดีละเมิดอำนาจศาล, หมิ่นศาล, ข่มขืนใจเจ้าพนักงาน

 


“เบนจา” โพสต์ครบรอบ 1 ปี กิจกรรมปล่อยเพื่อนเราและโปรยกระดาษบันไดศาล โดนคดีละเมิดอำนาจศาล, หมิ่นศาล และข่มขืนใจเจ้าพนักงาน


วานนี้ (29 เม.ย. 65) ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Benja Apan โดย “เบนจา อะปัญ” สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้โพสต์ถึงวันครบรอบ 1 ปี ที่เธอและเพื่อนไปทำกิจกรรม “ปล่อยเพื่อนเรา ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก มีการชูป้ายและโปรยกระดาษบริเวณบันไดศาลด้วย โดย “เบนจา” ได้โพสต์ความว่า


วันนี้ครบรอบ 1 ปี กิจกรรม #ปล่อยเพื่อนเรา ที่เราได้ไปชูป้าย และเกิดเหตุการณ์ ‘โปรยกระดาษ’ ที่รวบรวมรายชื่อเพื่อคืนสิทธิ์ในการประกันตัว


เหตุการณ์นี้ (29 เม.ย. 2564) นำไปสู่คดี ‘ละเมิดอำนาจศาล’ ที่ได้ถูกตัดสินในศาลชั้นต้นแล้วค่ะ ด้วยโทษสูงสุดคือจำคุก 6 เดือนนั่นเอง (ขณะนี้กำลังอยู่ในชั้นอุทธรณ์) และไม่ใช่แค่คดีละเมิดอำนาจศาลเพียงเท่านั้น แต่ยังมีคดี “หมิ่นศาล” และ “ข่มขืนใจเจ้าพนักงาน” พ่วงมาด้วยอีกประมาณ 2 คดีที่ยังอยู่ในชั้นสอบสวนและศาลชั้นต้น


เราเลือกที่จะโปรยกระดาษ เพราะกระดาษเหล่านี้ไม่ได้ทำร้ายอะไรใคร หากแต่เป็นรายชื่อที่แสดงความต้องการของผู้คนอีกหลายคน ที่ต้องการเรียกร้องต่อศาล นั่นคือสิ่งที่เราทำได้ เราเป็นเพียงผู้ที่มาเรียกร้องและผู้สื่อสารเท่านั้น แต่หากความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมไทยมันจะเสื่อมเสียหรือพังทลายลง คงไม่ใช่เพราะมีคนไปโปรยกระดาษหรอก


ผลผลิตจากกระบวนการยุติธรรมที่มีให้เห็นทุกวันนี้ คือสิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดความศรัทธาที่มีต่อสถาบันตุลาการไทยค่ะ


เรายืนยันเสมอว่าเราเกลียดเผด็จการเพราะพวกนี้มันชั่วช้าด้วยกมลสันดาน แต่ต่อสถาบันตุลาการ มันคือความรู้สึกผิดหวังค่ะ เราไม่รู้ว่าจะหาความยุติธรรมจากสถาบันนี้ได้ยังไง สถาบันที่ควรเที่ยงตรงที่สุด แต่ในเมื่อเอาแค่เรื่องพื้นฐานง่าย ๆ อย่างคนที่มีส่วนในการรัฐประหารกลับอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ ในขณะเดียวกันพวกเราประชาชนถูกพรากอิสรภาพกันรายวัน


ปล.ในระหว่างที่ยื่นอุทธรณ์อยู่ ทางศาลอาญาก็ได้ขอแก้อุทธรณ์ ให้เป็น ‘ยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น’ (ก็คือไม่ยอมให้ลดโทษนั่นแหละค่ะ เอาทุกทาง)


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์

อัยการสั่งฟ้องคดี 4 สมาชิก #ทะลุฟ้า กรณีกิจกรรมปาสีหน้าพรรคภูมิใจไทย ศาลให้ประกันตัว วางหลักทรัพย์รวม 175,000 บาท กำหนดเงื่อนไขให้ติด EM, ห้ามทำให้สถาบันกษัตริย์และศาลเสื่อมเสีย ทั้งที่พฤติการณ์ไม่เกี่ยวกับ ม.112 แต่อย่างใด

 


อัยการสั่งฟ้องคดี 4 สมาชิกทะลุฟ้า กรณีกิจกรรมปาสีหน้าพรรคภูมิใจไทย ศาลให้ประกันตัว วางหลักทรัพย์รวม 175,000 บาท กำหนดเงื่อนไขให้ติด EM, ห้ามทำให้สถาบันกษัตริย์และศาลเสื่อมเสีย ทั้งที่พฤติการณ์ไม่เกี่ยวกับ ม.112 แต่อย่างใด


วานนี้ (29 เม.ย. 65) พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, จิตริน พลาก้านตง, ทรงพล สนธิรักษ์ และปนัดดา ศิริมาศกูล 4 สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า ต่อศาลอาญา กรณีถูกกล่าวหาจากการทำกิจกรรมหน้าพรรคภูมิใจไทย เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 64 โดยมีการปาถุงสีแดงใส่หน้าพรรคด้วย


สำหรับ 5 ข้อกล่าวหาได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มั่วสุมกับตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทำการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไป แต่ไม่เลิก, ร่วมกับขีดเขียนพ่นสี หรือทำให้ปรากฏซึ่งข้อความ ภาพ ที่กําแพง อาคาร หรือที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต


ต่อมาศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้ง 4 คน โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันสำหรับจตุภัทร์ เป็นจำนวน 70,000 บาท ส่วนอีกสามคนวางหลักทรัพย์คนละ 35,000 บาท รวมเป็นหลักทรัพย์จำนวน 175,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์


โดยกำหนดเงื่อนไขได้แก่ ห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะหรือทํานองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือกระทำการหรือร่วมกิจกรรมใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และเพื่อให้เป็นหลักประกันว่าผู้ต้องหาจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล เห็นควรให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 18.00 น. ถึง 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่จะต้องมาดำเนินการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือศาล หรือได้รับอนุญาตจากศาลก่อน และให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น


และศาลนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 30 พ.ค. 2565 เวลา 9.00 น.


เป็นที่น่าสังเกตว่าเงื่อนไขการประกันตัวดังกล่าว มีลักษณะเดียวกับแกนนำราษฎรหลายคนในคดีมาตรา 112 ทั้งที่ในคดีนี้ไม่ได้มีข้อกล่าวหาดังกล่าว และไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ขณะที่ทั้งจิตริน, ทรงพล และปนัดดา เอง ก็ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มาก่อน


#ทะลุฟ้า

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์

วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2565

ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว 3 #ทะลุวัง ตีเงินประกันคนละ 9 หมื่น ห้ามกระทําการในทํานองเดียวกับที่ถูกกล่าวหา ติดกำไล EM ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 16.00 น. - 06.00 น. รายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน

 


ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว 3 #ทะลุวัง ตีเงินประกันคนละ 9 หมื่น ห้ามกระทําการในทํานองเดียวกับที่ถูกกล่าวหา ติดกำไล EM ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 16.00 น. - 06.00 น. รายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน


สืบเนื่องจากที่ทนายความยื่นประกันตัว บุ้ง เนติพร, ใบปอ ณัฐนิช และ เมนู สุพิชฌาย์ ไปแล้วนั้น


ต่อมาเวลา 17.20 น. ​ศาลอนุญาตประกันตัวทั้ง 3 คน คนละ 90,000 บาท โดนมีเงื่อนไขห้ามกระทําการในทํานองเดียวกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ ให้ติดกำไรอิเลคทรอนิค (EM) ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 16.00 น. - 06.00 น. และให้รายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน


ส่วนบรรยากาศที่หน้า สน.บางซื่อ ก่อนที่ "บุ้ง-ใบปอ-เมนู" จะออกมา กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎร นำโดย อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ได้ทำกิจกรรม ติดริบบิ้นแดงจุดเทียน เรียกร้องคืนสิทธิประกันตัวแก่ 8 คน ที่ถูกคุมขังในเรือนำอยู่ขณะนี้จนกระทั่งเวลา 18.05 น. "บุ้ง-ใบปอ-เมนู" ได้เดินออกมาจาก สน.บางซื่อ


จากนั้น ส.ส.เบนจา แสงจันทร์ พรรคก้าวไกล นำดอกกุหลาบมามอบให้ทั้งสามคน แล้วกล่าวว่า เนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่นั้นไร้มาตรฐานอย่างมาก จำเป็นที่ต้องเรียกร้องไปยังกระบวนการยุติธรรมจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ นั่นคือตั้งแต่ตำรวจไปถึงศาล เพื่อให้เกิดความยุติธรรมจริง ๆ เพราะคดีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่นักกิจกรรมยังไม่ถูกตัดสินให้ผิด ดังนั้นต้องสันนิษฐานว่าไม่ผิดไว้ก่อน


ทั้งนี้ มีกลุ่ม #ทะลุแก๊ส และประชาชนผู้รักความยุติธรรมมาคอยต้อนรับและให้กำลังใจ "บุ้ง-ใบปอ-เมนู" เป็นจำนวนมาก


#ทะลุวัง

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์
















“รุ้ง ปนัสยา” ถูกออกหมายขัง ระหว่างรอเปลี่ยนนายประกันที่ศาลแขวงดุสิต ตั้งคำถามต่อมาตรฐานการปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมไทย

 


“รุ้ง ปนัสยา” ถูกออกหมายขัง ระหว่างรอเปลี่ยนนายประกันที่ศาลแขวงดุสิต ตั้งคำถามต่อมาตรฐานการปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมไทย


เช้าวันนี้ (29 เม.ย. 65) ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Panusaya Sithijirawattanakul โดย “รุ้ง ปนัสยา” ได้โพสต์ข้อความว่า "วันนี้มาเปลี่ยนสัญญาประกันที่ศาลแขวงดุสิต แต่อยู่ ๆ ศาลออกหมายขัง ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นเหมือนกัน ตอนนี้รอประกันตัวค่ะ”


คืบหน้าล่าสุด “รุ้ง ปนัสยา” ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว โดย “รุ้ง ปนัสยา” เล่าว่า คดีนี้เป็นคดีสาดสีที่ รอ.ทบ.1 เป็นคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วไป ซึ่งวันนี้ที่ไปศาลแขวงดุสิตเพื่อไปเปลี่ยนตัวนายประกัน เนื่องจากนายประกันคนก่อนต้องกลับบ้านต่างจังหวัด ไม่สะดวกมาดูแล เลยเปลี่ยนเป็นคุณไอดา อรุณวงศ์ฯ มาดูแลแทน


“รุ้ง ปนัสยา” เล่าต่อว่า แต่ประเด็นคือตนไม่รู้มาก่อนว่ากระบวนการมันจะมีการออกหมายขังเกิดขึ้นด้วย เพราะก่อนหน้านี้ ทนายคนเดียวกันเคยมาทำเรื่องเปลี่ยนนายประกันเช่นนี้เหมือนกัน ตอนนั้นไม่ได้มีการออกหมายขัง คือให้รอข้างบนศาลเหมือนปกติจนกว่าคำสั่งออกมาว่าศาลอนุญาตแล้วก็เซ็นเอกสาร กลับบ้านได้


แต่วันนี้พอยื่นเอกสารเสร็จเรียบร้อย เจ้าหน้าที่มาบอกว่าศาลออกหมายขังนะ ต้องให้รอใต้ถุนศาล (ห้องขังใต้ถุนศาล) ทำให้ “รุ้ง ปนัสยา” และทุกคนก็ตกใจ เพราะไม่เคยเจออะไรอย่างนี้มาก่อน ซึ่งเมื่อไปอยู่ใต้ถุนศาลเธอก็พยายามคุยกับเจ้าหน้าที่ว่าทำไมมีอย่างนี้ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมี เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าผู้บริหารศาลเปลี่ยนชุด หัวหน้าราชทัณฑ์ที่อยู่ใต้ถุนศาลก็เปลี่ยนคน วิธีการดำเนินงานก็เลยเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งการเปลี่ยนนายประกันนั้น ในระหว่างที่รอศาลมีคำสั่งอนุญาต ณ วินาทีนั้นหมายถึงว่า “รุ้ง ปนัสยา” ไม่มีนายประกัน จึงต้องออกหมายขังไว้ก่อน เป็นการออกหมายขังมาเพื่อควบคุมตัวไว้ ก่อนที่จะส่งให้นายประกันอีกคน ซึ่งในเวลาต่อมาศาลก็อนุญาตให้เปลี่ยนนายประกันเป็นที่เรียบร้อย และ “รุ้ง ปนัสยา” ก็ได้กลับบ้าน


ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว “รุ้ง ปนัสยา” ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม เหตุใดจึงมีวิธีการปฏิบัติไม่เหมือนกัน นั้นแปลว่ากระบวนการยุติธรรมไทยไม่ได้มีมาตรฐานการปฏิบัติงานไว้เลย โดยเฉพาะคำตอบจากเจ้าหน้าที่ซึ่งให้เหตุผลงานผู้บริหารศาลเปลี่ยนชุด หัวหน้าราชทัณฑ์ใต้ถุนศาลเปลี่ยนคน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมไทย


#รุ้งปนัสยา

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์

จับตาศาลรับฝากขัง ใบปอ-เมนู-บุ้ง สมาชิกทะลุวัง ขณะนี้รอลุ้นการประกันตัว

 


จับตาศาลรับฝากขัง ใบปอ-เมนู-บุ้ง สมาชิกทะลุวัง ขณะนี้รอลุ้นการประกันตัว


สืบเนื่องจากวานนี้ (28 เม.ย. 65) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางซื่อ ได้ทำการจับกุมตัว ใบปอ, เมนู และ บุ้ง ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาตามมาตรา 112 โดยจับกุมตัวได้ภายในห้องพักคอนโด ย่านจรัญฯ-ปิ่นเกล้า ด้วยหมายค้นเพื่อตรวจเจอบุคคล ออกโดยศาลอาญาตลิ่งชัน จากนั้นเวลาประมาณ 16:30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวทั้ง 3 รายมาทำบันทึกจับกุมและสอบสวนที่ สน.บางซื่อ


จากกรณีวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา กลุ่มทะลุวัง ได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ทำโพลในหัวข้อ "คุณเห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อำนาจได้ตามอัธยาศัย" บริเวณ 4 จุด คือ ทางเท้าสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีจตุจักร, ทางเชื่อมรถไฟฟ้าบริเวณห้าแยกลาดพร้าว, สถานีรถไฟฟ้าสนามเป้า และกองพลทหารม้าที่ 2 


หลังจากจับกุม ตำรวจได้ตั้งข้อกล่าวหาและขอฝากขัง 


คืบหน้าล่าสุดวันนี้ (29 เม.ย. 65) เวลา 12.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า ศาลอาญาอนุญาตฝากขังเมนู ใบปอ บุ้ง กลุ่ม ทะลุวัง 12 วัน หลัง ตำรวจขอฝากขังผ่านคอนเฟอเรนซ์ แม้ทนายยื่นคัดค้าน และขอให้นำตัวทั้ง3ไปไต่สวนที่ศาล แต่ศาลได้สอบถามผู้ต้องหาผ่านจอภาพ ไม่ได้แจ้งทนายเข้าร่วม โดยทั้ง 3 ยืนยันไม่เคยได้รับหมายเรียก-ไม่ได้หลบหนี 


ทนายยื่นประกันแล้ว รอฟังคำสั่ง


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ทะลุวัง

“เมนู-บุ้ง” ทะลุวัง เขียนจดหมายน้อยขอบคุณทุกคนจากใจ เช้านี้ พงส. สน.บางซื้อ ขอฝากขังต่อศาลอาญาผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์

 


“เมนู-บุ้ง” ทะลุวัง เขียนจดหมายน้อยขอบคุณทุกคนจากใจ เช้านี้ พงส. สน.บางซื้อ ขอฝากขังต่อศาลอาญาผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์


จากกรณีที่วานนี้ (28 เม.ย. 65) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัว “เมนู-ใบปอ-บุ้ง” กลุ่มทะลุวัง ไปที่สน.บางซื่อ ตามหมายจับจากเหตุทำโพล #ขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา บริเวณ BTS จตุจักร – เซ็นทรัล ลาดพร้าว นั้น


ซึ่งในเวลา 21.35 น. พนักงานสอบสวนแจ้งทนายความและผู้ถูกจับ ทั้ง 3 ว่าจะให้รับทราบข้อหาและสอบคำให้การในวันพรุ่งนี้ ในเวลา 9.00 น. และจะทำการฝากขังต่อศาลอาญาต่อไป เป็นเหตุให้ทั้ง 3 คนถูกควบคุมตัวที่ สน.บางซื่อตลอดทั้งคืน


ทั้งนี้ “เมนู สุพิชฌาย์” และ “บุ้ง เนติพร” ได้มีจดหมายน้อยฝากถึงทุกคน ดังนี้


จดหมายจาก “บุ้ง เนติพร”


ขอบคุณทุกคนจริง ๆ ที่อยู่เคียงข้าง บุ้ง ใบปอ เมนู มันสำคัญกับเรามากจริง ๆ ค่ะ


ถ้าพรุ่งนี้เราไม่ได้ประกันตัว เราฝากทุกคนดูแลพลอยแทนเราด้วยนะคะ พลอยคือทุกอย่างของเรา เรารักน้องเหมือนลูกเราเลย


วันนี้ตำรวจทำกับเราเจ็บแสบมาก บุกจับ ใช้อำนาจรับใช้เผด็จการอย่างเชื่อง ๆ ยิ่งกว่าสัตว์นรก พยายามจะค้นห้อง ค้นมือถือ ค้นทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหมาย เราจะไม่ยอมทนกับความอยุติธรรมส้นตีนอะไรทั้งนั้น ฝากทุกคนติดตาม “ทะลุวัง” ด้วยนะคะ


ขอบคุณทุกคนจากใจจริง

บุ้ง ทะลุวัง

(จริง ๆ ที่บ้านตั้งใจให้ชื่อว่า หนอนบุ้ง จะได้แสบ ๆ คัน ๆ สู้คนไม่ยอมใครค่ะ)


จดหมายจาก “เมนู สุพิชฌาย์”


ขอบคุณมวลชนทุกคนในวันนี้มาก ๆ ค่ะ เหตุการณ์ในวันนี้ทำให้เราตระหนักได้ว่า อาวุธเดียวที่ประชาชนอย่างเรามีคือเสียง เราตะโกน เราด่า เราตวาด เพราะนั่นคืออย่างเดียวที่เราทำได้เพื่อไม่ยอมจำนนต่อการกลั่นแกล้งของเผด็จการ เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้เราสามารถยืนหยัดต่อสู้ต่อไปได้


“น้ำตา” คือเครื่องหมายของความเข้มแข็ง เป็นเครื่องมือเยียวยาจิตใจให้กลับมาสู่ต่อ เป็นสัญลักษณ์ของความเจ็บปวดตลอดการต่อสู้ และเป็นเครื่องหมายยืนยันว่ารัฐกลั่นแกล้งกดขี่ประชาชน


ดีใจจังเลยค่ะที่ทุกคนไม่ลืมกันและคอยช่วยเหลือในวันนี้ ขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ


ซึ่งขณะรายงานข่าววันนี้ (29 เม.ย. 65) ในเวลา 10.45 น. “เมนู-ใบปอ-บุ้ง” กำลังรอการวีดีโอคอนเฟอเรนซ์กับศาลอาญา ที่ พนักงานสอบสวน สน.บางชื่อ ทำการฝากขัง โปรดติดตามความคืบหน้าเป็นอย่างไร “ยูดีดีนิวส์” จะรายงานให้ทราบต่อไป


#ทะลุวัง #มาตรา112

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์



วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565

"ตีนไก่ปฏิวัติ" บุกกระทรวงกลาโหม ยื่นหนังสือ"ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร" หวิดวุ่นเจอด่านสกัดเจ้าหน้าที่ ต้องวิ่งฝ่ากว่าจะได้ยื่นหนังสือ

 


"ตีนไก่ปฏิวัติ" บุกกระทรวงกลาโหม ยื่นหนังสือ"ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร" หวิดวุ่นเจอด่านสกัดเจ้าหน้าที่ ต้องวิ่งฝ่ากว่าจะได้ยื่นหนังสือ 


วันนี้ (28 เม.ย. 65) เวลา 15.00 น. กลุ่มตีนไก่ปฏิวัติ - Chicken Feet Revolution นัดหมายรวมตัวที่บริเวณสวนสราญรมย์เพื่อเดินเท้าไปยัง กระทรวงกลาโหม ยื่นหนังสือเรียกร้อง"ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร"


โดยเมื่อกลุ่มฯ กำลังเคลื่อนออกจากสวนสราญรมย์พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามใช้แผงเหล็กกั้น สกัดการเคลื่อนผ่าน ทำให้กลุ่มฯ ต้องวิ่งเพื่อให้ทันก่อนเจ้าหน้าที่ตั้งแผงกั้นสำเร็จ แต่เจ้าหน้าที่ก็พยายามเสริมกำลัง โดยใช้ ชุดควบคุมฝูงชนหญิง (คฝ) คล้องแขนเป็นแนวกั้น และมีเสียงประกาศจากเจ้าหน้าที่เรื่องกฏหมายการชุมนุมและการรวมตัว ซึ่งกลุ่มตีนไก่ปฏิวัติ แย้งว่า พวกเขามายื่นหนังสือ ไม่ได้มาชุมนุม


ทำให้เกิดเหตุการณ์ชุลมุน ระหว่างทางกลุ่มฯ ที่พยายามจะไปหน้ากระทรวงกลาโหม ขณะที่ตำรวจพยายามขัดขวางการเคลื่อนตัวไป ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงกลาโหมมาแจ้งว่าให้ทางกลุ่มตีนไก่ปฏิวัติได้เดินไปทางบริเวณสะพานช้างโรงสี จะมีเจ้าหน้าที่ กระทรวงฯ ออกมารับหนังสือ


โดยเมื่อถึงสะพานช้างโรงสี กลุ่มตีนไก่ปฏิวัติ พยายามนำป้ายผ้าข้อความว่า "ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร" ไปแขวนไว้ บริเวณแผงรั้วเหล็กที่เจ้าหน้าที่นำมากั้นปิดทางไว้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ติด ทำให้ทางกลุ่มฯ นำป้ายมาถือไว้ตรงด้านหน้าแนวคฝ.หญิง โดยฉากหลังเป็นกระทรวงกลาโหม


จากนั้น เจ้าหน้าที่กลาโหมมารับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มตีนไก่ปฏิวัติ โดยทางกลุ่มพยายามจะยื่นกระดาษโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนให้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับ คงรับเฉพาะหนังสือเท่านั้น


สำหรับเนื้อหาในหนังสือมีใจความโดยรวมว่า เนื่องจากการเกณฑ์ทหารมีมาอย่างยาวนานอย่างที่ทราบกันดีว่าการเป็นทหารคือ “รั้วของชาติ” เเต่ได้เป็นรั้วของชาติจริงหรือ? อย่างที่ทราบกันดีว่าการเกณฑ์ทหารนั้นต้องเเลกกับการ ทิ้งอนาคต ทิ้งครอบครัว ทิ้งความฝัน ทิ้งทุกสิ่งอย่าง หากคุณได้ใบเเดง! หากการเกณฑ์ทหารดีจริง เหตุใดยังต้องมีคนเสียใจกับใบเเดงอยู่


การเสียชีวิต การถูกทารุณกรรมอย่างรุนเเรง การสังเวยชีวิต การถูกพรากความเป็นคน หรือเเม้เเต่การค้ามนุษย์ ยังคงเป็นคำถามที่ตัวแทนกระทรวงกลาโหมไม่สามารถให้คำตอบได้ด้วยซ้ำ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ตีนไก่ปฏิวัติ #ยกเลิกเกณฑ์ทหาร




คนส. "เยี่ยมหยุดขัง" ให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ถูกคุมขัง อ่านแถลงการณ์ "หยุดใช้กฎหมายปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง หยุดคุมขังประชาชนที่ยังบริสุทธิ์" แจ้งรายละเอียดจัดเสวนา "ประชาชนอยู่ตรงไหน ในระบอบที่ไม่เป็นธรรม" จนท.แจ้ง เยี่ยมต้องจองคิวล่วงหน้า ด้านมวลชนฝากโปสการ์ดถึงตะวัน

 


คนส. "เยี่ยมหยุดขัง" ให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ถูกคุมขัง อ่านแถลงการณ์ "หยุดใช้กฎหมายปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง หยุดคุมขังประชาชนที่ยังบริสุทธิ์" แจ้งรายละเอียดจัด เสวนา "ประชาชนอยู่ตรงไหน ในระบอบที่ไม่เป็นธรรม" จนท.แจ้ง เยี่ยมต้องจองคิวล่วงหน้า ด้านมวลชนฝากโปสการ์ดถึงตะวัน 


วันนี้ (28 เม.ย. 65) เวลา 10.00 น.ที่ ทัณฑสถานหญิงกลาง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) นำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยนักวิชาการ คนส. อาทิ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร รองคณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เดินทางมาทำกิจกรรม "เยี่ยมหยุดขัง" เพื่อให้กำลังใจนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขัง พร้อมอ่านแถลงการณ์ และแถลงข่าวการจัดกิจกรรมทางวิชาการครั้งใหญ่ ในหัวข้อ "ประชาชนอยู่ตรงไหน ในระบอบที่ไม่เป็นธรรม"


โดยก่อนเริ่มกิจกรรม "เยี่ยมหยุดขัง" คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ได้ทำกิจกรรมโพลสอบถามความคิดเห็นประชาชน "คุณคิดว่าผู้ต้องขังทางการเมืองควรได้รับสิทธิในการประกันตัวหรือไม่"


จากนั้น นักวิชาการ คนส.พร้อมด้วยมวลชน ได้ไปยืนหน้ารั้วทัณฑสถานหญิงกลาง โดยมวลชนถือภาพ #ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน รวมถึงป้ายข้อความ อาทิ ยกเลิก112, ปล่อยตะวัน ปล่อยนักโทษการเมือง เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวชั่วคราว


ขณะที่ รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ เป็นตัวแทน นักวิชาการ คนส. อ่านแถลงการณ์ "หยุดใช้กฎหมายปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง หยุดคุมขังประชาชนที่ยังบริสุทธิ์" ระบุว่า

.

ประชาชนไทยต้องอยู่ใต้การกดขี่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ที่รัฐบาลคณะรัฐประหารอาศัยอำนาจจากกฎหมายที่เขียนขึ้นมา ปิดกั้น ข่มขู่คุกคาม และจับกุมคุมขังประชาชนฝ่ายตรงข้ามเป็นจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลที่อวดอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งในปัจจุบันก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น กลับตั้งข้อหาดำเนินคดีประชาชนที่เห็นต่างเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว


ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวและแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 1,767 คน ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี ส่วนใหญ่เป็นคดีละเมิดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำนวน 1,428 คน ตามด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 169 คน พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จำนวน 117 คน และกฎหมายอาญามาตรา 116 จำนวน 116 คน


การตั้งข้อหาดำเนินคดีเหล่านี้ ไม่อาจนับว่าเป็นไปเพื่อผดุงความยุติธรรมในสังคมได้ หากแต่เป็นไปเพื่อกดปราบประชาชนที่เห็นต่างเป็นหลัก เพราะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอ้างการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทว่า นอกจากการชุมนุมที่ผ่านมาไม่ก่อให้เกิดการระบาดของโรคเป็นกลุ่มก้อนที่จะนำไปสู่การอ้างได้ การรวมกลุ่มหรือการชุมนุมลักษณะเดียวกันของฝ่ายเดียวกับรัฐบาลกลับไม่ถูกตั้งข้อหา


ขณะที่กฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากจะมีปัญหาตั้งแต่ระดับของตัวบท กระบวนการบังคับใช้ในหลายกรณีไม่เข้าข่ายความผิด ไม่นับรวมวิธีการพิจารณาคดีที่ปิดลับจนไม่อาจนำไปสู่ความยุติธรรมได้ ส่วนพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หลายกรณีมีการตีความพฤติการณ์เกินขอบเขต ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของประชาชน


นอกจากนี้ ผู้ต้องหาในคดีเหล่านี้ยังมักถูกปฏิเสธสิทธิ์ในการประกันตัว ด้วยเหตุผลว่า จะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกัน ซึ่งขัดหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่บัญญัติไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพราะเป็นการตัดสินล่วงหน้าว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด ทั้งที่กระบวนการพิจารณคดียังไม่เริ่ม และแม้การควบคุมตัวจำเลยระหว่างการพิจารณาคดีจะกระทำได้ แต่ก็ต้องมีเหตุอันเชื่อได้ว่าจำเลยจะหลบหนี ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ก่อเหตุอันตราย หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดี ซึ่งแทบไม่มีผู้ต้องหาคนใดในคดีเหล่านี้มีพฤติการณ์ดังกล่าว


เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จึงเรียกร้องให้รัฐบาล หยุดใช้กฎหมายปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีผู้ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงต้องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน


นอกจากนี้ คนส. เรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกตั้งข้อหา ต้องยึดมั่นในหลักการจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จะควบคุมตัวจำเลยระหว่างพิจารณาคดีก็ต่อเมื่อมีเหตุที่เข้าหลักเกณฑ์อย่างชัดแจ้ง และจะอ้างเงื่อนไขที่เป็นเสมือนการตัดสินล่วงหน้าว่าจำเลยกระทำผิดในการถอนประกันมิได้


ปัญหาและความขัดแย้งในประเทศไทยจะคลี่คลายได้ ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระบนข้อเท็จจริงและด้วยเหตุผล โดยมีกฎหมายและศาลเป็นหลักประกันความเสมอภาคและยุติธรรม มิใช่เป็นเครื่องมือของเผด็จการในการกดปราบประชาชนที่เห็นต่างอย่างในปัจจุบัน


ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค


เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง

ทัณฑสถานหญิงกลาง และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

28 เมษายน 2565


จากนั้น รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ได้กล่าวถึงรายละเอียดกิจกรรมเชิงวิชาการในชื่อ เสวนา "ประชาชนอยู่ตรงไหน ในระบอบที่ไม่เป็นธรรม" ซึ่ง คนส. จะจัดร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งจะมีการเสวนาเรื่องปัญหาของมาตรา 112 ซึ่งเราเห็นตัวเลขที่น่าตกใจ พุ่งขึ้นสูงในช่วง 2 ปี


และอีกเรื่องคือ สิทธิประกันตัวชั่วคราว เราเห็นปัญหานี้มีมาตลอด มีลักษณะมาตรฐานที่ไม่เท่ากันในคดีต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ต้องหาคดีการเมือง หากไม่ได้รับการประกันตัว ก็มักจะถูกถอนประกันด้วยเงื่อนไข จึงต้องมีการทำความเข้าใจในเรื่องกฎหมายให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งคาดว่าจะจัดกลางเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบต่อไป


เรามาในวันนี้ เพื่อที่จะให้สังคมไม่นิ่งดูดาย เฉยเมย หรือเงียบต่อสถานการณ์ไม่ปกติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ขณะเดียวกันก็อยากส่งเสียงไปถึงผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งรัฐบาล ซึ่งถูกมองว่ารัฐบาลมีนโยบายในลักษณะมุ่งใช้กฎหมายปิดปาก ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน


ขณะที่ รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ กล่าวต่อไปว่า นี่คือปฐมฤกษ์ เพราะเราเชื่อว่าการตั้งข้อหา จับกุมคุมขัง ดำเนินคดี และปฏิเสธสิทธิประกันตัว น่าจะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวอย่าง ยืนหยุดขัง การมาเยี่ยมให้กำลังใจตรงนี้ เป็นอีกส่วนที่สำคัญที่เราพอจะทำได้ และในอนาคตอาจทำเป็นกิจวัตร 1 - 2 สัปดาห์ครั้ง หรือตามเงื่อนไขที่จำเป็น


จากนั้น เครือข่ายนักวิชาการฯ ได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อเข้าเยี่ยม ตะวัน และ ปฏิมา โดยเจ้าหน้าที่ได้กล่าวชี้แจงถึงเกณฑ์การเข้าเยี่ยม ซึ่งจะต้องมีการจองล่วงหน้า สามารถจองล่วงหน้าได้ 7 วันผ่านระบบการเข้าเยี่ยม ทั้งนี้ ต้องดูคิวที่เข้าเยี่ยมด้วย เนื่องจากตอนนี้มีผู้ต้องขังเกือบ 4,000 คน โดย กรณี น.ส.ทานตะวัน สามารถจองเข้าเยี่ยมได้ในวันที่ 30 เมษายน


ทั้งนี้เครือข่ายนักวิชาการฯ ได้ฝากรายชื่อ นักวิชาการ คนส. และประชาชนที่จะเข้าเยี่ยม ตะวัน และ ปฏิมา ซึ่งเจ้าหน้าที่รับปากจะประสานงานให้

.

ขณะที่นายสมยศ ให้ฝากโปสการ์ด 150 ใบ ที่ประชาชนร่วมกันเขียนข้อความให้กำลังใจ "ตะวัน" ในเรือนจำ โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะต้องตรวจสอบข้อความตามขั้นตอนก่อน และจะนำส่งต่อให้ตะวันต่อไป 


จากนั้น ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์พร้อม ด้วยมวลชนหญิงอีก 2 ท่าน เป็นตัวแทนเข้าไปซื้อของฝากเยี่ยม ตะวัน และ ปฏิมา 


กระทั่งในเวลา 11.40 น. นักวิชาการ คนส. และประชาชน เดินทางต่อไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อเข้าเยี่ยม นายเอกชัย, นายเวหา, นายคทาธร, นายคงเพชร และนายพรพจน์ ซึ่งยังไม่สามารถเยี่ยมได้เช่นเดียวกัน โดยเป็นการฝากชื่อเยี่ยมไว้และผศ.ดร.ชลิตา พร้อมประชาชนชายอีก 2 ราย เป็นตัวแทนเข้าไปซื้อของเยี่ยม ด้านมวลชนที่รออยู่ด้านนอกร่วมกันเขียนข้อความใส่กระดาษและลงชื่อให้กำลังใจฝากเจ้าหน้าที่ไปให้ผู้ต้องขังทั้ง 5 ราย 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คนส #เยี่ยมหยุดขัง




“สมบัติ ทองย้อย” อดีตการ์ดนปช. ถูกศาลตัดสินมีความผิด ม.112 และพ.ร.บ.คอมฯ จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา นำตัวเข้าเรือนจำทันทีระหว่างรอศาลอุทธรณ์พิจารณาขอปล่อยตัวชั่วคราว

 


“สมบัติ ทองย้อย” อดีตการ์ดนปช. ถูกศาลตัดสินมีความผิด ม.112 และพ.ร.บ.คอมฯ จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา นำตัวเข้าเรือนจำทันทีระหว่างรอศาลอุทธรณ์พิจารณาขอปล่อยตัวชั่วคราว


วันนี้ (28 เม.ย. 65) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ นายสมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดนปช. อายุ 52 ปี จำเลยในคดี "ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3)" ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาในคดี 112  สืบเนื่องจากนายศรายุทธ สังวาลย์ทอง ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ เพื่อให้ดำเนินคดีกับสมบัติ จากการโพสต์ข้อความสาธารณะลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า “สมบัติ ทองย้อย” ระหว่างวันที่ 20 ต.ค.- 2 พ.ย. 2563 จำนวน 3 ข้อความ อาทิ “เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจ”

 

กระทั่งเวลา 10.00 น. ศาลได้อ่านคำพิพากษาตามที่โจทก์ยื่นฟ้อง โดย นายพสธร อ่อนนิ่ม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ศาลพิจารณาเห็นกระทำของจำเลยในคดีนี้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ เนื่องจากจำเลยถูกฟ้องมาว่ากระทำความผิด 2 กรรม ศาลจึงลงโทษกรรมละ 3 ปี รวมเป็น 6 ปี ไม่รอลงอาญา ด้านทนายยื่นขอประกันปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้หลักทรัพย์ 3 แสนบาท เพิ่มจากหลักทรัพย์เดิมที่ยื่นขอประกันตัวไปก่อนหน้านี้คือ 2 แสนบาท รวมเป็น 5 แสนบาท

 

ต่อมา ทนายความฯ ชี้แจงว่า หลังจากยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ไปแล้ว ศาลอาญากรุงเทพใต้ระบุ จะส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ดังนั้นในวันนี้สมบัติจึงจะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำระหว่างรอศาลอุทธรณ์มีคำสั่งต่อไป


อ่านบันทึกสืบพยานคดีได้ที่ https://tlhr2014.com/archives/42934


#มาตรา112

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ 

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2565

ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำสั่งไต่สวนถอนประกัน "ใบปอ-บุ้ง" ทะลุวัง วันที่ 3 พฤษภาคมนี้ เวลา 13.00 น. ด้าน "ใบปอ-บุ้ง" แจง การทำโพลสำรวจความคิดเห็นไม่ใช่การชุมนุม ไม่ใช่การชี้นำประชาชนตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวหา แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย

 


ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำสั่งไต่สวนถอนประกัน "ใบปอ-บุ้ง" ทะลุวัง วันที่ 3 พฤษภาคมนี้ เวลา 13.00 น. ด้าน"ใบปอ-บุ้ง" แจง การทำโพลสำรวจความคิดเห็นไม่ใช่การชุมนุม ไม่ใช่การชี้นำประชาชนตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวหา แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย


วันนี้ (27 เม.ย. 65) เวลา 9.00 น. ใบปอ-ณัฐนิช และ บุ้ง-เนติพร สมาชิกทะลุวัง พร้อมด้วยนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เดินทางมายังศาลอาญากรุงเทพใต้ ตามนัดหมายไต่สวนคำร้องขอถอนประกันตัว ของพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน "ใบปอ-เนติพร" สมาชิกทะลุวัง ในคดีมาตรา112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 65 นั้น


สำหรับในการไต่สวน ร.ต.ท.ปาณัสม์ กลิ่นขจร พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน ชี้ว่าทั้งสองคนจัดกิจกรรมทำโพล 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคม ผิดเงื่อนไขประกันโดย ตำรวจชี้ว่าการทำโพล "คุณยินดียกบ้านให้กับราชวงศ์หรือไม่" เมื่อ 13 มี.ค. 65 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และครั้งที่ 2 การทำโพลสอบถามความเห็น "ต้องการจ่ายภาษีเลี้ยงราชวงศ์หรือไม่" เมื่อ 31 มี.ค. 65 บริเวณแยกราชประสงค์ เป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้กับสถาบันฯ ผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว 


ต่อมาเวลา 12.30 น. "ใบปอ และ บุ้ง" ลงจากห้องพิจารณาการไต่สวน พร้อมอัพเดทความคืบหน้าการไต่สวนถอนประกัน ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ โดยศาลสั่งพัก 12.30 น. และจะไต่สวนอีกครั้งในช่วงบ่าย โดยยังไม่ชัดจะให้ฟังคำสั่งเลยในวันนี้ หรือจะนัดอีกครั้งหนึ่ง


จากนั้นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า การไต่สวนถอนประกันเสร็จสิ้นเวลาประมาณ 15.00 น ขณะนี้ อยู่ในระหว่างรอคำสั่งโดยศาลจะประชุมกับผู้บริหารศาลอาญา


คืบหน้าล่าสุดเวลา เวลา 16.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งขอแก้ไขวันฟังคำสั่งการไต่สวนถอนประกันจากวันนี้ เป็นวันที่ 3 พ.ค. 65 เวลา 13.00 น. 


เนติพร กล่าวภายหลังศาลไต่สวนประกันแล้วเสร็จว่า ข้องใจตำรวจที่แจ้งข้อหาประหนึ่งยัดคดี โดยอ้างเหตุผลว่าทะลุวัง "จัดการชุมนุม" ทั้งที่ทะลุวังไปทำโพลสำรวจความคิดเห็นไม่เกิน 4 คน ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นแล้วก็ผ่านไป ไม่ใช่การชุมนุมแต่อย่างใด และการทำโพลก็สืบเนื่องจากคณะที่ "ใบปอ" เรียนอยู่


ใบปอ ได้กล่าวเสริมตอนนี้ว่า ตนเรียนอยู่วิทยาลัยอึ๊งภากรณ์ ได้ตอบศาลว่าที่ทำโพลนั้นเพื่อเอาไปต่อยอดเพราะเรียนอยู่คณะที่เกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์และสังคม และก็เป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ทั้ง ยืนยันว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ได้ผิดเงื่อนไขอะไร 


เนติพร ได้ตั้งคำถามว่า แล้วผิดตรงไหนที่ทะลุวัง เชิญชวนให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ซึ่งการทำโพลไม่ใช่การชี้นำ ทะลุวังเพียงต้องการให้ประชาชนรู้ว่าทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น จะมาติดสติ๊กเกอร์เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย ชอบ/ไม่ชอบ เดือดร้อน/ไม่เดือดร้อน ยังไงก็ได้แล้วแต่ความประสงค์ของประชาชน คนเสื้อเหลืองเข้ามาติดไม่เห็นด้วย-ไม่เดือดร้อน เราก็ไม่ว่าอะไรเพราะนั่นเป็นสิทธิ์ เรายินดีด้วยซ้ำที่มีความคิดเห็นของประชาชนในทุก ๆ ฝ่าย


จากนั้น เนติพร ได้เล่าเรื่องประทับใจ เกี่ยวกับเรื่องโพลสำรวจที่ดิน ที่ไปสำรวจที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ


ใบปอ กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า ประชาชนชุมชนตลาดเฉลิมลาภ ได้นำผลการสำรวจโพลของทะลุวังไปแนบ เพื่อที่จะยื่นถึงกรมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ว่าคนในชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากการถูกไล่ที่


"ใบปอ" กล่าวต่อไปว่า ที่ไปทำโพลในครั้งนั้นเพราะได้ไปสำรวจแล้วว่าประชาชนถูกไล่ที่ ซึ่งผลการสำรวจโพลในครั้งนั้นก็คือประชาชนไม่ยินดีที่จะยกบ้าน เขาได้รับความเดือดร้อนจริง ๆ ชาวชุมชนตลาดเฉลิมลาภจึงได้นำผลโพลตรงนี้ ไปยื่นแนบท้ายว่ามีประชาชนที่เดือดร้อน


"เนติพร" กล่าวเสริมว่า ทะลุวังรู้สึกดีใจที่การได้ทำโพลวันนั้น และประชาชนได้นำไปใช้ต่อในการสู้คดี ในการเรียกร้องสิทธิ์ ซึ่งพวกตนก็เพิ่งทราบเรื่องราวชาวชุมชนตลาดเฉลิมลาภเมื่อเช้านี้


ขณะที่ "พลอย" ทะลุวัง ได้กล่าวถึง ประเด็นที่เจ้าหน้าที่บุกคอนโดที่พักของทะลุวังเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมาและยึดโน๊ตบุ๊ค โทรศัพท์ไอโฟน เสื้อยืด แผ่นสติ๊กเกอร์ไป  โดยวันที่มาบุกยึดไปไม่มีหมายค้น เป็นการละเมิดสิทธิประชาชนอย่างถึงที่สุด ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่ามาบุกยึดทำไม เพราะเป็นเพียงสิ่งของที่ นำเตรียมจำหน่ายเพื่อหารายได้เช่น เสื้อยืด แผ่นสติ๊กเกอร์ และโน๊ตบุ๊ค ของเมนูที่ใช้เรียน ซึ่งไปผิดมาตรา 112 แน่นอน ตรงไหน ถึงมายึดของของประชาชนไปและไม่มีทีท่าว่าจะได้คืน


#ทะลุวัง #มาตรา112

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์

แจ้งปิดบัญชี “กองทุนราษฎรประสงค์” เปิดใหม่ในนาม “มูลนิธิสิทธิอิสรา”



แจ้งปิดบัญชี “กองทุนราษฎรประสงค์” เปิดใหม่ในนาม “มูลนิธิสิทธิอิสรา”


“กองทุนราษฎรประสงค์” เป็นกองทุนที่เกิดขึ้นเพื่อระดมทุนเงินประกันช่วยเหลือคดีการเมือง ซึ่งที่ผ่านมากระบวนการทางกฎหมายในการยื่นขอประกันตัวนักกิจกรรมทางการเมืองหรือประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว ต่างก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก โดยใช้ชื่อบัญชี น.ส. ชลิตา บัณฑุวงศ์ และ น.ส. ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ดังที่ทราบกันแล้วนั้น


วานนี้ (26 เม.ย. 65) เฟซบุ๊คแฟนเพจ กองทุนราษฎรประสงค์ ได้แจ้งรายละเอียดการปิดบัญชีบริจาคเดิม ซึ่งเป็นการใช้บัญชีชื่อบุคคลธรรมดาดังกล่าวข้างต้น โดยได้ทำการปิดบัญชีดังกล่าว แล้วเปิดบัญชีใหม่ในนาม “มูลนิธิสิทธิอิสรา” แทน ซึ่งถือเป็นองค์กรนิติบุคคลตามกฎหมาย เพื่อความโปร่งใสและปลอดภัย โดยรายละเอียดมีดังต่อไปนี้


เรื่อง ขอแจ้งปิดบัญชีบริจาคเดิมในนามบุคคล และเปิดบัญชีบริจาคใหม่ในนาม มูลนิธิสิทธิอิสรา


เรียน ราษฎรผู้บริจาคทุกท่าน


เราขอแจ้งข่าวดีแก่ทุกท่านว่า บัดนี้เราสองคนซึ่งเป็นผู้ดูแลบัญชีบริจาคของทุกท่านในนาม กองทุนราษฎรประสงค์ ได้สามารถจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิขึ้นมา เพื่อเป็นองค์กรนิติบุคคลตามกฎหมายที่จะมาดูแลเงินบริจาคของทุกท่านต่อไป แทนการใช้บัญชีชื่อบุคคลธรรมของเราบัญชีเดิม ซึ่งไม่มีฐานะทางกฎหมายเป็นหลักประกันเพียงพอสำหรับการปกป้องดูแลเงินบริจาคจำนวนมหาศาลของทุกท่านให้ยั่งยืนและปลอดภัยได้ในระยะยาว


มูลนิธิที่เราจัดตั้งขึ้นมานี้ ใช้ชื่อว่า มูลนิธิสิทธิอิสรา ซึ่งรับกองทุนราษฎรประสงค์เข้ามาอยู่ในความดูแลภายใต้ชื่อบัญชีดังแสดงในภาพที่ 1 คือ


บัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาศาลยุติธรรม บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 125-8-64752-8 ชื่อบัญชี มูลนิธิสิทธิอิสรา


โดยเราได้ปิดบัญชีเดิมที่เป็นชื่อบุคคลสองคนคือ ชลิตา บัณฑุวงศ์ และไอดา อรุณวงศ์ฯ ลงแล้วในวันนี้ (26 เม.ย. 65 ณ เวลา 14.16 น.) และได้โอนเงินทั้งหมดที่อยู่ในบัญชีเดิม จำนวน 9,949,740.45 บาท (เก้าล้านเก้าแสนสี่หมื่นเก้าพันเจ็ดร้อยสี่สิบบาทสี่สิบห้าสตางค์) เข้ามาอยู่ในบัญชีมูลนิธิเรียบร้อยแล้ว ดังหลักฐานภาพที่ 2 และสลิปถอนเงินจากบัญชีเดิมกับสลิปฝากเข้าบัญชีใหม่ในภาพที่ 3


ส่วนหลักฐานยอดเงินสุดท้ายในบัญชีเดิม ดูได้ในภาพที่ 4 ซึ่งมียอดอยู่ ณ เวลา 14.15 น. จำนวน 9,943,525.85 บาท และเมื่อเราแจ้งปิดบัญชี ธนาคารได้โอนดอกเบี้ยมาให้อีกในเวลา 14.16 น. จึงอยู่ที่ 9,949,740.45 บาท ดังหลักฐานในภาพที่ 5


บัญชีที่เปิดขึ้นใหม่ในชื่อมูลนิธิบัญชีนี้ จะเป็นบัญชีสำหรับเงินของกองทุนราษฎรประสงค์ ที่จะไม่มีการเบิกจ่ายไปใช้ในเรื่องอื่นใดทั้งสิ้นนอกจากการวางประกันและชำระค่าปรับดังที่เคยเป็นมา และแม้เปลี่ยนฐานะเป็นมูลนิธิแล้ว แต่เราจะยังคงใช้หน้าเพจกองทุนราษฎรประสงค์แห่งนี้ เป็นพื้นที่รายงานการใช้จ่ายของกองทุนราษฎรประสงค์ทุกบาทสตางค์พร้อมแสดงหลักฐานแก่ผู้บริจาคทุกครั้งที่มีการเบิกจ่ายดังเช่นเคย กองทุนราษฎรประสงค์จะยังคงเป็นของทุกท่าน และการเปลี่ยนฐานะเป็นมูลนิธิก็เพื่อให้แน่ใจด้วยว่า แม้นหากว่าเกิดอะไรขึ้นกับเราสองคนในฐานะผู้เคยถือบัญชีมา ก็จะยังมีฐานะนิติบุคคลของความเป็นมูลนิธิ ที่จะดูแลรักษาให้เงินในกองทุนราษฎรประสงค์ยังคงเป็นของทุกท่านต่อไปภายใต้หลักการเดิม


อนึ่ง การจัดตั้งเป็นมูลนิธิ แม้มีข้อดีเรื่องความมั่นคงจากการได้รับการรับรองตามกฎหมาย แต่ก็ทำให้เกิดความจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากรและการจัดการองค์กรรวมถึงสถานที่ ซึ่งเดิมไม่เคยมี รวมทั้งการทำกิจกรรมอื่นของมูลนิธิตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง เแต่เราก็จะไม่นำเงินบริจาคเพื่อการประกันตัวมาใช้ในกิจการอื่นเหล่านี้ เราจะเปิดอีกบัญชีแยกต่างหากสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน หากว่าท่านจะร่วมให้การสนับสนุนต่อไป โดยเราจะจำกัดการใช้จ่ายให้มีเฉพาะที่จำเป็น (และเราสองคนจะยังคงไม่รับค่าตอบแทนเช่นเดิม) เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ทุกท่าน และจะได้รายงานการใช้จ่ายและการดำเนินงานในนามมูลนิธิต่อสาธารณะ ผ่านทางเพจ มูลนิธิสิทธิอิสรา และเว็บไซต์ของมูลนิธิซึ่งจะได้จัดทำขึ้นต่อไป


สำหรับในวันนี้ เราเพียงต้องการมาแจ้งให้ทุกท่านได้ทราและช่วยกันกระจายข่าวถึงบัญชีที่เปลี่ยนไป และให้ทุกท่านได้บอกต่อกันไปด้วยความภูมิใจว่า ด้วยพลังแห่งเจตจำนงที่แสดงผ่านการลงแรงทุกบาททุกสตางค์ในยามยากที่ผ่านมา บัดนี้ทุกท่านได้มีมูลนิธิเพื่อสืบสานและรักษาประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิและอิสรภาพของราษฎรแล้ว


ขอแสดงความนับถือ

ชลิตา บัณฑุวงศ์ และไอดา อรุณวงศ์

#กองทุนราษฎรประสงค์ #มูลนิธิสิทธิอิสรา


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์


ภาพที่ 1

ภาพที่ 2

ภาพที่ 3

ภาพที่ 4

ภาพที่ 5

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2565

#ทะลุวัง ยื่นหนังสือสถานทูตสหรัฐฯ-เยอรมนี และองค์กรระหว่างประเทศ เชิญร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนถอนประกัน "ใบปอ-บุ้ง" พรุ่งนี้

 


#ทะลุวัง ยื่นหนังสือสถานทูตสหรัฐฯ-เยอรมนี และองค์กรระหว่างประเทศ เชิญร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนถอนประกัน "ใบปอ-บุ้ง" พรุ่งนี้


วันนี้ (26 เม.ย. 65) กลุ่มทะลุวัง โดย "เมนู-ใบปอ-บุ้ง" ยื่นหนังสือ เรื่องการใช้อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านระบบตุลาการ ในกรณีของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมรายชื่อผู้พิพากษาที่มีคำสั่งถอนประกันรวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 10.30 น. กลุ่มทะลุวังเข้าพบสถานทูตอเมริกา และชวนเข้าร่วมสังเกตุการณ์นัดไต่สวนถอนประกันในวันพรุ่งนี้ (27 เม.ย.) โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องจากสน.ลุมพินีจำนวนมากเข้ามาถ่ายรูปและถ่ายคลิปวีดิโอ


ต่อมาในเวลา 12.00 น. ทะลุวังเข้าพบเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน (OHCHR) และเจ้าหน้าที่จากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมและการคุกคามเยาวชน 


ถัดมาในเวลา 15.00 น. ทะลุวังเข้าพบสถานทูตเยอรมันเพื่อยื่นหนังสือและเข้าร่วมพูดคุยกับทางสถานทูตเยอรมัน


ในการยื่นหนังสือครั้งนี้ กลุ่มทะลุวังต้องการให้ทุกคนร่วมกันจับตาการไต่สวนถอนประกันและคำสั่งของศาลทั้งที่ผ่านมาและที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อไม่ต้องมีใครถูกพรากสิทธิและเสรีภาพ ตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตยอีก


#ThaluWang

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์




วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2565

"DemHope" "ตี้-แอมป์" ทำโพลป้ายผ้าสำรวจความเห็นประชาชนบริเวณราชประสงค์ "คุณคิดว่ารัฐบาลเป็นภัยต่อความมั่นคงตัวจริงหรือไม่" ผู้จัด ชี้ ต้องการทวงความเป็นธรรม ตั้งคำถามให้สังคมตอบ ประชาชนผิดหรือว่าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย

 


"DemHope" "ตี้-แอมป์" ทำโพลป้ายผ้าสำรวจความเห็นประชาชนบริเวณราชประสงค์ "คุณคิดว่ารัฐบาลเป็นภัยต่อความมั่นคงตัวจริงหรือไม่" ผู้จัด ชี้ ต้องการทวงความเป็นธรรม ตั้งคำถามให้สังคมตอบ ประชาชนผิดหรือว่าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย 


วันนี้ (25 เม.ย. 65) เวลา 15.10 น. บรรยากาศที่ลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และสกายวอล์ค กลุ่ม "DemHope" หรือ "คณะประชาธิปไตยเพื่อความหวัง" จัดกิจกรรมสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่ผ่านไปมา ในประเด็นคำถาม "คุณคิดว่ารัฐบาลเป็นภัยต่อความมั่นคงตัวจริงหรือไม่ หากเจ้าหน้าที่รัฐมีการทำร้ายร่างกายประชาชน ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองตามสิทธิในระบอบประชาธิปไตย" โดยนำป้ายผ้าพร้อมข้อความประเด็นคำถาม ซึ่งแบ่งพื้นที่สำหรับสองช่อง เป็น/ไม่เป็น ให้ประชาชนใช้ปากกาเมจิสีแดงกากบาท ตอบความคิดเห็น โดยมี วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ ตี้ พะเยา และ "แอมป์" ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรม "ราษฎร" ร่วมด้วย อีกทั้ง กลุ่ม "ทะลุแก๊ส" ได้มาร่วมให้กำลังใจ


วรรณวลี กล่าวในช่วงต้นว่า ในเมื่อการทำโพลกระดาษถามความเห็น กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสังคมที่อ้างตนว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย วันนี้จึงมาทำโพลป้ายผ้า เพื่อให้ประชาชนตอบ เพื่อจะบอกเขาว่าประชาชนคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร วรรณวลี ย้ำว่าต้องการให้ผลโพลนี้เป็นความคิดเห็นของคนหลากหลาย ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นฝั่งเดียว จึงเชิญชวนประชาชนทั้งที่คิดว่ารัฐเป็นภัยคุกคาม หรือไม่เป็นภัยคุกคามมาร่วมตอบคำถาม 


ขณะที่สมาชิกชาย กลุ่ม DemHope กล่าวว่า ทุกวันนี้มีนักกิจกรรมที่โดนจับ โดนทำร้ายจากเจ้าหน้าที่ เพียงเพราะว่าออกมาแสดงความคิดเห็นที่ต่างจากรัฐ เพียงเพราะออกมาส่งผลโพลที่ประชาชนทำให้ อีกทั้งยังมีคนที่อยู่ในคุกอีกหลายคน เพียงเพราะป้ายโพลกระดาษ ในวันนี้เราจึงมาทวงความเป็นธรรม เราต้องการให้ประชาชนช่วยกันตอบความคิดเห็นนี้เพื่อส่งเสียงถึงรัฐ


ด้าน ณวรรษ กล่าวว่า การออกมาเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยทุกครั้งนั้น ผู้เรียกร้องมักจะได้รับการถูกกระทำที่รุนแรงทุกครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่เคยโดนคดีอะไรเลยที่กระทำกับประชาชน แต่ในทางกลับกันประชาชนที่ออกมาเรียกร้องตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญ กลับถูกกักขัง กลับถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม กลับถูกดำเนินคดี เราจึงต้องออกมาตั้งคำถาม ว่าพวกเราผิดหรือประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยมานานแล้ว


ขณะที่สมาชิกหญิง กลุ่ม DemHope เสริมว่า จุดประสงค์ที่ออกมานั้น เพราะที่ผ่านมา ประชาชนออกมาเรียกร้องเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นตามสิทธ์ของตนเอง มักถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำด้วยความรุนแรง ดังนั้นเมื่อใดที่ออกมาแล้ว โดนดุ โดนตี โดนกระทืบ โดนจับกุมดำเนินคดี เมื่อนั้นประชาธิปไตยได้หายไปแล้ว


สำหรับบรรยากาศโดยรวม กลุ่มฯได้เดินสำรวจความเห็นประชาชนเริ่มจากลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จากนั้นเดินไปทางแยกราชประสงค์ ขึ้นสกายวอล์คไปจนถึงหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พบเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนตั้งแนวสกัดไม่ให้ลงบันไดไปฝั่งหน้าสตช. ซึ่งกลุ่ม DemHope ได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนเจ้าหน้าที่ยอมให้ทำกิจกรรมตรงสกายวอล์คได้ แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ถอนกำลัง ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่กล้าเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น


จากนั้น DemHope จึงเดินย้อนกลับมาทางแยกราชประสงค์ โดยหยุดยืนทำกิจกรรมเชิญชวนประชาชนบนสกายวอล์คให้แสดงความเห็นเป็นระยะ ๆ จากนั้นเดินลงมาด้านล่าง และไปทำกิจกรรมต่อที่หน้าบิ๊กซีราชดำริ และเดินย้อนไปทาง แยกประตูน้ำ เพื่อขึ้นสกายวอล์คเซ็นทรัลเวิลด์อีกครั้ง เป็นจุดสุดท้ายในการทำกิจกรรม


โดยเป็นที่น่าสังเกตุว่า ประชาชนหลายคนเดินผ่านไปมาหลายคนหยุดอ่านป้ายข้อความและเข้ามาสอบถามว่าเป็นกิจกรรมอะไร เพื่อทำความเข้าใจ จากนั้นก็ขอปากกาเพื่อไปกากบาทตามช่องที่ตนเองประสงค์


ต่อมา 17.00 น. วรรณวลี ได้สรุปผลโพลตาม จำนวนกากบาทที่ประชาชนกากบาทตามช่อง เป็น/ไม่เป็น ซึ่งช่องเป็นจะมีมากกว่า จึงสรุปว่าประชาชนคิดว่ารัฐบาลเป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งวรรณวลีย้ำว่านี่คือการสำรวจความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มตัวอย่างไม่ใช่คำตอบทั้งประเทศ


จากนั้นผู้จัดกิจกรรมได้นำป้ายผ้า 2 ป้าย ไปแขวนไว้ที่ สกายวอล์คราชประสงค์ เพื่อให้ประชาชนที่ผ่านไปมาได้เห็นชัด ๆ ป้ายหนึ่งเป็นป้ายสรุปผลโพล และอีกป้ายเป็น ป้ายผ้าข้อความว่า "กฎหมายคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำร้ายประชาชนlll" 


โดยก่อนยุติกิจกรรม กลุ่ม "DemHope" กล่าวว่า การทำโพลครั้งต่อไปมีแน่ ให้ติดตามประเด็นคำถามได้ที่ทางเพจ 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ม็อบ25เมษา65 #DemHope




ศาลแขวงนครราชสีมา สั่งปล่อยตัวชั่วคราว "เบนจา" หลังอัยการสั่งฟ้อง ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีคาร์ม็อบโคราช เมื่อ 21 ส.ค. 64

 


ศาลแขวงนครราชสีมา สั่งปล่อยตัวชั่วคราว "เบนจา" หลังอัยการสั่งฟ้อง ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีคาร์ม็อบโคราช เมื่อ 21 ส.ค. 64


วันนี้ (25 เม.ย. 65) อัยการคดีแขวงนครราชสีมา ฟ้อง "เบนจา อะปัญ" แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุคาร์ม็อบโคราช เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 64 


ในเวลาต่อมาทนายได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว


และเมื่อเวลา 15.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รายงานว่า ศาลแขวงนครราชสีมา มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว "เบนจา" โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ และศาลนัดสอบคำให้การในวันที่ 2 มิ.ย. 65


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์

วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2565

ฉายภาพยนต์ไกลบ้าน"เสรีภาพที่ปล้นไม่ได้" - เสวนา "กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย" โดยสุชาติ-วาด รวี -ไอดา ในวาระการจากไปของนักเขียนผู้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจนวาระสุดท้าย

 


ฉายภาพยนต์ไกลบ้าน"เสรีภาพที่ปล้นไม่ได้" - เสวนา "กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย" โดยสุชาติ-วาด รวี -ไอดา ในวาระการจากไปของนักเขียนผู้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจนวาระสุดท้าย


วันนี้ (24 เม.ย. 65) สืบเนื่องจากครอบครัววรรลยางกูร ร่วมกับกลุ่มคนเดือนตุลา จัดงานไว้อาลัย "วัฒน์ วรรลยางกูร" นักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองคดีม.112 ในอายุ 67 ปี ซึ่งเสียชีวิตที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเวลา 21.30 น. ของวันที่ 21 มี.ค. 65 ตามเวลาในฝรั่งเศส หลังลี้ภัยนานกว่า 7 ปี


โดยตามที่ช่วงเช้ามีการเดินขบวนวนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 3 รอบ โดยบุตรชาย/บุตรสาว เป็นผู้เชิญภาพของวัฒน์ วรรลยางกูร เดินนำขบวน จากนั้นเคลื่อนขบวนต่อมายังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และปักธงแดง เพื่อแสดงออกถึงการสานต่อเจตนารมณ์ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ "วัฒน์ วรรลยางกูร" ก่อนตัวแทนจากกลุ่มองค์กรเพื่อประชาธิปไตยต่าง ๆ จะขึ้นกล่าวคำอาลัย อ่านบทกวี และปิดท้ายกิจกรรมในช่วงเช้าด้วยการวางช่อดอกไม้แสดงความอาลัย นั้น


ในเวลาต่อมา 13.30 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา ด้านหลังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ได้มีการฉายภาพยนตร์ "ไกลบ้าน" โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ผู้กำกับสารคดีสะท้อนชีวิตของผู้ลี้ภัยทางการเมือง


โดยเนื้อหาได้อธิบายถึงสาเหตุที่หลังรัฐประหารปี 2549 วัฒน์ วรรลยางกูร ต้องลี้ภัยผ่านช่องทางธรรมชาติ ไปยังประเทศลาว ซึ่งขณะนั่นมีผู้ถูกออกหมายเรียกกว่า 400 คน และวัฒน์คือหนึ่งในนั้น โดยเป็นการฉายภาพสลับกับภาพบ้านของวัฒน์ ใน จ.กาญจนบุรี


จากนั้น เวลา 14.30 น. เป็นช่วงของเสวนาในหัวข้อ "กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย" โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ สิงห์สนามหลวง อดีตศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2554, น.ส.ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา บรรณาธิการ เจ้าของสำนักพิมพ์อ่าน และผู้ถือบัญชีร่วมในนาม"กองทุนราษฎรประสงค์" และนายรวี สิริอิสสระนันท์ หรือ วาด รวี นักเขียนชาวไทยและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ไชน์ และดำเนินรายการโดย ปานิส โพธิ์ศรีวังชัย บรรณาธิการ The101.world


ในตอนหนึ่ง นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ สิงห์สนามหลวง อดีตศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2554 กล่าวว่า ตนจำชัดเจนไม่ได้ว่ารู้จักวัฒน์ตอนไหน แต่เข้าใจว่าเป็นช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งวัฒน์เรียนอยู่ที่ ม.รามคำแหง เขาเขียนหนังสือตั้งแต่สมัยเรียน โดย ช่วงเรียนหนังสือสมัยมัธยม เริ่มส่งเรื่องสั้นไปนิตยสารยานเกราะ


นายสุชาติกล่าวว่า วัฒน์ไม่ตามใคร แต่ก็ไม่นำใคร ทั้งเรื่องงานและชีวิต ความเป็นอิสระชนในหลายรูปแบบทำให้เขามีผลงานหลากหลาย ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างจากนักเขียนในช่วงเดือนตุลาที่ค่อนข้างเป็นสูตรสำเร็จ  เป้าหมายของวัฒน์ต้องการสื่อถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ และต่อมาวัฒน์ต้องลี้ภัยในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ไป สปป.ลาว และไปยังฝรั่งเศส


สิ่งที่วัฒน์พูดมาตลอดคือคนเหมือนกันแต่ทำไมจึงมีอะไรไม่เหมือนกัน นี่คือจุดยืนการเลือกข้างของเขามาตั้งแต่ปี 2518 นายสุชาติกล่าว


ขอให้สิ่งที่วัฒน์ได้สร้างไว้ในความหลากหลายของงานเขียน รวมถึงบทเรียนต่าง ๆ ที่ได้รับรู้จากความเจ็บปวดและความขมขื่นของเขา ทำให้แวดวงที่เหมือนเป็นโลกคู่ขนานได้มีความชัดเจน อย่างน้อยก็ชัดเจนในฐานะที่เป็นมิตรน้ำหมึก ในฐานะที่ร่วมอยู่ในสมรภูมิเดียวกันแต่แยกกันรบ นายสุชาติกล่าวทิ้งท้าย


ด้านนายรวี สิริอิสสระนันท์ หรือ วาด รวี นักเขียน กล่าวว่า ในช่วงแรกที่วัฒน์เริ่มเขียนหนังสือ ไม่นานก็เกิดกระแสเพื่อชีวิต วัฒน์จึงถือได้ว่าเป็นนักเขียนเพื่อชีวิตรุ่นแรก และเป็นสัญลักษณ์ของ "เพื่อชีวิต" ก็ว่าได้ เป็นงานเขียนที่มีธงชัดเจนว่าเขียนเพื่ออะไร เพื่อประชาชน ตีแผ่การกดขี่ทางชนชั้น


งานชิ้นที่มีชื่อเสียงที่สุดคือนิยาย ตำบลช่อมะกอก ตีแผ่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับชนชั้นนำ จนกลายเป็นหนังสือต้องห้าม และมนต์รักทรานซิสเตอร์ คืองานเขียนชิ้นแรกหลังออกจากป่าที่ไม่ได้พูดถึงการเมือง เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเส้นทางนักเขียนจะเป็นอย่างไรต่อ


ขณะที่ น.ส.ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน กล่าวในฐานะบรรณาธิการคนสุดท้ายของสำนักพิมพ์อ่าน ซึ่งตีพิมพ์หนังสือของวัฒน์ คือ "ต้องเนรเทศ" โดยโชว์ปกจำลองหนังสือเล่มสุดท้ายของวัฒน์ที่จะพิมพ์ ในวันจันทร์ที่ 25 เมษายนนี้ 2 ปก


น.ส.ไอดากล่าวว่า เมื่ออ่านต้นฉบับของวัฒน์ที่จบลงตรงท่อนแรกที่ว่า "ไม่กลับ การลาลับ คงอยู่" ก็รู้สึกไม่สบายใจและหวั่นใจ เพราะไม่ทราบว่าจะขอร้องอย่างไรว่าอย่าเขียนราวกับเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายของชีวิต แต่ครั้งสุดท้าย คือ หมุดหมายของการบรรลุบั้นปลายว่าจะถึงชัยชนะ หมายถึงการพ้นจากภาวะ "ครั้งแล้วครั้งเล่า" เพราะคือที่สุดของความสมบูรณ์แบบดั่งแรงใจ แต่ที่ตลกร้ายคือเรามักจะไม่ได้เห็นมัน


น.ส.ไอดาได้กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยการเล่าภาพรวมจากเส้นทางจากหุบเขาถึงปารีส นกปีกหัก บทที่ 2 คือ บ้านท่าเสา กาญจนบุรี ที่อบอวลด้วยความรักความผูกพัน ที่ไม่ใช่เพียงที่พักเหนื่อย แต่คือทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ในบทที่ 3-4-5 เป็นมหากาพย์ช่วงลี้ภัย ในภาวะที่ไม่อาจกำหนดอะไรได้ 


เขาบรรยายชีวิตที่พยายามตั้งหลักในประเทศที่ 2 สะท้อนความคิดถึงบ้านท่าเสา และจำลองความเป็นบ้านที่ไม่ใช่ ที่ไม่เหลือใคร นอกจากความลำพัง และสำหรับบทที่ 9 กล่าวถึงดินแดนฝรั่งเศส ที่ให้สิทธิมนุษยชน และรัฐสวัสดิการ


โดยเมื่อจบช่วงเสวนา กิจกรรมได้ย้ายออกมาจัดที่อนุสรณ์สถานฯ อีกครั้งเป็นช่วง กวี ดนตรี ปราศรัย และละคร 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #วัฒน์วรรลยางกูร